ทำบุญถวายอะไรดี


วันก่อน  ได้เห็นโพสต์ของเพื่อนในเฟซบุ๊ค  แชร์คำพูดของหมอดูคนหนึ่งที่กล่าวถึงการทำบุญเสริมดวงในช่วงเข้าพรรษานี้สำหรับคนที่เกิดในวันต่าง ๆ ไว้ว่า

คนที่เกิดวันจันทร์  ให้ทำบุญด้วยเทียนพรรษา  หลอดไฟ  ไฟฉาย  ชุดสังฆทาน  จะได้เริ่มต้นสิ่งใหม่ที่จะช่วยนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จ

คนที่เกิดวันอังคาร  กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง  ให้ทำบุญด้วยข้าวสารอาหารแห้ง  เพื่อเสริมให้ชีวิตมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารการกิน

คนที่เกิดวันพุธ  มีโชคทางการเจรจาสื่อสาร  ให้ทำบุญด้วยอุปกรณ์การเรียน  เครื่องเขียน  หนังสือ  หลอดไฟ  โคมไฟ

คนที่เกิดวันพฤหัสบดี  มีเกณฑ์เจ็บป่วย  ไม่สบายได้ง่าย  ให้เน้นการทำบุญด้วยยาสามัญประจำบ้าน  ยารักษาโรคต่าง ๆ

คนที่เกิดวันศุกร์  เป็นคนที่มีโชคที่ดีอยู่แล้ว  ให้ทำบุญด้วยชุดของใช้สำหรับพระสงฆ์  หรือของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน  สบู่  แปรงสีฟัน  น้ำยาล้างจาน  ช่วยเสริมให้มีโชคลาภ  มีกินมีใช้  ไม่ขัดสน

คนที่เกิดวันเสาร์  เป็นคนที่มีโอกาสได้เดินทางบ่อยขึ้น  ให้ทำบุญด้วยผ้าไตรจีวร  รองเท้า  อาสนะ  เพื่อส่งเสริมดวงการเดินทางให้ราบรื่นลงตัวคลาดแคล้วปลอดภัย

คนที่เกิดวันอาทิตย์  จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน  ให้ทำบุญด้วยข้าวสาร  อาหารแห้ง  หรือของใช้ในครัว  ช่วยเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีและทำให้มีกินมีใช้ตลอด

นอกจากนี้  ยังกล่าวอีกว่า
คนที่อยากจะเสริมโชคเรื่องความรัก  ให้ทำบุญด้วยของเป็นคู่  เช่น  เทียนคู่  ช้อนส้อม  รองเท้า

คนที่อยากมีโชคด้านการเงิน  ควรทำบุญด้วยข้าวสาร  อาหารแห้ง  หรือชุดเครื่องครัว  ถ้วยชาม

คนที่มีปัญหาเรื่องงาน  ให้ทำบุญด้วยแสงสว่าง  เช่น  ไฟฉาย  หลอดไฟ

คนที่มีปัญหาสุขภาพ  ให้ถวายยา
.....





คราวนี้  ลองมาดูการทำบุญของอุบาสกอุบาสิกาในสมัยพุทธกาลบ้าง

นางวิสาขาเห็นว่าภิกษุต้องเปลือยกายอาบน้ำกลางฝน  จึงขอพระพุทธานุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝนเป็นครั้งแรก

นางวิสาขาเห็นพระที่มาจากต่างแดน  ยังไม่ชำนาญเส้นทางในหมู่บ้าน  ทำให้ลำบากในการบิณฑบาต  จึงขอพระพุทธานุญาตถวายภัตสำหรับภิกษุผู้มาพักชั่วคราว

นางวิสาขาเห็นพระที่จะจาริกไปต่างถิ่น  แต่ต้องออกบิณฑบาตก่อน  ทำให้พลาดหมู่เกวียน  จึงขอพระพุทธานุญาตถวายภัตสำหรับภิกษุที่จะเดินทาง

นางวิสาขาเห็นพระที่ป่วยไข้ได้อาหารที่ไม่เหมาะกับโรค  จึงขอพระพุทธานุญาตถวายภัตสำหรับภิกษุไข้

นางวิสาขาเห็นพระที่คอยพยาบาลภิกษุไข้ต้องอดบิณฑบาต  จึงขอพระพุทธานุญาตถวายภัตสำหรับภิกษุที่ดูแลภิกษุไข้

