บุคคลสำคัญของโลก


ถ้าจะให้นึกถึง  "บุคคลสำคัญของโลก"  คุณนึกถึงใครบ้าง?

ทอมัส  เอดิสัน,  พี่น้องตระกูลไรท์,  อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์,  บิลเกตส์,  สตีฟจ๊อบส์,  ฯลฯ

ถ้าถามต่อไปว่า  "ทำไมบุคคลเหล่านี้ถึงเป็นบุคคลสำคัญ"
คุณก็คงนึกถึงผลงานหรือสิ่งประดิษฐ์ของบุคคลเหล่านี้



พักคำตอบของคุณไว้ก่อน
แล้วมาดูพระดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน

พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

"ภิกษุทั้งหลาย  บุคคลผู้เป็นเอกเมื่อเกิดขึ้นในโลก  ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก  เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก  เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก  เพื่อประโยชน์  เพื่อเกื้อกูล  เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
บุคคลผู้เป็นเอกคือใคร  คือ  พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
บุคคลผู้เป็นเอกนี้แลเมื่อเกิดขึ้นในโลก  ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก  เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก  เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก  เพื่อประโยชน์  เพื่อเกื้อกูล  เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย"

เอาล่ะ  ทีนี้มาดูผลงานที่บุคคลสำคัญของโลกได้ทำไว้  ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า  เครื่องบิน  หลักฟิสิกส์  เครื่องคอมพิวเตอร์  สมาร์ทโฟน  ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้แม้จะอำนวยประโยชน์ให้ชาวโลกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  สะดวกสบายขึ้น  แต่ก็ไม่ได้ทำให้มีความสุขมากขึ้นเสมอไป  และอาจทำให้มีทุกข์เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งเหล่านั้นด้วยซ้ำ

หรือแม้สิ่งนั้นจะเป็นผลงานด้านอื่น  เช่น  การเป็นผู้นำต่อต้านการเหยียดสีผิว  การเป็นผู้นำเรียกร้องสิทธิมนุษยชน  ฯลฯ  ก็ยังไม่สามารถทำประโยชน์ให้ในโลกหน้าได้

แต่สิ่งที่บุคคลผู้เป็นเอกเพียงหนึ่งเดียวคือ  พระพุทธเจ้า  ได้ทรงกระทำไว้

ก็คือการที่พระองค์ได้ตรัสรู้พระธรรมอันประเสริฐ  และทรงนำมาแสดงแก่ชาวโลก
พระองค์ทรงแสดงให้เรารู้จักทาน (การให้)  และรู้ว่าอานิสงส์ของทาน (การให้) คืออย่างไร
พระองค์ทรงแสดงให้เรารู้จักศีล  และรู้ว่าอานิสงส์ของการรักษาศีลเป็นอย่างไร  โทษของการละเมิดศีลเป็นอย่างไร
พระองค์ทรงแสดงให้เรารู้จักกรรมที่เป็นอกุศล  และรู้ว่าวิบาก (ผล) ของกรรมที่เป็นอกุศลเป็นอย่างไร
พระองค์ทรงแสดงให้เรารู้จักกรรมที่เป็นกุศล  และรู้ว่าวิบาก (ผล) ของกรรมที่เป็นกุศลเป็นอย่างไร
พระองค์ทรงแสดงธรรมสำหรับฆราวาสผู้อยู่ครองเรือน  และธรรมสำหรับบรรพชิตผู้ละเรือน
พระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งปวง  ทั้งมนุษย์  เทวดา  มาร  พรหม
พระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์สุขทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า
พระองค์ทรงแสดงธรรมที่มีความงาม (ประโยชน์) ทั้งในเบื้องต้น  ในท่ามกลาง  และในที่สุด
... ฯลฯ ...
ธรรมเหล่านี้ที่พระองค์ทรงนำมาแสดงนั้น  เป็นไปเพื่อสุขแต่ฝ่ายเดียว  ไม่มีโทษเลย
(ผู้ที่ปฏิบัติแล้วจึงจะรู้ชัดด้วยตนเอง)


ฉะนั้น  เราจึงควรให้ความสำคัญในการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่บุคคลผู้เป็นเอกได้ทรงแสดงไว้แล้ว

