อันตรายจากการใช้พระธรรมผิดทาง


หลาย ๆ บทความที่ผ่านมา  ได้เขียนย้ำเกี่ยวกับพระพุทธดำรัสที่ว่
"สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  เป็นผู้รับผลของกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ใครทำกรรมใดไว้  จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม  ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น"

เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา

ถ้าเราทุกคนมีความเชื่ออย่างถูกต้องในเรื่องกรรมและผลของกรรมที่จะได้รับ  ก็คงจะไม่มีใครกล้าทำกรรมที่ไม่ดี  ไม่มีใครกล้าละเมิดศีล  เพราะกลัวว่าจะต้องรับผลที่ไม่ดีกลับมา
.....

แต่ก็มีบางคนที่นำความรู้เรื่องกรรมนี้ไปใช้ผิดทาง




เกือนสิบปีมาแล้ว  ผมเคยเห็นบทสัมภาษณ์ผู้ชายคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นคนเจ้าชู้  คบหาเป็นแฟนกับผู้หญิงพร้อมกันหลาย ๆ คน

จำได้ว่ามีตอนหนึ่งในบทสัมภาษณ์
คนสัมภาษณ์ถามเขาว่า  "สิ่งที่ทำมาทั้งหมดนี้  ไม่กลัวเวรกรรมจะตามทันหรือ"

ผู้ชายคนนี้ตอบว่า  "ผมมองมุมกลับ  ผมถือว่าผู้หญิงที่ต้องมาคบซ้อนกับผมหลาย ๆ คนในวันนี้  เป็นการชดใช้กรรมที่เคยทำกับผมไว้ในชาติที่แล้ว"

เขายังให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกด้วยว่า  "นี่คือกฎแห่งกรรม  ชาติหน้าผมก็ต้องไปใช้กรรมให้พวกเขา  แล้วชาติต่อไปพวกเขาก็ต้องมาใช้กรรมให้ผลอีก  แต่สิ่งที่จะทำให้วงจรนี้หยุดลงได้ก็คือเราต้องหยุดกระทำเพื่อไม่ให้เกิดวงจรในชาติต่อไป  แล้วก็อโหสิกัน"
.....

รู้สึกแปลก ๆ หรือเปล่า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องกรรมและผลของกรรมไว้  เพื่อให้พุทธบริษัทมีหิริและโอตตัปปะ  เกิดความกลัวต่อผลของบาป  และละอายต่อการที่จะต้องทำบาป

แต่ผู้ที่ไม่เข้าใจธรรมะดีพอ  ก็จะเอาธรรมะไปใช้เข้าข้างกิเลสของตนเอง  และกล้าทำบาปกรรมมากยิ่งขึ้น
และเมื่อทำบาปกรรมมากยิ่งขึ้น  ตนเองนั่นแหละก็จะต้องได้รับผลของกรรมต่อไป

การหยุดวงจรกรรมโดยอโหสิ  ก็ไม่ใช่ว่าต้องให้อีกฝ่ายอโหสิก่อน  โดยเรายังคงทำกรรมไม่ดีอยู่
แท้จริงแล้ว  ไม่ว่าอีกฝ่ายจะอโหสิหรือไม่ก็ตาม  เราเองนั่นแหละควรจะหยุดทำบาปกรรมโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขใด ๆ
.....

ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมในพระพุทธศาสนา  ผลที่เกิดขึ้นกับเราที่ตรวจสอบได้  คือ
๑. เราจะตั้งใจละจากบาปทั้งปวง (เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งไม่ดีที่จะเกิดขึ้นกับเรา)
๒. เราจะตั้งใจบำเพ็ญบุญกุศลให้มากยิ่งขึ้น (เพื่อให้เกิดแต่สิ่งดีกับเรา)

ถ้าพฤติกรรมของเรายังไม่ตรงกับ ๒ ข้อนี้  ก็ควรย้อนกลับไปดูว่าเราเข้าใจพระธรรมถูกต้องแล้วหรือไม่เพียงไร
ไม่เช่นนั้น  อันตรายจากการใช้พระธรรมผิดทาง  คือผลของกรรมไม่ดีที่เราทำลงไป  ก็จะเกิดกับเราอย่างแน่นอน
..........