นางวิสาขาเห็นพระที่ป่วยไข้ไม่มียาสำหรับรักษาโรค  จึงขอพระพุทธานุญาตถวายเภสัชสำหรับภิกษุไข้
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในวิสาขาวัตถุ)


ก่อนที่นางวิสาขาจะทำบุญถวายทาน  นางได้ดูไหมว่าตนเองเกิดวันอะไร  ควรจะถวายอะไร

สิ่งที่นางวิสาขาทำบุญถวายพระ  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่านางเกิดวันอะไร  ถวายแล้วนางจะได้อานิสงส์อะไร

แต่ขึ้นอยูกับว่าผู้รับจำเป็นต้องใช้สิ่งใด  ถวายแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรต่อผู้รับ
.....

เห็นความแตกต่างในการเลือกสิ่งของทำบุญใน ๒ เหตุการณ์ไหมครับ

ย้อนกลับมาสำรวจตัวเราเอง
เราใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการเลือกสิ่งที่จะนำไปทำบุญ
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. วิสาขาวัตถุ (ว่าด้วยนางวิสาขากราบทูลขอพร)


กินอย่างไรเมื่อมีข่าวไขมันทรานส์


สืบเนื่องจากประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเร็ว ๆ นี้  ที่มีคำสั่งห้ามการผลิต  นำเข้า  หรือจำหน่ายอาหารที่มีไขมันทรานส์
ทั้งนี้  อาหารที่มีไขมันทรานส์อยู่มาก  ได้แก่  เนยขาว  เนยเทียม  คุ้กกี้  โดนัท  วิปครีม  ขนมขบเคี้ยว  และอาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ

หลังจากมีการเผยแพร่ประกาศฉบับนี้ออกมาไม่นาน  ก็มีข่าวคนไทยป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น  และผู้ที่ชอบกินบุฟเฟต์ - หมูกระทะจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง  ประกาศออกมาอีก

หลายคนจึงมีคำถามว่า  "อันนั้นก็ห้ามกิน  อันนี้ก็ห้ามกิน  แล้วจะกินอะไรได้บ้างนี่"
.....


(ขอบคุณภาพจาก thairath.co.th)


ในสมัยหนึ่ง  มีสามีภรรยาคู่หนึ่งเดินทางไกลในทางทุรกันดารพร้อมลูกน้อย ๑ คน
เสบียงที่เตรียมไว้ได้หมดไปก่อนที่จะถึงจุดหมาย  ระยะทางก็ยังอีกไกล

ทั้ง ๒ คนมีความคิดว่า  "ถ้าพวกเราเดินทางต่อไปทั้งที่ไม่มีเสบียงอย่างนี้  คงต้องตายหมดทั้งพ่อแม่ลูกแน่ ๆ"
จึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร
ในที่สุด  ก็คิดว่า  "เราคงต้องเสียสละฆ่าลูกน้อยสุดที่รักคนนี้  แล้วกินเนื้อของลูกเป็นเสบียงไปจนกว่าจะถึงที่หมาย"

เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น  เขาก็ฆ่าลูก  แล้วนำเนื้อลูกไปทำเนื้อย่างและเนื้อเค็ม  กินเนื้อลูกนั้นไปตลอดเส้นทางที่เหลือจนถึงจุดหมาย
พวกเขากินเนื้อลูกไป  พลางร่ำไห้ไปว่า  "ลูกสุดที่รักของพ่อ  ลูกสุดที่รักของแม่"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
"พวกเขากินเนื้อบุตรเป็นอาหาร  เพราะติดรสชาติ  เพราะความอร่อย  เพราะความมัวเมา  ใช่หรือไม่"

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า  "ไม่ใช่อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"

"พวกเขากินเนื้อบุตรเป็นอาหาร  เพราะความจำเป็น  เพราะต้องข้ามทางกันดาร  ใช่หรือไม่"

"อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในปุตตมังสสูตร)


ในการฉันอาหารของพระสงฆ์  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า
"ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว  จึงฉันบิณฑบาต
ไม่ใช่เพื่อเล่น  ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา  ไม่ใช่เพื่อประดับ  ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง
แต่เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ได้  เพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป  เพื่อบำบัดความหิว  เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์
ด้วยคิดเห็นว่า  'โดยอุบายนี้  เราจะกำจัดเวทนาเก่า (คือความหิว) เสียได้  และจะไม่ให้เวทนาใหม่ (คือความอิ่มจนแน่นอึดอัด) เกิดขึ้น  ความดำรงอยู่แห่งชีวิต  ความไม่มีโทษ  และการอยู่โดยผาสุกก็จะมีแก่เรา'
แล้วจึงบริโภคอาหาร"
.....


