ทำความดีแบบไหน


เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักการบริจาคเลือด  ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ  สภากาชาดไทย
คนส่วนใหญ่ที่ไปบริจาคเลือด  ก็เพราะต้องการทำประโยชน์ให้แก่สังคม  ช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องใช้เลือดในการรักษา
เมื่อบริจาคแล้ว  ย่อมรู้สึกอิ่มเอิบใจที่ได้ทำความดี  เป็นบุญเป็นกุศล

ต่อมา  เมื่อสภากาชาดไทยมีประกาศให้ความช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล  สำหรับผู้บริจาคโลหิตที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไข

เป็นไปได้ว่าคนที่ไม่เคยบริจาคเลือดมาก่อน (บางคน)
เมื่อทราบข่าว  และอยากได้รับสิทธิในการช่วยค่ารักษาพยาบาลนี้
ก็คิดที่จะไปบริจาคเลือดด้วย

และคนที่บริจาคเลือดเป็นประจำอยู่แล้วบางคน (ขอย้ำว่า  บางคน)
เมื่อทราบข่าว  ก็อยากได้รับสิทธิในการช่วยค่ารักษาพยาบาลนี้ด้วย
แต่เมื่อไม่ได้สิทธิ (ด้วยเหตุบางอย่าง)  ก็อาจจะหงุดหงิดได้

ในขณะที่หลายคนก็อาจจะไม่ได้สนใจสิทธินี้
คิดว่ามีก็ดี  ไม่มีก็ไม่เป็นไร
เพราะเป้าหมายของการบริจาคเลือดของเขา  คือเพื่อทำความดีอยู่แล้ว
..........


ผมมีโอกาสได้ฟังคลิปเสียงธรรมบรรยายของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  (ป.อ.ปยุตโต)
เรื่องประวัติการสร้างพระเครื่อง (บรรยายเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๑)
ท่านเล่าว่า

จุดประสงค์เริ่มแรกของการสร้างพระเครื่องในอดีต
คือ  เมื่อพระพุทธศาสนาสูญสิ้นไปในกาลภายหน้า
และมีผู้มาพบพระเครื่องเหล่านี้
ก็จะเป็นเครื่องบ่งบอกว่าที่แห่งนี้  พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน

ในครั้งนั้น  เมื่อสร้างพระเครื่องจำนวนมากเสร็จแล้ว
ก็จะนำไปเก็บไว้ในเจดีย์  หรือที่เรียกกันว่าเก็บใส่กรุ

และเมื่อเวลาผ่านไปนานหลายปี
เจดีย์นั้นเริ่มผุพัง  กรุเริ่มแตก  พระสงฆ์ในสมัยนั้นก็เอามาเก็บไว้

ต่อมา  เมื่อมีญาติโยมไปทำบุญถวายทานต่าง ๆ ตามปกติ
พระสงฆ์ก็คิดว่ามีพระเครื่องอยู่เยอะ  เอามาแจกให้คนที่มาทำบุญดีกว่า

เมื่อแจกไปนานเข้า  ญาติโยมก็เริ่มชอบ
แจกจนกระทั่งพระเครื่องในกรุหมดแล้ว  แต่คนยังอยากได้
พระสงฆ์ก็เลยทำขึ้นมาใหม่

จากเดิม  ให้พระเครื่องกับคนที่มีศรัทธา  ที่มาทำบุญเป็นปกติอยู่แล้ว
คราวนี้  คนที่ไม่ค่อยทำบุญ  แต่อยากได้พระเครื่อง  ก็เลยมาทำบุญที่วัด
ปัจจุบันนี้  พัฒนากลายมาเป็นเชิงพาณิชย์
ความหมายของพระเครื่องก็เพี้ยนไป

คนสมัยโบราณ  มีพระเครื่องไว้เป็นสื่อเคารพพระรัตนตรัย
พอลูกหลานจะแยกไปมีครอบครัว  หรือไปทำงานต่างถิ่น
ก็มอบพระเครื่องที่ตนเองเคารพบูชาให้กับลูกหลาน
แล้วบอกให้รักษาให้ดี  ให้ตั้งใจทำมาหากิน  ประพฤติตัวให้ดี

เมื่อลูกหลานเห็นพระเครื่อง
จึงเป็นสื่อให้ระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่ปู่ยาตายาย
ระลึกถึงคำสอนของท่าน
และระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า
เป็นเรื่องที่ดีงาม

พระเครื่องจึงเป็นวัตถุที่สื่อถึงคุณค่าทางจิตใจ  ความรัก  คุณความดีทั้งหลาย
นี้เป็นคุณค่าแท้ดั้งเดิม

แต่ปัจจุบันนี้  ไม่ได้มีคุณค่าเช่นนั้นแล้ว
กลายเป็นวัตถุพาณิชย์ไปแล้ว  เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่ซื้อได้ด้วยเงิน
..........


(ขอบคุณภาพจาก somjook.com)


ในสมัยต้นพุทธกาล
เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศพระศาสนาใหม่ ๆ
ผู้ที่เข้ามาบวช  ล้วนผ่านการฟังพระสัทธรรมมาก่อน
มีความปรารถนาจะทำที่สุดแห่งทุกข์  ให้ถึงพระนิพพาน  จึงขอบวช

เมื่อบวชแล้ว  ได้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
มีวัตรปฏิบัติอันงดงาม  เป็นที่น่าเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น
ลาภสักการะและความสรรเสริญก็เกิดขึ้น

ผู้ที่บวชแล้ว  มีเป้าหมายตรงและชัดเจน  ก็จะไม่ถูกลาภสักการะครอบงำ
แต่ผู้ที่ไม่หนักแน่น  ก็จะหวั่นไหวต่อลาภสักการะได้

ต่อมา
เมื่อคนทั่วไปเห็นลาภสักการะและความสรรเสริญในพระพุทธศาสนามีมาก
ก็อยากเข้ามาบวชบ้าง
แต่ไม่ได้สนใจศึกษาพระธรรมวินัยเลย
(อ่านเพิ่มเติมได้ในเรื่องทำไมจึงบวช)
..........


