คนทำบาปทั้งหมดต้องตกนรกจริงหรือ


คุณคิดอย่างไรกับคำสอนที่ว่า
"คนที่ฆ่าสัตว์ทั้งหมด  ต้องตกนรก
คนที่ลักทรัพย์ของผู้อื่นทั้งหมด  ต้องตกนรก
คนที่ประพฤติผิดในกามทั้งหมด  ต้องตกนรก
คนที่พูดเท็จทั้งหมด  ต้องตกนรก"

คุณคิดว่า  ผู้ที่เชื่อในคำสอนนี้จะมีพฤติกรรมอย่างไร
.....

ตั้งแต่เราเกิดมาจนถึงทุกวันนี้
เราทุกคนเคยทำกรรมที่ไม่ดีมาก่อนด้วยกันทั้งนั้น
บางคนอาจจะเคยฆ่าสัตว์  เคยลักทรัพย์  เคยประพฤติผิดในกาม  เคยพูดเท็จ

ถ้าคำสอนข้างต้นนั้นเป็นจริง
เราทุกคนก็เหมือนถูกสาปให้ต้อง  "ตกนรก"  อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะไม่มีใครไม่เคยทำผิดมาก่อน

และถ้าเรารู้ว่ายังไง ๆ ก็ต้องตกนรก  ไม่มีทางหลีกเลี่ยง
ถามว่า  เราจะหยุดทำกรรมที่ไม่ดีไหม  เราจะทำแต่กรรมดีไหม
.....

คำสอนข้างต้นนั้น (ซึ่งเป็นลักษณะคำขู่)  จึงไม่ใช่คำสอนในพระพุทธศาสนา
แล้วคำสอนในพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับเรื่องนี้  เป็นอย่างไรล่ะ





ในสมัยพุทธกาล
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นโทษภัยต่าง ๆ เป็นอันมาก
ที่เกิดจากการฆ่าสัตว์  การลักทรัพย์  การประพฤติผิดในกาม  การพูดเท็จ

แล้วจึงตรัสสอนว่า
"ท่านทั้งหลาย  จงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นจากการลักทรัพย์
เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
เว้นจากการพูดเท็จ"
.....

ผู้ที่ได้ฟังและพิจารณาเห็นจริงตาม  ก็จะคิดได้ว่า
"การที่เราฆ่าสัตว์  ลักทรัพย์  ประพฤติผิดในกาม  พูดเท็จ  เป็นสิ่งไม่ดี
เราเองจะเดือดร้อนจากโทษภัยต่าง ๆ เป็นอันมาก  เพราะการกระทำนั้น"

เมื่อคิดได้ดังนี้
ก็จะเลิกฆ่าสัตว์  เลิกลักทรัพย์  เลิกประพฤติผิดในกาม  เลิกพูดเท็จ
และตั้งใจงดเว้นขาดจากการกระทำที่ไม่ดีทั้งหมดนี้ต่อไป
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในสังขธมสูตร)


สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน
ไม่มีการขู่ให้กลัวด้วยนรก
ไม่มีการล่อให้เชื่อด้วยสวรรค์
มีแต่การชี้ให้เห็นความจริงตามที่เป็นจริง

เราทุกคนเคยทำกรรมที่ไม่ดีมาก่อนด้วยกันทั้งนั้น
บางคนอาจจะเคยฆ่าสัตว์  เคยลักทรัพย์  เคยประพฤติผิดในกาม  เคยพูดเท็จ
ฉะนั้น  ถ้าเราจะต้องประสบกับความทุกข์เดือดร้อนเพราะผลจากกรรมที่เราทำเองนั้น
ก็เป็นเรื่องที่ยุติธรรมแล้ว

แต่ถ้าเรายังฆ่าสัตว์  ยังลักทรัพย์  ยังประพฤติผิดในกาม  ยังพูดเท็จ  ยังไม่หยุด
เราก็จะต้องได้รับความทุกข์เดือดร้อนต่อไปอีก  ไม่จบสิ้น

ด้วยเหตุแห่งคำสอนนี้
เราจึงจะมีเจตนาละเว้นจากการทำกรรมที่ไม่ดีอีกต่อไป
.....

