ฤกษ์ดี ฤกษ์สะดวก ยังไม่พอ


พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์  โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)  ได้ให้ความหมายไว้ว่า
"ฤกษ์"  หมายถึง  คราวหรือเวลาซึ่งถือว่าเหมาะเป็นชัยมงคล

คำว่า  ฤกษ์ดี  จึงหมายถึง  เวลาในขณะนั้นหรือช่วงนั้นเป็นเวลาที่เป็นมงคล  ทำให้ผู้ที่ทำกิจกรรมในเวลานั้นจะได้เจอแต่สิ่งดี ๆ  เช่น

ถ้าคู่บ่าวสาวหาฤกษ์แต่งงาน  แล้วเข้าพิธีแต่งงานตามฤกษ์นั้น  ชีวิตคู่ก็จะมีความสุข
ถ้าเจ้าของกิจการหาฤกษ์เปิดบริษัทร้านค้า  แล้วเริ่มทำธุรกิจตามฤกษ์นั้น  กิจการก็จะรุ่งเรือง
ถ้าเจ้าของบ้านหาฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่  แล้วย้ายเข้าไปอาศัยบ้านหลังใหม่ตามฤกษ์นั้น  ครอบครัวก็จะมีความสุข
ฯลฯ

แต่ในปัจจุบันนี้  มีหลายคนที่ให้ความสำคัญกับการหา  "ฤกษ์ดี"  น้อยลง
หันมาให้ความสำคัญกับ  "ฤกษ์สะดวก"  มากขึ้น
เช่น  เมื่อจะแต่งงาน  ก็คิดว่า  "วันไหนสะดวก  ทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว  วันนั้นแหละเป็นฤกษ์ดีแล้ว"
แล้วจึงจัดพิธีแต่งงานในวันที่สะดวกนั้น
เรียกว่า  เอาฤกษ์สะดวกมากกว่าฤกษ์ดี  อย่างนี้ก็มี

บางคน  เอาทั้งฤกษ์สะดวกด้วย  และเอาทั้งฤกษ์ดีด้วย  ก็มีอีกเหมือนกัน




องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงปฏิเสธเรื่องของฤกษ์ตามความเข้าใจของคนทั่วไป

แต่ได้ตรัสเกี่ยวกับฤกษ์ในทางพระพุทธศาสนาไว้ (ในปุพพัณหสูตร) ว่า
"สัตว์เหล่าใดประพฤติกายสุจริต  วจีสุจริต  มโนสุจริต  ในเวลาใด
เวลานั้นก็เป็นเวลาที่ดีของสัตว์เหล่านั้น  เป็นฤกษ์ที่ดีของสัตว์เหล่านั้น"

ฤกษ์ที่ใช้กันในปัจจุบัน  ขึ้นอยู่กับวันเดือนปีเกิดของแต่ละคน  ชื่อนามสกุล  อายุ  ดวงดาว  เทพเจ้า  ดินฟ้าอากาศ  สิ่งศักดิ์สิทธิ์  ฯลฯ
แต่ฤกษ์ในทางพระพุทธศาสนา  ขึ้นอยู่กับความประพฤติของตัวเราเอง

ถ้าเราตั้งมั่นอยู่ในกุศลกรรม  ประพฤติแต่กายสุจริต  วจีสุจริต  มโนสุจริต

นั่นคือเรากำลังสร้างฤกษ์ดีให้เกิดขึ้นแก่ตัวเราเองแล้ว
เพราะผลของกายสุจริต  วจีสุจริต  มโนสุจริต  ย่อมนำความสุขความสำเร็จมาให้

ฉะนั้น  ในทางพระพุทธศาสนา  เราไม่ได้เน้นการหาฤกษ์ดีจากสิ่งภายนอก

แต่เราสามารถสร้างฤกษ์ดีให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง

อย่างไรก็ตาม  บทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์จะคัดค้านหรือสนับสนุนทั้งฤกษ์ดีและฤกษ์สะดวก

เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่า  ถึงแม้เราจะได้ฤกษ์ดีหรือฤกษ์สะดวกก็ตาม
แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นผู้ประพฤติกายสุจริต  วจีสุจริต  มโนสุจริต
ถ้าเรายังเป็นผู้ประพฤติกายทุจริต  วจีทุจริต  มโนทุจริต
ฤกษ์ดีหรือฤกษ์สะดวกนั้น  ก็คงจะช่วยอะไรไม่ได้

สิ่งสำคัญคือ  การตั้งมั่นในกุศลกรรม  งดเว้นอกุศลกรรม
ประพฤติแต่กายสุจริต  วจีสุจริต  มโนสุจริต
เว้นขาดจากการประพฤติกายทุจริต  วจีทุจริต  มโนทุจริต
สิ่งดี ๆ ที่เราปรารถนาก็จะเกิดขึ้นได้  โดยไม่ต้องอาศัยฤกษ์ดีหรือฤกษ์สะดวกเลย

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ปุพพัณหสูตร (ว่าด้วยเวลาเช้าเป็นฤกษ์ดีเป็นต้น)


ชัวร์ก่อนแชร์


ผมได้อ่านงานเขียนของเพื่อนคนหนึ่งที่เคยเรียนปริญญาตรีมาด้วยกัน
พูดถึงความถูกต้องของข้อมูลที่จะนำมาเขียน
ถ้าแค่การพิมพ์ผิด  ก็คงไม่เป็นอะไรมาก
แต่ถ้าเป็นการให้ข้อมูลที่ผิด  อาจจะเกิดผลร้ายตามมาก็ได้
เพื่อนของผมยกตัวอย่างว่า
ถ้าเป็นหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ  คนอ่านที่เชื่อและทำตาม  ก็อาจจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพได้
ถ้าเป็นหนังสือประเภทการจัดการเรื่องเงิน  คนอ่านที่เชื่อและทำตาม  ก็อาจจะล้มละลายได้

ฉันใดก็ดี  ถ้าเป็นหนังสือเกี่ยวกับธรรมะล่ะ

ถ้าหนังสือเกี่ยวกับธรรมะเล่มนั้นให้ข้อมูลที่ผิด  คนอ่านที่เชื่อและทำตาม  จะเกิดอะไรขึ้น



ผมได้รับหนังสือเล่มหนึ่ง  พูดถึงเรื่องกรรมที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน  พร้อมแนวทางการลดกรรมไว้หลายอย่าง  ผมขอยกมาแค่ ๓ ตัวอย่างต่อไปนี้


๑. คนที่อาภัพคู่  ไม่มีคู่ครอง

เขาบอกว่าเป็นผลกรรมที่เคยผิดลูกผิดเมียคนอื่นในอดีตชาติ
วิธีการลดกรรม  ให้บวชพระหรือบวชชีพราหมณ์  ร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพงานแต่งงานคู่บ่าวสาวที่ยากจน  ถวายของเป็นคู่  เช่น  แจกันคู่  เชิงเทียนคู่  หมอนคู่  เป็นต้น

๒. คนที่ไม่มีชื่อเสียง

เขาบอกว่าเป็นผลกรรมที่เคยติฉินนินทาทำให้ผู้อื่นเสียหาย
วิธีการลดกรรม  ให้ร่วมทำบุญสร้างหอระฆัง  ร่วมทำบุญหล่อเทียนพรรษา  ทำทานกับคนยากไร้และสัตว์อนาถา

๓. คนที่เรียนไม่จบ  การเรียนมีอุปสรรค

เขาบอกว่าเป็นเพราะชาติก่อนปฏิเสธการฟังเทศน์ฟังธรรม
วิธีการลดกรรม  ให้หมั่นเข้าวัด  ร่วมงานบุญต่าง ๆ  ฟังเทศน์  อ่านหนังสือธรรมะ

สิ่งที่หนังสือเล่มนี้เขียน  เหมือนคำสอนในพระพุทธศาสนาไหมครับ

มีคำว่ากรรม  และผลของกรรม  และพูดเรื่องการให้ทานด้วย
ลองพิจารณาดูนะครับ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทำกรรมดี  เพราะผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลที่ดี  นำสุขมาให้
แต่หนังสือบางเล่ม  บอกให้ทำกรรมดี  เพื่อไปลดผลของกรรมที่ไม่ดี

พระองค์ตรัสสอนไม่ให้ทำกรรมไม่ดี  เพราะผู้ทำกรรมไม่ดีย่อมได้รับผลที่ไม่ดี  นำทุกข์มาให้

แต่หนังสือบางเล่ม  บอกว่าผลที่ไม่ดีที่เกิดขึ้น  ลดลงได้ด้วยการลดกรรมตามวิธีที่บอก

พระองค์ตรัสสอนเรื่องการให้ทาน  เพื่อละความตระหนี่ในใจ

แต่หนังสือบางเล่ม  บอกว่าจงให้ทานเพื่อที่จะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา
(ให้แจกันคู่  จะได้มีคู่ครอง .... ???
ถวายระฆัง  จะได้มีชื่อเสียงโด่งดัง .... ???
ให้ฟังเทศน์  จะได้เรียนจบ .... ???)