ทั้งนี้  เพื่อประโยชน์สุขของเราทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั่นเอง


ไหว้พระ ๓ ปาง



ถ้าเราอยากมีต้นมะม่วงในสวน  แต่เราปลูกต้นทุเรียน  เราจะได้มะม่วงไหม
ถ้าเราอยากไปเชียงใหม่  แต่เราขับรถไปทางภาคใต้  เราจะถึงเชียงใหม่ไหม
เมื่ออยากได้ผลลัพธ์อย่างหนึ่ง  แต่เราไม่ทำเหตุที่ตรงกับผลลัพธ์นั้น  เราจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการนั้นไหม

ฉันใดก็ดี

- ถ้าเราอยากให้ลูกหลานเป็นเด็กดี  เป็นเด็กฉลาด  แข็งแรง  เราควรทำอย่างไร
- ถ้าเราอยากมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด  แก้ไขปัญหาในชีวิตได้สำเร็จ  เราควรทำอย่างไร
- ถ้าเราอยากมีผิวพรรณงดงาม  มีเครื่องประดับทรัพย์สินมากมาย  เราควรทำอย่างไร

ถ้ามีคนมาบอกว่า

- ไปทำบุญเกี่ยวกับเด็กสิ  เช่น  ทำบุญที่บ้านเด็กกำพร้า  บริจาคเงินช่วยเด็กยากจน  ลูกหลานจะได้เป็นเด็กดี  เป็นเด็กฉลาด
- ไปทำบุญเกี่ยวกับการเรียนการศึกษาสิ  เช่น  บริจาคหนังสือให้ห้องสมุดต่างๆ  ให้ทุนการศึกษาตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย  เราจะได้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
- ไปทำบุญเกี่ยวกับเครื่องประดับสิ  เช่น  บริจาคเสื้อผ้าเหลือใช้ให้คนยากไร้  มอบผ้าห่มกันหนาวให้ชาวเขา  เราจะได้มีเครื่องประดับมากมาย
ถ้ามีคนบอกมาอย่างนี้  ฟังแล้วก็รู้ว่ามันไม่เป็นเหตุเป็นผลกัน ...  เราก็คงไม่เชื่อ

แต่ ...  ถ้ามีคนมาบอกว่า  ไปขอพรจากพระสิ

- ไหว้พระพุทธรูปปางประสูติ  ลูกหลานจะได้เป็นเด็กดี  เป็นเด็กฉลาด
- ไหว้พระพุทธรูปปางตรัสรู้  เราจะได้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
- ไหว้พระพุทธรูปปางปรินิพพาน  และถวายผ้าห่มสไบทองคลุมพระสรีระ  เราจะได้มีเครื่องประดับ
เอ ...  แม้คราวนี้จะไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลกันอีกนั่นแหละ  แต่เราเชื่อไหม



องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดี (ในอิฏฐสูตร) ดังนี้ว่า
"คหบดี  ธรรม ๕ ประการนี้ที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
ธรรม ๕ ประการอะไรบ้าง  คือ
๑. อายุ ที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๒. วรรณะ ที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๓. สุข ที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๔. ยศ ที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๕. สวรรค์ ที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
คหบดี  ธรรม ๕ ประการนี้แลที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก

ธรรม ๕ ประการนี้ที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก  เรามิได้กล่าวว่าจะพึงได้เพราะการอ้อนวอน  หรือเพราะความปรารถนา

ถ้าธรรม ๕ ประการนี้ที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก  จักได้เพราะการอ้อนวอน  หรือเพราะความปรารถนาแล้ว  ในโลกนี้ใครเล่าจะพึงเสื่อมจากอะไรได้"
....