จากเหตุการณ์ที่ยกมาข้างต้น  ผลที่ตามมาคือ

คนที่บริจาคเลือด  เพราะต้องการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย
ถ้าไม่ได้รับสิทธิช่วยค่ารักษาพยาบาล  ก็ไม่เป็นไร

แต่คนที่บริจาคเลือด  เพราะอยากได้สิทธิในการช่วยค่ารักษาพยาบาล
ถ้าไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว  ก็จะหงุดหงิด  ไม่พอใจ
.....

คนที่ทำบุญถวายทาน  เพราะต้องการสร้างบุญกุศล
ถ้าไม่ได้รับแจกพระเครื่อง  ก็ไม่เป็นไร

แต่คนที่ทำบุญถวายทาน  เพราะอยากได้พระเครื่องหรือวัตถุมงคล
ถ้าไม่ได้รับแจก  ก็จะมีใจขุ่นมัว  ไม่มีปีติยินดีในทานที่ให้
.....

คนที่เข้ามาบวช  เพราะต้องการทำที่สุดแห่งทุกข์
ถ้าไม่มีคนเคารพนับถือ  ก็ไม่เป็นไร

แต่คนที่เข้ามาบวช  เพราะต้องการสบาย  บ้านก็ไม่ต้องเช่า  ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ
ถ้าไม่มีคนเคารพนับถือ  ก็หาทางทำให้คนรู้จัก  ให้มานับถือ  จะได้สบาย
..........


ฉะนั้น  เมื่อเราจะทำสิ่งใด
ลองทบทวนดูเจตนาของเราว่าทำเพื่ออะไร

การกระทำเดียวกัน  แต่เจตนาต่างกัน  ผลที่เกิดขึ้นย่อมต่างกั

จริงไหมครับ
.....


ชีวิตแสนสั้น กับสิ่งที่ตามมา


มีเรื่องเล่าของนางฟ้าองค์หนึ่ง  ซึ่งเป็นบริวารของเทพบุตรองค์หนึ่ง
อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

วันหนึ่ง  นางฟ้าองค์นี้หมดบุญในสวรรค์
จึงจุติ (เคลื่อนจากความเป็นนางฟ้า) มาเกิดเป็นมนุษย์

แล้วระลึกชาติได้ว่า
เคยเป็นนางฟ้า  เคยเป็นบริวารของเทพบุตรองค์หนึ่ง
ดังนั้น  เมื่อเป็นมนุษย์อยู่  จึงขวนขวายทำบุญกุศลต่าง ๆ
แล้วตั้งจิตปรารถนาไปเกิดเป็นนางฟ้าอยู่ร่วมกับเทพบุตรองค์นั้นอีก

ต่อมาวันหนึ่ง
หลังจากที่ขวนขวายทำบุญถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ในตอนเช้าแล้ว
ตกตอนเย็น  ก็ถึงแก่ความตายด้วยโรคบางอย่าง
ด้วยอายุที่ไม่ถึง ๑๐๐ ปี
แล้วได้กลับไปเกิดร่วมกับเทพบุตรองค์นั้นอีก

เวลา ๑ วันในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เทียบได้กับเวลา ๑๐๐ ปีในโลกมนุษย์
ดังนั้น  เมื่อกลับมาเป็นนางฟ้าในสวรรค์อีกครั้ง
จึงยังคงเป็นวันเดียวกันกับที่ได้ไปเกิดในโลกมนุษย์

เทพบุตรถามนางฟ้านั้นว่าหายไปไหนมา
เธอได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง

เทพบุตรถามว่า
"ชีวิตของคนในโลกมนุษย์ไม่ถึง ๑๐๐ ปี
แล้วมนุษย์ทั้งหลายทำอะไรกัน
ขวนขวายสร้างบุญกุศล  ให้ทาน  รักษาศีล
หรือว่าประมาทมัวเมา  เพลิดเพลินกันอยู่"

คำตอบที่ได้คือ
"มนุษย์โดยส่วนใหญ่  ประมาทมัวเมากันอยู่
ราวกับว่าจะมีอายุเป็นร้อยปีพันปี
ราวกับว่าจะไม่แก่ไม่ตาย"

(คุณเห็นด้วยกับคำตอบของนางฟ้านี้ไหม
อ่านเพิ่มเติมได้ในเรื่องปติปูชิกาวัตถุ)
..........


อย่างไรก็ดี
ก็ยังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่รู้ว่าอายุคนเราไม่ได้ยืนยาวอย่างนั้น
รู้ว่าทุกคนเกิดมาก็ต้องตาย
ใช่  ยังมีหลายคนที่ตระหนักได้อย่างนี้

แต่ .....  ตามมาด้วยความคิดที่ว่า

"ชีวิตคนเรามันสั้น  อยากทำอะไรก็รีบทำซะ
อยากทำอะไร  ทำ
อยากกินอะไร  กิน

อยากไปเที่ยวไหน  เที่ยว
อย่ามัวรอวันพรุ่งนี้
ใช้ทุกวัน  ทุกเวลา  ทุกวินาที  ให้คุ้มค่าที่สุด
เพราะถ้าวันเวลา  โอกาส  มันผ่านไปแล้ว  มันกลับมาไม่ได้อีก"
.....

"ชีวิตมันสั้น  อย่าทำตัวซับซ้อน
รักให้บอก  เกลียดให้ถาม  มีปัญหาให้เคลียร์"
.....

