พระสารีบุตรสอนพราหมณ์


พราหมณ์คนหนึ่งได้รับแต่งตั้งจากพระราชา
ให้ทำหน้าที่เก็บส่วยข้าวกล้าจากประชาชนเข้าคลังหลวง
โดยที่พระราชาทรงกำชับว่าให้เก็บเท่าที่จำเป็น  ไม่ให้ราษฎรเดือดร้อน

แต่เขาไปเก็บเอาข้าวกล้ามาเกือบหมด
โดยอ้างกับราษฎรว่า  "ข้าวกล้าในคลังหลวงมีน้อย 
พระราชาทรงสั่งให้เรามาเก็บไปอย่างนี้
พวกท่านอย่าได้คร่ำครวญไปเลย"

แล้วไปกราบทูลพระราชาว่า  "ฤดูกาลนี้  ชาวบ้านได้ผลผลิตน้อย
ข้าพระองค์ไม่อาจเบียดเบียนพวกเขาได้
จึงเก็บมาไม่มาก  พระเจ้าข้า"

เขาอาศัยการ  "ฉ้อราษฎร์"  และ  "บังหลวง"  เช่นนี้
เอาข้าวเข้าบ้านตนเองเป็นอันมาก  แล้วส่งเข้าคลังหลวงเพียงเล็กน้อย
.....


พราหมณ์ให้เหตุผลว่า  เขาจำเป็นต้องทำอย่างนี้
เพราะเขาต้องเลี้ยงพ่อแม่
ต้องเลี้ยงลูกเมีย
ต้องเลี้ยงข้าทาสบริวาร
ต้องเลี้ยงเพื่อนฝูงมิตรสหาย
ต้องเลี้ยงญาติพี่น้อง
ต้องต้อนรับแขกที่มาหา
ต้องทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษ
ต้องเซ่นสรวงเทวดา
ต้องส่งเงินภาษีให้รัฐ
ต้องเลี้ยงดูตนเอง
.....





พระสารีบุตรได้ถามพราหมณ์คนนั้นว่า
"ใครที่ประพฤติอธรรม  ละเมิดศีล ๕  หรือทำอกุศลกรรมบถ ๑๐
ไม่ว่าจะทำเพื่อเลี้ยงพ่อแม่  เลี้ยงลูกเมีย  เลี้ยงบริวาร  หรืออื่น ๆ ก็ตาม

(อกุศลกรรมบถ ๑๐  ได้แก่
ทางกาย  :  ฆ่าสัตว์  ลักทรัพย์  ประพฤติผิดในกาม
ทางวาจา  :  พูดเท็จ  พูดส่อเสียด  พูดคำหยาบ  พูดเพ้อเจ้อ
ทางใจ  :  เพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่น  พยาบาท  มีความเห็นผิด)

ถ้านายนิรยบาล (ผู้ลงโทษสัตว์นรก) ฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก
เพราะการประพฤติอธรรมของเขา

เขาจะร้องขอได้ไหมว่า
'ข้าพเจ้าประพฤติอธรรมเพื่อบุคคลทั้งหลายเหล่านั้น
ข้าพเจ้าทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
ขอท่านอย่าฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย'

หรือบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดจะอ้อนวอนได้ไหมว่า
'ชายคนนี้ประพฤติอธรรมเพื่อประโยชน์แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ขอท่านอย่าฉุดคร่าเขาไปยังนรกเลย'

เขาจะได้รับการยกเว้นเพราะคำร้องขอนั้นได้หรือไม่"

พราหมณ์ตอบว่า
"ไม่ได้  ชายคนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย
นายนิรยบาลก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้"

พระสารีบุตรถามอีกว่า
"คน ๒ จำพวก  คือ
พวกที่ ๑  คนที่ประพฤติอธรรม  แม้จะทำเพื่อบุคคลอื่นก็ตาม
กับพวกที่ ๒  คนที่ไม่ประพฤติอธรรม  และทำเพื่อบุคคลอื่นเช่นกัน
คนจำพวกไหนประเสริฐกว่ากัน"

พราหมณ์ตอบว่า
"คนที่ไม่ประพฤติอธรรม  ประเสริฐกว่า"

พระสารีบุตรถามอีกว่า
"การงานที่ประกอบด้วยธรรม  โดยไม่ต้องทำบาปกรรม
และเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นบุญได้
ที่ทำให้เขาเลี้ยงดูบุคคลทั้งหลายได้  มีอยู่หรือไม่"

พราหมณ์ตอบว่า  "มีอยู่"
.....

(อ่านเรื่องราวทั้งหมดได้ในธนัญชานิสูตร)


ในเมื่อการทำบาป  การเบียดเบียนผู้อื่น  ไม่ใช่สิ่งประเสริฐ
เป็นเหตุให้ถูกติเตียนได้ในปัจจุบัน
และหลังจากตายแล้ว  ยังต้องไปรับกรรมในนรกอีก
ไม่มีข้ออ้างใด ๆ มาเป็นข้อยกเว้นจากนายนิรยบาลได้

และวิธีที่เราจะเลี้ยงดูพ่อแม่  เลี้ยงดูลูกเมีย  หรือคนอื่น ๆ ได้
โดยที่ไม่ต้องทำบาป  ไม่ต้องเบียดเบียนผู้อื่น  ก็มีอยู่มากมาย

แล้วเราควรทำบาปหรือ
ควรเบียดเบียนคนอื่นหรือ
ไม่ต้องทำความเลว  ก็เลี้ยงดูพ่อแม่และครอบครัวได้  ไม่ใช่หรือ
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง


ข้อคิดจากแพะ


ในสมัยพุทธกาล  มีผู้กราบทูลถามว่า
"มนุษย์จำนวนมากทำการฆ่าสัตว์ให้ตาย
เพื่อทำบุญอุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว  (เรียกว่า  มตกภัต)
การกระทำเช่นนั้นจะได้บุญไปถึงผู้ตายหรือไม่"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
"การให้มตกภัตโดยการทำสัตว์ให้ตายนั้นไม่มีบุญใด ๆ ถึงผู้ตาย"

แล้วทรงนำชาดกมาตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล
พราหมณ์ผู้หนึ่งสำเร็จวิชาไตรเพทแล้ว  ต้องการฆ่าสัตว์เพื่อจะให้มตกภัต
จึงบอกให้ลูกศิษย์ไปจับแพะมาตัวหนึ่ง

เมื่อลูกศิษย์จับแพะมาแล้ว
ก็พาไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด  ประดับด้วยพวงมาลัยต่าง 
แล้วนำไปให้อาจารย์

แพะตัวนั้นเห็นสิ่งที่พราหมณ์พวกนั้นกระทำแก่ตน
ก็รู้ได้ด้วยสัญชาตญาณว่าตนกำลังจะถูกนำไปฆ่า
จากนั้น  ก็หัวเราะ
อีกสักครู่  ก็ร้องไห้

พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์จึงถามแพะว่า  "เหตุใดเจ้าจึงหัวเราะ"

แพะตอบว่า
"เราดูจากสิ่งที่ท่านกระทำกับเรา  ก็รู้ว่าพวกท่านกำลังจะฆ่าเราเพื่อให้มตกภัต

ท่านพราหมณ์  เราระลึกถึงกรรมในอดีตได้
เมื่อก่อน  เราก็เป็นพราหมณ์เหมือนท่านนั่นแหละ
และเราก็ได้ฆ่าแพะตัวหนึ่งเพื่อให้มตกภัต  เหมือนที่ท่านกำลังจะทำอยู่นี้

ด้วยกรรมนั้นเอง  เราต้องคอขาดตายมาแล้ว ๔๙๙ ชาติ
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่เราจะได้รับผลกรรมเช่นนั้น

เราดีใจว่า  หลังจากนี้  เราจะได้พ้นจากทุกข์นี้แล้ว
ดังนั้น  เราจึงหัวเราะ"

พราหมณ์ถามต่อว่า  "แล้วทำไมเจ้าจึงร้องไห้"

แพะตอบว่า
"เราไม่ได้ร้องไห้เพราะจะถูกท่านฆ่าหรอกนะ
แต่เพราะเราเห็นท่านกำลังจะฆ่าเรา
แล้วจะต้องได้รับผลกรรมถูกตัดหัว ๕๐๐ ชาติเหมือนเรา
เราสงสารท่าน  จึงร้องไห้"

พราหมณ์ได้ฟังแล้ว  กลัวว่าจะต้องได้รับผลกรรมเช่นนั้น  จึงบอกแพะว่า
"แพะเอ๋ย  เจ้าอย่ากลัวเลย  เราจะไม่ฆ่าเจ้าแล้ว"

แพะบอกว่า
"ท่านพราหมณ์  ท่านจะฆ่าเราหรือไม่ก็ตาม
เราก็ไม่อาจจะพ้นจากผลของกรรมไปได้หรอก"

พราหมณ์บอกว่า
"แพะเอ๋ย  เราและลูกศิษย์ทั้งหมดจะคอยดูแลคุ้มครองเจ้าเอง"

แพะจึงบอกว่า
"ท่านพราหมณ์  บาปที่เราทำไปนั้นมีกำลังมาก
ท่านและลูกศิษย์มีกำลังเพียงเล็กน้อย
ไม่มีสิ่งใดจะต้านทานผลของบาปได้หรอก"

ต่อจากนั้น  พราหมณ์ก็ได้ปล่อยแพะตัวนั้นให้เป็นอิสระแล้ว
และได้ตามคุ้มครองอย่างใกล้ชิด

แพะนั้นเมื่อถูกปล่อยแล้ว  ก็ได้เดินไปเพื่อจะกินหญ้า

ทันใดนั้นเอง  เกิดฟ้าผ่าลงมาที่ชะง่อนหินแห่งหนึ่ง
สะเก็ดหินชิ้นหนึ่งแตก  ลอยตกลงมา  ได้ตัดคอแพะขาด  ณ  ที่นั้นเอง

(อ่านเพิ่มเติมได้ในมตกภัตตชาดก)
..........


(ขอบคุณภาพจาก Artur Roman from Pexels
https://www.pexels.com/photo/animal-buck-bush-daylight-534584/)


สิ่งที่ได้จากเรื่องนี้

๑. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ (ในนิทานสูตร) ว่า
"โลภะ (ความอยากได้) เป็นเหตุให้เกิดกรรม
โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) เป็นเหตุให้เกิดกรรม
โมหะ (ความหลง) เป็นเหตุให้เกิดกรรม
เมื่อทำกรรมนั้นไปแล้ว
ก็จะต้องได้รับผลของกรรมในชาติที่กรรมนั้นให้ผล
อาจจะเป็นชาติปัจจุบัน  ในชาติถัดไป  หรือชาติอื่น ๆ"

ผู้ที่คิดว่า  "การฆ่าสัตว์ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย  จะเป็นบุญ"
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำบาปกรรมด้วยโมหะความหลง

การฆ่าสัตว์  การเบียดเบียน  เป็นบาป
บุญที่เกิดจากการทำบาป  ย่อมไม่มี

ฉะนั้น  ฆ่าวัวฆ่าควายเลี้ยงในงานบวช
ฆ่าเป็ดฆ่าไก่ไหว้บรรพบุรุษ
ปล้นคนรวยไปช่วยคนจน
หรืออื่น ๆ
เป็นบุญทั้งหมดหรือไม่
.....


