เมื่อกรรมชั่วให้ผล คุณมี ๒ ทางเลือก


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงบุคคลที่เกิดในตระกูลต่ำ
เป็นอยู่อย่างฝืดเคือง  หากินลำบาก  (ในปุคคลสูตร)
ว่าเป็นบุคคลที่  "มืดมา"  หรือบุคคลที่  "ต่ำมา"

ถ้าเราต้องเกิดมาอยู่ในฐานะเช่นนี้  เราจะทำอย่างไร
.....


ในสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน
มีพระอรหันต์รูปหนึ่งจาริกไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
ผู้ใหญ่บ้านเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน  จึงนิมนต์ให้ไปพักที่วัดประจำหมู่บ้าน

พระเถระเจ้าอาวาสทำการต้อนรับปฏิสันถารแล้ว  จึงพาไปยังกุฎิที่พัก

ตอนเย็นวันนั้นเอง
ผู้ใหญ่บ้านชักชวนคนในหมู่บ้านเข้าไปฟังธรรมจากพระอาคันตุกะจนถึงค่ำ
แล้วนิมนต์พระทั้ง ๒ รูปให้ไปรับภัตตาหารในหมู่บ้านในวันรุ่งขึ้น

เจ้าอาวาสเห็นอาการที่ชาวบ้านเลื่อมใสในพระอาคันตุกะ  เกิดความไม่พอใจ
จึงไม่พูดจาปราศรัยด้วย
พระรูปนั้นกำหนดรู้ความคิดของเจ้าอาวาสแล้ว  ไม่มีความอาลัยใด ๆ  จึงจากไป

วันรุ่งขึ้น  เจ้าอาวาสลุกขึ้นตีระฆังด้วยหลังเล็บ  เคาะประตูกุฏิด้วยปลายเล็บ
แล้วรีบออกบิณฑบาต

เมื่อชาวบ้านถามหาพระอาคันตุกะ  เพราะไม่เห็นมาบิณฑบาตด้วย
เจ้าอาวาสกล่าวว่า  "อาตมาตีระฆังก็แล้ว  เคาะประตูก็แล้ว  พระรูปนั้นก็ยังไม่ตื่น
เมื่อวานคงจะฉันอาหารอย่างดีที่โยมถวาย  แล้วหลับสบายอยู่ถึงตอนนี้"

ชาวบ้านฟังแล้วก็ไม่ได้ว่าอะไร  ถวายอาหารให้เจ้าอาวาส
แล้วฝากอาหารอีกส่วนหนึ่งไปให้พระอาคันตุกะด้วย

ในขณะที่กำลังกลับวัด  เจ้าอาวาสคิดว่า
"ถ้าพระอาคันตุกะได้ฉันอาหารดี ๆ อย่างนี้  คงไม่ยอมไปจากวัดแน่ ๆ"
จึงทิ้งอาหารนั้นในระหว่างทาง

แต่เมื่อกลับถึงวัด  ก็ไม่เห็นพระอาคันตุกะนั้นแล้ว
จึงคิดได้ว่า  "ชะรอยพระรูปนั้นคงจะเป็นพระอรหันต์  รู้ความคิดของเรา  จึงจากไปแล้ว
โอหนอ  เพราะท้องเป็นเหตุ  เราทำกรรมหนักแล้วหนอ"

หลังจากตายในชาตินั้น  จึงไปเกิดในนรกอยู่หลายแสนปี

และด้วยเศษกรรมที่ยังมีอยู่
ทำให้ไปเกิดเป็นยักษ์อีก ๕๐๐ ชาติ
ได้กินอาหารเต็มท้องเพียงแค่วันเดียวคือวันที่จะตาย
นอกนั้น  ไม่เคยได้กินอาหารเต็มท้องเลย

จากนั้น  ไปเกิดเป็นสุนัขอีก ๕๐๐ ชาติ
ก็ได้กินอาหารเต็มท้องเพียงวันเดียว
นอกนั้น  ไม่เคยได้กินอาหารเต็มท้องเช่นกัน

จากนั้น  ก็เวียนว่ายตายเกิดไปอีกตลอด ๑ พุทธันดร
จนมาถึงชาติสุดท้ายนี้  ได้มาเกิดเป็นคน  แต่ก็เกิดในตระกูลยากจน
ตั้งแต่วันที่เขาเกิด  ครอบครัวนั้นก็ยากจนหนักลงไปอีก
จึงถูกไล่ออกจากบ้านตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

ต่อมา  มีโอกาสได้บวชเป็นพระ  แต่อกุศลกรรมก็ยังให้ผลไม่หมด
ชาวบ้านใส่บาตรให้ ๑ ทัพพี  ก็ปรากฏเหมือนมีข้าวเต็มบาตรแล้ว
คนอื่นจึงไม่ได้ใส่บาตรให้อีก
ทำให้ท่านไม่เคยได้ฉันเต็มท้องเลยแม้สักครั้งเดียว
.....