"ชีวิตคนเราสั้นนัก  ใส่ใจแค่ตนเองก็พอ
แล้วชีวิตจะมีความสุขมากขึ้นเป็นกอง"
.....

แล้วในทางพระพุทธศาสนา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไร



(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


ครั้งหนึ่ง
มีพราหมณ์แก่เข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
"ข้าพระองค์มีอายุถึง ๑๒๐ ปีแล้ว
แต่ไม่เคยทำความดี  ไม่เคยสร้างกุศลไว้
ข้าพระองค์ควรทำอย่างไร  พระพุทธเจ้าข้า"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
       "ชีวิตถูกชรานำเข้าไปสู่ความมีอายุสั้น
ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปแล้ว  ย่อมไม่มีเครื่องต้านทาน
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรทำบุญที่นำความสุขมาให้
       ความสำรวมทางกาย  วาจา  และใจ  ในโลกนี้
ย่อมมีเพื่อความสุขแก่บุคคลผู้ตายไปแล้ว
ซึ่งได้ทำบุญไว้ขณะเมื่อมีชีวิตอยู่"

เมื่อพราหมณ์ผู้นี้ไม่เคยบำเพ็ญบุญกุศล  ไม่เคยละบาปอกุศล
สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน
ก็ให้พราหมณ์เริ่มบำเพ็ญบุญกุศล  ละบาปอกุศล
.....

อีกครั้งหนึ่ง
มีเทวดาองค์หนึ่งเข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วกราบทูลความเห็นของตนว่า
       "ชีวิตถูกชรานำเข้าไปสู่ความมีอายุสั้น
ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปแล้ว  ย่อมไม่มีเครื่องต้านทาน
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรทำบุญที่นำความสุขมาให้"

เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพราหมณ์แก่ข้างต้นเลย

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับเทวดานั้นว่า
       "ชีวิตถูกชรานำเข้าไปสู่ความมีอายุสั้น
ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปแล้ว  ย่อมไม่มีเครื่องต้านทาน
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรละโลกามิส  มุ่งสู่สันติ (คือนิพพาน) เถิด"

การได้เสวยผลของบุญในสวรรค์  เป็นสิ่งนำสุขมาให้ก็จริง
แต่เทวดาก็มีหมดอายุขัย
และเมื่อจุติจากเทวดาแล้ว  ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีก

ฉะนั้น  เมื่อสิ่งที่ประเสริฐกว่า  มีอยู่
พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้เทวดานั้นไม่หยุดอยู่แค่สวรรค์
แต่ทรงชี้ให้เห็นถึงประโยชน์สูงสุด (คือนิพพาน)

(พระสูตรลักษณะนี้มีปรากฏในพระไตรปิฎกถึง ๔ แห่ง
ดูที่ลิงค์ข้างล่าง)
.....


ความเห็นเรื่อง  "ชีวิตแสนสั้น"  จึงมีหลายระดับ  คร่าว ๆ ดังนี้

ระดับ ๑   ไม่สนใจเรื่องชีวิตแสนสั้น  ใช้ชีวิตประมาทมัวเมาในโลกไปวัน ๆ

ระดับ ๒   รู้ว่าชีวิตแสนสั้น  จึงใช้ชีวิตแบบที่เรียกว่าสนุกให้เต็มที่  กินให้เต็มที่  เที่ยวให้เต็มที่  ไม่ต้องแคร์ใคร  ทำทั้งบุญ  ทำทั้งบาป

ระดับ ๓   รู้ว่าชีวิตแสนสั้น  จึงรีบขวนขวายทำความดี  เพราะรู้ว่าโอกาสที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์เพื่อทำความดีมีน้อย

ระดับ ๔   รู้ว่าชีวิตแสนสั้น  รีบทำความดี  ละความชั่วทั้งหมด  ทำตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเพื่อจะได้ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีก

พระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไปตามลำดับ

คำถาม  "เราอยู่ระดับไหน"
..........

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ปติปูชิกาวัตถุ (เรื่องนางปติปูชิกา)
๒. ปฐมเทวพราหมณสูตร (ว่าด้วยพราหมณ์แก่ ๒ คน  สูตรที่ ๑)
๓. อุปนียสูตร (ว่าด้วยชีวิตถูกชรานำเข้าไป)
๔. อัจเจนติสูตร (ว่าด้วยกาลที่ล่วงเลยไป)
๕. อุตตรสูตร (ว่าด้วยอุตตรเทพบุตร)
๖. นันทสูตร (ว่าด้วยนันทเทพบุตร)


อย่าใช้พระธรรมผิดทาง


ผู้ที่ศึกษาธรรมะหลายคน
คงจะเคยได้ยินพระพุทธดำรัสของพระพุทธเจ้า
ที่ตรัสไว้ (ในพิลังคิกสูตร) ว่า

"ผู้ใดประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย
ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์  ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้
ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลมแล้ว  ฉะนั้น"

พร้อมกับได้ฟังตัวอย่างของหลาย ๆ เหตุการณ์
ที่สนับสนุนพระพุทธดำรัสนี้  เช่น

ยักษ์ตนหนึ่งตีศีรษะของพระสารีบุตรอย่างแรง
ด้วยกำลังที่สามารถทำลายภูเขาทั้งลูกได้
พระสารีบุตรไม่ได้มีความโกรธหรือไม่พอใจแม้แต่น้อย
แต่ยักษ์ตนนั้นก็ถูกธรณีสูบไปเกิดในนรกเสียเอง
(อ่านเพิ่มเติมในเรื่องยักขปหารสูตร)