๒. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ (ในตโยชนวัตถุ) ว่า
"บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้
ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
ถึงจะดำลงไปในมหาสมุทร  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
ถึงจะเข้าไปหลบในซอกเขา  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่คนทำบาปยืนอยู่แล้วจะพ้นจากบาปกรรมได้"

ถึงแม้พราหมณ์จะไม่ฆ่าแพะแล้ว
ถึงแม้พราหมณ์จะให้ความอารักขาคุ้มครองแพะอย่างดี
แต่เมื่อบาปกรรมที่แพะเคยทำไว้มาให้ผล
แพะก็หนีผลของกรรมนั้นไม่ได้

ฉะนั้น  เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว
จะมีสถานที่ใด  บุคคลใด  วิธีการใด
ที่มีความสามารถเหนือกว่าพระพุทธเจ้า
ที่จะสามารถแก้กรรม  เปิดกรรม  ล้างกรรม  ลบกรรม  ฯลฯ  ได้จริงหรือไม่
.....


๓. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในปัพพชิตอภิณหสูตร
ให้ภิกษุพิจารณาธรรม ๑๐ ประการเนือง ๆ
มีอยู่ข้อหนึ่ง  ให้พิจารณาว่า
"เรามีกรรมเป็นของตน  เป็นผู้รับผลของกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
เราทำกรรมใดไว้  จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม  ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น"

เมื่อแพะรู้ว่าจะถูกพราหมณ์ฆ่า
ก็คิดว่า  "ที่เราจะต้องคอขาดตายวันนี้  ไม่ใช่เพราะพราหมณ์จะฆ่าเรา
แต่เป็นเพราะผลของกรรมที่เราทำมาเองในอดีต
เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นเอง"

แพะไม่ได้มีจิตโกรธแค้นในพราหมณ์แม้แต่น้อย
แต่กลับคิดว่า  "ถ้าพราหมณ์ฆ่าเรา
เขาก็จะต้องได้รับผลของกรรมเช่นเดียวกับที่เราได้รับนี้"

แพะไม่ได้สะใจที่พราหมณ์จะต้องรับกรรมเพราะมาฆ่าเรา
แต่กลับเมตตาสงสารจนร้องไห้

ฉะนั้น  เมื่อเรากำลังถูกใครทำร้าย
แม้เราจะระลึกชาติไม่ได้ก็ตาม
แต่เราจะคิดได้ไหมว่า  นั่นเป็นผลของกรรมที่เราทำมาเอง

และเราจะสงสารผู้ที่มาทำร้ายเราจากใจจริงได้หรือไม่
หรือว่าเรากำลังหลอกตัวเองว่าเราให้อภัย
ทั้งที่ในใจเรากำลังอยากให้ผลของกรรมล้างแค้นแทนเรา
.....


ใครได้ข้อคิดอื่น ๆ อีกบ้างไหม
มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะครับ
..........

ตัวอย่างที่ดีจากนางวิสาขา


ครั้งหนึ่ง  นางวิสาขาได้กราบทูลนิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เพื่อรับภัตตาหารในเรือนของนาง

ในการทำบุญเลี้ยงพระครั้งนั้น
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยเสร็จแล้ว
ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายฉันเสร็จแล้ว
นางวิสาขาได้กราบทูลขอพร ๘ ประการ  ดังนี้ว่า

พรข้อที่ ๑
สาวใช้ของนางวิสาขาไปที่วัด  เห็นพระหลายรูปอาบน้ำชำระร่างกายท่ามกลางสายฝน
ไม่รู้ว่าเป็นพระ  คิดว่าเป็นพวกนักบวชเปลือย
นางวิสาขากราบทูลว่าการที่ภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝน  น่าเกลียด  ไม่น่าดู
ฉะนั้น  ขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต

พรข้อที่ ๒
เมื่อมีภิกษุมาจากต่างแดน  ไม่ชำนาญทางในหมู่บ้าน  บิณฑบาตลำบาก
ฉะนั้น  ขอถวายอาคันตุกภัต (อาหารสำหรับภิกษุที่มาขอพักชั่วคราว) แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต

พรข้อที่ ๓
เมื่อภิกษุจะต้องเดินทาง  ถ้ามัวบิณฑบาตอยู่  อาจจะพลาดหมู่เกวียน  หรือไปถึงที่หมายในเวลาค่ำมืด
ฉะนั้น  ขอถวายคมิกภัต (อาหารสำหรับภิกษุที่จะต้องเดินทาง) แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต

พรข้อที่ ๔
ภิกษุที่ป่วยไข้  ถ้าไม่ได้อาหารที่เหมาะสม  อาการป่วยอาจจะทรุดหนักหรือถึงตายได้
ฉะนั้น  ขอถวายคิลานภัต (อาหารสำหรับภิกษุไข้) แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต

พรข้อที่ ๕
ภิกษุที่พยาบาลภิกษุไข้  ถ้ามัวบิณฑบาตอยู่  อาจจะนำอาหารไปให้ภิกษุไข้ไม่ตรงเวลา  หรือตนเองต้องอดอาหาร
ฉะนั้น  ขอถวายคิลานุปัฏฐากภัต (อาหารสำหรับภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้) แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต

พรข้อที่ ๖
ภิกษุที่ป่วยไข้  ถ้าไม่ได้ยารักษา  อาการป่วยอาจจะทรุดหนักหรือถึงตายได้
ฉะนั้น  ขอถวายคิลานเภสัช (ยาสำหรับภิกษุไข้) แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต

พรข้อที่ ๗
พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า  ข้าวยาคูมีอานิสงส์ ๑๐ ประการ
(ดูอานิสงส์ได้ในยาคุมธุโคฬกานุชานนา)
ฉะนั้น  ขอถวายธุวยาคู (ข้าวยาคูที่ถวายประจำ) แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต

พรข้อที่ ๘
การที่ภิกษุณีเปลือยกายอาบน้ำ  ย่อมน่าเกลียด  ไม่น่าดู
ฉะนั้น  ขอถวายผ้าอาบน้ำแก่ภิกษุณีสงฆ์จนตลอดชีวิต"

(เห็นตัวอย่างความฉลาดในการให้ทานของนางวิสาขาไหมครับ
อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ในวิสาขาวัตถุ)
.....