"การทำบาป  มีโทษภัยต่าง ๆ เป็นอันมาก
ฉะนั้น  จงเว้นจากการทำบาปทั้งปวงเถิด"
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. สังขธมสูตร (ว่าด้วยคนเป่าสังข์)


การสมาทานศีลที่ไม่ช่วยให้มีศีล


ในสมัยก่อน  ชาวบ้านที่เข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม
เมื่อพระแสดงธรรมเรื่องศีล  และอานิสงส์ของศีลให้ฟัง
ชาวบ้านที่ฟังแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส  อยากจะรักษาศีล
ก็กล่าวกับพระ  เหมือนเป็นการปฏิญาณตนว่า  จะรักษาศีลข้อนั้นข้อนี้  หรือทุกข้อ

พระสงฆ์ก็จะรับทราบ  เป็นพยานในความตั้งใจที่ดีของคนคนนั้น
ซึ่งการทำอย่างนี้ก็มีข้อดี  คือ  ถ้าจะทำผิดศีล  ก็จะเตือนตัวเองได้ว่าเราได้ให้สัญญาต่อหน้าพระแล้วนะ  อย่าทำผิดศีลนะ

ต่อมา  คนที่ฟังธรรมแล้วอยากรักษาศีล  แต่ไม่รู้ว่าจะต้องกล่าวอย่างไร
ยิ่งถ้าต้องกล่าวเป็นภาษาบาลี  ซึ่งตนเองไม่ถนัด  และไม่รู้ความหมายด้วย
พระท่านก็จะบอก  แล้วให้กล่าวตาม

ภาพที่ปรากฏก็เลยกลายเป็นว่า
ต้องมีการอาราธนาศีล (ขอให้พระให้ศีล)
และคอยรับศีลโดยการกล่าวภาษาบาลีตามที่พระบอก





เวลาผ่านไป
คนที่ไม่รู้ที่มาที่ไป  ก็เข้าใจว่าตนจะมีศีลได้  ต้องไปขอศีลจากพระ
ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด
.....

ถ้าย้อนกลับไปดูลำดับขั้นตอนในอดีต
จุดเริ่มต้นที่สำคัญ  คือการได้ฟังธรรม
เมื่อฟังธรรมแล้ว  จึงเห็นอานิสงส์ของการรักษาศีล  เห็นโทษของการผิดศีล
เมื่อเห็นอานิสงส์และโทษแจ่มแจ้งแล้ว  จึงอยากรักษาศีล
จากนั้น  จึงกล่าวคำสมาทานศีล (รับเอาศีลมาปฏิบัติ) ต่อหน้าพระสงฆ์

การสมาทานศีลที่เป็นไปโดยลำดับอย่างนี้  จะช่วยให้เรารักษาศีลได้
เพราะเมื่อเราคิดจะทำผิดศีล  ก็จะนึกถึงธรรมที่ได้ฟังมา  นึกถึงโทษของการผิดศีล
นึกละอายแก่พระที่เป็นพยานในการสมาทานศีล
ก็จะช่วยยับยั้งความคิดที่จะทำผิดศีลได้
.....

แต่การสมาทานศีลในปัจจุบัน
ไม่ได้เริ่มจากการฟังธรรม
ทำให้ยังไม่เห็นอานิสงส์ของการมีศีล
ยังไม่เห็นโทษของการผิดศีล
จึงสมาทานศีลกันเพียงเป็นรูปแบบ  เป็นพิธีการ

เมื่อผู้สมาทานศีลคิดจะทำผิดศีล  ก็จะไม่มีสิ่งใดมาฉุดรั้งความคิดนั้นได้
การสมาทานศีลเช่นนี้จึงไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย  ยังทำผิดศีลได้เหมือนเดิม
.....

ฉะนั้น  อย่าสักแต่ว่าสมาทานศีลเพียงเพราะเป็นพิธีการ  เป็นแค่รูปแบบ
แต่ควรทำความเข้าใจเรื่องของศีลให้กระจ่างแจ้ง
เมื่อนั้น  การสมาทานศีลที่เกิดจากใจที่อยากจะรักษาศีลจริง
ก็จะช่วยให้เรามีศีล  และนำประโยชน์สุขมาให้ได้จริง


(ขอบคุณข้อมูลจาก  web.facebook.com/tsangsinchai/posts/1738778339549229)
..........