หมองูคนหนึ่งเห็นงูนอนโผล่หัวอยู่ที่โพรงไม้
จึงออกอุบายหลอกเด็กว่าเป็นนก  ให้เด็กจับขึ้นมา
เมื่อเด็กจับออกมาแล้ว  รู้ว่าเป็นงู  ก็สะบัดทิ้งไป
งูนั้นไปตกที่คอของหมองู
แล้วได้กัดหมองูนั้นเสียชีวิต
เข้าทำนองที่ว่า  "ให้ทุกข์แก่ท่าน  ทุกข์นั้นถึงตัว"
(อ่านเพิ่มเติมในเรื่องโกกสุนขลุททกวัตถุ)

เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสนั้น
พร้อมกับเรื่องราวที่สนับสนุนหลาย ๆ เหตุการณ์
ก็ยิ่งมั่นใจว่า
ผู้ใดประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายตอบ
ผู้นั้นย่อมได้รับผลของการกระทำนั้นกลับคืนอย่างแน่แท้
.....




ถ้าวันหนึ่ง
สูตรลับการทำขนมในร้านของเรา  ถูกขโมย
สินค้าลิขสิทธิ์ของเรา  ถูกลอกเลียนแบบ
ผลงานวิจัยของเรา  ถูกนำไปดัดแปลง
ที่จอดรถหน้าบ้าน  ถูกรถคันอื่นมาแย่งจอด
ข้อความที่โพสต์ในโซเชียล  ถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีอย่างหนัก
คนที่มีความเห็นไม่ตรงกับเรา  รวมกลุ่มต่อต้านขับไล่เรา
หรือเหตุการณ์อื่น ๆ อะไรก็ตาม
ฯลฯ

ถ้าเราเกิดความไม่พอใจ  อยากจะโต้ตอบ
แต่ไม่อยู่ในฐานะที่จะโต้ตอบได้
เราจะทำอย่างไร
.....

วิธีหนึ่งที่ทำให้เราสบายใจ  คือบอกตัวเองว่า
"ผู้ใดประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายตอบ
ผู้นั้นย่อมได้รับผลของการกระทำนั้นกลับคืนอย่างแน่แท้"
ประมาณว่า  เขาจะต้องได้รับกรรมของเขา

จากนั้น  ก็เปิดเฟสบุ๊ค  เปิดอินสตาแกรม  เปิดกูเกิลพลัส
เจอข้อความในหลาย ๆ โพสต์ที่ทำให้เราสบายใจขึ้นได้อีก
เช่นข้อความว่า

"ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นซึ่งไม่ทำร้ายตอบ
ย่อมได้รับผลกรรมในชาตินี้ ๑๐ อย่าง  อย่างใดอย่างหนึ่ง  ในไม่ช้า  คือ
ความทุกข์ใจ
ความเสื่อมทรัพย์
การบาดเจ็บล้มตาย
ความป่วยเป็นโรค
ความเป็นโรคจิตคิดฟุ้งซ่าน
ได้รับโทษทัณฑ์จากกฎหมาย
ถูกว่ากล่าวให้ร้าย
เสื่อมญาติ
เสียทรัพย์
ไฟไหม้บ้าน
และเมื่อตายแล้ว  ย่อมตกนรก"

จึงสรุปว่า  "ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นซึ่งไม่ทำร้ายตอบ
ผู้นั้นจะได้รับผลกรรมดังกล่าว
ฉะนั้น  เราไม่ต้องโต้ตอบอะไรกลับไปก็ได้
แล้วเดี๋ยวเขาก็จะต้องได้รับผลกรรมนั้นเอง"

คิดได้อย่างนี้แล้ว  จึงสบายใจ  ไม่คิดโต้ตอบอะไร
(เกิดความดีใจลึก ๆ ว่าเราไม่ต้องทำอะไร
เดี๋ยวมีผลกรรมไปจัดการเขาเอง  โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อย)
..........


สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้
ย่อมเป็นความจริงทุกประการ

"ผู้ใดประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย
ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์  ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้
ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลมแล้ว  ฉะนั้น"

ผู้ใดทำกรรมที่ไม่ดี
แม้คู่กรณีจะไม่ประทุษร้ายตอบ
ผู้นั้นก็ยังต้องได้รับผลของกรรมที่ไม่ดี

ใช่

แต่การที่คู่กรณีไม่ประทุษร้ายตอบนั้น
เพราะเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรมเป็นอย่างดี

คือ  เข้าใจว่า  "การที่เราถูกประทุษร้าย
ย่อมมาจากกรรมไม่ดีที่เราเคยกระทำไว้
ถ้าไม่ถูกประทุษร้ายในครั้งนี้  โดยบุคคลนี้
ก็ต้องถูกประทุษร้ายในครั้งอื่น  โดยบุคคลอื่นอยู่ดี"

และย่อมเกิดความสงสารในผู้ที่ประทุษร้ายตน
เพราะรู้ว่าผู้นั้นจะต้องได้รับผลแห่งการประทุษร้ายในครั้งนี้

ผู้ที่เข้าใจในธรรมะ
นอกจากจะไม่คิดประทุษร้ายตอบแล้ว
ยังมีความเมตตาเกิดขึ้นในใจด้วย

แต่ผู้ที่เอาพระธรรมไปใช้ผิดทาง
แม้จะไม่ได้ประทุษร้ายตอบทางกาย
แต่ก็แอบประทุษร้ายตอบทางใจ
เกิดความสะใจว่าผู้นั้นจะต้องชดใช้กรรม

ที่ผ่านมา
เราใช้พระธรรมผิดทางบ้างหรือเปล่า
..........