อย่าให้คำว่า  'ไม่เชื่ออย่าลบหลู่'  มาปิดบังความจริง
อย่าให้ความศรัทธาแบบงมงาย  มาปิดบังสติปัญญา
ลองถามใจตัวเองดูสิว่า  การกระทำอย่างนั้น ๆ เป็นเหตุที่จะทำให้ได้ผลตามที่ต้องการนั้นจริงหรือ
เหมือนการที่เราขับรถจากกรุงเทพฯ ลงภาคใต้  แต่อยากไปเชียงใหม่  เราจะไปถึงหรือ

ฉะนั้น

- การที่ลูกหลานจะเป็นเด็กดี  เป็นเด็กฉลาด  แข็งแรง  เราจะได้มาด้วยการอ้อนวอนร้องขอไหม
- การที่เราจะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด  แก้ไขปัญหาในชีวิตได้สำเร็จ  เราจะได้มาด้วยการอ้อนวอนร้องขอไหม
- การที่เราจะมีผิวพรรณงดงาม  มีเครื่องประดับทรัพย์สินมากมาย  เราจะได้มาด้วยการอ้อนวอนร้องขอไหม

การกราบไหว้พระพุทธรูปเพราะระลึกถึงพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เป็นการกระทำที่ดีงาม
แต่การกราบไหว้พระพุทธรูป (ไม่ว่าจะปางไหนก็ตาม) เพราะต้องการอ้อนวอนร้องขอสิ่งต่าง ๆ  ย่อมไม่ตรงกับพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. อิฏฐสูตร (ว่าด้วยธรรมที่น่าปรารถนา)



ปิดทองตรงไหนดี


เคยได้ยินหรือไม่ว่า
การปิดทองที่พระพุทธรูปในตำแหน่งต่าง ๆ  จะมีอานิสงส์แตกต่างกัน

คติความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ  บอกต่อ ๆ กันมาว่า

๑. ปิดที่พระเศียร  เชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาความจำเป็นเลิศ  สามารถแก้ไขอุปสรรคของชีวิตได้ตลอด
๒. ปิดที่พระพักตร์  เชื่อว่าทำให้หน้าที่การงานเจริญรุ่งเรือง
๓. ปิดที่พระอุระ  เชื่อว่าทำให้มีสง่าราศี  เป็นที่ถูกอกถูกใจของทุกคน
๔. ปิดที่พระอุทร  เชื่อว่าจะอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินมากมาย
๕. ปิดที่พระนาภี  เชื่อว่าตลอดทั้งชีวิตจะไม่รู้จักคำว่าอด
๖. ปิดที่พระหัตถ์  เชื่อว่าจะเป็นคนที่มีอำนาจบารมี
๗. ปิดที่พระบาท  เชื่อว่าจะสมบูรณ์ด้วยที่พักอาศัยและยวดยานพาหนะ

อ่านดูแล้ว  ก็น่าจะปิดทองทั่วทั้งองค์พระเลย  เพราะสิ่งดี ๆ ทั้งหลายจะได้บังเกิดขึ้นในชีวิต



แต่ในความเป็นจริงแล้ว  การที่จะมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย  การที่จะเป็นที่รักของทุกคน  ฯลฯ  จะสำเร็จได้ด้วยการปิดทองพระหรือ
สิ่งต่าง ๆ ที่เราปรารถนาเหล่านี้  จะต้องทำเหตุปัจจัยอะไรจึงจะได้มา  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้อย่างไร

ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมจากพระไตรปิฎกให้กระจ่างแจ้ง  ก็อาจจะหลงเชื่อตาม ๆ กันไปก็ได้
ขอยกพระสูตรในพระไตรปิฎกมาอ้างอิง (จากอังคุตตรนิกาย  ทสกนิบาต) ดังนี้


อิฏฐธัมมสูตร  (ว่าด้วยธรรมที่น่าปรารถนา)
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุท้ั้งหลายว่า
"ภิกษุทั้งหลาย  ธรรม ๑๐ ประการนี้เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
ธรรม ๑๐ ประการอะไรบ้าง  คือ
๑. โภคสมบัติ  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๒. ผิวพรรณ  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๓. ความไม่มีโรค  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๔. ศีล  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๕. พรหมจรรย์  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๖. มิตร  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๗. ความเป็นพหูสูต  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๘. ปัญญา  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๙. ธรรม (โลกุตตรธรรม)  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๑๐. สวรรค์  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
ภิกษุทั้งหลาย  ธรรม ๑๐ ประการนี้แลเป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก

ธรรม ๑๐ ประการนี้แลซึ่งเป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก  มีธรรมที่เป็นอันตราย ๑๐ ประการ  คือ
๑. ความเกียจคร้าน  ไม่ขยันหมั่นเพียร  เป็นอันตรายต่อโภคสมบัติ
๒. การไม่ประดับตกแต่ง  เป็นอันตรายต่อผิวพรรณ
๓. การทำสิ่งที่ไม่เป็นสัปปายะ  เป็นอันตรายต่อความไม่มีโรค
๔. ความเป็นผู้มีปาปมิตร (มิตรชั่ว)  เป็นอันตรายต่อศีล
๕. ความไม่สำรวมอินทรีย์  เป็นอันตรายต่อการประพฤติพรหมจรรย์
๖. การแกล้งกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง  เป็นอันตรายต่อมิตร
๗. การไม่ทำการสาธยาย  เป็นอันตรายต่อความเป็นพหูสูต
๘. การไม่ฟังด้วยดี  การไม่สอบถาม  เป็นอันตรายต่อปัญญา
๙. การไม่ประกอบความเพียร  การไม่พิจารณา  เป็นอันตรายต่อธรรม
๑๐. การปฏิบัติผิด  เป็นอันตรายต่อสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย  ธรรม ๑๐ ประการนี้แลเป็นอันตรายต่อธรรม ๑๐ ประการซึ่งเป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก

ธรรม ๑๐ ประการนี้แลซึ่งเป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก  มีธรรมที่เป็นอาหาร ๑๐ ประการ  คือ
๑. ความขยันหมั่นเพียร  ไม่เกียจคร้าน  เป็นอาหารของโภคสมบัติ
๒. การประดับตกแต่ง  เป็นอาหารของผิวพรรณ
๓. การทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ  เป็นอาหารของความไม่มีโรค
๔. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร (มิตรดี)  เป็นอาหารของศีล
๕. ความสำรวมอินทรีย์  เป็นอาหารของการประพฤติพรหมจรรย์
๖. การไม่แกล้งกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง  เป็นอาหารของมิตร
๗. การทำการสาธยาย  เป็นอาหารของความเป็นพหูสูต
๘. การฟังด้วยดี  การสอบถาม  เป็นอาหารของปัญญา
๙. การประกอบความเพียร  การพิจารณา  เป็นอาหารของธรรม
๑๐. การปฏิบัติชอบ  เป็นอาหารของสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย  ธรรม ๑๐ ประการนี้แลเป็นอาหารของธรรม ๑๐ ประการซึ่งเป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก"
อิฏฐธัมมสูตร  จบ



จากพระสูตรในพระไตรปิฎกนี้  พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า  สิ่งต่าง ๆ ที่เราปรารถนา
ถ้าเราทำเหตุที่เป็นปัจจัยให้ได้สิ่งนั้น  เราก็จะได้ผลตามที่ปรารถนา
แต่ถ้าเราทำเหตุที่เป็นปัจจัยให้ไม่ได้สิ่งนั้น  เราก็จะไม่ได้ผลตามที่ปรารถนา

ยกตัวอย่างเช่น
- ถ้าเราอยากจะมีทรัพย์สินเงินทอง  มีโภคสมบัติ
เราก็ต้องหลีกเลี่ยงเหตุที่เป็นอันตรายต่อโภคสมบัติ
และต้องทำเหตุที่เป็นปัจจัยให้ได้โภคสมบัติ
ก็คือต้องหลีกเลี่ยงความเกียจคร้าน  ต้องขยันหมั่นเพียร
- ถ้าเราอยากเป็นที่รักของทุกคน
เราก็ต้องหลีกเลี่ยงเหตุที่เป็นอันตรายต่อมิตร
และต้องทำเหตุที่เป็นปัจจัยให้ได้มิตร
ก็คือการไม่กล่าวเท็จกับมิตร  ต้องกล่าวความจริงกับมิตรเสมอ

จุดประสงค์ที่แท้จริงของการปิดทองพระจึงไม่ใช่เพื่อให้ได้สิ่งเหล่านี้
แต่เป็นการทำเพื่อบูชาพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากกว่า

ฉะนั้น  ไม่ว่าจะปิดทองพระตรงไหนก็ดีเหมือนกันทั้งนั้น  ขอเพียงให้ทำด้วยใจที่เคารพนอบน้อมต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้ต่อสัตว์ทั้งปวง