คาถาเลิกจองเวร


ถ้าวันหนึ่ง  คุณถูกเบียดเบียน  ถูกทำร้าย
คุณจะทำอย่างไรกับคนที่มาทำร้ายคุณ

และยิ่งไปกว่านั้น
ถ้าเขาทำร้ายคนที่คุณรัก  ทำให้พ่อแม่หรือลูกของคุณต้องตาย
คุณจะทำอย่างไร
.....

เจ้าชายองค์หนึ่งต้องพลัดพรากจากดินแดนของตนตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์
พระราชบิดาและพระราชมารดาถูกพระราชาจากต่างแดนบุกเข้ามายึดราชบัลลังก์
เมื่อทรงแพ้สงคราม  จึงต้องปลอมพระองค์ไม่ให้ใครรู้จัก  หลบหนีไปประทับอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
ครั้นเจ้าชายองค์นั้นทรงเจริญวัย  ก็ได้ไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่นอกเมือง

ต่อมา  พระราชบิดาและพระราชมารดาถูกพระราชาพระองค์นั้นจับได้
และถูกจับปลงพระชนม์ทั้ง ๒ พระองค์

เวลานั้น  เจ้าชายทรงสำเร็จศิลปวิทยาทุกแขนงแล้ว  กำลังเสด็จกลับ
ก็ได้ข่าวของพระราชบิดาและพระราชมารดา

ถ้าเราเป็นเจ้าชายองค์นั้น  เราจะทำอย่างไร
.....

หลายคนอาจจะเคยได้ยินสำนวนหนังจีนกำลังภายในที่ว่า
"君子报仇,十年不晚"
"ลูกผู้ชาย  ๑๐ ปีล้างแค้นก็ยังไม่สาย"

เจ้าชายองค์นั้นได้ปลอมตัวเข้าไปทำงานรับใช้ในวัง
จนได้รับแต่งตั้งเป็นมหาดเล็กคนสนิทภายใน

วันหนึ่ง  ได้ติดตามพระราชาออกไปล่าสัตว์
มีโอกาสได้พาพระราชาแยกออกไปจากกองทหารติดตาม
เมื่ออยู่กันเพียงลำพัง ๒ พระองค์
และเจ้าชายก็มีพระขรรค์พกติดตัวอยู่ด้วย

เมื่อโอกาสเอื้ออำนวยเช่นนี้  ถ้าเราเป็นเจ้าชาย  เราจะทำอย่างไร
.....





ในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการแก้แค้นนี้  เจ้าชายทรงดำริว่า
"พระราชาองค์นี้แย่งชิงราชบัลลังก์ของเราไป
และได้ปลงพระชนม์ชีพพระราชบิดาและพระราชมารดาของเราอีกด้วย
บัดนี้  เป็นเวลาที่เราจะได้แก้แค้นแล้ว"

ขณะเดียวกัน  ก็ทรงดำริว่า
"พระราชบิดาได้ตรัสสั่งไว้เมื่อใกล้จะสวรรคตว่า
'เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว  อย่าเห็นแก่สั้น
เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร  แต่ระงับได้ด้วยการไม่จองเวร'
การที่เราจะละเมิดพระดำรัสสั่งของพระราชบิดานั้นไม่ควรเลย"

ความคิดทั้ง ๒ นี้ผลัดกันผุดขึ้นอยู่ในใจของเจ้าชาย
ถ้าเราเป็นเจ้าชาย  เราจะปล่อยให้ความคิดไหนเป็นฝ่ายชนะ
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในทีฆาวุวัตถุ)


คาถาที่พระราชบิดาให้เจ้าชายไว้  ทำให้เจ้าชายเลิกจองเวรได้  คือ

อย่าเห็นแก่ยาว  คือ  อย่าได้จองเวรให้ยืดเยื้อ

อย่าเห็นแก่สั้น  คือ  อย่าแตกร้าวจากมิตรเร็วนัก

เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร  คือ
พระราชบิดาพระราชมารดาของเจ้าชายถูกปลงพระชนม์แล้ว
ถ้าเจ้าชายปลงพระชนม์ชีพของพระราชาพระองค์นั้นบ้าง
คนของพระราชานั้นก็จะตามฆ่าเจ้าชาย
คนของเจ้าชายก็จะตามฆ่าคนพวกนั้นอีก
เป็นวงจรจองเวรกันไปมา  ไม่จบสิ้น