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. พิลังคิกสูตร (ว่าด้วยพิลังคิกพราหมณ์)
๒. ยักขปหารสูตร (ว่าด้วยยักษ์ตีศีรษะพระสารีบุตรเถระ)
๓. โกกสุนขลุททกวัตถุ (เรื่องนายพรานสุนัขชื่อโกกะ)


สมบัติที่จำเป็นต้องมี


ครั้งหนึ่ง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงวิบัติ (ความเสื่อม) ๕ อย่าง  คือ
๑. วิบัติแห่งญาติ  (เป็นคนไร้ญาติขาดมิตร  ไม่มีเพื่อนฝูง)
๒. วิบัติแห่งโภคะ  (ฐานะยากจน  ไม่มีทรัพย์สินเงินทอง)
๓. วิบัติเพราะโรค  (ร่างกายอ่อนแอ  เจ็บไข้ได้ป่วย)
๔. วิบัติแห่งศีล  (ไม่รักษาศีล  เอารัดเอาเปรียบ  เบียดเบียนผู้อื่น)
๕. วิบัติแห่งทิฏฐิ  (ไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ  ไม่เชื่อเรื่องของกรรม)

และตรัสถึงสมบัติ (ความถึงพร้อม) ๕ อย่าง  คือ
๑. สมบัติคือญาติ  (ญาติมิตรเพื่อนฝูงมากมาย)
๒. สมบัติคือโภคะ  (ไม่ยากจน  มีเงินมีทอง)
๓. สมบัติคือความไม่มีโรค  (แข็งแรง  ไม่เจ็บไม่ป่วย)
๔. สมบัติคือศีล  (รักษาศีล  ไม่เบียดเบียนผู้อื่น)
๕. สมบัติคือทิฏฐิ  (เชื่อบาปบุญคุณโทษและกฏแห่งกรรม)
..........

ในวิบัติ (ความเสื่อม) ทั้ง ๕ อย่างนั้น
เราควรหลีกเลี่ยงวิบัติใดมากที่สุด

ในสมบัติ (ความถึงพร้อม) ทั้ง ๕ อย่างนั้น
เราควรทำสมบัติใดให้เกิดขึ้นมากที่สุด
..........


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ (ในพยสนสูตร) ว่า
"ความไม่มีญาติมิตร  ความยากจน  ความเจ็บไข้ได้ป่วย
ไม่สามารถทำให้สัตว์ทั้งหลายไปอบาย  ทุคติ  วิินิบาต  นรกได้

แต่ความไม่มีศีล  และความเห็นผิด  หลงผิด
เป็นเหตุที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องไปอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก
..........

ในทางกลับกัน
ความมีเพื่อนฝูงบริวาร  ความร่ำรวยมั่งมี  ความไม่มีโรค
ไม่สามารถทำให้สัตว์ทั้งหลายไปสุคติโลกสวรรค์ได้

แต่ความถึงพร้อมด้วยศีล  ความเห็นถูก  ความมีสัมมาทิฏฐิ
เป็นเหตุที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายไปสุคติโลกสวรรค์ได้"
..........


ตัวอย่างของเศรษฐีคนหนึ่ง
ได้สั่งให้บริวารจัดเตรียมบิณฑบาตถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า
ภายหลังเกิดเสียดาย
ได้กล่าวว่า  "อาหารบิณฑบาตนี้ให้ทาสหรือกรรมกรกินยังดีกว่า"

เศรษฐีผู้นี้มีพี่ชายคนหนึ่ง
ต่อมา  พี่ชายของเขาเสียชีวิต  สมบัติตกเป็นของลูกชาย
ด้วยความโลภในทรัพย์ของพี่ชาย
เศรษฐีผู้นี้จึงลงมือฆ่าลูกชายคนเดียวของพี่ชาย

ด้วยผลแห่งกรรมที่ให้จัดเตรียมบิณฑบาตถวายพระ
เขาได้เกิดในสวรรค์ ๗ ครั้ง
ได้เป็นเศรษฐี ๗ ชาติ

ด้วยผลแห่งกรรมที่ทำความเสียดายในอาหารบิณฑบาต
แม้เขาจะเป็นเศรษฐี  แต่ก็ไม่มีใจอยากใช้สอยทรัพย์สมบัติดี ๆ
กลับกินแต่เศษอาหาร  ใส่เสื้อผ้าขาด ๆ  ใช้ยานพาหนะเก่า ๆ
ต้องอยู่อย่างลำบาก  ไม่สมฐานะ

ด้วยผลแห่งกรรมที่ฆ่าลูกของพี่ชาย
เขาจึงถูกไฟเผาในนรกหลายร้อยปี  หลายพันปี  หลายแสนปี
เมื่อมาเป็นมนุษย์  จึงไม่มีลูก
(อ่านเพิ่มเติมได้ในทุติยอปุตตกสูตร)
..........


ตัวอย่างของชายอีกคนหนึ่ง
เป็นคนยากจน  มีอาชีพขอทาน
ไม่มีญาติพี่น้อง  ไม่มีเพื่อนฝูง  และยังเป็นโรคเรื้อนอีกด้วย

วันหนึ่ง  เห็นคนเป็นจำนวนมากเดินเข้าไปในวัด
คิดว่ามีการแจกทาน  จึงเดินตามเข้าไปด้วย

ครั้นเข้าไปแล้ว  จึงรู้ว่าไม่มีการแจกทานในที่นี้
แต่คนเหล่านั้นเข้ามาฟังธรรม
เขาจึงได้นั่งลงฟังธรรมด้วย

เมื่อฟังจบ  ได้เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม
ขอถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  เป็นสรณะ

ต่อมา  เขาเสียชีวิต  ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
(อ่านเพิ่มเติมได้ในสุปปพุทธกุฏฐิสูตร)
..........