ไม่เฉพาะเพียงพระสงฆ์เท่านั้น  แม้แต่ฆราวาสผู้ครองเรือน  ถ้าสามารถสร้างนิสัยการกินได้อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน  ก็คงจะดีไม่น้อย

ไม่ใช่เพื่อเล่น - ดูหนังไปกินไป  ขนมว่าง  ขนมขบเคี้ยว  กินจุบกินจิบ
ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา - กินของแพง  ของลดราคา  ของฟรี  ของอร่อย
ไม่ใช่เพื่อประดับ - ให้ร่างกายอ้วนพี  ดูหรูหรามีฐานะ
ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง - ให้ดูเปล่งปลั่ง  มีผิวพรรณดี

แต่ให้เห็นอาหารเป็นเหมือนเนื้อของลูก
เราจะกินเพียงเท่าที่จำเป็น  ไม่ติดรสชาติ  ไม่มัวเมาในอาหาร  ไม่กินจนอึดอัด

เหตุการณ์ที่ทรงอุปมาขึ้นมานี้  มิได้หมายความว่าเราจะต้องกินเนื้อลูกจริง ๆ
แต่เพียงให้เปรียบเทียบถึงอารมณ์การกินเพียงเพราะความจำเป็น  กับอารมณ์การกินเพราะความอยาก

ถ้าเราสามารถสร้างนิสัยการกินได้อย่างนี้  ความมัวเมาในอาหารก็จะลดน้อยลง
ปัญหาที่ว่า  "อันนั้นก็ห้ามกิน  อันนี้ก็ห้ามกิน  แล้วจะกินอะไรได้บ้าง"  ก็จะหมดไป
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ปุตตมังสสูตร (ว่าด้วยเนื้อบุตร)


มีปัญหาชีวิต ต้องแก้อย่างไร


เด็กคนหนึ่งเกิดมาในตระกูลคนยากจน
เขามีรูปร่างประหลาด  มือเท้าไม่สมประกอบ
แถมยังมีหน้าตาอัปลักษณ์  ตา  หู  จมูก  ปาก  ไม่อยู่ในตำแหน่งปกติ
ตั้งแต่วันที่เขาปฏิสนธิในท้องมารดา  จนกระทั่งคลอดออกมา  ครอบครัวก็หากินฝืดเคืองมาตลอด

สมมติว่าคุณเป็นเด็กคนนั้น
ร่างกายก็ไม่สมประกอบ  เกิดมามีชีวิตอาภัพอย่างนี้
คุณจะทำอย่างไร
.....


(ขอบคุณภาพจาก mthai.com)


หลายคนที่ชีวิตอาจจะไม่ราบรื่น  มีปัญหาอุปสรรคตลอดเวลา
หรือแม้บางคนที่ชีวิตไม่ได้มีปัญหาอะไรมากนัก
แต่มีคนมาทักว่าโครงหน้าไม่ดี  โหงวเฮ้งไม่ดี  มีปานตรงนั้น  มีไฝตรงนี้
แล้วชวนให้ศัลยกรรมผ่าตัด  เพื่อเปลี่ยนโครงหน้าให้ดี  ให้โหงวเฮ้งดีขึ้น
สิ่งเหล่านี้  เพื่อที่จะให้ชีวิตดีขึ้น  ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ลดน้อยลง

คุณคิดว่าอย่างไร
.....

สำหรับเด็กที่หน้าตาอัปลักษณ์คนนั้น  เกิดมาพิกลพิการ  ลำบาก
ถ้าเด็กคนนั้นไปผ่าตัดให้ร่างกายสมบูรณ์ขึ้น
คุณคิดว่าชีวิตของเขาจะพ้นจากความลำบากได้จริงไหม

ย้อนกลับไปดูในอดีตชาติที่แล้ว
เด็กคนนี้เคยเป็นเศรษฐีคนหนึ่ง  แต่มีนิสัยตระหนี่  ขี้เหนียว
แม้จะสอนลูกสอนหลาน  ก็สอนให้เป็นคนตระหนี่เหมือนตน
เขากลัวทรัพย์สินจะหมดสิ้นไป  จึงไม่ยอมบอกที่ฝังขุมทรัพย์ของตนให้ใครรู้แม้กระทั่งลูกของตัวเอง

ด้วยความตระหนี่อันเป็นมลทินในใจนี้เอง
หลังจากตายแล้ว  เศรษฐีตระหนี่ผู้นี้จึงมาเกิดเป็นเด็กหน้าตาอัปลักษณ์เช่นนี้
และด้วยผลของความตระหนี่ในชาตินั้นเอง  ทำให้เขาต้องมีชีวิตที่ยากลำบากในชาตินี้
(อ่านเพิ่มเติมได้ในอานันทเสฏฐิวัตถุ)
.....