เห็นไหมครับว่า  ถ้าหนังสือเกี่ยวกับธรรมะนั้นให้ข้อมูลที่ผิด  คนอ่านที่เชื่อและทำตาม  จะเกิดอะไรขึ้น

เขาจะมีความกลัวและละอายต่อการทำบาปไหม
เขาจะมีเจตนาที่จะละเว้นจากบาปอกุศลไหม
เขาจะมีเจตนาให้ทานเพื่อละความตระหนี่ในใจไหม
.....

ฉะนั้น  ไม่ว่าจะเป็นผู้อ่านหรือผู้เขียน  (รวมทั้งผู้ที่โพสต์ข้อความธรรมะในสังคมออนไลน์)  ก็ต้องพิจารณาให้ดีว่าเป็นธรรมะตรงตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้หรือไม่

และสำหรับผู้ที่จะแจกหนังสือธรรมะ  (รวมทั้งผู้ที่แชร์ข้อความธรรมะ)  ก็ต้องพิจารณาให้ดีเช่นเดียวกัน

ไม่ใช่แค่คิดว่า  "การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง"  ก็เลยก้มหน้าก้มตาให้ไป  โดยไม่เคยอ่าน  หรือไม่เคยพิจารณาให้ดีก่อนว่าสิ่งนั้นใช่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงหรือไม่

พิจารณาให้ดี  ก่อนแจกหนังสือหรือแชร์โพสต์ออกไปนะครับ



คล้ายพระธรรม แต่ไม่ใช่


"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เมื่อข้าพระองค์ถูกเขาถามอย่างนี้  ตอบอย่างนี้
จะชื่อว่าพูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้
ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ
ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล
ไม่มีบ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้
พระพุทธเจ้าข้า"

คำถามข้างต้นนี้  มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีผู้มาถามปัญหากับพระอริยสาวกทั้งหลาย

พระอริยสาวกเหล่านั้นเมื่อตอบปัญหานั้น ๆ แล้ว  ก็มักจะไปกราบทูลให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบ
พร้อมกับทูลถามว่าที่ตนตอบปัญหาไปอย่างนั้น ๆ  ชื่อว่าตอบตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้หรือไม่
ไม่ใช่ตอบโดยความคิดเห็นส่วนตัว  แต่อ้างว่าเป็นพระธรรมของพระพุทธเจ้า
.....
(ดูตัวอย่างเหตุการณ์เช่นนี้ในสัมพหุลภิกขุสูตร)

ในปัจจุบันนี้  มีการเผยแผ่ธรรมะออกตามสื่อต่าง ๆ มากมาย

บางเรื่องก็เหมือนเป็นพระธรรมของพระพุทธเจ้า
แต่ที่จริงแล้ว  อาจจะไม่ใช่พระธรรมทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้
.....


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)

ยกตัวอย่างเช่น  ถ้ามีหนังสือเล่มหนึ่ง  เรื่อง  "กรรมจากการทำแท้ง"  เขียนไว้ว่า


ทำแท้ง  คือการฆ่าคน  เป็นฆาตกรฆ่าลูกในไส้ของตนเอง

ไม่ว่าผู้นั้นจะขึ้นชื่อว่าแม่หรือพ่อ  ล้วนเป็นหุ้นส่วนกรรมมหันต์นี้ด้วยกันทั้งคู่  ไม่ต้องโยนบาปให้กันและกัน  ไม่ต้องโยนผิดป้ายโทษว่าใครเป็นต้นเหตุ  สุดท้ายได้รับกรรมอย่างสาสมด้วยกันทั้งคู่

บาปที่มีโทษหนักที่สุด ๕ ประการ  คือ

ฆ๋าบิดา  ฆ่ามารดา  ฆ่าพระอรหันต์  ทำให้สงฆ์แตกแยก  ทำร้ายพระวรกายพระพุทธเจ้าให้ห้อเลือด

การทำแท้งมีบาปเท่ากับการฆ่าพระอรหันต์  ทั้งนี้เพราะเด็กในครรภ์ยังบริสุทธิ์  ยังไม่เคยทำบาปกรรมใด ๆ เลย  และไม่มีเหตุปัจจัยของการสร้างกรรม  ชีวิตของเขาจึงบริสุทธิ์ดั่งพระอรหันต์

ดังนั้น  การทำแท้งฆ๋าเด็กทารกในครรภ์หนึ่งคน  จึงมีบาปเท่ากับฆ่าพระอรหันต์หนึ่งรูป
การฆ่ามนุษย์นั้นว่าบาปมากแล้ว  แต่การฆ่าเด็กทารกที่บริสุทธิ์เป็นบาปหนักยิ่งกว่า

สรุปว่า  เด็กในครรภ์เป็นผู้บริสุทธิ์เหมือนพระอรหันต์
การฆ่าเด็กในครรภ์จึงมีบาปหนัก  เหมือนการฆ่าพระอรหันต์  เรียกว่าอนันตริยกรรม (ไม่สามารถบรรลุมรรคผลในชาตินี้ได้)
.....

จุดประสงค์ของหนังสือเล่มนี้  ต้องการให้คนเกรงกลัวบาปกรรมที่เกิดจากการทำแท้ง

ซึ่งเป็นเจตนาที่ดีมาก

แต่การกล่าวอ้างว่าเด็กในครรภ์มีความบริสุทธิ์เหมือนพระอรหันต์

สิ่งนี้ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ถึงแม้ว่าเด็กในครรภ์จะยังไม่ได้ก่อบาปกรรมใด ๆ  แต่นั่นมิใช่เพราะเด็กในครรภ์เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์แล้ว
ดังนั้น  การกล่าวว่า  การฆ่าเด็กในครรภ์หนึ่งคนมีบาปเท่ากับการฆ่าพระอรหันต์หนึ่งรูป  จึงไม่น่าจะถูก
.....

ถามว่า  เสียหายตรงไหนล่ะ  คนจะได้เกรงกลัวบาปกรรมจากการทำแท้งมากขึ้น  ไม่ดีหรือ

ตอบว่า  เจตนาที่จะทำให้คนเกรงกลัวบาปเป็นเจตนาที่ดี
ซึ่งพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นไปเพื่อให้คนละจากบาปและบำเพ็ญบุญกุศลอยู่แล้ว

แต่การเพิ่มเติมสิ่งที่เกินไปจากพระธรรม  อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้

เช่น  ถ้าคนเข้าใจว่า  ผู้ที่ไม่ได้ทำบาปกรรมใด ๆ เลยถือว่ามีความบริสุทธิ์เหมือนพระอรหันต์
ความเข้าใจอย่างนี้  ท่านผู้รู้ก็จะยกเรื่องเด็กทารกมาเป็นข้อหักล้างได้
เพราะ
- เด็กทารกยังแยกแยะไม่ออกว่านี่กายของตนหรือกายของผู้อื่น
แล้วจะทำกรรมชั่วทางกายได้อย่างไร  นอกจากจะมีเพียงอาการนอนดิ้นรน
- เด็กทารกยังแยกแยะไม่ออกว่านี่วาจาผิดหรือวาจาชอบ
แล้วจะกล่าววาจาชั่วได้อย่างไร  นอกจากจะมีเพียงการร้องไห้
- เด็กทารกยังแยกแยะไม่ออกว่านี่ความดำริผิดหรือความดำริชอบ
แล้วจะดำริชั่วได้อย่างไร  นอกจากจะมีการส่งเสียงร้อง
- เด็กทารกยังแยกแยะไม่ออกว่านี่อาชีพผิดหรืออาชีพชอบ
แล้วจะเลี้ยงชีพชั่วได้อย่างไร  นอกจากการดื่มน้ำนมของมารดา
เมื่อเป็นเช่นนี้  เด็กทารกที่ยังไม่รู้เดียงสา  ก็เป็นพระอรหันต์สิ !!!
ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่