สมบัติภายนอก  ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน  ที่ดิน  ญาติพี่น้อง  เพื่อนฝูง
อาจจะทำให้ชีวิตเราอยู่สบายในชาตินี้
แต่ก็ไม่สามารถทำให้เราไปสู่สุคติโลกสวรรค์ได้

แต่สมบัติคือศีล  (ไม่เบียดเบียนผู้อื่น  ตั้งมั่นในศีล ๕)
และสมบัติคือทิฏฐิ  (เชื่อกฏของกรรม  ไม่เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์)
เป็นสิ่งที่ทำให้เราไปสู่สุคติโลกสวรรค์ได้

ฉะนั้น  เราทั้งหลายที่ยังเป็นฆราวาส
แม้จะมีความจำเป็นต้องหาเงินหาทอง  หากินหาอยู่
เพราะยังต้องดำเนินชีวิตในชาตินี้
ก็ควรหามาโดยสุจริต  ไม่คดโกง  ไม่เบียดเบียน

และหมั่นสร้างสมบัติคือศีล  และสมบัติคือทิฏฐิ  ให้มั่นคงยิ่งขึ้น
เพื่อประโยชน์สุขในชาติต่อ ๆ ไปด้วย
.....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. พยสนสูตร (ว่าด้วยความวิบัติ)
๒. ทุติยอปุตตกสูตร (ว่าด้วยทรัพย์ที่ไม่มีบุตร  สูตรที่ ๒)
๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร (ว่าด้วยชายโรคเรื้อนช่ือสุปปพุทธะ)


ผิดที่เขาหลอกเราจริงหรือ


ในราวป่าแห่งหนึ่ง  มีลิงอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง
และมีหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งอยู่ใกล้ราวป่านั้น

วันหนึ่ง  มีชายคนหนึ่งเข้าไปหาคนในหมู่บ้านนั้น
เขาประกาศว่าต้องการหาซื้อลิงป่าหลายตัว
"ให้ราคาตัวละ ๑๐,๐๐๐ บาท"
ชาวบ้านหลายคนก็สงสัยว่าเขาจะซื้อลิงป่าไปทำไม

แต่ก็มีชาวบ้านบางคนอยากได้เงิน
จึงไปจับลิงป่ามาขายให้เขา
แล้วได้รับเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทจากชายคนนั้น

เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป
จึงมีชาวบ้านหลายคนพากันไปจับลิงมาขายให้เขาบ้าง

วันต่อมา  เขาประกาศว่าต้องการลิงมากกว่านี้
"ให้ราคาตัวละ ๒๐,๐๐๐ บาท"

ชาวบ้านที่ได้ข่าว  ก็พากันไปจับลิงป่ามาขายให้เขาอีกหลายสิบตัว
และได้รับเงินไปตามราคาที่เขาประกาศไว้

๒ - ๓ วันต่อมา  เขาประกาศเพิ่มราคาซื้ออีก
"ให้ราคาตัวละ ๕๐,๐๐๐ บาท"

ชาวบ้านต่างอดหลับอดนอน  เข้าไปจับลิงป่ากันทั้งหมู่บ้าน
คราวนี้จับลิงมาจนแทบจะหมดป่า
แล้วขายได้เงินไปเป็นจำนวนมาก

วันต่อมา  เขาประกาศว่ายังอยากได้ลิงเพิ่มมากกว่านี้อีก
แต่เขาจำเป็นต้องกลับไปทำธุระในเมือง ๑ สัปดาห์
เสร็จธุระแล้วจะกลับมาซื้อลิงป่าจากชาวบ้าน
"ให้ราคาตัวละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท"

ในระหว่างที่เขาไม่อยู่นี้
เขามอบหมายให้ลูกน้องที่ตามมาด้วยคอยดูแลลิงที่ซื้อไว้แล้ว

ชาวบ้านต่างดีใจที่ราคาลิงสูงถึงหลักแสน
แต่ทว่าลิงป่าถูกจับมาขายหมดแล้ว

ลูกน้องของชายคนนั้นจึงกระซิบบอกชาวบ้านคนหนึ่งว่า
เขาจะแอบขายลิงที่เจ้านายฝากไว้ให้ตัวละ ๗๐,๐๐๐ บาท
แต่ต้องเก็บเป็นความลับ  ห้ามบอกเจ้านายของเขา

ชาวบ้านเหล่านั้นจึงปรึกษากัน
คิดว่า  ถ้าซื้อจากลูกน้องตัวละ ๗๐,๐๐๐ บาท
แล้วขายต่อให้เจ้านาย  ได้ตัวละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท
ก็ยังมีกำไรตัวละ ๓๐,๐๐๐ บาท

วันรุ่งขึ้น  ชาวบ้านเหล่านั้นจึงพากันมาขอซื้อต่อจากลูกน้องของชายคนนั้น
คนที่พอมีเงิน  ก็ซื้อลิงไปหลายตัว
คนที่มีเงินไม่พอ  ก็ไปขอยืมเงินจากเพื่อนเพื่อมาซื้อลิงเช่นกัน
ในที่สุด  ลิงทุกตัวก็ถูกซื้อไปจนหมด

จากนั้น  ก็แค่รอเวลาให้ชายคนนั้นกลับมา

ผ่านไป ๑ สัปดาห์
ชายคนนั้นยังไม่กลับมา
ชาวบ้านเหล่านั้นเริ่มกังวลใจ  จึงไปหาลูกน้องของเขา

แต่ลูกน้องคนนั้นก็ไม่อยู่เสียแล้ว

เกิดอะไรขึ้นกับชาวบ้านเหล่านั้น

(ขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.rolfsuey.com/2017/12/bitcoin-monkey-business.html)
.....


ชายคนนั้นใช้อุบายหลอกล่อให้ชาวบ้านหลงเชื่อ
ทำให้ชาวบ้านคิดว่าจะสามารถหาเงินได้จากการซื้อขายลิง

ความผิดทั้งหมดเป็นของชายคนนั้น
ใช่หรือไม่ ?
.....