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


ต่อให้มีผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากเพียงใด
ต่อให้มีลาภสักการะในพระพุทธศาสนามากเพียงใด
แต่เมื่ออกุศลกรรมให้ผล  แม้อาหารพอฉันอิ่มท้องก็ยังหาไม่ได้เลย

พระรูปนี้  แม้จะไม่สามารถหาบิณฑบาตฉันได้อิ่มท้อง
แต่ก็มุ่งมั่นเจริญวิปัสสนา  จนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

แต่ถึงกระนั้น  ท่านก็ยังเป็นผู้มีลาภน้อยอยู่นั่นเอง

วันหนึ่ง  พระสารีบุตรปรารถนาจะให้ท่านได้ฉันเต็มอิ่มสักวัน
จึงชักชวนไปบิณฑบาตด้วยกัน
แต่ก็ไม่ได้แม้การยกมือไหว้จากชาวบ้าน

พระสารีบุตรจึงให้ท่านรออยู่ที่วัด  แล้วไปบิณฑบาตเอง
เมื่อได้อาหาร  ก็ฝากชายคนหนึ่งนำไปให้ท่านที่วัด
แต่ชายคนนั้นก็ลืม  แล้วนำอาหารนั้นไปกินเสียเอง

พระสารีบุตรจึงไปบิณฑบาตในพระราชวัง
เมื่อได้อาหาร  จึงนำไปให้ท่านฉัน
แต่พระสารีบุตรต้องเป็นผู้ถือบาตรนั้นไว้ให้ในขณะที่พระรูปนั้นฉัน
เพราะไม่เช่นนั้น  อาหารในบาตรก็จะหายไป

วันนั้นเป็นวันแรกและวันเดียวที่ท่านได้ฉันอิ่มท้อง
และเป็นวันที่ท่านปรินิพพาน  ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในโลสกชาดก)


ไม่ว่าจะเคยทำอกุศลกรรมอะไรไว้ในอดีตก็ตาม
เมื่ออกุศลกรรมนั้นให้ผล
ทำให้เกิดมาอยู่ในฐานะยากจน  หากินลำบาก
หรือมีปัญหาอุปสรรคในชีวิตอย่างใดก็ตาม
ทุกคนมีทางเลือก ๒ ทาง

ทางเลือกที่ ๑
อ้างเหตุแห่งความลำบากบีบคั้น  อ้างว่ามีความจำเป็น  อ้างว่าไม่มีทางเลือกอื่น
จึงตัดสินใจทำอกุศลกรรม  ประพฤติกายทุจริต  วจีทุจริต  มโนทุจริต

ทางเลือกที่ ๒
ตระหนักว่าที่ต้องลำบาก  ไม่มีความสุขสบาย  เป็นเพราะเคยทำกรรมไม่ดีมาก่อน
จึงตัดสินใจละเว้นกรรมที่ไม่ดีทั้งหมด
แล้วทำแต่กุศลกรรม  ประพฤติกายสุจริต  วจีสุจริต  มโนสุจริตเท่านั้น
.....


กรรมเก่าที่เป็นอกุศลที่เราเคยทำไว้
ที่ทำให้เราเป็นผู้  "มืดมา"  หรือ  "ต่ำมา"
ไม่มีใครสามารถกลับไปแก้ไขได้

แต่กรรมใหม่ที่เราจะทำ
เราจะเลือกทำกรรมที่เป็นกุศล  หรือกรรมที่เป็นอกุศล

ถ้าเราเลือกที่จะทำกรรมที่เป็นกุศล
เราก็จะได้รับผลของกรรมนั้นในทางที่ดี
จะเป็นบุคคลที่  "สว่างไป"  หรือ  "สูงไป"  ได้

แต่ถ้าเราเลือกทำกรรมที่เป็นอกุศลอีก
เราก็จะได้รับผลของกรรมที่ไม่ดีนั้นอีก
จะเป็นบุคคลที่  "มืดไป"  หรือ  "ต่ำไป"  อีกยาวนาน

ฉะนั้น  แม้เราจะพลาดพลั้งมาในอดีต
ทำให้ปัจจุบันเป็นผู้ที่มืดมาก็ตาม
แต่ในอนาคต  เราจะเป็นผู้ที่สว่างไป  หรือมืดไป
ขึ้นอยู่กับการกระทำของเรานั่นเอง

ถึงตอนนี้  ตัดสินใจได้ไหมว่าเราจะเลือกกระทำอย่างไร
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ปุคคลสูตร (ว่าด้วยบุคคล ๔ ประเภท)
๒. โลสกชาดก (ว่าด้วยคนโลเลต้องเศร้าโศก)


เศรษฐีสอนลูก


รอยยิ้มของลูก  คือความสุขของพ่อแม่
พ่อแม่ทุกคนย่อมอยากเห็นลูกมีความสุข
จึงมอบสิ่งที่คิดว่าดีให้กับลูกของตน

แต่สิ่งที่มอบให้นั้น  จะนำมาซึ่งความสุขให้กับลูกได้จริงหรือ
ตัวอย่างของเศรษฐีคนหนึ่งที่เคยเล่าไว้ในเรื่อง  "ครูคนแรกควรสอนอะไร"
เศรษฐีคนนั้นมอบความสุขให้ลูกผิดทาง  จึงกลายเป็นการทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว
.....