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว
แม้จะมีใครทำศัลยกรรมผ่าตัดให้เด็กคนนี้  ให้มีรูปร่างหน้าตาปกติ  ให้มีร่างกายปกติ
หรือแม้จะยิ่งไปกว่านั้น  ศัลยกรรมให้มีโหงวเฮ้งดีตามตำรากันเลย
แต่ความยากลำบากในชีวิตจะหมดสิ้นไปไหม

สาเหตุของการมีชีวิตยากลำบาก  มีปัญหาอุปสรรคมากมาย
ไม่ได้เกิดจากการมีหน้าตาขี้เหร่
ไม่ได้เกิดจากการมีโหงวเฮ้งไม่ดี
ไม่ได้เกิดจากการมีไฝตรงนั้น  มีปานตรงนี้

การศัลยกรรมปรับเปลี่ยนใบหน้า  การเอาไฝเอาปานออก
จึงไม่ช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้จริง

เราทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  และเป็นผู้รับผลของกรรมที่เราทำมาเอง
ฉะนั้น  ถ้าต้องการให้มีชีวิตราบรื่น  ไม่มีปัญหาอุปสรรค
ก็ควรแก้ให้ถูกจุด

กรรมในอดีตที่ผ่านมาแล้ว  เราไม่สามารถย้อนเวลาไปแก้ไขอะไรได้
ปัญหาชีวิตในปัจจุบัน  ก็เป็นผลมาจากการกระทำของเราเองที่เราต้องยอมรับ

แต่สิ่งสำคัญที่เราจะทำได้ในเวลานี้  และต่อ ๆ ไป
คือ  ทำแต่กรรมดี  ละเว้นกรรมที่ไม่ดีทั้งปวง
เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาชีวิตในอนาคตข้างหน้า

ดีกว่าเสียเวลาไปแก้ผิดจุด  แก้ผิดที่ผิดทาง  และไม่ได้ผลจริง
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. อานันทเสฏฐิวัตถุ (เรื่องอานนทเศรษฐี)


ทำไมต้องหาคนผิด


นสมัยพุทธกาล  มีภิกษุกลุ่มหนึ่งจำนวน ๗ รูปเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ระหว่างทาง  ได้ขอเข้าพักค้างแรมที่วัดแห่งหนึ่ง
เจ้าอาวาสได้จัดสถานที่ในถ้ำให้พักอาศัย

ตกกลางคืน  หินขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งได้กลิ้งลงมาปิดประตูถ้ำนั้น
เจ้าอาวาสได้ให้ชาวบ้านมาช่วยกันผลักหินก้อนนั้น
แต่แม้จะเกณฑ์ชาวบ้านมาถึง ๗ หมู่บ้าน  ก็ไม่สามารถทำให้หินนั้นเคลื่อนออกไปได้

ภิกษุทั้ง ๗ รูปติดอยู่ในถ้ำนั้นนานถึง ๗ วันโดยไม่มีอาหารตกถึงท้องเลย  ต้องทรมานเพราะความหิวเป็นอันมาก

ในวันที่ ๗  หินก้อนนั้นก็ได้เคลื่อนออกไปเองราวปาฏิหาริย์

เมื่อภิกษุทั้ง ๗ รูปออกจากถ้ำได้แล้ว  จึงเดินทางต่อเพื่อไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
แล้วได้กราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ
.....

พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากกรรมที่ภิกษุเหล่านั้นทำไว้เอง

ในอดีตชาติ  ภิกษุเหล่านั้นเกิดเป็นเด็กในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ทั้งหมดเป็นเพื่อนกัน
วันหนึ่ง  เด็กเหล่านั้นเจอเหี้ยตัวหนึ่ง  จึงช่วยกันไล่จับ
แต่เหี้ยตัวนั้นวิ่งหนีเข้าไปในจอมปลวกซึ่งมีรูอยู่ ๗ รู
เด็กเหล่านั้นจึงหาใบไม้  กิ่งไม้  ไปอุดรูนั้นไว้ทั้งหมด
แล้วคิดว่าวันพรุ่งนี้จะมาจับเหี้ยตัวนั้นใหม่

แต่วันรุ่งขึ้น  เด็กเหล่านั้นพากันลืมนึกถึงเหี้ยตัวนั้น

ผ่านไป ๗ วัน
เด็กเหล่านั้นเดินไปเห็นจอมปลวก  ก็นึกถึงเหี้ยตัวนั้นได้  จึงรีบเปิดช่องรูเหล่านั้น

เหี้ยตัวนั้นอดอาหารอยู่ในนั้นนาน ๗ วัน  ซูบผอม  ตัวสั่น  ได้คลานออกมาอย่างน่าเวทนา
เด็กเหล่านั้นเห็นแล้วจึงปล่อยเหี้ยตัวนั้นให้เป็นอิสระ
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในการเบียดเบียนนำทุกข์มาให้  (ตอนที่ ๓))

นี่คืออกุศลกรรมที่เด็ก ๗ คนนั้นทำไว้
ในชาตินี้  จึงต้องมาติดอยู่ในถ้ำและอดอาหารนาน ๗ วัน



(ขอบคุณภาพจาก www.tourismthailand.org)


ปลายเดือนที่แล้ว
มีข่าวของเด็กกลุ่มหนึ่งเข้าไปในถ้ำแล้วออกไม่ได้  เพราะเกิดฝนตกหนัก  ทำให้น้ำไหลเข้าไปท่วมปิดทางออก
สถานการณ์คล้ายคลึงกันกับภิกษุ ๗ รูปที่ถูกหินปิดปากถ้ำ

ณ วันนี้ (๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑)  แม้ทีมค้นหาจะพบเด็กกลุ่มนี้แล้ว
แต่ยังไม่สามารถช่วยออกมาจากถ้ำได้ทันที
ยังต้องมีขั้นตอนในการเคลื่อนย้ายและเยียวยารักษาอีก

อย่างไรก็ตาม  ก็เริ่มมีคนพูดถึงเรื่องนี้ว่าเป็นความผิดของใคร
บ้างก็ว่าเป็นความผิดของเด็ก  เพราะเด็กซน  เข้าไปเล่นในถ้ำเอง
บ้างก็ว่าเป็นความผิดของผู้ใหญ่ที่ไปกับเด็ก  เพราะผู้ใหญ่ไม่ห้าม  แต่กลับเข้าไปในถ้ำกับเด็กด้วย
โทษคนนั้น  โทษคนนี้

แต่เราจะได้ประโยชน์อะไร  จากการรู้ว่าใครผิด
.....

เหตุการณ์ที่ภิกษุ ๗ รูปติดอยู่ในถ้ำ
พระพุทธเจ้าก็มิได้ตรัสว่าเป็นความผิดของภิกษุทั้ง ๗ รูป
และมิได้ตรัสว่าเป็นความผิดของภิกษุเจ้าอาวาส
เพราะไม่มีประโยชน์อะไร

แต่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงอกุศลกรรมที่ภิกษุเหล่านั้นเคยทำมาในอดีต
เป็นเหตุให้ต้องมารับผลกรรมในชาตินี้
การรู้อย่างนี้  เป็นประโยชน์มากกว่า
เพราะจะทำให้เรากลัวที่จะทำบาปอกุศลกรรมใหม่

สำหรับเหตุการณ์ของเด็กติดถ้ำ
แม้เราจะระลึกชาติไม่ได้  ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอกุศลกรรมอะไรที่เด็กกลุ่มนี้เคยทำมาก่อน
แต่เรารู้ว่า  "ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากเหตุ"
"สิ่งที่ดี  เกิดจากเหตุที่ดี
สิ่งที่ไม่ดี  เกิดจากเหตุที่ไม่ดี"
รู้และตระหนักในข้อนี้  ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการเที่ยวหาคนผิด
.....

อย่ามัวเสียเวลากับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์  เที่ยวโทษคนนั้น  โทษคนนี้

ใช้เวลาในการทำความเห็นให้เป็นสัมมาทิฏฐิ
ตระหนักในเรื่องกรรมและผลของกรรมให้ดี
เพื่อให้เราละเว้นจากอกุศลกรรมทั้งปวงให้ได้
จะมีประโยชน์ต่อตัวเราเองมากกว่า
..........