(ขอบคุณภาพโดย  bill wegener  จาก  Unsplash.com)


ครั้งหนึ่ง
มีพระราชาองค์หนึ่งทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ในปุริสสูตรว่า
"อะไรหนอเมื่อเกิดขึ้นภายในใจแล้ว
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์  เพื่อความทุกข์  เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก"

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า
"โลภะ  โทสะ  โมหะ  (โลภ  โกรธ  หลง)
เมื่อเกิดขึ้นภายในใจแล้ว
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์  เพื่อความทุกข์  เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก"


นอกจากนี้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายอีก (ในโลภปริญญาสูตร) ว่า

"ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโลภะ  ยังกำหนดรู้โลภะไม่ได้  ยังไม่คลายความพอใจในโลภะนั้น
ยังละโลภะไม่ได้  ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้

ส่วนผู้รู้ซึ้งถึงโลภะ  กำหนดรู้โลภะได้  คลายความพอใจในโลภะนั้นได้
ละโลภะได้แล้ว  จึงสามารถสิ้นทุกข์ได้"
.....


พระพุทธเจ้าทรงเน้นให้เรากลัับมาสำรวจตัวเอง

แม้จะมีใครใช้อุบายหลอกล่อเรา
แต่ถ้าเราไม่มีความโลภ
อุบายของเขาก็จะไม่ได้ผล

เหมือนปลาที่กินเบ็ด
ไม่ใช่เพราะเขาเอาเหยื่อมาล่อ
แต่เพราะปลาเข้าไปตะครุบเหยื่อเอง

ความทุกข์บางอย่างที่เราต้องประสบอยู่
ไม่ใช่เพราะถูกผู้อื่นหลอกลวง
แต่เพราะความโลภที่มีอยู่ในใจ  เราจึงตะครุบเหยื่อเอง
.....

ความโลภเมื่อเกิดขึ้นแล้ว  ถ้าไม่สามารถยับยั้งได้
ก็อาจเป็นเหตุให้ก่ออกุศลกรรมต่าง ๆ ตามมาได้อีก
เช่น

บางคนวางแผนฆ่าภรรยาเพื่อเอาเงินประกันชีวิต
บางคนเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้เหยื่อโอนเงิน
บางคนวางแผนเอาเงินรางวัลลอตเตอรี่ของเพื่อน
ฯลฯ

หรือชาวบ้านเหล่านั้นที่จับลิงมาขาย  เป็นการค้าชีวิตสัตว์
ทำให้พรากลูกพรากแม่
ทำให้ขาดอิสรภาพ
ทำให้ลิงบาดเจ็บ  ได้รับทุกข์ทรมาน

และเมื่อก่อบาปอกุศลกรรมขึ้นแล้ว
เราก็ต้องเป็นผู้รับผลของบาปอกุศลนั้นเองอีกต่อไป
.....


ในที่นี้
ไม่ได้เข้าข้างชายคนนั้นที่หลอกลวงชาวบ้านเรื่องซื้อลิง
ไม่ได้หมายความว่าชายคนนั้นไม่ผิด

แต่สิ่งที่สำคัญที่ควรจัดการ  คือความโลภที่อยู่ในใจเรา
"ความโลภเมื่อเกิดขึ้นภายในใจแล้ว
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์  เพื่อความทุกข์  เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก"

ถ้าเราสามารถรู้ทัน  และละความโลภที่เกิดขึ้นได้
เราก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของความโลภ
และเราก็จะไม่ต้องก่อบาปอกุศลกรรมใด ๆ
ทุกข์ที่เกิดจากความโลภก็จะไม่มี
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ปุริสสูตร (ว่าด้วยธรรมที่ไม่เกิดประโยชน์แก่บุรุษ)
๒. โลภปริญญาสูตร (ว่าด้วยการกำหนดรู้โลภะ)


แสดงอาบัติบ่อย ดีหรือไม่


ในอุโบสถวัดแห่งหนึ่ง
พระรูปหนึ่งเป็นผู้ต้องอาบัติ (ละเมิดพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้)
กำลังเปิดเผยและแสดงอาบัติที่ตนได้ล่วงละเมิดนั้นแก่พระอีกรูปหนึ่ง

ผู้แสดงอาบัติ  "ท่านครับ  ผมต้องอาบัติข้อนี้  ขอแสดงคืนอาบัตินั้นครับ"

ผู้รับอาบัติ  "ท่านเห็นหรือ (ท่านทราบใช่ไหมว่าเป็นอาบัติ)"

ผู้แสดงอาบัติ  "ผมเห็นครับ (ผมทราบครับ)"

ผู้รับอาบัติ  "ท่านพึงสำรวมระวังต่อไป"

ผู้แสดงอาบัติ  "ครับ  ผมจะสำรวมให้ดี (จะไม่ละเมิดพระวินัยอีก)"


การแสดงอาบัติด้วยวิธีนี้
ใช้สำหรับอาบัติเบา (ไม่ใช่ปาราชิกและสังฆาทิเสส)
เป็นวิธีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้

เริ่มจากพระภิกษุได้ล่วงละเมิดพระวินัย  เป็นผู้ต้องอาบัติ  แล้วสำนึกได้
ต้องการให้ตนเองพ้นจากอาบัตินั้น  กลับมาเป็นผู้บริสุทธิ์อีกครั้ง
จึงได้เปิดเผยและแสดงอาบัตินั้นแก่พระอีกรูปหนึ่ง (หรือแสดงแก่คณะสงฆ์ก็ได้)