ยังมีเศรษฐีอีกคนหนึ่งที่อยากเห็นลูกมีความสุขเหมือนกัน
แต่วิธีการของเศรษฐีคนนี้แตกต่างจากเศรษฐีคนแรก

เนื่องจากเศรษฐีคนนี้เป็นอุบาสกผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ได้ฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ทำบุญให้ทานและรักษาศีลเป็นประจำ

แต่ลูกชายของเศรษฐีกลับตรงกันข้าม
ไม่คิดที่จะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม
ไม่คิดที่จะทำบุญให้ทาน
ไม่คิดที่จะรักษาศีล
แม้เศรษฐีผู้เป็นพ่อจะชักชวนเท่าไร  ก็ไม่ทำ

ถ้าเราเป็นเศรษฐีผู้เป็นพ่อคนนั้น  จะทำอย่างไรดี
.....


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


วันหนึ่ง  เศรษฐีคิดว่า  "ถ้าปล่อยให้ลูกเป็นอย่างนี้  ตายไปอาจจะตกนรกก็ได้
เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่  แล้วปล่อยให้ลูกเสี่ยงนรก  ไม่สมควรเลย"

จึงคิดอุบายขึ้นมาอย่างหนึ่ง  บอกกับลูกชายว่า
"ลูกเอ๋ย  ถ้าเจ้าไปวัด  รักษาอุโบสถศีล  แล้วฟังธรรม
พ่อจะให้เงินเจ้า ๑๐๐ กหาปณะ"

ลูกชายถามว่า  "ให้จริงหรือพ่อ"

เศรษฐีตอบว่า  "ให้จริง"

ลูกชายถามย้ำถึง ๓ ครั้ง  แล้วรับเงื่อนไขจากพ่อ
จากนั้น  เขาจึงไปที่วัด  แต่ไม่ได้นั่งฟังธรรมพร้อมกับคนอื่น ๆ
เขาหาที่นอนจนถึงเช้า
เมื่อได้เวลาที่คนทั้งหลายกลับ  เขาก็กลับด้วย

เศรษฐีเห็นลูกชายกลับมาแล้ว  จึงเรียกให้คนใช้นำอาหารมาให้
แต่ลูกชายกลับปฏิเสธว่า  "ถ้ายังไม่ได้ค่าจ้าง  ผมจะยังไม่กินข้าว"
เศรษฐีจึงมอบเงินให้เขาไปตามที่ตกลงไว้

ต่อมา  เศรษฐีบอกลูกชายว่า
"ลูกเอ๋ย  ถ้าลูกไปฟังธรรมจากพระศาสดา  เรียนธรรมบทหนึ่งมาบอกพ่อ
พ่อจะให้เงินเจ้าเพิ่มขึ้นเป็น ๑,๐๐๐ กหาปณะ"

ลูกชายตอบตกลงทันที  แล้วรีบไปที่วัด  นั่งอยู่แถวหน้า  คิดว่า
"เราจะเรียนธรรมให้ได้บทเดียวแล้วกลับ"

แต่เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบบทหนึ่ง  เขาก็ไม่สามารถทรงจำได้
จึงคิดว่า  "เราจะเรียนธรรมบทต่อไปให้ได้"

เมื่อเขายังไม่สามารถทรงจำได้  ก็พยายามเรียนต่อไป  ต่อไป  และต่อไป

ในขณะที่เขาฟังด้วยความตั้งใจอยู่นั่นเอง  ความกระจ่างแจ้งในธรรมจึงเกิดขึ้น
เขาได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว

วันรุ่งขึ้น  เขาได้เดินออกจากวัดตามหลังพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ทั้งหลายที่ออกบิณฑบาต
เศรษฐีเห็นท่าทางของลูกชายมีความสำรวม  ก็มีใจยินดี

เมื่อเศรษฐีนำเงินมาให้ลูกชายตามข้อตกลง  ลูกชายปฏิเสธไม่รับ
แม้เศรษฐีจะคะยั้นคะยอให้รับ  เขาก็ไม่รับ

เศรษฐีจึงกราบทูลเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
"เศรษฐี  โสดาปัตติผลที่ลูกของท่านบรรลุแล้วนั้น
ประเสริฐกว่าสมบัติใด ๆ ทั้งในโลกมนุษย์  ทั้งในเทวโลก  และพรหมโลก"
.....
(อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ในอนาถปิณฑิกปุตตกาลวัตถุ)


สมบัติทั้งหลายในโลกมนุษย์แม้จะมีมากเพียงใด
ก็ไม่สามารถประกันได้ว่าจะทำให้พ้นนรกได้
หรือแม้จะได้สมบัติในเทวโลก  ได้เกิดเป็นเทวดานางฟ้า
ก็ยังมีโอกาสเสี่ยงนรกได้เหมือนกัน

สิ่งที่เศรษฐีให้กับลูก  คือการช่วยให้ลูกมีโอกาสได้ฟังธรรม
ทำให้ลูกเข้าใจในธรรม
ทำให้ลูกเป็นอริยบุคคล
ทำให้ปิดประตูอบาย  ไม่ต้องเสี่ยงนรกอีกต่อไป
.....