แค่คิดบวกยังไม่พอ


ท่านเจ้าคุณรูปหนึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนทั้งหลาย  แม้ผมเองก็เคารพนับถือเช่นกัน
ไม่นานมานี้  ผมอ่านเจอคำสอนของท่านที่ถูกแชร์ในสังคมออนไลน์ว่า
"ให้รู้สึกว่าเคราะห์นั้นทำให้เราดีขึ้น
เป็นครูของเรา  เป็นผู้เตือนเรา  เป็นผู้ลวงใจเรา
อย่าเห็นว่าเคราะห์กรรมเป็นของเลว  ไม่น่าปรารถนา
ควรคิดว่าเป็นของดีที่ทำให้เราเข้มแข็งมั่นคงขึ้น
ให้รู้สึกเสมอว่า  เราเกิดมาเรียนทั้งเคราะห์ร้ายและเคราะห์ดี"
.....

ใช่ครับ  เมื่อเราประสบกับเหตุการณ์เคราะห์ร้ายต่าง ๆ
คนส่วนมากมักจะเป็นทุกข์  เดือดร้อน  ไม่สบายใจ  ต่าง ๆ นานา

แต่ท่านสอนให้เราเอาเคราะห์กรรมนั้นมาเป็นบทเรียน
ให้คิดว่าเคราะห์กรรมเหล่านั้นไม่ได้เป็นของเลวร้ายอะไร
แต่เป็นสิ่งที่จะมาช่วยทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้น

ถือเป็นการมองโลกในแง่ดี  พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส  ช่วยให้เรารับมือกับเหตุร้ายได้บ้าง
.....




ในพระไตรปิฎก  มีพระสูตรหนึ่งบันทึกไว้ว่า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
ธรรมเทศนาของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ว่าโดยปริยาย  มี ๒ ประการ

ธรรมเทศนา ๒ ประการ  อะไรบ้าง  คือ

๑. ธรรมเทศนาว่า  'ท่านทั้งหลายจงเห็นบาปว่าเป็นบาป'
นี้จัดเป็นธรรมเทศนาประการที่ ๑

๒. ธรรมเทศนาว่า  'ท่านทั้งหลายครั้นเห็นบาปว่าเป็นบาปแล้ว  จงเบื่อหน่ายคลายกำหนัด  ปลดเปลื้องตนให้พ้นจากบาปนั้น'
นี้จัดเป็นธรรมเทศนาประการที่ ๒

ภิกษุทั้งหลาย
ธรรมเทศนาของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ว่าโดยปริยาย  มี ๒ ประการนี้แล"
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในทสนาสูตร)


การมองเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นว่าเป็นบททดสอบของชีวิต
มองว่าจะทำให้ชีวิตมีความแข็งแกร่งขึ้น
ก็สามารถทำให้เราฮึดสู้กับเหตุการณ์นั้น ๆ ได้

แต่การมองโลกในแง่ดี  หรือคิดบวก  เท่านั้นคงยังไม่พอ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้เห็นถึงที่มาของเหตุการณ์นั้น ๆ ว่า

"สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  เป็นผู้รับผลของกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ใครทำกรรมใดไว้  จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม  ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น"

ที่เราต้องมาประสบกับเหตุการณ์ร้าย ๆ ก็เป็นเพราะเราได้เคยทำกรรมที่ไม่ดีมาก่อน
เมื่อบาปกรรมที่เราทำไว้ถึงเวลาให้ผล  เราจึงประสบกับเหตุการณ์ร้ายอย่างนี้

การมองเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยการมองในแง่ดี  อาศัยการคิดบวก  อาจจะช่วยให้สบายใจและรับมือกับเหตุร้ายนั้นได้บ้าง