ฉะนั้น  แม้สิ่งนั้นอาจจะดูเหมือนเป็นพระธรรม  แต่อาจจะไม่ใช่ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ (การคิดเอาเอง)
อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อถือ
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านนี้เป็นครูของเรา
..... เลือกเชื่อเฉพาะสิ่งที่เป็นพระธรรม .....
..... ละทิ้งสิ่งที่ไม่ใช่พระธรรม .....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. สัมพหุลภิกขุสูตร (ว่าด้วยภิกษุหลายรูป)
๒. เกสปุตติสูตร (ว่าด้วยกาลามะชาวเกสปุตตนิคม)



ก่อนที่จะเชื่อ


ในสมัยพุทธกาล  ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงประกาศพระศาสนา
ก็มีครูบาอาจารย์เจ้าลัทธิต่าง ๆ มากมายที่ประกาศลัทธิของตนเองอยู่แล้ว
ซึ่งแต่ละลัทธิก็มีลูกศิษย์ลูกหาหรือสาวกที่ปฏิบัติตามเป็นจำนวนมาก
ลัทธิที่มีชื่อเสียงที่สำคัญ ๆ ในสมัยนั้น  มีอยู่ด้วยกัน ๖ ลัทธิ  แต่ละลัทธิก็มีคำสอนแตกต่างกันไป  เช่น

- บางลัทธิสอนว่า  การเบียดเบียนผู้อื่นไม่จัดว่าเป็นบาป

แม้หากบุคคลไปทำกรรมไม่ดีที่ฝั่งขวาของแม่น้ำคงคา  ก็ไม่มีบาปมาถึงเขา
แม้หากบุคคลไปทำกรรมดีที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำคงคา  ก็ไม่มีบุญมาถึงเขา
ไม่มีบุญที่เกิดจากการให้ทาน  จากการสำรวม  จากการพูดคำสัตย์  ไม่มีบุญมาถึงเขา

- บางลัทธิสอนว่า  ความเศร้าหมองหรือความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย
เมื่อเวียนว่ายตายเกิดไปแล้ว  จักพ้นจากวัฏสงสารได้เองโดยไม่ต้องประพฤติพรหมจรรย์
เหมือนกลุ่มด้ายที่ถูกขว้างออกไป  ย่อมคลี่หมดไปได้เองฉะนั้น

- บางลัทธิสอนว่า  ทานที่ให้แล้วไม่มีผล  ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล  การเซ่นสรวงก็ไม่มีผล  ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วก็ไม่มี  โลกนี้ไม่มี  โลกหน้าไม่มี  บิดาไม่มีคุณ  มารดาไม่มีคุณ  สัตว์ที่เกิดผุดขึ้นก็ไม่มี  ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก  เมื่อสิ้นชีวิตไป  ไม่ว่าคนเขลาหรือคนฉลาดย่อมขาดสูญ  ไม่เกิดอีก

- บางลัทธิสอนว่า  ร่างกายประกอบด้วยสภาวะ ๗ กอง  คือ  กองแห่งธาตุดิน  กองแห่งธาตุน้ำ  กองแห่งธาตุไฟ  กองแห่งธาตุลม  กองสุข  กองทุกข์  กองชีวะ  ใครก็ตามแม้จะเอาอาวุธตัดศีรษะใคร  ก็ไม่ชื่อว่าปลงชีวิตใครได้  เพราะเป็นเพียงอาวุธแทรกผ่านไปในระหว่างสภาวะ ๗ กองเท่านั้นเอง

- บางลัทธิสอนว่า  ผู้ที่ปฏิบัติเคร่ง ๔ อย่าง  คือ  ๑. เว้นน้ำดิบทุกอย่าง  ๒. ประกอบกิจที่เว้นจากบาปทุกอย่าง  ๓. ล้างบาปทุกอย่าง  ๔. รับสัมผัสทุกอย่างโดยไม่ให้เกิดบาป  ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว

- บางลัทธิมีคำสอนหลบเลี่ยง  เมื่อมีผู้ถามความเห็นต่าง ๆ  ก็จะตอบหลบเลี่ยงว่า  "อย่างนี้ก็มิใช่  อย่างนั้นก็มิใช่  อย่างอื่นก็มิใช่  จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่  จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่"

(เอ ...  แล้วพระพุทธศาสนาล่ะ  มีคำสอนว่าอย่างไร
ถ้ามีคนมาถาม  เราจะตอบเขาว่าอย่างไร ???)

คำสอนของลัทธิต่าง ๆ เหล่านี้  เป็นที่น่าเชื่อถือเป็นอย่างมากในสมัยนั้น
ถ้าเราอยู่ในสมัยนั้น  เราจะเชื่อคำสอนของใครดี
แม้ในยุคสมัยนี้  คำสอนหรือความเชื่อต่าง ๆ ก็มีอยู่มากมาย
แล้วเรามีหลักอะไรที่จะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อคำสอนเหล่านั้น


(ขอบคุณภาพโดย  Chinh Le Duc  จาก  Unsplash.com)

มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งเป็นชนชาวกาลามะ  อยู่ที่เกสปุตตนิคม  แคว้นโกศล  ต้องการทราบว่าคำสอนของลัทธิใดถูก  ลัทธิใดผิด  จึงได้กราบทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความสงสัยว่า  บรรดาท่านเหล่านั้น  ใครพูดจริง  ใครพูดเท็จ"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสตอบ (ในกาลามสูตร  หรือ  เกสปุตติสูตร) ว่า
"ท่านทั้งหลาย
- อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
- อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
- อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
- อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
- อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ (การคิดเอาเอง)
- อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
- อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
- อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน
- อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อถือ
- อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านนี้เป็นครูของเรา"

ที่ผ่านมา  เราเชื่ออะไรใครเพราะเหตุเหล่านี้บ้างหรือเปล่า

เมื่อพระองค์ตรัสห้ามการเชื่อด้วยเหตุ ๑๐ อย่างนั้นแล้ว
จึงได้ตรัสถึงหลักที่ควรใช้ในการพิจารณาต่อไปว่า
       "เมื่อใด  ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล (ความชั่ว)  ธรรมเหล่านี้มีโทษ  ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน
ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล  เพื่อทุกข์
เมื่อนั้น  ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย .....
       เมื่อใด  ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล (ความดี)  ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ  ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ
ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล  เพื่อสุข
เมื่อนั้น  ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ ....."

ไม่ได้เอาความเห็นของเราเองเป็นหลัก ...
ไม่ได้ยึดที่ตัวบุคคลผู้พูดเป็นหลัก ...
แต่หลักที่พระองค์ทรงให้ไว้  คือให้เราพิจารณาด้วยปัญญาก่อนว่า
ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศลหรือกุศล  เป็นธรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ
เมื่อพิจารณารู้ด้วยปัญญาแล้ว  จึงละธรรมที่เป็นอกุศล  ถือปฏิบัติเฉพาะในธรรมที่เป็นกุศล

คำถามต่อไปก็คือ  เราจะรู้ได้อย่างไรว่า  อะไรเป็นอกุศล  อะไรเป็นกุศล ???