เมื่อรอยยิ้มของลูก  คือความสุขของพ่อแม่
พ่อแม่ทุกคนอยากเห็นลูกมีความสุข
จึงจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้ลูกมีโอกาสได้ศึกษาพระธรรม
เพราะมีเพียงพระธรรมเท่านั้น  ที่จะนำความสุขมาให้อย่างแท้จริง

เราควรใช้อุบายสอนลูกอย่างเศรษฐีคนนี้
หรืออุบายอื่น ๆ ที่ช่วยให้ลูกสนใจพระธรรม
จะดีไหม
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. อนาถปิณฑิกปุตตกาลวัตถุ (เรื่องนายกาละบุตรของอนาถบิณฑิกเศรษฐี)


วิธีตามหาเนื้อนาบุญ


หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาว่า
"ให้ทานในสัตว์ดิรัจฉาน  ได้อานิสงส์ ๑๐๐ อัตภาพ
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล  ได้อานิสงส์ ๑,๐๐๐ อัตภาพ
ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล  ได้อานิสงส์ ๑๐๐,๐๐๐ อัตภาพ
ให้ทานในคนนอกศาสนาผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม  ได้อานิสงส์แสนโกฏิอัตภาพ
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล  ได้อานิสงส์นับไม่ได้
ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการถวายทานในพระโสดาบันหรืออริยบุคคลยิ่ง ๆ ขึ้นไป"

เมื่อเป็นเช่นนี้  ถ้าเลือกได้  หลายคนจึงอยากจะให้ทานในเนื้อนาบุญทั้งหลาย

ทีนี้  ลองมาดูตัวอย่างขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ว่าทรงให้ทานอย่างไร
.....


สมัยหนึ่ง  พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นพญาช้าง  อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง
ครั้งนั้น  มีพรานป่าคนหนึ่งเดินเข้าไปหาของป่า
แต่เนื่องจากยังไม่ชำนาญเส้นทาง  จึงหลงทางอยู่ในป่า  หาทางออกไม่ได้
ด้วยความกลัวตาย  จึงได้แต่ร้องคร่ำครวญอยู่

พญาช้างโพธิสัตว์ได้ยินเสียงร้องนั้น  จึงเดินไปจนพบนายพรานคนนั้น
เมื่อรู้ว่านายพรานนั้นหลงป่า  จึงให้ขึ้นขี่หลังแล้วพาออกจากป่า

ในระหว่างทางนั้น  นายพรานก็เริ่มสังเกตและจดจำทิศทางในป่า
เมื่อออกจากป่าได้แล้ว  จึงเข้าไปหาพวกช่างสลักงาว่า
"ถ้ามีงาช้างที่ได้จากช้างตัวเป็น ๆ อยู่  พวกท่านจะซื้อไหม"

พวกช่างสลักงาตอบรับว่า
"งาของช้างที่ยังไม่ตาย  ได้ราคาดีกว่างาของช้างที่ตายแล้วเสียอีก"

นายพรานนั้นจึงกลับเข้าไปในป่าอีกครั้ง  พร้อมกับเอาเลื่อยไปด้วย
เมื่อพบพญาช้าง  จึงกล่าวว่า
"ท่านพญาช้าง  ข้าพเจ้าเป็นคนยากจนข้นแค้น
จะมาของาจากท่านไปทำทุนจะได้ไหม"

พญาช้างกล่าวว่า  "ได้สิ  ถ้าท่านมีเลื่อยมาด้วย  เราจะให้งาแก่ท่าน"

นายพรานดีใจ  รีบนำเลื่อยที่นำมาด้วยเลื่อยงาส่วนปลายไป
แล้วนำไปขายให้พวกช่างสลักงา

เมื่อเงินหมด  ก็กลับไปหาพญาช้างอีก  กล่าวว่า
"ท่านพญาช้าง  เงินที่ได้จากการขายงาส่วนปลายของท่าน
เพียงพอสำหรับการใช้หนี้ของข้าพเจ้าเท่านั้น
ข้าพเจ้าอยากจะของาส่วนกลางของท่านจะได้ไหม"

พญาช้างก็ยินดีให้นายพรานเลื่อยไปอีก

ต่อมา  เมื่อนายพรานใช้เงินหมด
เขาก็กลับไปหาพญาช้างอีก  กล่าวว่า
"ท่านพญาช้าง  ข้าพเจ้ายังลำบากอยู่เลย
ของาส่วนโคนที่เหลือของท่านได้ไหม"