นางวิสาขาเป็นผู้สร้างวัดบุพพารามถวายไว้ในพระพุทธศาสนา
มีโอกาสเข้าวัด  ฟังธรรม  และถวายทานอยู่เป็นประจำ

เมื่อนางสังเกตเห็นความลำบากที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์
ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคในการประพฤติธรรม
จึงทูลขออนุญาตถวายสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่พระสงฆ์

การถวายทานในลักษณะนี้  เรียกว่า  "กาลทาน"
คือ  การถวายทานตามกาล  หรือตามโอกาสที่สมควร
โดยถวายสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในโอกาสนั้น ๆ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงกาลทานไว้ว่า
       "ผู้มีปัญญา  รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
เป็นผู้ปราศจากความตระหนี่
ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้
       ทานที่ให้ในพระอริยะผู้ซื่อตรง  ผู้คงที่
ย่อมเป็นทักษิณาที่ไพบูลย์
ทำให้เขามีใจผ่องใส
       ชนเหล่าใดอนุโมทนาหรือขวนขวายในทักษิณานั้น
เพราะการอนุโมทนาหรือขวนขวายของชนเหล่านั้น
ทักษิณาย่อมมีผลไม่พร่อง
แม้พวกเขาก็เป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ
       เพราะฉะนั้น  ผู้มีจิตไม่ท้อถอย
จึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า"

(อ่านเพิ่มเติมได้ในกาลทานสูตร)
.....


นอกจากนี้  กาลทานยังมีอานิสงส์ที่สำคัญอื่นอีก
นางวิสาขากราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

"ถ้าหม่อมฉันทราบข่าวว่ามีภิกษุบรรลุโสดาบัน  สกทาคามี  อนาคามี  หรืออรหันต์
และทราบว่าภิกษุเหล่านั้นเคยมาที่กรุงสาวัตถีนี้ด้วย
หม่อมฉันจะปลื้มใจมาก

เพราะเป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นจะเคยใช้ผ้าอาบน้ำฝน  เคยฉันอาคันตุกภัต  คมิกภัต  คิลานภัต  คิลานุปัฏฐากภัต  คิลานเภสัช  หรือธุวยาคูของหม่อมฉันเป็นแน่

เมื่อหม่อมฉันระลึกถึงบุญกุศลนั้น  ก็จะเกิดความปลื้มใจ
เมื่อหม่อมฉันปลื้มใจ  ก็จะเกิดอิ่มใจ
เมื่ออิ่มใจ  กายจะสงบ
หม่อมฉันมีกายสงบ  จะมีความสุข
จิตของผู้มีความสุข  จะตั้งมั่น
หม่อมฉันจะได้อบรมอินทรีย์  พละ  และโพชฌงค์"
.....


ทานที่ให้ไว้ดีแล้ว  นำมาซึ่งความสุข
และเป็นพื้นฐานในการทำกุศลธรรมอื่น ๆ ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้อีกด้วย

ถ้าเรามีโอกาสอนุเคราะห์ผู้ที่ประพฤติธรรมในโอกาสต่าง ๆ
คอยดูแลช่วยเหลือให้ผู้นั้นประพฤติธรรมได้โดยไม่ลำบาก
นับว่าเป็นบุญกุศลที่เราได้ทำไว้ดีแล้ว

และถ้าผู้นั้นประสบความสำเร็จในธรรมด้วย
โดยได้รับการสนับสนุนจากเราอยู่เบื้องหลัง
เราจะมีความปลื้มปีติและมีความสุขมากแค่ไหน

เห็นตัวอย่างความฉลาดในการให้ทานของนางวิสาขาแล้ว
เกิดความคิดดี ๆ อะไรบ้างไหมครับ
.....

เรื่องน่าคิดเกี่ยวกับทาน


ธนาคารแห่งหนึ่ง
จัดทำโครงการให้คนบริจาคเงินผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคาร
เพื่อบริจาคให้โรงพยาบาลแห่งหนึ่งนำไปซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์
โดยผู้ที่บริจาคเงินทุก ๒๐ บาท  จะสามารถเลือกรับ ๑ ใน ๓ สิทธิพิเศษต่อไปนี้
คูปองส่วนลดร้านกาแฟยี่ห้อดังสุดหรูที่คุณชื่นชอบ ๒๐๐ บาท
คูปองส่วนลดห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง ๒๐๐ บาท
คูปองเงินสดสำหรับเติมน้ำมันรถฟรี ๒๐๐ บาท
.....

ทันทีที่คุณอ่านข่าวประชาสัมพันธ์โครงการนี้จบ
คุณคิดอย่างไร
(ลองคิดดูก่อนนะครับ  แล้วค่อยเลื่อนอ่านต่อ)
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.

ความคิดที่ ๑
คุณเห็นช่องทางที่จะได้รับสิทธิพิเศษมูลค่า ๒๐๐ บาท  โดยใช้เงินเพียง ๒๐ บาท

หรือความคิดที่ ๒
คุณเห็นโอกาสที่จะได้ทำบุญกุศลเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาล

ความคิดไหนเกิดขึ้นก่อนกัน
ความคิดไหนเด่นชัดกว่ากันครับ
.....


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


บริษัทผลิตและจำหน่ายกระเป๋าใส่เงินแห่งหนึ่ง
นิมนต์พระเกจิอาจารย์ชื่อดังมาทำพิธีปลุกเสกกระเป๋าเงินมหามงคล
ทั้งปลุกเสก  ลงยันต์  ลงคาถาเมตตามหานิยม
ให้เจ้าของมีเงินทองไหลมาเทมา  เงินทองไม่รั่วไหล  มีเงินใช้ไม่ขาดมือ
แล้วเปิดจำหน่ายให้คนที่สนใจ
รายได้ทั้งหมดจะนำไปซื้อเตียงผู้ป่วย  บริจาคให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลน
.....