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถามชนชาวกาลามะต่อไปว่า
"โลภะ  โทสะ  โมหะ  เมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคลแล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล"
"ไม่เกื้อกูล  พระพุทธเจ้าข้า"
"บุคคลที่มีโลภะ  โทสะ  โมหะ  ถูกโลภะ  โทสะ  โมหะครอบงำ  เขาย่อมฆ่าสัตว์  ลักทรัพย์  ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น  พูดเท็จ  บ้างไหม  เขาย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อสิ่งที่ไม่เกื้อกูลเพื่อทุกข์บ้างไหม"
"อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"
"การกระทำเช่นนี้เป็นกุศลหรืออกุศล"
"เป็นอกุศล  พระพุทธเจ้าข้า"
"เป็นธรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ"
"มีโทษ  พระพุทธเจ้าข้า"
"เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียนหรือผู้รู้สรรเสริญ"
"ผู้รู้ติเตียน  พระพุทธเจ้าข้า"
"ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูลเพื่อทุกข์หรือไม่"
"เป็นอย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"

"อโลภะ  อโทสะ  อโมหะ  เมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคลแล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล"
"เกื้อกูล  พระพุทธเจ้าข้า"
"บุคคลที่ไม่มีโลภะ  โทสะ  โมหะ  ไม่ถูกโลภะ  โทสะ  โมหะครอบงำ  เขาย่อมไม่ฆ่าสัตว์  ไม่ลักทรัพย์  ไม่ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น  ไม่พูดเท็จ  บ้างไหม  เขาย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อสิ่งที่เกื้อกูลเพื่อสุขบ้างไหม"
"อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"
"การกระทำเช่นนี้เป็นกุศลหรืออกุศล"
"เป็นกุศล  พระพุทธเจ้าข้า"
"เป็นธรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ"
"ไม่มีโทษ  พระพุทธเจ้าข้า"
"เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียนหรือผู้รู้สรรเสริญ"
"ผู้รู้สรรเสริญ  พระพุทธเจ้าข้า"
"ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลเพื่อสุขหรือไม่"
"เป็นอย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"

การละเมิดศีล  จัดเป็นอกุศลกรรม (ความชั่ว)  เกิดจากโลภะ  โทสะ  โมหะ
เป็นธรรมที่มีโทษ  เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียน  เป็นธรรมที่ไม่เกื้อกูล  เป็นไปเพื่อทุกข์
จึงควรละสิ่งนี้เสีย
ส่วนการไม่ละเมิดศีล  จัดเป็นกุศลกรรม (ความดี)  เกิดจากความไม่มีโลภะ  โทสะ  โมหะ
เป็นธรรมที่ไม่มีโทษ  เป็นธรรมที่ผู้รู้สรรเสริญ  เป็นธรรมที่เกื้อกูล  เป็นไปเพื่อสุข
ควรถือปฏิบัติสิ่งนี้

เมื่อพิจารณาโดยหลักนี้แล้ว  ก็จะเห็นว่าคำสอนของทั้ง ๖ ลัทธินั้นเป็นธรรมที่มีโทษ  ผู้รู้ติเตียน  เป็นไปเพื่อทุกข์  ทำให้ตัดสินใจได้ว่าควรละคำสอนของทั้ง ๖ ลัทธินั้นเสีย

ในปัจจุบัน  ก็มีคำสอนจากหลายที่หลายสำนัก
การมีหลักในการพิจารณาตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้นี้
จะช่วยให้เราแยกแยะได้ว่าคำสอนใดเป็นคุณ  คำสอนใดเป็นโทษ
ทำให้เราไม่หลงไปตามคำสอนที่มีโทษ
และเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตให้อยู่ในทางที่ถูกต้องได้

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. เกสปุตติสูตร (ว่าด้วยกาลามะชาวเกสปุตตนิคม)



ดอกไม้วิเศษ


นาย ก  ขับรถยนต์มาตามทาง  ถูกรถสิบล้อชนอย่างแรง  สภาพรถพังยับเยิน
แต่เขาบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย  เพราะเขาบูชาดอกไม้วิเศษ
นาย ข  เป็นหนี้นอกระบบหลายแสน  ไม่มีเงินใช้หนี้
แต่เมื่อได้ดอกไม้วิเศษมาบูชา  ก็ถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่  ทำให้มีเงินใช้หนี้ได้หมด
นาย ค  ตกงานมานานเกือบปี  ไม่มีบริษัทไหนรับเข้าทำงาน
เขาจึงหาดอกไม้วิเศษมาบูชา  หลังจากนั้นไม่นาน  ก็มีบริษัทเรียกสัมภาษณ์และรับเข้าทำงาน
นาย ง  ประกาศขายที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่ปีที่แล้ว  ไม่มีคนสนใจ
เพื่อนเอาดอกไม้วิเศษมาให้เขาบูชา  ไม่นานก็มีคนติดต่อมาขอซื้อที่ดินแปลงนั้น
..........

นาย เอ  ขับรถยนต์มาตามทาง  ถูกรถสิบล้อชนอย่างแรง  สภาพรถพังยับเยิน

เขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ  ในรถของเขามีดอกไม้วิเศษวางอยู่ดอกหนึ่ง
นาย บี  เป็นหนี้นอกระบบหลายแสน  ไม่มีเงินใช้หนี้
เขาบูชาดอกไม้วิเศษมานานหลายปี  แต่ยังไม่เคยถูกลอดเตอรี่แม้แต่เลขท้าย ๒ ตัว
นาย ซี  ตกงานมานานเกือบปี  ไม่มีบริษัทไหนรับเข้าทำงาน
เขาจึงหาดอกไม้วิเศษมาบูชา  แต่ก็ยังไม่มีบริษัทไหนเรียกสัมภาษณ์งาน
นาย ดี  ประกาศขายที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่ปีที่แล้ว  ไม่มีคนสนใจ
เพื่อนเอาดอกไม้วิเศษมาให้เขาบูชา  แต่ก็ยังไม่มีใครสนใจที่จะซื้อที่ดินแปลงนั้น
..........

นาย หนึ่ง  ขับรถยนต์มาตามทาง  ถูกรถสิบล้อชนอย่างแรง  สภาพรถพังยับเยิน

เขาไม่เชื่อ  ไม่บูชาดอกไม้วิเศษ  เขาได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยจากอุบัติเหตุนั้น
นาย สอง  เป็นหนี้นอกระบบหลายแสน  ไม่มีเงินใช้หนี้
เขาไม่เชื่อ  ไม่บูชาดอกไม้วิเศษ  เขาถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่  ทำให้มีเงินใช้หนี้ได้หมด
นาย สาม  ตกงานมานานเกือบปี  ไม่มีบริษัทไหนรับเข้าทำงาน
เขาไม่เชื่อ  ไม่บูชาดอกไม้วิเศษ  เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  ก็มีบริษัทเรียกสัมภาษณ์และรับเข้าทำงาน
นาย สี่  ประกาศขายที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่ปีที่แล้ว  ไม่มีคนสนใจ
เขาไม่เชื่อ  ไม่บูชาดอกไม้วิเศษ  เมื่อวานนี้  มีคนติดต่อมาขอซื้อที่ดินแปลงนั้น
..........


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)

กลุ่มที่ ๑  นาย ก ข ค ง  ถ้าเราได้ยินข่าวของคนกลุ่มนี้  เราจะอยากได้ดอกไม้วิเศษมาบูชาบ้างไหม ???

(เรื่องราวของคนกลุ่มนี้มีเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ มากมายเหลือเกิน)

กลุ่มที่ ๒  นาย เอ บี ซี ดี  บูชาดอกไม้วิเศษเหมือนกัน  แต่ทำไมไม่เกิดเหตุการณ์เหมือนกลุ่มแรก ???
(ทำไมเรื่องราวของคนกลุ่มนี้ไม่มีปรากฏเป็นข่าวบ้างเลย)

กลุ่มที่ ๓  นายหนึ่ง สอง สาม สี่  ไม่เชื่อ  ไม่ได้บูชาดอกไม้วิเศษ  แต่เกิดเหตุการณ์เหมือนกลุ่มแรก ???

..........