พญาช้างก็ยินดีให้นายพรานเลื่อยไปอีก

ทุกครั้งที่พญาช้างสละงาของตนให้นายพราน  พญาช้างได้ตั้งปณิธานว่า
"การที่เรายอมสละงาคู่นี้
ไม่ใช่เพราะงาคู่นี้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราแล้ว
แต่พระสัพพัญญุตญาณที่จะสามารถตรัสรู้ธรรมได้
เป็นที่รักที่ชอบใจของเรายิ่งกว่างานี้ตั้งร้อยเท่า  พันเท่า  แสนเท่า
การให้งาเป็นทานนี้  จงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณเถิด"
.....
(อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ในสีลวนาคชาดก)



(ขอบคุณภาพจาก  commons.wikimedia.org)



แม้พญาช้างโพธิสัตว์จะรู้ว่านายพรานเป็นคนทุศีล  มีความอกตัญญู  ไม่รู้คุณคน
แต่เมื่อนายพรานมาของา  พญาช้างก็ยินดีสละให้ทุกครั้ง
ไม่ได้คิดว่าต้องเก็บไว้ทำบุญกับอริยบุคคลหรือเนื้อนาบุญเท่านั้น

เพราะไม่ว่าจะให้ทานกับคนทุศีลหรือคนมีศีล  ให้ทานกับปุถุชนหรืออริยบุคคล
ก็จะมีปณิธานเดียว  คือ
"การให้นั้น  เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณในอนาคต"
.....


เรารู้ได้ว่า  "การให้ทานกับผู้ที่มีคุณธรรมต่างกัน  จะได้อานิสงส์ไม่เท่ากัน"
แต่รู้แล้ว  ไม่ควรมีอคติในการเลือกให้ทาน

บางคนได้ฟังข่าวลือว่า  หลวงปู่หลวงตารูปนั้นรูปนี้  บรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้
ก็เกิดอาการตระหนี่บุญ
พยายามดั้นด้นไปทำบุญถวายทานกับท่านเหล่านั้น
โดยที่ไม่รู้ว่าท่านเหล่านั้นเป็นอริยบุคคลจริง  หรือเป็นเพียงข่าวลือ
.....


แทนที่จะเที่ยวเสาะหาอริยบุคคล
จะดีกว่าไหมถ้าอริยบุคคลมาสงเคราะห์เราเอง

แล้วทำอย่างไร  อริยบุคคลจึงจะมาสงเคราะห์เรา
คำตอบอยู่ในคำถามเหล่านี้ครับ

๑. พระอรหันต์เมื่อจะอนุเคราะห์  จะอนุเคราะห์ใครก่อน
ระหว่างคนไม่มีศรัทธา  ตระหนี่ถี่เหนียว  ชอบด่าบริภาษ
กับคนที่มีศรัทธา  เป็นทานบดี  ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ

๒. พระอรหันต์เมื่อจะเข้าไปหา  จะเข้าไปหาใครก่อน
ระหว่างคนไม่มีศรัทธา  ตระหนี่ถี่เหนียว  ชอบด่าบริภาษ
กับคนที่มีศรัทธา  เป็นทานบดี  ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ

๓. พระอรหันต์เมื่อจะรับทาน  จะรับทานของใครก่อน
ระหว่างคนไม่มีศรัทธา  ตระหนี่ถี่เหนียว  ชอบด่าบริภาษ
กับคนที่มีศรัทธา  เป็นทานบดี  ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ

๔. พระอรหันต์เมื่อจะแสดงธรรม  จะแสดงธรรมแก่ใครก่อน
ระหว่างคนไม่มีศรัทธา  ตระหนี่ถี่เหนียว  ชอบด่าบริภาษ
กับคนที่มีศรัทธา  เป็นทานบดี  ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ

(อ่านเพิ่มเติมได้ในสีหเสนาปติสูตร)

เมื่อเราให้ทานสม่ำเสมอ  ไม่มีความตระหนี่
สัตบุรุษหรือบัณฑิตจะมาสงเคราะห์เราเอง
.....


สรุปอีกครั้ง

เมื่อเราตั้งจิตในการให้ทานเพื่อละความตระหนี่  เพื่อเป็นปัจจัยในการบรรลุธรรม
เราก็จะยินดีในการให้ทานกับใครก็ได้  แม้แต่คนทุศีล

และเมื่อเราละความตระหนี่ในใจได้  ยินดีในการให้ได้ทุกครั้ง
เนื้อนาบุญก็จะมาสงเคราะห์เราเอง
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. สีลวนาคชาดก (ว่าด้วยพญาช้างสีลวะ)
๒. สีหเสนาปติสูตร (ว่าด้วยสีหเสนาบดี)


ความเห็นเรื่องโกหกสีขาว


เรื่องราวต่อไปนี้  หลายคนอาจจะเคยอ่านแล้ว
แต่ผมมีอีกแง่มุม  ที่อยากนำมาให้พิจารณาดูครับ

ขอเล่าเรื่องโดยย่อนะครับ
เป็นเรื่องของชายคนหนึ่ง  ชื่อเอี๋ยนหุย  เขาเป็นลูกศิษย์ของขงจื้อ