คำถามเดียวกัน
ทันทีที่คุณอ่านข่าวนี้จบ  คุณคิดอย่างไร

ความคิดที่ ๑
คุณอยากซื้อกระเป๋าใส่เงินที่ผ่านการปลุกเสกมาใช้
แถมยังได้ทำบุญกับโรงพยาบาลทางอ้อมอีกด้วย

หรือความคิดที่ ๒
คุณเห็นโอกาสที่จะได้ทำบุญกุศลเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาล
แล้วยังได้กระเป๋าเงินเป็นของแถมอีกด้วย

ความคิดไหนเด่นชัดกว่ากัน
อยากได้กระเป๋าเงินเป็นเรื่องหลัก  ได้ทำบุญเป็นเรื่องรอง
หรือว่า  ได้ทำบุญเป็นเรื่องหลัก  ได้กระเป๋าเงินเป็นเรื่องรอง
..........


ยังมีอีกหลายกิจกรรม  ที่มีลักษณะคล้ายกันเช่นนี้
คือ  มีการจัดกิจกรรมบางอย่างขึ้นมา
แล้วให้มีการทำบุญพ่วงอยู่ในกิจกรรมนั้นด้วย
โดยมาก  มักจะเป็นการให้ทาน  หรือการบริจาค


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงจาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการเสียสละ) ไว้ว่า
"จาคสัมปทา  คืออย่างไร
คือ  อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน  มีจาคะอันสละแล้ว
มีฝ่ามือชุ่ม  ยินดีในการสละ  ควรแก่การขอ
ยินดีในการให้ทานและการจำแนกทาน  อยู่ครองเรือน
นี้เรียกว่า  จาคสัมปทา"

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่ากิจกรรมนั้นดีหรือไม่ดี

แต่สิ่งที่อยากให้คิด  คือ
ถ้าเราอยากได้ประโยชน์ที่เกิดจากกิจกรรมนั้นเป็นหลัก
(ได้ส่วนลด ๒๐๐ บาท  หรือได้กระเป๋าปลุกเสก)
โดยอ้างการให้ทานพ่วงมาเป็นของแถม
การให้ทานนั้น  จะเป็นการให้ด้วยใจที่ปราศจากความตระหนี่หรือไม่
..........


และจากตัวอย่างข้างต้น
ถ้าธนาคารแห่งนั้นยกเลิกสิทธิพิเศษทั้ง ๓ ข้อ
แต่ยังขอรับบริจาคเงินเพื่อนำไปให้โรงพยาบาลอยู่
คุณจะโหลดแอพพลิเคชั่นนั้นมาเพื่อบริจาคเงินหรือไม่

ถ้าบริษัทแห่งนั้นไม่ได้ปลุกเสกกระเป๋าใส่เงินมหามงคล
แต่ขอบริจาคเงินจากคุณเปล่า ๆ เท่ากับมูลค่าของกระเป๋า
แล้วจะนำไปซื้อเตียงผู้ป่วยเหมือนเดิม
คุณจะบริจาคหรือไม่

ลองพิจารณาคำตอบของคุณเองดูนะครับ
.....


สิ่งที่ไม่ควรลืมสอนลูก


ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ชาวบ้านกำลังช่วยกันจัดสถานที่ทำบุญเลี้ยงพระ
ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์มาในพิธี

เด็กคนหนึ่งเห็นชาวบ้านช่วยกันจัดเตรียมอาหารหวานคาวมากมาย
ก็กล่าวว่า
"อาหารดี ๆ ตั้งมากมายขนาดนี้  เอามาถวายให้นักบวชโล้นเหล่านี้ทำไม
วัน ๆ ไม่เห็นทำอะไรให้เป็นประโยชน์เลย
เอาไปทิ้งให้เป็นอาหารของพวกมดหนูแมลงยังดีกว่า"

ชาวบ้านทั้งหลายที่ได้ยิน  จึงไปเล่าให้แม่ของเด็กฟัง  แล้วกล่าวว่า
"ลูกของเธอได้กล่าวคำอันไม่สมควร
เธอควรพาลูกของเธอไปขอขมาโทษพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์นะ"

นางได้เรียกลูกของตนมาสอบถามความจริง
แล้วจึงสอนให้เห็นคุณของพระพุทธเจ้า  พระธรรม  และพระสงฆ์
สอนให้รู้ว่าสิ่งใดคือกรรมดีและกรรมไม่ดี
สอนเรื่องบาปบุญคุณโทษ

เมื่อเด็กนั้นสำนึกผิดแล้ว
นางจึงพาไปขอขมาโทษต่อพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์
แล้วนิมนต์ให้พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์รับภัตตาหารของตนตลอด ๗ วัน

ต่อมา  เมื่อเด็กคนนั้นตายไป
จึงได้มาเกิดในท้องของหญิงโสเภณีคนหนึ่ง
เมื่อหญิงนั้นรู้ว่าได้ลูกเป็นชาย  ไม่สามารถสืบทอดอาชีพของตนได้
ก็นำไปทิ้งไว้ที่กองขยะ

เช้าวันนั้น
พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังบริเวณที่เด็กนั้นถูกทิ้งพร้อมกับหมู่ภิกษุสงฆ์  ตรัสว่า
"เด็กคนนี้ไร้ที่พึ่ง  ถูกนำมาทิ้งไว้ที่นี่ก็จริง
แต่เขาจะมีทรัพย์สมบัติมากในอนาคต"

แล้วตรัสเล่าถึงกรรมในอดีตที่เด็กคนนี้ทำไว้
และทรงแสดงธรรมแก่พุทธบริษัทที่อยู่  ณ  ที่นั้น

เศรษฐีคนหนึ่งเมื่อฟังจบแล้ว  ได้ประกาศรับเด็กคนนี้เป็นบุตรของตน
เมื่อเด็กคนนี้เติบโตขึ้น  ก็ได้รับมรดกทั้งหมดของเศรษฐี
เขาได้เป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา
เป็นผู้มีความยินดีในการให้ทานแล้ว

ต่อมา  เมื่อเขาตายไป  ก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
(อ่านเพิ่มเติมได้ในกุมารเปตวัตถุ)
.....