แต่ถ้าเราไม่อยากประสบเหตุร้ายอีกในอนาคต  เราก็จะต้องไม่ทำบาปกรรมทั้งหลายที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายเหล่านั้นอีก

เมื่อเราเห็นบาปว่าเป็นบาป  ให้ผลเป็นโทษ  เป็นทุกข์
เราก็ควรจะละอายและรังเกียจต่อการทำบาปนั้น  เบื่อหน่ายต่อการทำบาปนั้น  และเปลื้องตนจากการทำบาปเหล่านั้น

ฉะนั้น  หยุดทำบาปกรรมทั้งหลาย  หยุดการเบียดเบียน  รักษาศีลให้ได้ทุกข้อ
เราจะได้ไม่ต้องเจอเหตุร้ายต่าง ๆ เข้ามาทดสอบชีวิตอยู่เรื่อย ๆ
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. เทสนาสูตร (ว่าด้วยธรรมเทศนา)


จำเป็นต้องรู้อดีตหรือไม่


ชายคนหนึ่ง  เกิดในตระกูลมีฐานะ  เป็นลูกช่างทอง
แต่ด้วยความมัวเมาในความเป็นหนุ่ม  จึงได้ลอบเป็นชู้กับภรรยาคนอื่น

หลังจากตายในชาตินั้น  เขาไปใช้กรรมอยู่ในนรก  ถูกไฟนรกเผาเป็นเวลานาน

เมื่อพ้นจากนรกนั้น  ก็มาเกิดในท้องของนางลิงตนหนึ่ง
เมื่อคลอดได้ ๗ วัน  ก็ถูกลิงจ่าฝูงกัดอวัยวะสืบพันธุ์เพราะกลัวจะมาแย่งความเป็นใหญ่
นี้เป็นผลกรรมที่เป็นชู้กับภรรยาคนอื่น

ตายจากชาตินั้น  ก็มาเกิดเป็นแพะตัวหนึ่ง  ตาบอด  เป็นง่อย
เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี  ก็ถูกเด็กตัดอวัยวะสืบพันธุ์  ทำให้ล้มป่วย  หนอนชอนไชที่อวัยวะสืบพันธุ์นั้น
นี้ก็เป็นผลกรรมที่เป็นชู้กับภรรยาคนอื่น

ตายจากชาตินั้น  มาเกิดเป็นลูกวัวตัวหนึ่งของพ่อค้าวัว
เมื่ออายุ ๑๒ ปี  ก็ถูกตอน  ถูกใช้ให้ลากไถและเทียมเกวียน  ป่วยเป็นโรค  ตาบอด
นี้ก็เป็นผลกรรมที่เป็นชู้กับภรรยาคนอื่น

ตายจากชาตินั้น  มาเกิดเป็นลูกของนางทาส  แต่มีเพศเป็นหญิงก็ไม่ใช่  เป็นชายก็ไม่เชิง
นี้ก็เป็นผลกรรมที่เป็นชู้กับภรรยาคนอื่น

ตายจากชาตินั้น  มาเกิดเป็นลูกสาวของคนยากจนเข็ญใจ  มีหนี้สินรุมเร้า
ถูกเจ้าหนี้ฉุดให้ไปอยู่กับลูกชายของเขาซึ่งมีภรรยาอยู่ก่อนแล้ว
ก็ไปทำให้ครอบครัวเขาแตกแยกกันอีก

มาในชาตินี้  เกิดเป็นลูกสาวเศรษฐี
เมื่อโตขึ้น  ได้แต่งงานมีครอบครัว  ไปอยู่กับสามีที่มีฐานะเสมอกัน
นางปรนนิบัติดูแลสามีประดุจเทวดา
แต่อยู่ด้วยกันได้เพียงเดือนเดียว  สามีเกิดเบื่อหน่ายนาง  และไล่นางออกจากบ้าน

พ่อแม่ได้ยกนางให้กับชายอีกคนที่มีฐานะต่ำกว่า
แต่อยู่ด้วยกันได้เพียงเดือนเดียว  สามีคนที่ ๒ ก็เบื่อหน่ายและทิ้งนางไป

พ่อแม่ได้ยกนางให้กับชายอีกคนที่มีฐานะยากจน
แต่อยู่ด้วยกันได้เพียงครึ่งเดือน  สามีคนที่ ๓ ก็เบื่อหน่ายและทิ้งนางไป
.....