จุดที่สำคัญคือ  "การรู้ว่าตนเองทำผิด"
แล้วให้คำมั่นสัญญาว่า  "จะสำรวมระวังไม่ล่วงละเมิดพระวินัยอีกต่อไป"
เมื่อกระทำเช่นนี้แล้ว  ถือว่าอาบัตินั้นเป็นอันระงับไป

ตรงกับพระดำรัสที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า
"การที่ภิกษุเห็นโทษโดยความเป็นโทษ
แล้วทำคืนตามธรรม (สารภาพตามความเป็นจริง)
ถึงความสำรวมต่อไป
วิธีนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า"
(อ่านเพิ่มเติมได้ในเรื่อง  ผู้ควรแก่การอดโทษให้)

ขอย้ำอีกครั้งว่า
จุดที่สำคัญ  คือ  "การยอมรับว่าตัวเองทำผิดจริง"
และสิ่งที่แสดงออกว่ายอมรับผิด  คือ  "การสำรวมระวังไม่ให้ทำผิดอีก"
..........


(ขอบคุณภาพจาก  mthai.com)

แต่เป็นที่น่าเสียดาย
การแสดงอาบัติในปัจจุบันนี้  ถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้ทำผิดโดยไม่ต้องละอาย

ชายคนหนึ่งเจอพระรูปหนึ่งในระหว่างทาง
ได้กลิ่นเหล้าโชยมาอย่างแรงจากพระรูปนั้น
ซึ่งพระรูปนั้นยอมรับว่าได้กินเหล้าจริง
แต่บอกว่า  "กินเหล้าเป็นแค่อาบัติธรรมดา"

หมายความว่ายังไง  "อาบัติธรรมดา ?!"
หมายความว่า  ไม่ใช่อาบัติร้ายแรง  ไม่ถึงปาราชิก  ไม่ขาดจากความเป็นพระ
แค่แสดงอาบัติ  ก็พ้นจากอาบัติได้แล้ว
นี่คือสิ่งที่สะท้อนออกมาจากคำพูดของพระรูปนั้น

ผลจากความคิดเช่นนี้ก็คือ  เขาจะไม่หยุดทำผิดพระวินัย
ทำผิดแล้วก็มาแสดงอาบัติ  แค่นี้ก็พ้นผิดได้แล้ว
แต่ก็ยังทำผิดซ้ำอีกต่อไปเรื่อย ๆ
..........


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ในอนาคต
หมู่ภิกษุจักไม่เจริญกาย  ไม่เจริญศีล  ไม่เจริญจิต  ไม่เจริญปัญญา

เมื่อไม่เจริญกาย  ไม่เจริญศีล  ไม่เจริญจิต  ไม่เจริญปัญญา
แสดงอภิธัมมกถา  เวทัลลกถา  ถลำลงสู่ธรรมดำ  ก็จักไม่รู้ตัว

โดยนัยนี้แล
เพราะธรรมเลอะเลือน  วินัยจึงเลอะเลือน
เพราะวินัยเลอะเลือน  ธรรมจึงเลอะเลือน

ภัยในอนาคตประการที่ ๓ นี้  ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้  แต่จักเกิดขึ้นในกาลต่อไป
ภัยนั้นเธอทั้งหลายพึงรับรู้ไว้  และพึงพยายามเพื่อละภัยนั้นเสีย"

(อ่านภัยในอนาคตประการอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ใน  ตติยอนาคตภยสูตร)
..........


บัดนี้  ภัยนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว

การแสดงอาบัติ  เพื่อประกาศว่าตนเองสำนึกผิดแล้ว
และให้สัญญาต่อหน้าพยานว่าจะปรับปรุงแก้ไขไม่ทำผิดอีก
บัดนี้  การแสดงอาบัตินั้น
กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทำผิดโดยไม่ต้องกลัวผิดไปเสียแล้ว

ยิ่งแสดงอาบัติบ่อยเท่าไร
นอกจากจะหมายความว่า  ทำผิดบ่อยมากเท่านั้นแล้ว
ยังหมายความว่า  ไม่ได้สำนึกผิดจริง  และไม่ได้พยายามเลิกทำผิดเลย

ไม่ใช่ว่าการแสดงอาบัติไม่ดี
แต่ผู้แสดงอาบัติต่างหากที่ไม่เข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริงของการแสดงอาบัติ
..........


นี่เป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงว่าธรรมและวินัยกำลังจะเลอะเลือน
เราคงไม่สามารถไปแก้ไขอะไรได้  เพราะเป็นไปตามพุทธพยากรณ์

สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสในตอนท้ายคือ
"ภัยนั้นเธอทั้งหลายพึงรับรู้ไว้  และพึงพยายามเพื่อละภัยนั้นเสีย"

ฉะนั้น  สิ่งที่เราทำได้  คือ  "พึงพยายามเพื่อละภัยนั้นเสีย"
หมายถึง  พยายามไม่ให้ภัยเช่นนี้เกิดขึ้นกับเรา

ใครจะทำผิดแล้วไม่สำนึก  ก็เป็นเรื่องของเขา
ความสำคัญอยู่ที่เรา  ไม่ว่าเราจะเป็นพระภิกษุหรือฆราวาสก็ตาม
เราทำผิดอะไรหรือไม่
เราสำนึกในสิ่งผิดที่เราทำหรือไม่
เราพยายามที่จะไม่ทำผิดอีกต่อไปหรือไม่

เมื่อเราตรวจสอบตนเองเช่นนี้บ่อย ๆ  ก็ชื่อว่าได้พยายามละภัยที่จะเกิดขึ้นนั้น
ได้ทำตามโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
เพื่อความดำรงอยู่แห่งพระสัทธรรมเท่าที่จะนานได้
.....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ตติยอนาคตภยสูตร (ว่าด้วยภัยในอนาคต  สูตรที่ ๓)