โดยความหมายแล้ว
อุบาสก / อุบาสิกา  หมายถึง  ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย, ผู้ใกล้ชิดพระศาสนา, คฤหัสถ์ผู้แสดงตนเป็นคนนับถือพระพุทธศาสนาโดยประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
(จากพจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์  โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต))

แต่ถ้าอุบาสก / อุบาสิกานั้นเป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว  เชื่อมงคล  ไม่เชื่อกรรม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า
เป็น  "อุบาสกจัณฑาล  อุบาสกเศร้าหมอง  อุบาสกน่ารังเกียจ"

ถ้าอุบาสก / อุบาสิกาเป็นผู้ไม่ถือมงคลตื่นข่าว  เชื่อกรรม  ไม่เชื่อมงคล
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า
เป็น  "อุบาสกแก้ว  อุบาสกปทุม  อุบาสกบุณฑริก"

ฉะนั้น  เราเป็นอุบาสก / อุบาสิกาประเภทไหน
เรามีความคิดอยากได้ดอกไม้วิเศษ (หรืออะไรก็ได้ที่ดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ให้เราได้) บ้างไหม
หรือเราจะเชื่อมั่นหนักแน่นในเรื่องของกรรมและผลของกรรม

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. จัณฑาลสูตร (ว่าด้วยอุบาสกจัณฑาล)

ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป


สามีภรรยาคู่หนึ่ง  เป็นคู่ที่รักกันมาก  ไม่เคยคิดนอกใจกันเลยแม้แต่น้อย
ต่างก็มีความปรารถนาว่าอยากจะเกิดมาพบกันอีก  ทั้งในชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไป
จึงได้เข้าไปกราบทูลเล่าความประสงค์นี้ให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบ

(ก่อนที่จะอ่านต่อไป  ลองคิดดูก่อนนะครับว่า
ถ้ามีคนมาถามเราอย่างนี้  เราจะตอบเขาอย่างไร ???
และพระพุทธเจ้าจะตรัสตอบอย่างไร ???)

ในครั้งนั้น  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับสามีภรรยาคู่นั้น (ในปฐมสมชีวีสูตร) ว่า
"ถ้าสามีและภรรยาทั้ง ๒ ฝ่ายหวังจะพบกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า
ทั้ง ๒ ฝ่ายพึงมีศรัทธาเสมอกัน  มีศีลเสมอกัน  มีจาคะเสมอกัน  มีปัญญาเสมอกัน
สามีและภรรยาทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นย่อมได้พบกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ....."

ความปรารถนาที่จะเกิดมาพบกันอีกจะสำเร็จได้  ไม่ใช่ด้วยการอธิษฐานเท่านั้น
แต่ต้องทำเหตุปัจจัยที่จะทำให้ความปรารถนานั้นสัมฤทธิ์ผลด้วย
นั้นคือ  ทั้ง ๒ ฝ่ายต้องมีคุณธรรมเสมอกัน
(ซึ่งในพระสูตรนี้  ทรงตรัสถึงศรัทธา  ศีล  จาคะ  ปัญญา  ที่เสมอกัน)



ไม่เพียงแค่คู่สามีภรรยาเท่านั้น  แม้คู่พ่อแม่ลูกหรือคู่อื่น ๆ ที่อยากเกิดพบกันอีก
ก็ต้องมีคุณธรรมที่เสมอกันเช่นเดียวกัน

โดยนัยนี้แล  เมื่อเราหลายคนตั้งความปรารถนาไว้ว่า
"ขอเป็นข้ารองพระบาท (ในหลวงรัชกาลที่ ๙) ทุกชาติไป"
การอธิษฐานเพียงอย่างเดียว  ไม่อาจทำให้ความปรารถนานี้ของเราสำเร็จได้
แต่เราจะต้องสร้างคุณธรรมของเราให้เสมอกันกับพระองค์ท่านด้วย
ละความไม่ดีทั้งหลาย  ทำแต่ความดี  ทั้งการให้ทาน  รักษาศีล  ตั้งมั่นในธรรม
แล้วความปรารถนาของเราที่จะได้พบพระองค์ท่านอีก  จะได้เป็นจริง

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ปฐมสมชีวีสูตร (ว่าด้วยผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอกัน  สูตรที่ ๑)



เมื่อต้องพลัดพราก


ถ้าพูดถึง "พระอานนท์"  หลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อนี้มาบ้าง
ท่านพระอานนท์เป็นพระพุทธอุปัฏฐาก  มีความรักและเคารพในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก  คอยถวายการอุปัฏฐากเป็นอย่างดี  และสามารถสละชีวิตเพื่อพระพุทธเจ้าได้ (ดังตัวอย่างเหตุการณ์ที่พระเทวทัตมอมเหล้าช้างนาฬาคิรีเพื่อให้ทำร้ายพระพุทธเจ้าในขณะเสด็จบิณฑบาต  พระอานนท์ได้ออกมายืนขวางอยู่เบื้องหน้าพระพุทธเจ้า)
กล่าวได้ว่า  ความรักที่พระอานนท์มีต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมากยิ่งนัก

เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน  พระอานนท์ก็เกิดความเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า
       "อย่าเลย  อานนท์  เธออย่าเศร้าโศก  อย่าคร่ำครวญเลย
เราบอกไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า  'ความพลัดพราก  ความทอดทิ้ง  ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น  จากของรักของชอบใจทุกอย่าง  จะต้องมี'
ฉะนั้น  จะไปหวังอะไรในสิ่งเหล่านั้นเล่า
สิ่งที่เกิดขึ้น  มีขึ้น  ถูกปัจจัยปรุงแต่ง  ล้วนแตกสลายเป็นธรรมดา
ความปรารถนาว่า  'ขอสิ่งนั้นอย่าเสื่อมสลายไปเลย'  นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
       อานนท์  เธออุปัฏฐากเรามาช้านาน
ด้วยเมตตากายกรรม  อันเกื้อกูลให้เกิดสุข  เสมอต้นเสมอปลาย  ไม่มีประมาณ
ด้วยเมตตาวจีกรรม  อันเกื้อกูลให้เกิดสุข  เสมอต้นเสมอปลาย  ไม่มีประมาณ
ด้วยเมตตามโนกรรม  อันเกื้อกูลให้เกิดสุข  เสมอต้นเสมอปลาย  ไม่มีประมาณ
อานนท์  เธอได้ทำบุญไว้แล้ว  จงประกอบความเพียรเข้าเถิด  เธอจะเป็นผู้สิ้นอาสวะกิเลสโดยเร็ว"

สังเกตไหมครับว่า  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์อย่างไร

ทรงเตือนสติให้เห็นความจริงของชีวิต  ที่ไม่มีใครปฏิเสธได้
"ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก  เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอในไม่ช้าก็เร็ว"
การรู้ความจริงและยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น  ที่จะทำให้เราไม่เศร้าโศกได้

แน่นอนว่าทุกคนเมื่อยังไม่หมดกิเลส  ก็ย่อมมีของรักของชอบใจ  ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่รัก  หรือสิ่งของที่่รักก็ตาม

แต่ของรักของชอบใจเหล่านั้นสักวันหนึ่งก็ต้องพลัดพรากจากเรา
ถ้าเราได้พิจารณาความจริงนี้อยู่เนือง ๆ จนสามารถยอมรับความจริงนี้ได้  เมื่อความพลัดพรากมาถึง  เราก็จะไม่ทุกข์

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังได้ตรัสเตือนพระอานนท์ให้ทำความเพียรเพื่อความหมดกิเลส

เพราะความทุกข์ความเศร้าโศกไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย
เป้าหมายในการประพฤติธรรมของพระอานนท์ก็จะไม่บรรลุผล
การที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเหน็ดเหนื่อยกับการสั่งสอนสาวกทั้งหลาย  ก็เพื่อต้องการให้สาวกเหล่านั้นพ้นจากทุกข์
พระองค์ไม่ทรงยินดีเป็นแน่ที่สาวกเศร้าโศก  และละเลยการทำความเพียรเพื่อประโยชน์ที่ควรบรรลุ


(ขอบคุณภาพจาก facebook.com/thaiminutevideos)