การที่เขาต้องไปเกิดในท้องของหญิงโสเภณี
และต้องถูกนำไปทิ้ง
ก็เป็นผลของอกุศลกรรมที่เขาทำไว้นั่นเอง

การที่เขาได้รับอุปการะจากเศรษฐี
ได้ครอบครองสมบัติของเศรษฐี
ได้ไปเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ก็เป็นผลของกุศลกรรมที่เขาทำไว้เช่นกัน
.....

เมื่อเด็กคนนี้กล่าวคำอันไม่สมควร
ไม่ว่าจะเพราะความคะนองปาก  ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  ความไม่รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ  หรือเพราะอะไรก็ตาม
แต่เมื่อกระทำกรรมที่ไม่ดีลงไป
ก็ต้องได้รับผลของการกระทำอันไม่สมควรนั้น

โชคดี  ที่ได้แม่มาตักเตือน
ให้เห็นคุณของพระพุทธเจ้า  พระธรรม  และพระสงฆ์
ให้รู้ว่าสิ่งใดคือกรรมดีและกรรมไม่ดี
ให้รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ
เด็กจึงมีโอกาสได้ทำความดีในโอกาสถัดมา
และได้รับผลของกรรมดีที่ทำ

ถ้าไม่ได้แม่มาสอน
เด็กนั้นก็อาจจะทำสิ่งที่ไม่ดีอีกหลายอย่าง
และผลกรรมก็คงจะไม่หมดแค่การถูกทิ้งที่กองขยะ
เด็กนั้นอาจจะไม่มีใครรับเลี้ยงดู
อาจจะไม่มีชีวิตรอด
อาจจะไปเกิดเป็นเปรต  สัตว์ดิรัจฉาน  หรือสัตว์นรกก็ได้
.....

พ่อและแม่  หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผูกพันกับเด็กมากที่สุด  จึงมีความสำคัญ
เพราะจะเป็นผู้คอยบอก  คอยเตือน  คอยชี้แนะ
สอนให้หลีกเลี่ยงการกระทำที่ไม่ดี
สอนให้ทำแต่กรรมดี  (เช่น  ให้รู้จักการให้ทาน  รักษาศีล ๕)
เพื่อประโยชน์สุขของลูกอันเป็นที่รัก
ไม่ใช่เฉพาะแค่ในชาตินี้เท่านั้น  แต่ในชาติต่อ ๆ ไปอีกด้วย

อย่าลืมสอนเด็ก ๆ ในเรื่องนี้นะครับ
.....


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. กุมารเปตวัตถุ (เรื่องเด็กพูดวาจาหยาบเป็นบาปได้)



ครูคนแรกควรสอนอะไร


มีคำกล่าวว่า  "พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก"
เป็นคนที่สอนให้ลูกเรียนรู้การนั่ง  การยืน  การเดิน  การนอน
สอนให้รู้จักการเคี้ยว  การกิน  การพูด  และอื่น ๆ อีกหลาย ๆ อย่าง
และที่สำคัญ ...
สอนให้รู้จักว่า  อะไรควร  อะไรไม่ควร

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ (ในสิงคาลกสูตร) ว่า
สิ่งที่พ่อแม่ควรกระทำแก่ลูก  คือ
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. หาคู่ครองที่สมควรให้
๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันสมควร

แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ทำหน้าที่เหล่านี้ให้ดี
โดยเฉพาะ ๒ ข้อแรก
อะไรจะเกิดขึ้นกับลูก
..........




ยกตัวอย่างในสมัยพุทธกาล

มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง  เป็นเศรษฐีมีทรัพย์สมบัติมาก
มีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนอยู่คนหนึ่ง

พ่อแม่ที่เป็นเศรษฐีคิดว่า
"ในตระกูลของเรามีทรัพย์สมบัติมากมาย
ลูกสุดที่รักของเราไม่จำเป็นต้องทำการงานอะไร
ก็มีเงินทองใช้ได้อย่างสบายไปทั้งชีวิต"

จึงไม่ได้ให้ลูกชายเรียนศิลปวิทยาใด ๆ เลย
ให้เรียนรู้แต่การใช้จ่ายเงินเท่านั้น

ต่อมา  ลูกชายเศรษฐีก็ได้แต่งงานกับลูกสาวของเศรษฐีอีกตระกูลหนึ่ง
ซึ่งไม่ได้ศึกษาศิลปวิทยาใด ๆ เช่นเดียวกัน

เวลาผ่านไป  พ่อแม่ของทั้งสองตระกูลก็ถึงแก่กรรม
สมบัติของทั้งสองตระกูลก็ตกเป็นของลูกเศรษฐี

วันหนึ่ง  พวกนักเลงสุราพากันตั้งวงสุราในที่ที่ลูกเศรษฐีนั้นจะเดินผ่าน
ทำทีท่าร้องรำทำเพลง  สรวลเสเฮฮา  ดื่มสุรากันอย่างมีความสุข

เมื่อลูกเศรษฐีเดินผ่านมาเห็นเข้า
ก็ถามคนรับใช้ที่เดินมาด้วยว่า  "พวกนั้นดื่มอะไรกัน"

คนรับใช้ตอบว่า  "พวกนั้นดื่มน้ำชนิดหนึ่งครับนาย"

ลูกเศรษฐีถามว่า  "น้ำนั้นคงจะมีรสชาติอร่อยมากล่ะสิ"

คนรับใช้ตอบว่า  "นาย  ในโลกนี้  ไม่มีน้ำอะไรที่น่าดื่มยิ่งไปกว่าน้ำนี้อีกแล้ว"