ถ้าเราเกิดเป็นนางในชาตินี้  ประสบกับปัญหาในชีวิต  ถูกสามีทอดทิ้งถึง ๓ ครั้ง
เราจะทำอย่างไร
.....


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


บางคนอาจจะไปหาพระ  แม่ชี  หมอดู  ร่างทรง  สิ่งศักดิ์สิทธิ์  อื่น ๆ  ให้ช่วยแก้ไข
ให้ช่วยดูอดีต  สแกนกรรม  สะเดาะเคราะห์  ฯลฯ
จุดประสงค์หลัก  เพราะคิดว่าปัญหาเหล่านั้นเกิดจากผลกรรมในอดีต  จึงต้องการที่จะแก้กรรมด้วยวิธีการอะไรก็ได้
.....

ลูกสาวเศรษฐีเมื่อถูกสามีทอดทิ้ง  ก็คิดว่าจะไปฆ่าตัวตายให้หมดเวรหมดกรรม
แต่ในเวลานั้น  มีภิกษุณีรูปหนึ่งเดินบิณฑบาตมาถึงบ้านที่นางอยู่พอดี
นางจึงได้นิมนต์และถวายภัตตาหารแก่ภิกษุณีรูปนั้น

เมื่อภิกษุณีรูปนั้นฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว  ได้แสดงธรรมให้นางฟัง
นางจึงกล่าวกับบิดามารดาว่า
"พ่อจ๋า  แม่จ๋า  ลูกทำบาปกรรมมามากแล้ว  ลูกจะขอชำระกรรมนั้นให้สิ้นไป  ลูกจะขอบวช"

เมื่อบิดามารดาอนุญาตแล้ว  นางจึงได้บวชเป็นภิกษุณี  ศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน  จนได้บรรลุพระอรหันต์
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในอิสิทาสีเถรีคาถา)


ก่อนที่จะบวชนั้น  ลูกสาวเศรษฐีไม่รู้ว่าตนเองทำกรรมอะไรไว้ในอดีต
แต่เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว  จึงตระหนักว่า
"สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  เป็นผู้รับผลของกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ใครทำกรรมใดไว้  จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม  ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น"

การที่จะเสียเวลาไปค้นหาว่าอดีตเคยทำกรรมอะไรไว้  ไม่เป็นประโยชน์
เพราะกรรมที่ทำลงไปแล้วไม่สามารถแก้ไขได้
เมื่อผลของกรรมที่ทำในอดีตกำลังให้ผล  ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี  ก็เป็นผลจากเหตุที่เราทำมาเอง  จึงควรยอมรับผลกรรมนั้นด้วยความเคารพ

แต่ปัจจุบันและอนาคต  คือสิ่งที่เราสามารถกำหนดได้
เลือกทำกรรมที่ดี  ไม่ทำบาปอกุศลกรรม  ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ผลของกรรมดีย่อมตามมาให้ผลที่ดีแน่นอน
.....

ย้ำอีกทีว่า  การรู้อดีตว่าเราทำกรรมอะไรมา  ไม่สำคัญ
แม้เราจะไม่รู้  แต่ถ้าเราเชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม  เราก็จะยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นได้
และตั้งมั่นที่จะทำแต่กรรมดีในปัจจุบันและอนาคตตลอดไป
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. อิสิทาสีเถรีคาถา (ภาษิตของพระอิสิทาสีเถรี)