ปิดทองตรงไหนดี


เคยได้ยินหรือไม่ว่า
การปิดทองที่พระพุทธรูปในตำแหน่งต่าง ๆ  จะมีอานิสงส์แตกต่างกัน

คติความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ  บอกต่อ ๆ กันมาว่า

๑. ปิดที่พระเศียร  เชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาความจำเป็นเลิศ  สามารถแก้ไขอุปสรรคของชีวิตได้ตลอด
๒. ปิดที่พระพักตร์  เชื่อว่าทำให้หน้าที่การงานเจริญรุ่งเรือง
๓. ปิดที่พระอุระ  เชื่อว่าทำให้มีสง่าราศี  เป็นที่ถูกอกถูกใจของทุกคน
๔. ปิดที่พระอุทร  เชื่อว่าจะอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินมากมาย
๕. ปิดที่พระนาภี  เชื่อว่าตลอดทั้งชีวิตจะไม่รู้จักคำว่าอด
๖. ปิดที่พระหัตถ์  เชื่อว่าจะเป็นคนที่มีอำนาจบารมี
๗. ปิดที่พระบาท  เชื่อว่าจะสมบูรณ์ด้วยที่พักอาศัยและยวดยานพาหนะ

อ่านดูแล้ว  ก็น่าจะปิดทองทั่วทั้งองค์พระเลย  เพราะสิ่งดี ๆ ทั้งหลายจะได้บังเกิดขึ้นในชีวิต



แต่ในความเป็นจริงแล้ว  การที่จะมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย  การที่จะเป็นที่รักของทุกคน  ฯลฯ  จะสำเร็จได้ด้วยการปิดทองพระหรือ
สิ่งต่าง ๆ ที่เราปรารถนาเหล่านี้  จะต้องทำเหตุปัจจัยอะไรจึงจะได้มา  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้อย่างไร

ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมจากพระไตรปิฎกให้กระจ่างแจ้ง  ก็อาจจะหลงเชื่อตาม ๆ กันไปก็ได้
ขอยกพระสูตรในพระไตรปิฎกมาอ้างอิง (จากอังคุตตรนิกาย  ทสกนิบาต) ดังนี้


อิฏฐธัมมสูตร  (ว่าด้วยธรรมที่น่าปรารถนา)
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุท้ั้งหลายว่า
"ภิกษุทั้งหลาย  ธรรม ๑๐ ประการนี้เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
ธรรม ๑๐ ประการอะไรบ้าง  คือ
๑. โภคสมบัติ  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๒. ผิวพรรณ  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๓. ความไม่มีโรค  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๔. ศีล  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๕. พรหมจรรย์  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๖. มิตร  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๗. ความเป็นพหูสูต  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๘. ปัญญา  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๙. ธรรม (โลกุตตรธรรม)  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
๑๐. สวรรค์  เป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก
ภิกษุทั้งหลาย  ธรรม ๑๐ ประการนี้แลเป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก

ธรรม ๑๐ ประการนี้แลซึ่งเป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก  มีธรรมที่เป็นอันตราย ๑๐ ประการ  คือ
๑. ความเกียจคร้าน  ไม่ขยันหมั่นเพียร  เป็นอันตรายต่อโภคสมบัติ
๒. การไม่ประดับตกแต่ง  เป็นอันตรายต่อผิวพรรณ
๓. การทำสิ่งที่ไม่เป็นสัปปายะ  เป็นอันตรายต่อความไม่มีโรค
๔. ความเป็นผู้มีปาปมิตร (มิตรชั่ว)  เป็นอันตรายต่อศีล
๕. ความไม่สำรวมอินทรีย์  เป็นอันตรายต่อการประพฤติพรหมจรรย์
๖. การแกล้งกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง  เป็นอันตรายต่อมิตร
๗. การไม่ทำการสาธยาย  เป็นอันตรายต่อความเป็นพหูสูต
๘. การไม่ฟังด้วยดี  การไม่สอบถาม  เป็นอันตรายต่อปัญญา
๙. การไม่ประกอบความเพียร  การไม่พิจารณา  เป็นอันตรายต่อธรรม
๑๐. การปฏิบัติผิด  เป็นอันตรายต่อสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย  ธรรม ๑๐ ประการนี้แลเป็นอันตรายต่อธรรม ๑๐ ประการซึ่งเป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก

ธรรม ๑๐ ประการนี้แลซึ่งเป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก  มีธรรมที่เป็นอาหาร ๑๐ ประการ  คือ
๑. ความขยันหมั่นเพียร  ไม่เกียจคร้าน  เป็นอาหารของโภคสมบัติ
๒. การประดับตกแต่ง  เป็นอาหารของผิวพรรณ
๓. การทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ  เป็นอาหารของความไม่มีโรค
๔. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร (มิตรดี)  เป็นอาหารของศีล
๕. ความสำรวมอินทรีย์  เป็นอาหารของการประพฤติพรหมจรรย์
๖. การไม่แกล้งกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง  เป็นอาหารของมิตร
๗. การทำการสาธยาย  เป็นอาหารของความเป็นพหูสูต
๘. การฟังด้วยดี  การสอบถาม  เป็นอาหารของปัญญา
๙. การประกอบความเพียร  การพิจารณา  เป็นอาหารของธรรม
๑๐. การปฏิบัติชอบ  เป็นอาหารของสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย  ธรรม ๑๐ ประการนี้แลเป็นอาหารของธรรม ๑๐ ประการซึ่งเป็นธรรมที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  หาได้ยากในโลก"
อิฏฐธัมมสูตร  จบ



จากพระสูตรในพระไตรปิฎกนี้  พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า  สิ่งต่าง ๆ ที่เราปรารถนา
ถ้าเราทำเหตุที่เป็นปัจจัยให้ได้สิ่งนั้น  เราก็จะได้ผลตามที่ปรารถนา
แต่ถ้าเราทำเหตุที่เป็นปัจจัยให้ไม่ได้สิ่งนั้น  เราก็จะไม่ได้ผลตามที่ปรารถนา

ยกตัวอย่างเช่น
- ถ้าเราอยากจะมีทรัพย์สินเงินทอง  มีโภคสมบัติ
เราก็ต้องหลีกเลี่ยงเหตุที่เป็นอันตรายต่อโภคสมบัติ
และต้องทำเหตุที่เป็นปัจจัยให้ได้โภคสมบัติ
ก็คือต้องหลีกเลี่ยงความเกียจคร้าน  ต้องขยันหมั่นเพียร
- ถ้าเราอยากเป็นที่รักของทุกคน
เราก็ต้องหลีกเลี่ยงเหตุที่เป็นอันตรายต่อมิตร
และต้องทำเหตุที่เป็นปัจจัยให้ได้มิตร
ก็คือการไม่กล่าวเท็จกับมิตร  ต้องกล่าวความจริงกับมิตรเสมอ

จุดประสงค์ที่แท้จริงของการปิดทองพระจึงไม่ใช่เพื่อให้ได้สิ่งเหล่านี้
แต่เป็นการทำเพื่อบูชาพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากกว่า

ฉะนั้น  ไม่ว่าจะปิดทองพระตรงไหนก็ดีเหมือนกันทั้งนั้น  ขอเพียงให้ทำด้วยใจที่เคารพนอบน้อมต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้ต่อสัตว์ทั้งปวง



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น