ฉันใดก็ดี  ในขณะนี้

แม้เราจะสูญเสียพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร  ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรชาวไทย
แต่พระธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้  เป็นความจริงแท้  ไม่มีทางเป็นอื่น  นั่นคือ
"ความพลัดพราก  ความทอดทิ้ง  ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น  จากของรักของชอบใจทุกอย่าง  จะต้องมี .....
ความปรารถนาว่า  'ขอสิ่งนั้นอย่าเสื่อมสลายไปเลย'  นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้"

ถ้าเราพิจารณาในพระธรรมคำสอนนี้อยู่เนือง ๆ

เราจะรู้ว่าความเศร้าโศก  ความคร่ำครวญ  ไม่ใด้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดเลย
แต่การเห็นความจริงของชีวิต  และยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น
แล้วตั้งมั่นทำความดี  สร้างกุศลผลบุญ  ละจากบาปอกุศลกรรมทั้งหลาย
เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อตัวเราเองและต่อสังคมประเทศชาติ
การทำได้เช่นนี้  น่าจะเป็นการบูชาตอบแทนพระคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ดีกว่า
(ไม่ได้บอกว่าห้ามเศร้าโศก  แต่จะบอกว่าเราควรปฏิบัติตนอย่างไร)

เมื่อพระองค์ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการไว้ว่า

"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม  เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
ฉะนั้น  แม้เราพสกนิกรทั้งหลาย
ก็ควรจะประพฤติปฏิบัติตัวให้อยู่ในศีลในธรรม  ดำรงชีวิตโดยธรรม
จึงจะสอดรับกับพระราชปณิธานของพระองค์ได้ดีที่สุด



บุญใหญ่


เคยได้ยินคนพูดกันว่า
การไถ่ชีวิตโคกระบือ  เป็นบุญใหญ่
การถวายสังฆทาน  เป็นบุญใหญ่
การถวายเทียนพรรษา  เป็นบุญใหญ่
การทอดกฐิน  เป็นบุญใหญ่
การสร้างวัด  เป็นบุญใหญ่
การสร้างพระพุทธรูป  เป็นบุญใหญ่
การให้หนังสือธรรมะ  เป็นบุญใหญ่
และอีกมากมายสารพัด  ฯลฯ

ซึ่งบุญแต่ละอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้น  ถ้าพิจารณาให้ดี  จะเห็นว่านับรวมอยู่ในการให้ทานทั้งสิ้น

ซึ่งบางอย่างก็ต้องใช้ทุนทรัพย์มาก  บางอย่างก็ต้องใช้เวลาตระเตรียมมาก

แล้วจะมีอะไรอย่างอื่นบ้างไหม  ที่ใช้ทุนทรัพย์น้อยกว่า  และมีการตระเตรียมน้อยกว่า

แต่มีอานิสงส์มากกว่าบุญทั้งหลายข้างต้น
พอจะนึกออกไหมครับ ???



องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ (ในทีฆนิกาย > สีลขันธวรรค > กูฏทันตสูตร) ตอนหนึ่งว่า

"การมีจิตเลื่อมใส  ถึงพระพุทธเจ้า  พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
นี้เป็นบุญซึ่งใช้ทุนทรัพย์น้อยกว่า  มีการตระเตรียมน้อยกว่า  แต่มีอานิสงส์มากกว่าบุญจากการให้ทาน"

เพราะคนที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาที่ทำบุญให้ทานก็มีมากมาย

คนนอกพระพุทธศาสนามาร่วมทำบุญกฐินก็มี  บริจาคเงินสร้างวัดก็มี  พิมพ์หนังสือธรรมะแจกก็มี
แต่เขาอาจจะไม่ได้ทำด้วยศรัทธาก็ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังได้ตรัสต่อไปอีกว่า

"การมีจิตเลื่อมใส  สมาทานสิกขาบททั้งหลาย  คือ
- เจตนาละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
- เจตนาละเว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
- เจตนาละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
- เจตนาละเว้นขาดจากการพูดเท็จ
- เจตนาละเว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
นี้เป็นบุญซึ่งใช้ทุนทรัพย์น้อยกว่า  มีการตระเตรียมน้อยกว่า  แต่มีอานิสงส์มากกว่าบุญข้างต้น"

การรักษาศีล  ไม่ละเมิดศีล  เป็นบุญที่ไม่ต้องใช้ทุนทรัพย์  และไม่มีการตระเตรียมอะไรเลย  แต่มีอานิสงส์มากกว่าการให้ทาน


แต่ถึงกระนั้น  ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ทำบุญให้ทานได้  แต่รักษาศีลไม่ได้
หลายคนฆ่าหมูฆ่าวัวฆ่าไก่  มาออกโรงทานงานกฐิน
หลายคนโกงเงินคนอื่น  มาทำบุญสร้างพระพุทธรูป
หลายคนคบชู้กับลูกเมียชาวบ้าน  แต่ชอบบริจาคเงินสร้างวัด
หลายคนทำธุรกิจต้มตุ๋นหลอกลวง  แต่สั่งพิมพ์หนังสือธรรมะแจก
หลายคนชอบกินเหล้าเป็นประจำ  แต่ก็ใส่บาตรทุกเช้า

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ??? (ฝากให้คิดครับ)


และเมื่อคนเหล่านั้น  ทำบุญให้ทานด้วย  ละเมิดศีลด้วย  อะไรจะเกิดขึ้น

ลองนึกถึงคนที่มีฐานะดี  ร่ำรวยเป็นเศรษฐี  มีทรัพย์สมบัติมากมาย
แต่เป็นโรคร้าย
สุขภาพไม่ดี
พิการ
อายุสั้น
ครอบครัวแตกแยก
บริวารไม่ซื่อสัตย์
วิกลจริต
ฯลฯ
เราเคยเห็นคนรวยที่มีสภาพอย่างนี้บ้างไหมครับ
แม้เขาจะมีเงินทองมากมาย  แต่เขาจะมีความสุขไหมถ้าต้องตกอยู่ในสภาพอย่างนี้
แสดงว่า  ผลบุญผลบาปหักล้างกันได้ไหม ???

ฉะนั้น  แม้เราจะเป็นผู้ทำบุญให้ทานแล้วก็ตาม
แต่อย่าได้คิดว่าเพียงพอแล้วด้วยบุญเพียงเท่านี้
บุญใหญ่ยิ่งกว่าที่เกิดจากการรักษาศีล  ยังมีอยู่
ขอให้เราตั้งมั่นอยู่ในศีล  มีเจตนาละเว้นขาดจากการละเมิดศีลทั้งหลาย
ทั้งนี้  เพื่อประโยชน์สุขในชีวิตของเรานั่นเอง


ถ้าคุณเจอทุกข์ อย่าโทษดวง


จากบทความเรื่องถ้าท่านกลัวทุกข์
มีผู้อ่านท่านหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นว่า
"คนที่ประสบทุกข์ส่วนใหญ่  คิดว่าตัวเองดวงไม่ดี  ไม่ได้คิดว่าตัวเองกำลังรับผลกรรมที่ทำไว้"
ซึ่งในสังคมปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ

คนที่มีความคิดว่าเป็นเพราะตัวเองดวงไม่ดี

ก็จะเที่ยวแสวงหาวิธีแก้ดวงต่าง ๆ  ทั้งการอาบน้ำมนต์  นอนโลงศพ  บูชาผ้ายันต์  บูชาเทพเจ้า  พึ่งโหราศาสตร์ / ไสยศาสตร์  หาเกจิอาจารย์ต่าง ๆ  ฯลฯ

บางคนที่ทำแล้ว  เรื่องร้าย ๆ ที่ประสบอยู่คลี่คลายดีขึ้น  ก็คิดว่าวิธีนั้น ๆ ได้ผล
ทำให้ยิ่งหลงเชื่อในวิธีนั้น ๆ  หลงศรัทธาในบุคคลนั้น ๆ มากขึ้นไปอีก
ซึ่งแท้จริงแล้ว  เป็นเพราะผลกรรมนั้นคลี่คลายเบาบางลงแล้วต่างหาก

ส่วนบางคนที่ทำแล้ว  เรื่องร้าย ๆ ก็ยังอยู่  ไม่ได้ดีขึ้น
ก็ไม่คิดว่าไม่ใช่เรื่องดวง  แต่กลับคิดว่าเพราะดวงตกมาก  เดินหน้าแก้ดวงต่อไป