เวรระงับได้ด้วยการไม่จองเวร  คือ
เจ้าชายไม่ปลงพระชนม์พระราชาพระองค์นั้น
พระราชาก็ไม่ถือโทษเอาผิดเจ้าชาย
ต่างให้ชีวิตแก่กันและกัน
การจองเวรก็จบลง

ถ้าเรานึกถึงคาถานี้ได้  ความโกรธแค้นในใจก็น่าจะลดน้อยลง
.....

อีกคาถาหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์  ช่วยเตือนสติให้เราเลิกจองเวรได้
คือ  "เรามีกรรมเป็นของตน  เป็นผู้รับผลของกรรม"

การที่เราถูกทำร้าย  ถูกเบียดเบียน
ก็เพราะเราเคยทำร้ายหรือเบียดเบียนคนอื่นมาก่อนในอดีต

ซึ่งถ้าเราทำร้ายหรือเบียดเบียนตอบกลับไปอีก
เราก็จะถูกทำร้ายหรือเบียดเบียนอีกในอนาคต
"เวรก็จะไม่ระงับด้วยการจองเวร"

หวังว่า ๒ คาถานี้คงจะช่วยให้เลิกจองเวรกันได้บ้างนะครับ
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ทีฆาวุวัตถุ (ว่าด้วยทีฆาวุกุมาร)


เห็นธรรมในทุกเหตุการณ์ได้บ้างไหม


เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล

พ่อค้าคนหนึ่งบรรทุกสินค้าขึ้นเกวียนเพื่อไปขายยังต่างแดน
เขาได้นิมนต์พระภิกษุทั้งหลายที่ต้องการไปยังที่นั้น  ให้เดินทางไปด้วยกัน
โดยขอปวารณาดูแลเรื่องภัตตาหารในระหว่างทาง

โจรกลุ่มหนึ่งได้ข่าวว่าพ่อค้าคนนี้กำลังเดินทางไปค้าขาย
จึงพากันไปดักซุ่มเพื่อปล้นทรัพย์ในทางที่พ่อค้าจะไป

เมื่อพ่อค้าได้ข่าวว่ามีกลุ่มโจรดักซุ่มอยู่ในทางข้างหน้า
จึงพักอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในระหว่างทาง  แล้วคิดว่าจะเดินทางกลับ

ฝ่ายโจรเมื่อทราบว่าพ่อค้าไม่ไปต่อแล้ว  ก็พากันไปดักซุ่มในทางที่พ่อค้าจะกลับ

พ่อค้าเมื่อได้ข่าวว่ากลุ่มโจรไปดักรออยู่ในทางกลับ
ก็คิดว่าจะไม่เดินทางไปข้างหน้าต่อ  และจะยังไม่เดินทางกลับด้วย
แล้วเล่าเหตุการณ์ให้ภิกษุทั้งหลายรับรู้

ภิกษุเหล่านั้นจึงตัดสินใจเดินทางไปกันเอง
แล้วได้กราบทูลเรื่องนี้ให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ
.....

อีกเหตุการณ์หนึ่ง
ขณะที่พระอานนท์กำลังเดินบิณฑบาตอยู่ในกรุงเวสาลี  ได้เห็นลิจฉวีกุมารฝึกยิงธนูให้เข้าเป้าที่มีขนาดเล็ก  จากที่ไกล  ติดต่อกัน  ได้อย่างแม่นยำ
เมื่อกลับจากบิณฑบาต  ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว  ก็ได้เข้าไปกราบทูลเรื่องนี้ให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ
.....

ทั้ง ๒ เหตุการณ์นี้  พระพุทธเจ้าจะตรัสว่าอย่างไร
ถ้ามีคนมาเล่าเหตุการณ์เช่นนี้ให้เราฟัง  เราจะคิดอย่างไร
.....