วันหนึ่ง  เอี๋ยนหุยไปที่ตลาด
เห็นชายคนหนึ่งที่กำลังเลือกซื้อผ้า  ทะเลาะกับพ่อค้าขายผ้าอยู่ว่า
"๘ คูณ ๓ ได้ ๒๓  ทำไมท่านให้ข้าจ่าย ๒๔ หยวนล่ะ"

พ่อค้าผ้าบอกว่า  "๘ คูณ ๓ ได้ ๒๔  ไม่ใช่ ๒๓  เจ้าอย่าขี้โกง"

ทั้งสองคนตกลงกันไม่ได้
เอี๋ยนหุยเห็นเหตุการณ์  จึงเข้าไปไกล่เกลี่ย  บอกกับชายที่ซื้อผ้าว่า
"พี่ชาย  ๘ คูณ ๓ ได้ ๒๔ นะ  ไม่ใช่ ๒๓"

ชายคนนั้นไม่เชื่อ  กล่าวว่า  "เจ้าเป็นใคร  ทำไมข้าจะต้องเชื่อเจ้า
ถ้าไม่ใช่ท่านขงจื้อ  ข้าไม่ยอมรับคำตัดสินหรอก"

เอี๋ยนหุยกล่าวว่า  "ถ้าอย่างนั้น  เราไปหาท่านขงจื้อกัน
ถ้าท่านขงจื้อบอกว่าพี่ชายผิด  พี่ชายจะทำอย่างไร"

ชายคนนั้นมั่นใจว่าตนเป็นฝ่ายถูกแน่ ๆ  จึงกล่าวว่า
"ข้าจะยอมให้ตัดหัวข้าได้เลย  แต่ถ้าเจ้าผิดล่ะ"

เอี๋ยนหุยกล่าวว่า  "ข้าจะยอมถอดหมวกประจำตำแหน่งขุนนางให้ท่านเลย"

แล้วทั้ง ๒ คนก็ไปหาขงจื้อ  เล่าเหตุการณ์ให้ฟัง

เมื่อขงจื้อฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้ว  ก็กล่าวกับเอี๋ยนหุยว่า
"๘ คูณ ๓ ได้ ๒๓
เอี๋ยนหุย  เธอจงถอดหมวกขุนนางออกเถิด"

เอี๋ยนหุยฟังคำตัดสินจากขงจื้อแล้ว  แม้จะไม่พอใจ  แต่ก็ไม่โต้แย้ง
ยอมรับคำตัดสินของอาจารย์  ถอดหมวกขุนนางออก

ชายคนนั้นเมื่อรู้ว่าตัวเองชนะ  ก็ยิ้มร่าแล้วจากไป

หลังจากนั้น  ขงจื้อได้กล่าวกับเอี๋ยนหุยว่า
"การที่อาจารย์ตัดสินว่า ๘ คูณ ๓ ได้ ๒๓  เจ้าแพ้  เจ้าก็แค่ถอดหมวกขุนนาง
แต่ถ้าอาจารย์ตัดสินว่า ๘ คูณ ๓ ได้ ๒๔  ชายคนนั้นแพ้  เขาก็จะถูกตัดคอ
ระหว่างหมวกใบหนึ่งกับชีวิตของคนคนหนึ่ง  อะไรสำคัญกว่ากัน"
.....


ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง  หรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น

แต่สิ่งที่เรื่องนี้สื่อสารออกมาก็คือ
"อย่ามองข้ามคุณธรรมโดยให้ความสำคัญแค่เรื่องถูกผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ"
เหมือนที่ขงจื้อตัดสินว่า ๘ คูณ ๓ ได้ ๒๓  เพื่อรักษาชีวิตของชายคนนั้นไว้
.....


(ขอบคุณภาพจาก http://ent.sina.com.cn)


ครั้งแรกที่ผมอ่านเรื่องนี้จบ
ผมนึกถึงคำว่า  "โกหกสีขาว"
ซึ่งมีคนให้นิยามว่า  เป็นการโกหกที่ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้าย
แต่เพื่อให้อีกฝ่ายสบายใจ
หรือเพื่อให้สถานการณ์ในขณะนั้นดีขึ้น

แต่  "โกหกสีขาว"  เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่
ผมก็นึกถึงพระสูตรเรื่องหนึ่งในพระไตรปิฎก

เจ้าชายอภัยราชกุมารกราบทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระองค์จะพึงตรัสวาจาอันไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นบ้างไหม"

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า
"ราชกุมาร  ปัญหาข้อนี้  จะตอบโดยแง่เดียวมิได้

๑. วาจาที่ไม่เป็นความจริง  ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น
เราไม่กล่าววาจานั้น

๒. วาจาที่เป็นความจริง  แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น
เราไม่กล่าววาจานั้น

๓. วาจาที่เป็นความจริง  และประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น
ในข้อนั้น  เรารู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น