ข้อเสียอีกอย่างของความหลงผิด  ที่คนประสบทุกข์ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าตัวเองกำลังรับผลของบาปอกุศล

ก็จะทำให้ไม่มีการหยุดการกระทำที่เป็นบาปอกุศล
เพราะยังไม่เห็นบาปว่า  "เป็นบาป"  ไม่เห็นชัดถึงโทษภัยของการละเมิดศีล
กลับเห็นบาปว่า  "เป็นสิ่งสมควร"
เขาก็จะมีเหตุผลมาอ้างให้ทำบาป  ให้ละเมิดศีลโดยไม่รู้สึกผิด
แต่นั่น  ทำให้เขาต้องประสบทุกข์  ได้รับผลของกรรมนั้นต่อไปอีกยาวนาน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนฤๅษีตนหนึ่งชื่ออัคคิทัตว่า

"มนุษย์จำนวนมากผู้ถูกภัยคุกคาม
ต่างถึงภูเขา  ป่าไม้  อาราม  และรุกขเจดีย์เป็นที่พึ่ง
นั่นมิใช่ที่พึ่งอันเกษม  นั่นมิใช่ที่พึ่งอันสูงสุด
เพราะการอาศัยที่พึ่งนั้นแล้ว  ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้"

สมัยก่อน  ก็มีการไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา  ขอเจ้าที่เจ้าทาง  ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยคุ้มครองภัยอันตราย
สมัยนี้  ก็มีการพัฒนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ขึ้นมามากมายให้คนไปอ้อนวอน  ขอให้ช่วย
แต่การพึ่งสิ่งเหล่านั้น  ไม่ได้ช่วยให้พ้นจากทุกข์ได้จริง



ความน่ากลัวของการมีที่พึ่งที่ผิด  คือ
นอกจากจะไม่สามารถทำให้ปัญหาหรือทุกข์ที่มีอยู่หมดไปได้
แต่กลับจะทำให้เกิดปัญหาหรือทุกข์ใหม่ขึ้นมาอีก
(เพราะยังคงทำบาปอกุศลอยู่  ละเมิดศีลอยู่)

ในตอนท้าย  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนฤๅษีตนนั้นว่า

"ผู้ที่ถึงพระพุทธ  พระธรรม  และพระสงฆ์  เป็นที่พึ่ง
ย่อมเห็นอริยสัจ  คือความจริงอันประเสริฐ ๔ อย่าง  ด้วยปัญญาอันชอบ
คือเห็นทุกข์  เหตุเกิดทุกข์  ความดับทุกข์  และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
นี่แหละเป็นที่พึ่งอันเกษม  เป็นที่พึ่งอันสูงสุด
เพราะการอาศัยที่พึ่งนี้แล้ว  ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้"

การมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

ไม่ใช่เป็นที่พึ่งแบบเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ไม่ใช่ให้เราอ้อนวอนร้องขอให้ช่วยดลบันดาลอย่างนั้นอย่างนี้

แต่การมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
คือการได้ศึกษาพระธรรม  ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้  โดยมีพระสงฆ์นำมาบอกต่อ
แล้วน้อมนำพระธรรมนั้นมาพิจารณา  และนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ซึ่งกรอบของการปฏิบัตินั้น  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้วในโอวาทปาฏิโมกข์  คือ
"ละเว้นจากบาปอกุศลทั้งปวง
บำเพ็ญบุญกุศลให้ถึงพร้อม
ชำระจิตให้ผ่องใสบริสุทธิ์"

เมื่อเราละเว้นจากการทำบาปอกุศลทั้งหลาย  เราก็จะไม่ต้องประสบกับผลของอกุศลที่นำทุกข์มาให้
เมื่อเราเจริญอยู่ในบุญกุศลทั้งหลาย  เราก็จะประสบกับผลของกุศลที่นำสุขมาให้
ด้วยการอาศัยที่พึ่งคือพระรัตนตรัย  ด้วยการน้อมมาปฏิบัติในชีวิตจริง
นี่แลที่ทำให้เราพ้นจากทุกข์ได้

ฉะนั้น  เมื่อท่านประสบปัญหาต่าง ๆ ที่นำทุกข์มาให้
ขอให้ระลึกว่า  ไม่ใช่เพราะดวงไม่ดี  อย่าได้เที่ยวไปสะเดาะเคราะห์แก้กรรมให้เสียเวลา
(ถึงจะอ้างว่าเพื่อความสบายใจ  แต่มันเป็นการหลอกตัวเอง)

จงตระหนักว่า  เพราะเราเคยทำบาปอกุศลกรรมเอาไว้
เราทำของเราเอง  ไม่มีใครทำบาปแล้วโยนผลของบาปมาให้เราได้
เราจึงควรรับผลของกรรมโดยความเคารพ
และตั้งใจแน่วแน่ที่จะละเว้นบาปอกุศลกรรมใหม่
มุ่งมั่นที่จะเจริญแต่บุญกุศลเท่านั้น

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. อัคคิทัตตปุโรหิตวัตถุ (เรื่องอัคคิทัตตปุโรหิต)


(ขอขอบคุณ  คุณนพมาศ  งอกผล
ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นในบทความถ้าท่านกลัวทุกข์ (ที่แชร์ไว้ใน Google+)
เป็นประเด็นให้นำมาขยายความต่อได้ในบทความนี้)

ถ้าท่านกลัวทุกข์


นาย ก  วางยาเบื่อหมาแมวที่ชอบไปถ่ายอุจจาระหน้าบ้าน
นาย ข  ชวนให้คนมาร่วมธุรกิจแชร์ลูกโซ่  เมื่อได้เงินแล้วก็หลบหนี
นาย ค  ทำอาชีพโมเดลลิ่ง  บังคับสาว ๆ ในสังกัดให้มีเพศสัมพันธ์กับตน
นาย ง  หลอกขายสินค้าไม่มีคุณภาพ  โฆษณาเกินจริง
นาย จ  ทำธุรกิจเหล้าเบียร์  ชักชวนให้คนดื่มเหล้าเบียร์กันเยอะ ๆ
ตัวอย่างการกระทำของคนเหล่านี้  ล้วนแต่เป็นบาปอกุศลทั้งสิ้น

ซึ่งแน่นอนว่า  บาปอกุศลย่อมให้ผลเป็นทุกข์ .....

บางคนอาจเกิดโรคภับไข้เจ็บร้ายแรง  หรือเกิดอุบัติเหตุทำให้พิการ
บางคนอาจถูกฟ้องล้มละลาย  หรือต้องคอยหลบ ๆ ซ่อน ๆ
บางคนอาจมีปัญหาครอบครัวแตกแยก  ลูกหลานไม่เคารพ
บางคนอาจถูกคนอื่นนินทาว่าร้าย  ทำให้เสียชื่อเสียง
บางคนอาจมีอาการทางสมอง  ความจำเสื่อม  วิกลจริต
ฯลฯ

ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้  เราจะทำอย่างไร

และถ้าปัญหาต่าง ๆ รุมเร้าเข้ามามากขึ้น  มากขึ้น  มากขึ้น
เหมือนสำนวนไทยที่ว่า  "ความวัวไม่ทันหาย  ความควายเข้ามาแทรก"
ปัญหาเก่ายังไม่ทันจบ  ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นมา  ทั้งเรื่องนั้นเรื่องนี้เต็มไปหมด
ประสบแต่ทุกข์หนักขึ้น  หนักขึ้น  เราจะทำอย่างไร


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)

ขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกและอรรถกถามาประกอบ  ดังนี้

ปุณณาเถรีคาถา  (ภาษิตของพระปุณณาเถรี)
พระปุณณาเถรีรูปนี้  เมื่อครั้งเป็นฆราวาส  ได้เป็นนางทาสีในเรือนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  ในกรุงสาวัตถี  (เกิดเป็นทาสในเรือนเบี้ย)  มีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนา  บรรลุเป็นพระโสดาบันทั้ง ๆ ที่อยู่ในเพศฆราวาสนั่นแหละ

วันหนึ่ง  ในฤดูหนาว  นางปุณณาทาสีไปที่ท่าน้ำเพื่อเอาหม้อตักน้ำกลับไปยังเรือน

ณ  ที่นั้น  ได้พบกับพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งถือลัทธิความเชื่อว่า  "สัตว์บริสุทธิ์ได้ด้วยการอาบน้ำ"
แม้อากาศจะเหน็บหนาว  พราหมณ์นั้นก็ลงไปในแม่น้ำแต่เช้ามืด  ดำน้ำมิดทั้งศีรษะ  ร่ายมนต์  แล้วขึ้นจากน้ำ  ผ้าเปียก  ผมเปียก  สั่นเทิ้ม  ฟันกระทบกันรัวอยู่

เมื่อนางปุณณาทาสีเห็นดังนั้นแล้ว  ก็เกิดความกรุณา  อยากช่วยพราหมณ์นั้นให้พ้นจากความเห็นผิดนั้น  จึงกล่าวกับพราหมณ์ว่า
"เราเป็นหญิงตักน้ำ  เพราะกลัวเจ้านายลงโทษ  และกลัวถูกเจ้านายดุด่า  จึงต้องมาตักน้ำและลงน้ำแม้แต่หน้าหนาว
ท่านพราหมณ์  ท่านกลัวอะไร  จึงลงอาบน้ำตลอดเวลา  มีตัวสั่นเทา  ทนสู้ความหนาวเย็นอันร้ายกาจนี้"

พราหมณ์กล่าวตอบว่า
"นางปุณณาผู้เจริญ  นางรู้อยู่ก็ยังถามอีก  เรากำลังทำกุศลกรรม  เพื่อกำจัดบาปอกุศลอยู่น่ะสิ
ใครก็ตามไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่  ถ้าทำบาปกรรมไว้  ก็ย่อมจะพ้นจากบาปกรรมนั้นได้ด้วยการลงอาบน้ำ"

นางปุณณาทาสีกล่าวว่า
"ใครหนอช่างไม่รู้  มาบอกท่านพราหมณ์อย่างนี้ว่าจะพ้นจากบาปกรรมได้ด้วยการลงอาบน้ำ
พวกกบ  เต่า  งู  จรเข้  และสัตว์อื่นที่อยู่ในน้ำทั้งหมดก็คงจะพากันไปสวรรค์เป็นแน่
คนฆ่าแพะ  คนฆ่าหมู  คนฆ่าปลา  พรานล่าเนื้อ  พวกโจร  พวกเพชฌฆาต  และผู้ทำบาปกรรมอื่น ๆ  ก็คงจะหลุดพ้นจากบาปกรรมได้เพราะการลงอาบน้ำนี้
...
ถ้าหากว่าแม่น้ำนี้จะสามารถชำระล้างบาปที่ท่านทำมาแต่ก่อนได้  ทำให้ท่านหมดบาปได้จริงไซร้
แม่น้ำนี้ก็คงจะชำระล้างเอาบุญของท่านไปด้วย  ท่านก็จะเป็นผู้หมดบุญเช่นกัน
...
ท่านพราหมณ์  ถ้าท่านต้องมาลงอาบน้ำแม้แต่หน้าหนาวนี้เพราะกลัวผลของบาป
ท่านก็อย่าได้ทำบาปอันจะให้ผลเป็นทุกข์นั้นเลย
ขอความหนาวเย็นอย่าทำลายผิวของท่านเลย"

พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นแล้ว  ใคร่ครวญเห็นจริงตามที่นางปุณณากล่าว  จึงกล่าวว่า
"นางปุณณาผู้เจริญ  นางทำเราผู้มีความเห็นผิดให้มีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว
เราขอมอบผ้าสาฎกผืนนี้เพื่อตอบแทนนาง"

นางปุณณาทาสีกล่าวว่า
"ท่านพราหมณ์  ผ้าสาฎกผืนนี้จงเป็นของท่านตามเดิมเถิด  เราไม่ต้องการผ้าสาฎกหรอก
ถ้าท่านกลัวทุกข์  ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่านไซร้
ท่านก็อย่าได้ทำบาปอกุศลกรรมทั้งหลาย  ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง
ถ้าท่านทำบาปอกุศลกรรม  ถึงท่านจะเหาะหนีไปที่ใด  ก็ไม่พ้นจากทุกข์ได้เลย
...
ถ้าท่านกลัวทุกข์  ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่าน
ท่านก็จงถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  เป็นสรณะ
จงตั้งมั่นในศีล
ข้อนั้นแหละจะเป็นไปเพื่อความไม่มีทุกข์ของท่าน"

พราหมณ์นั้นได้ถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  เป็นสรณะ  และตั้งมั่นอยู่ในศีลแล้ว
ต่อมา  ได้ไปฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เกิดศรัทธา  จึงขอบวช  ได้เพียรพยายามอยู่  ไม่นานก็บรรลุอรหัตผล

ครั้งนั้น  เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทราบเรื่องที่นางปุณณาทาสีได้ทำให้พราหมณ์เปลี่ยนความเห็นผิดมาเป็นความเห็นที่ถูกต้องได้  ก็เกิดความนับถือ  จึงประกาศให้นางเป็นไท  อนุญาตให้นางบวช
ครั้นบวชแล้ว  เจริญกรรมฐาน  ไม่นานนัก  พระปุณณาเถรีก็บรรลุอรหัตผล
ปุณณาเถรีคาถา  จบ

คนทั้งหลายเมื่อประสบกับผลของบาปอกุศลกรรม  เกิดอุปสรรคปัญหา  เกิดความทุกข์หนักหนาสาหัส  จนไม่สามารถรับไหว  ก็หาวิธีที่คิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้
ในสมัยพุทธกาล  ก็อาจจะใช้การลงอาบน้ำในแม่น้ำ  การบูชาไฟ  เป็นต้น
แต่วิธีการในสมัยนี้ก็เปลี่ยนไป  มีทั้งอาบน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์  นอนโลงศพต่อชะตาชีวิต  ให้พระสวดบังสุกุลเป็นบังสุกุลตาย  บนบานเทพเจ้าต่าง ๆ  บูชาผ้ายันต์เกจิอาจารย์ทั้งหลาย  พึ่งพาไสยศาสตร์ / โหราศาสตร์  ... ฯลฯ ...
แต่ทั้งหมดนี้  ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุกันเลย

เมื่อคนทั้งหลายไม่ได้ระลึกว่า  "ต้นเหตุของโทษทุกข์มาจากบาปอกุศลกรรม"

ก็จะไม่มีความตั้งใจหนักแน่นที่จะเลิกทำบาปอกุศลกรรมอย่างจริงจัง
มิหนำซ้ำ  เมื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา  ... ฯลฯ ...  ทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว  ก็ยังกลับไปทำบาปอกุศลกรรมเหมือนเดิมอีก  เพราะยังไม่เห็นภัยจากบาปอกุศลกรรม

คนที่ศึกษาและเข้าใจคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีแล้ว  จะรู้ว่าโทษทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น  มาจากบาปอกุศลกรรมที่เราได้กระทำไว้เอง
ถ้าไม่อยากให้เกิดโทษทุกข์ขึ้น  เราก็ไม่ควรจะกระทำบาปอกุศลกรรมทั้งหลาย  และควรที่จะตั้งมั่นอยู่แต่ในกุศลกรรมเท่านั้น

ฉะนั้น  ถ้าท่านกลัวทุกข์  ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่านไซร้

ท่านก็อย่าได้ทำบาปอกุศลกรรมทั้งหลาย  ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง
ถ้าท่านทำบาปอกุศลกรรม  ถึงท่านจะเหาะหนีไปที่ใด  ก็ไม่พ้นจากทุกข์ได้เลย
...
ถ้าท่านกลัวทุกข์  ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่าน
ท่านก็จงถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  เป็นสรณะ
จงตั้งมั่นในศีล
ข้อนั้นแหละจะเป็นไปเพื่อความไม่มีทุกข์ของท่าน

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ปุณณาเถรีคาถา (ภาษิตของพระปุณณาเถรี)