(ขอบคุณภาพจาก  watdalarna.se/image/LifeofBuddha041.png)

สำหรับเรื่องของพ่อค้าเกวียน
บางคนอาจจะคิดว่า  "เราต้องป้องกันอันตรายจากพวกโจร  ต้องเตรียมอาวุธให้พร้อม  ต้องเลือกเส้นทางให้ดี  ต้องทำประกันทรัพย์สิน  ต้องแจ้งหน่วยงานราชการ  ต้อง ... ฯลฯ"

แต่สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุกลุ่มนั้นคือ
"ให้เว้นจากกรรมชั่วทั้งหลาย"

โดยตรัสอุปมาว่า
ทางที่มีโจรซุ่มอยู่เป็นอันตราย  พ่อค้าย่อมเว้นทางนั้น
ยาพิษที่ร้ายแรงอาจทำให้ตาย  ผู้ที่อยากมีชีวิตอยู่ย่อมเว้นจากยาพิษนั้น
ฉันใดก็ดี  การเวียนว่ายตายเกิดมีแต่ทุกข์
ภิกษุจึงควรเว้นกรรมชั่วทั้งหลายที่เป็นเหตุให้ต้องไปเกิดอีก  ฉันนั้น
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในมหาธนวาณิชวัตถุ)


สำหรับเรื่องของลิจฉวีกุมาร
บางคนอาจจะคิดว่า  "คนเหล่านั้นมีฝีมือการยิงธนูยอดเยี่ยม  น่าทึ่ง  น่าไปดู"

แต่สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์คือ
"ให้ทำความเพียรเพื่อให้รู้ชัดในพระธรรมคำสอนของพระองค์"

โดยตรัสว่า
แม้การยิงธนูให้เข้าเป้าได้แม่นยำถึงขนาดนั้น  จะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
แต่การใช้ปลายขนทรายที่แบ่งเป็น ๗ เสี่ยง  แทงเข้าที่ปลายขนทราย  ทำได้ยากกว่า
และยิ่งไปกว่านั้น
การแทงตลอดตามความเป็นจริงในอริยสัจ ๔  ชื่อว่าแทงตลอดสิ่งที่แทงตลอดได้ยากยิ่งกว่า
ฉะนั้น  ภิกษุจึงควรทำความเพียรเพื่อให้รู้ชัดในอริยสัจ ๔

เพราะความเพียรในการฝึกยิงธนูเช่นนั้น  ไม่เป็นประโยชน์
แต่ความเพียรเพื่อให้รู้ชัดในธรรม  เป็นประโยชน์
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในวาลสูตร)


ไม่ว่าจะพบเห็นเหตุการณ์ใด  หรือได้ยินได้ฟังสิ่งใดมา
สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำสาวกทั้งหลาย
คือ  "การมีธรรมเป็นเกาะ  มีธรรมเป็นที่พึ่ง  ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง"

ถ้าเราสามารถเจริญอยู่ในธรรม
สามารถเห็นธรรมได้ในเหตุการณ์ต่าง ๆ
เราก็จะไม่หลงไปกับกระแสของโลก  กระแสของกิเลส
เราจะได้ประโยชน์จากการนำธรรมนั้น ๆ มาใคร่ครวญพิจารณา
และเกิดประโยชน์แก่ตนเองได้ต่อไป

วันนี้  เมื่อเราเสพสิ่งต่าง ๆ แล้ว  เรามีธรรมเป็นที่พึ่งได้อย่างไร
เราอ่านข่าวการเมืองแล้วคิดอย่างไร
เราอ่านข่าวอาชญากรรมแล้วคิดอย่างไร
เราอ่านข่าวดาราแล้วคิดอย่างไร
เราอ่านโพสต์ในโซเชียลแล้วคิดอย่างไร
เราดูละครทีวีแล้วคิดอย่างไร
ฯลฯ

เราได้เห็นธรรมจากเหตุการณ์นั้น ๆ ที่เป็นประโยชน์ในทางธรรมแก่ตนเองบ้างหรือยัง
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. มหาธนวาณิชวัตถุ (เรื่องพ่อค้าผู้มีทรัพย์มาก)
๒. วาลสูตร (ว่าด้วยอุปมาด้วยปลายขนทราย)