๔. วาจาที่ไม่เป็นความจริง  ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นเป็นที่ชอบใจของคนอื่น
เราไม่กล่าววาจานั้น

๕. วาจาที่เป็นความจริง  แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แม้วาจานั้นเป็นที่ชอบใจของคนอื่น
เราไม่กล่าววาจานั้น

๖. วาจาที่เป็นความจริง  ที่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นเป็นที่ชอบใจของคนอื่น
ในข้อนั้น  เรารู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น

เหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น
เพราะเรามีความเอ็นดูในหมู่สัตว์ทั้งหลาย"
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในอภยราชกุมารสูตร)





กรณีของ  "โกหกสีขาว"
ก็คือ  "วาจาที่ไม่เป็นความจริง  แต่ (คิดเองว่า) เป็นประโยชน์"
ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้

แต่ถ้าพิจารณาให้ดี
จะเห็นว่า  "ประโยชน์"  ของการกล่าววาจาที่ไม่เป็นจริงนั้น
เป็นประโยชน์ที่  "คิดกันไปเอง"  ว่าจะเป็นประโยชน์

ยกตัวอย่างในกรณีของขงจื้อ
เขาคิดว่าการตัดสินว่า  ๘ คูณ ๓ ได้ ๒๓  เป็นประโยชน์
เพราะทำให้ชายคนนั้นไม่ต้องถูกตัดคอ

แต่ถ้าชายคนนั้นไปซื้อสินค้าอย่างอื่นอีก  ก็จะต้องทะเลาะกับคนขายอีก
ถ้าชายคนนั้นไปสอนลูก  ลูกก็จะได้ความรู้ที่ผิด
คนอื่นที่ไม่รู้เรื่องราวทั้งหมด  แต่ศรัทธาขงจื้อ  ก็จะเชื่อว่า ๘ คูณ ๓ ได้ ๒๓ จริง ๆ
และปัญหาอื่น ๆ อีก  ฯลฯ
ที่คิดว่าเป็นประโยชน์  จึงกลายเป็นโทษ

ฉะนั้น  "วาจาที่ไม่เป็นความจริง  แต่มีประโยชน์"  จึงไม่มี
.....


ทีนี้  มาพิจารณา  "๘ คูณ ๓ ได้ ๒๔"
สิ่งนี้เป็นวาจาที่เป็นความจริง  เป็นวาจาที่มีประโยชน์
และเป็นวาจาที่เอี๋ยนหุยชอบใจ
แต่เป็นวาจาที่ชายคู่กรณีคนนั้นไม่ชอบใจ
ฉะนั้น  วาจานี้จึงต้องกล่าวให้ถูกที่ถูกเวลา
(อาจจะให้ทั้ง ๒ คนยกเลิกข้อตกลงกันก่อน  แล้วค่อยกล่าวก็ได้)
.....


ในชีวิตจริง  เราอาจจะเจอเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อการโกหกสีขาว
แต่ถ้าเรามีหลักที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้วนี้
เราก็จะไม่พูดเท็จ  เพราะมันคือวจีทุจริต  เป็นบาปอกุศล

บางคนอาจจะคิดว่าบาปไม่มากหรอก  คงไม่เป็นไร
แต่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  "บาปแม้นิด  อย่าได้คิดกระทำเลย"

ไม่ว่าโกหกสีขาว  หรือโกหกสีดำ  ก็ไม่ดีทั้งนั้น

เราควรพูดเรื่องจริง  ที่มีประโยชน์  ด้วยใจที่ปรารถนาดี
โดยใช้ปัญญาประกอบการพูดนั้น  ให้ถูกที่ถูกเวลา  จะดีกว่า

เลิกโกหกกันเถิดครับ
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง

คำแนะนำของเทวดาพาล


ชายคนหนึ่งชื่อสุทัตตะ  เป็นเศรษฐีอยู่ในกรุงสาวัตถี
ครั้งหนึ่ง  เขามีโอกาสได้ฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เกิดความศรัทธาเลื่อมใส
จึงได้สร้างวัดเชตวันถวายด้วยเงิน ๕๔ โกฏิ
แล้วได้ไปที่วัด  ถวายทาน  รักษาศีล  เป็นอยู่อย่างนี้ทุก ๆ วัน

และด้วยเหตุที่เศรษฐีผู้นี้ชอบให้อาหารแก่คนอนาถาอยู่เป็นประจำ
จึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า  "อนาถบิณฑิกเศรษฐี"

ที่ซุ้มประตูเรือนของเศรษฐี  มีเทวดาอาศัยอยู่องค์หนึ่ง
เทวดาองค์นี้ไม่ได้ยินดีในการให้ทานของเศรษฐี
เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าและพระสาวกรับนิมนต์มารับภัตตาหารที่เรือนของเศรษฐี
เทวดาก็ไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ในวิมานที่สูงกว่าได้  ต้องลงมาที่พื้นดินทุกครั้ง

เทวดาองค์นี้พยายามหาอุบาย
ที่จะให้เศรษฐีเลิกทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสาวกมาที่เรือน
แต่ก็ยังไม่มีโอกาส