ลูกเศรษฐีคิดว่า  "ถ้าอย่างนั้น  เราก็ต้องดื่มบ้างสิ"
จึงให้คนรับใช้ไปหามาให้

ต่อมา  เมื่อพวกนักเลงสุรารู้ว่าลูกเศรษฐีนั้นได้ดื่มสุราและติดใจในสุราแล้ว
จึงพากันแวดล้อมลูกเศรษฐีนั้น  จนลูกเศรษฐีมีบริวารเป็นนักเลงสุรากลุ่มใหญ่

เขาได้จ่ายทรัพย์ไปกับค่าสุราบ้าง
จ่ายให้กับค่ากับแกล้มบ้าง
จ่ายให้กับนักร้องนักดนตรีบ้าง
จ่ายให้กับบริวารทั้งหลายบ้าง

ไม่นานนัก
เงินที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้และเงินของพ่อตาแม่ยายก็ถูกใช้ไปจนหมด
สมบัติที่มีทุกอย่างแม้กระทั่งบ้านก็ถูกขายเพื่อเอาเงินมาซื้อสุราจนหมดอีก

เมื่อทรัพย์สมบัติที่มีหมดสิ้นไป  ไม่มีกระทั่งบ้านที่อยู่
เขาจึงต้องพาภรรยาเที่ยวเร่ร่อนขอทาน

องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นคนทั้งสองนี้กำลังรอรับอาหารที่เหลือจากภิกษุ  จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ถ้าลูกเศรษฐีไม่ผลาญสมบัติจนหมด  รู้จักทำการงานในปฐมวัย
ก็จะได้เป็นเศรษฐีชั้นเลิศในเมืองนี้
และถ้าออกบวช  ก็จะบรรลุอรหัตผล
แม้ภรรยาของเขาก็จะดำรงอยู่ในอนาคามิผล

ถ้าไม่ผลาญสมบัติจนหมด  รู้จักทำการงานในมัชฌิมวัย
ก็จะได้เป็นเศรษฐีชั้นที่ ๒
ถ้าออกบวช  ก็จะได้เป็นอนาคามี
แม้ภรรยาของเขาก็จะดำรงอยู่ในสกทาคามิผล

ถ้าไม่ผลาญสมบัติจนหมด  รู้จักทำการงานในปัจฉิมวัย
ก็จะได้เป็นเศรษฐีชั้นที่ ๓
ถ้าออกบวช  ก็จะได้เป็นสกทาคามี
แม้ภรรยาของเขาก็จักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล

แต่บัดนี้  ลูกเศรษฐีนั้นเสื่อมแล้วจากทรัพย์ทางโลก
และเสื่อมแล้วจากทรัพย์ทางธรรมด้วย"
..........


ถ้าครูคนแรกของลูก
ไม่สอนลูก  ให้รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี
ไม่สอนลูก  ให้รู้จักการเลือกคบเพื่อนที่ดี
ไม่สอนลูก  ให้รู้จักบาป  รู้จักบุญ
ไม่สอนลูก  ให้รู้จักพระธรรมในพระพุทธศาสนา
ปล่อยให้ลูกทำผิด  แล้วไม่ว่ากล่าวตักเตือน
ก็เท่ากับปล่อยให้ลูกไปสู่ความหายนะ !!!
.....

และก่อนที่จะสอนลูก
เราก็ต้องเข้าใจในเรื่องที่เราจะสอน
และทำในสิ่งที่เราสอนควบคู่ไปด้วย
คำสอนนั้นจึงจะทรงพลังให้ลูกเชื่อและทำตามได้จริง

เราเป็นครูคนแรกที่ดีของลูกหรือยัง
.....


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. สิงคาลกสูตร (ว่าด้วยสิงคาลกมาณพ)
๒. มหาธนเสฏฐิปุตตวัตถุ (เรื่องบุตรเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก)


คำอวยพร


ผมได้รับคำถามจากเพื่อนคนหนึ่งว่า
"เราอวยพรให้พระได้หรือไม่"

คำถามนี้  ทำให้ผมนึกถึงเรื่องเล่าที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาเรื่องหนึ่ง
(ในภัคคชาดก)
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า

นานมาแล้ว
มียักษ์ตนหนึ่งเฝ้าอยู่ที่ศาลาที่พักอาศัยของคนเดินทางหลังหนึ่ง

ยักษ์ตนนี้ได้รับพรจากท้าวเวสสุวัณ (ราชาแห่งยักษ์) ว่า
"มนุษย์คนใดก็ตามที่เข้าไปพักในศาลานี้
ถ้าเห็นผู้อื่นจาม  แล้วไม่กล่าวว่า  'ขอให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรงเถิด'
หรือผู้ที่เขาอวยพรแล้ว  แต่ไม่กล่าวตอบว่า  'ขอให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรงเช่นกัน'
อนุญาตให้ยักษ์จับกินได้"

วันหนึ่ง  มีพ่อลูกคู่หนึ่งเดินทางไปค้าขายยังต่างแดน
ระหว่างทาง  ได้เข้าไปอาศัยนอนพักค้างแรมในศาลาพักคนเดินทางหลังนั้น

ยักษ์เห็นคนทั้งสองแล้ว  ต้องการจับกิน
จึงโรยผงละเอียดด้วยอานุภาพของตนให้เข้าไปในจมูกของผู้เป็นพ่อ
ทำให้เขาจามเสียงดัง

ผู้เป็นลูกเห็นพ่อจาม  ก็ไม่ได้พูดอะไร
ยักษ์จึงตรงเข้าไปหาเพื่อจะจับเขากิน

แต่เขาเป็นคนฉลาด  เมื่อเห็นยักษ์แล้ว  ก็รู้ได้ด้วยปัญญาไหวพริบว่า
"ยักษ์ตนนี้กำลังจะมาจับเรากิน
คงเป็นเพราะเราเห็นพ่อจามแล้วไม่ได้กล่าวว่าขอให้แข็งแรง"

คิดได้ดังนี้แล้ว  จึงกล่าวกับพ่อว่า
"ขอให้พ่อมีสุขภาพแข็งแรง  อย่าเจ็บอย่าป่วยเลย"

ยักษ์ได้ยินคำนั้นแล้ว  ก็ไม่สามารถเข้าไปจับเขากินได้
จึงหันไปทางผู้เป็นพ่อ

ผู้เป็นพ่อเห็นยักษ์เข้ามาหา  ก็รู้ว่า
"ยักษ์ตนนี้จะมาจับเรากิน
คงเพราะเราไม่ได้กล่าวอวยพรตอบ"

จึงกล่าวกับลูกชายว่า
"ขอให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง  อย่าเจ็บอย่าป่วยเช่นกันนะ"

ยักษ์จึงไม่สามารถจับทั้งสองคนกินได้

ธรรมเนียมการกล่าวอวยพรให้มีสุขภาพดี  จึงเกิดขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
..........


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


เวลาผ่านไป  จนมาถึงในสมัยพุทธกาล

ครั้งหนึ่ง  ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่
พระองค์ได้ทรงจามขึ้น

ครั้งนั้น  ภิกษุทั้งหลายต่างเป็นห่วงพระสุขภาพ  จึงพากันกราบทูลว่า
"ขอพระองค์ทรงพระเจริญพระชนมายุเถิด"

เพราะเสียงถวายพระพรนั้น  พระพุทธเจ้าจึงทรงหยุดการแสดงธรรม
แล้วตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อมีการจาม  แล้วได้รับพรว่า  'ขอจงมีอายุยืน'
ผู้ที่จามนั้นจะมีอายุยืนจากการได้รับพรนั้นหรือ"

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า  "ไม่ใช่อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
ด้วยเหตุนี้  เมื่อมีการจาม  ภิกษุไม่พึงให้พรว่า  'ขอจงมีอายุยืน'
ภิกษุรูปใดให้พร  ต้องอาบัติทุกกฏ"
..........

ไม่ว่าจะเป็นพรในเรื่องใดก็ตาม
ขอให้อายุยืน
ขอให้สุขภาพแข็งแรง
ขอให้ร่ำรวย
ขอให้ปลอดภัย
ฯลฯ

ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า
การจะมีอายุยืน  ไม่ได้เกิดจากการได้รับพร
การจะมีสุขภาพแข็งแรง  ไม่ได้เกิดจากการได้รับพร
การจะร่ำรวย  ไม่ได้เกิดจากการได้รับพร
การจะมีความปลอดภัย  ไม่ได้เกิดจากการได้รับพร
ฯลฯ

แต่หลาย ๆ คน  ก็ยังอยากได้พร
..........


หลังจากการแสดงธรรมในครั้งนั้นแล้ว
อยู่มาวันหนึ่ง  มีภิกษุเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  แล้วจาม
ชาวบ้านจึงกล่าวว่า
"ขอให้พระคุณเจ้าจงมีอายุยืน  อย่าเจ็บอย่าป่วยเลย"

ภิกษุนั้นกลัวว่าจะต้องอาบัติ  จึงไม่ได้ให้พรตอบ

ชาวบ้านเหล่านั้นจึงตำหนิว่า
"ภิกษุเหล่านี้เมื่อเขาให้พรแล้ว  ทำไมไม่ยอมให้พรตอบ"

พระพุทธเจ้าเมื่อทรงทราบ  จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
พวกคฤหัสถ์เขาถือมงคลกัน
เมื่อพวกคฤหัสถ์ให้พรว่า  'ขอพระคุณเจ้าจงมีอายุยืน'
เราอนุญาตให้ภิกษุให้พรตอบว่า  'ท่านก็จงมีอายุยืน"
..........


จากที่ไม่เคยมีการให้พร
กลายมาเป็นธรรมเนียมการให้พร  เพราะยักษ์เป็นเหตุ

จากธรรมเนียมการให้พร
กลายมาเป็นความเชื่อว่า  "การได้รับพร  เป็นมงคล"
.....

เมื่อคนที่ยังไม่เข้าใจธรรมะ  ยังอยากได้พร
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ภิกษุให้พรได้

เมื่อเขาได้รับพรแล้ว  ได้เข้ามาใกล้  เปิดใจที่จะรับฟังแล้ว
ภิกษุนั้นก็ควรแสดงธรรมให้ผู้รับพรได้รู้ความจริง
ว่า  "สิ่งต่าง ๆ ที่ปรารถนานั้น  ไม่ได้สำเร็จได้จากการรับพร"
.....

ฝ่ายผู้ที่ได้รับพร  ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท
ก็ควรศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ให้เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัย
ไม่มีใครประทานพรให้อะไรแก่ใครได้
เมื่ออยากได้สิ่งที่ดี  ก็ต้องทำเหตุปัจจัยที่ดีด้วยตนเอง
..........


"ท้ายที่สุดนี้  ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย
จงดลบันดาลให้คุณและครอบครัวพบแต่ความสุขความเจริญ
ตลอดไปเทอญ"

"อายุ  วัณโณ  สุขัง  พะลัง"

แต่ ... ก่อนจบ  ขอกล่าวเสริมในฐานะของผู้ให้พรว่า
การที่เราจะพบความสุขความเจริญได้
พระรัตนตรัยไม่อาจดลบันดาลให้เราได้โดยตรง
แต่พระรัตนตรัยจะเป็นผู้ชี้บอกวิธีให้เราปฏิบัติ
เพื่อให้พบความสุขความเจริญได้ด้วยตัวเราเอง

ทีนี้  ในฐานะที่คุณเป็นผู้รับพร  คุณคิดอย่างไร  และควรทำอย่างไร
..........

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ภัคคชาดก (ว่าด้วยบิดาพระโพธิสัตว์ชื่อภัคคะ)