จนกระทั่งครั้งหนึ่ง
เศรษฐีถึงคราวตกอับ  ค้าขายลำบาก  ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ก็ลดน้อยลง
อาหารการกินและข้าวของเครื่องใช้ของเศรษฐีก็ไม่ใช่ของดีเหมือนที่ผ่านมา
แต่ถึงกระนั้น  เศรษฐีก็ยังถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์อยู่เป็นประจำเหมือนเดิม

เทวดาองค์นั้นเห็นเศรษฐีตกอับอย่างนี้  จึงปรากฏกายให้เศรษฐีเห็น
แล้วกล่าวว่า  "ข้าพเจ้าเป็นเทวดา  สถิตอยู่ที่ซุ้มประตูเรือนของท่าน"

เศรษฐีถามว่า  "ท่านปรากฏกายมาหาข้าพเจ้า  มีเรื่องอะไรหรือ"

เทวดากล่าวว่า  "เรามาเพื่อต้องการเตือนท่าน
เมื่อก่อน  ท่านได้ฟุ่มเฟือยจ่ายทรัพย์เป็นอันมากในพระพุทธศาสนา
บัดนี้  ฐานะของท่านยากจนลงแล้ว
ถ้าท่านยังไม่หยุดทำบุญให้ทานอีก
อีกไม่เกิน ๓ วัน  ท่านก็จะไม่เหลืออะไรเลย
ท่านจงเลิกให้ทาน  แล้วทำการงาน  เก็บรวบรวมเงินทองเถิด"
.....


ลองนึกภาพว่า  ถ้าเราเป็นเศรษฐี  อยู่ในสถานการณ์เช่นนี้
เคยทำบุญให้ทานมาโดยตลอด
อยู่มาวันหนึ่ง  เกิดเหตุการณ์ข้าวยากหมากแพง  เศรษฐกิจย่ำแย่
ทำให้ฐานะยากจนลง  ต้องอยู่อย่างลำบากฝืดเคือง
ถามว่า  เราจะเลิกทำบุญให้ทานหรือไม่

ถ้าเราไม่เคยเห็นเทวดามาก่อน
เมื่อมีเทวดามาปรากฏกายให้เห็น  ยืนอยู่ตรงหน้าชัด ๆ
แล้วยังแนะนำให้เราเลิกทำบุญให้ทาน  ให้เก็บเงินเก็บทองไว้  เพื่อจะได้ไม่ลำบาก
ถามว่า  เราจะเชื่อเทวดาที่อยู่ตรงหน้านั้นหรือไม่
.....





คำตอบของคำถามนี้
ขึ้นอยู่กับเจตนาในการให้ทานของเรา

ที่ผ่านมา  ถ้าเรามีเจตนาในการทำบุญให้ทาน  เพื่อละความตระหนี่ที่มีอยู่ในใจ

และเพื่อเกื้อกูลอนุเคราะห์ผู้อื่น
เราก็จะมีความยินดีในการให้  และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ให้
ต่อให้มีเทวดาหรือใครก็ตาม  มาบอกให้เราเลิกให้ทาน
เราก็จะไม่เชื่อ  และจะยังคงทำบุญให้ทานต่อไป

แต่ถ้าเราให้ทานโดยมีจุดประสงค์อื่น
ให้เพื่อแลกเปลี่ยนกับบางสิ่งบางอย่าง
เช่น
ทำบุญถวายหลอดไฟ  เพราะคิดว่าจะได้มีชีวิตที่สว่างสดใส
ทำบุญถวายมีดโกน  เพราะคิดว่าจะได้ช่วยตัดขาดคนที่คิดร้ายออกจากชีวิต
ทำบุญถวายร่ม  เพราะคิดว่าจะได้มีสิ่งที่คอยป้องกันอันตราย
ฯลฯ
ถ้าให้แล้ว  ชีวิตไม่เป็นไปตามที่คิด  ยังคงมีปัญหาอุปสรรคเข้ามา
เมื่อมีเทวดาหรือใครมาบอกวิธีการอื่น ๆ
เราก็พร้อมที่จะเชื่อและทำตามโดยไม่ลังเล
.....


อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้ที่ได้ฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้ว
ผ่านการพิจารณาใคร่ครวญในธรรมที่ได้ฟังมาเป็นอย่างดี
มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธศาสนา
จึงไม่เชื่อคำแนะนำของเทวดานั้น

ยิ่งไปกว่านั้น  ยังช่วยให้เทวดานั้นได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า
จนเกิดความเลื่อมใส  และได้บรรลุเป็นอริยบุคคลอีกด้วย
(อ่านเรื่องราวทั้งหมดได้ในอนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ)
.....


ทีนี้  ลองกลับมาพิจารณาดูตัวเราเองอีกครั้ง
ที่ผ่านมา  เราทำบุญให้ทานเพื่ออะไร
และจะมีอะไรมาหยุดการทำบุญให้ทานของเราได้หรือไม่
..........



คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง