ผู้ที่ตระหนี่ ให้ทานไม่ได้


การทำบุญให้ทาน  ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย
แต่สำหรับคนที่ยังมีความตระหนี่เหนียวแน่นอยู่ในใจ  การให้ทานไม่ใช่ทำได้ง่ายเลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัส (ในทานสูตร) ถึงเรื่องทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ ประการ  คือ
องค์ประกอบฝ่ายทายก (ผู้ให้)  ได้แก่
๑. ก่อนให้  ก็มีใจดี
๒. กำลังให้  ก็ทำจิตให้เลื่อมใส
๓. ครั้นให้แล้ว  ก็มีใจเบิกบาน
และ
องค์ประกอบฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ)  ได้แก่
๑. เป็นผู้ปราศจากราคะ  หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ
๒. เป็นผู้ปราศจากโทสะ  หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ
๓. เป็นผู้ปราศจากโมหะ  หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ
การให้ทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้  เป็นทักษิณาที่มีอานิสงส์มาก

การจะประมาณบุญแห่งทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ นี้ว่า

‘จะมีห้วงบุญห้วงกุศลเกิดขึ้นประมาณเท่านี้  นำความสุขมาให้  มีอารมณ์ดีเลิศ  มีวิบากเป็นสุข  เป็นไปเพื่อสวรรค์  เป็นไปเพื่อเกื้อกูล  เพื่อสุขที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ’  มิใช่จะประมาณกันได้ง่าย
แท้จริง  ห้วงบุญห้วงกุศลแห่งทักษิณานั้นถึงการนับว่า  ‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้  ประมาณไม่ได้’

เราไม่สามารถที่จะล่วงรู้ได้หรอกว่าใครเป็นผู้หมดกิเลสแล้ว  หรือกำลังเพียรปฏิบัติเพื่อความหมดกิเลสอยู่
เราอาจจะเคยได้ยินคำพูดที่บอกต่อ ๆ กันมาว่าพระรูปนั้นรูปนี้ปฏิบัติดี  เข้าฌานได้  เคร่ง  น่าเลื่อมใส  ฯลฯ
หรือแม้อาจจะเคยได้พบกับพระรูปนั้นรูปนี้มาเองก็ตาม
แต่ระดับคุณธรรมในใจของแต่ละคน  เป็นสิ่งที่รู้กันได้ยาก  เพราะสิ่งเหล่านี้จะพึงรู้ได้ต้องใช้เวลา  ไม่ใช่ดูกันเพียงชั่วคราว  ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่ใส่ใจรู้ไม่ได้  ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่มีปัญญารู้ไม่ได้
ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมจัดการไม่ได้

แต่เราสามารถควบคุมจัดการปัจจัยภายในได้  ซึ่งก็คือตัวเราเอง

เราสามารถสร้างองค์ประกอบแห่งทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้) ให้เกิดขึ้นได้
เราสามารถทำใจของเราเองให้มีความยินดีในการให้  ทั้งก่อนให้  ขณะที่กำลังให้  และหลังจากให้แล้ว
ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้  ก็ต้องเริ่มที่การละความความตระหนี่ที่มีอยู่ในใจของเราให้ได้เสียก่อน


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)

ขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกและอรรถกถามาประกอบ  ดังนี้

จูเฬกสาฎกวัตถุ  (เรื่องพราหมณ์จูเฬกสาฎก)
สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ  พระเชตวัน  อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตกรุงสาวัตถี
สมัยนั้น  มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อจูเฬกสาฎก  อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถีนั้น
พราหมณ์ผู้นี้เป็นคนยากจน  มีผ้าสาฎกสำหรับนุ่งเพียงผืนเดียว  แม้นางพราหมณีก็มีผ้าสาฎกสำหรับนุ่งเพียงผืนเดียวเช่นกัน
ทั้ง ๒ คนมีผ้าสาฎกสำหรับห่มคลุมร่างกายร่วมกัน ๑ ผืน  ใช้สำหรับห่มเมื่อออกไปนอกเรือน

วันหนึ่ง  เมื่อชาวกรุงสาวัตถีป่าวประกาศเชิญชวนฟังธรรมในพระวิหารเชตวัน

พราหมณ์กล่าวกับภรรยาว่า  "นางผู้เจริญ  เขาประกาศการฟังธรรมในวันนี้  เราทั้งสองไม่อาจไปพร้อมกันได้  เพราะมีผ้าสำหรับห่มเพียงผืนเดียว  เจ้าจะไปฟังธรรมในตอนกลางวันหรือกลางคืน"
นางพราหมณีตอบว่า  "นาย  ฉันจะไปตอนกลางวัน"
แล้วนางพราหมณีก็ห่มผ้าสาฎกนั้นไปฟังธรรม

ตกกลางคืน  พราหมณ์ได้ไปฟังธรรมที่วิหารบ้าง  เขานั่งฟังธรรมอยู่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา

เมื่อฟังธรรมแล้ว  เกิดความศรัทธาในพระศาสดา  มีปีติซาบซ่านเกิดขึ้น
เขาอยากจะบูชาพระศาสดา  แต่มองไม่เห็นสิ่งใดที่จะถวายบูชาพระศาสดาได้  มีเพียงผ้าสาฎกที่ห่มมาเท่านั้น  เขาจึงคิดจะถวายผ้าสาฎกผืนนั้นแด่พระศาสดาด้วยความศรัทธา

ขณะนั้นเอง  เมื่อเขาคิดว่าจะถวาย  ก็เกิดมีความคิดขึ้นมาอีกว่า  "ถ้าเราถวายผ้าสาฎกผืนนี้แล้ว  ผ้าห่มของนางพราหมณีก็จะไม่มี  ของเราก็จะไม่มี"

จิตที่ประกอบด้วยความตระหนี่เกิดขึ้นครอบงำจิตที่ประกอบด้วยศรัทธาของเขา
เมื่อเขาคิดจะถวายด้วยความศรัทธาอีก  ความตระหนี่ก็เกิดขึ้นครอบงำความคิดนั้นอีก

เขาปล่อยให้ความคิดว่า  "จะถวาย"  หรือ  "จะไม่ถวาย"  เกิดขึ้นไป ๆ มา ๆ อยู่อย่างนั้น  จนล่วงเวลาปฐมยาม


แม้ในมิชฌิมยาม  จิตที่ประกอบด้วยความตระหนี่ก็ยังครอบงำจิตที่มีศรัทธาของเขาอยู่

เขาก็ยังไม่อาจถวายผ้าสาฎกในมัชฌิมยามได้

เมื่อถึงปัจฉิมยาม  เขาคิดว่า  "เมื่อเรารบกับศรัทธาจิตและความตระหนี่อยู่นั่นแหละ  เวลาได้ล่วงมาถึงปัจฉิมยามนี้แล้ว  ถ้าเราปล่อยให้ความตระหนี่มีกำลังครอบงำเราอยู่  เราคงไม่สามารถทำเหตุปัจจัยให้พ้นจากอบายได้  เราจะถวายผ้าสาฎกนี้ล่ะ"

พราหมณ์นั้นข่มความตระหนี่ที่เกิดขึ้นได้แล้ว  ทำความศรัทธาให้ตั้งมั่น  แล้วนำผ้าสาฎกนั้นไปถวายแทบบาทมูลของพระศาสดา
เมื่อเขาทำการน้อมถวายแล้ว  ได้เปล่งเสียงดังขึ้น ๓ ครั้งว่า  "เราชนะแล้ว  เราชนะแล้ว  เราชนะแล้ว"

(ถามว่า  ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับพราหมณ์  ฐานะยากจนมาก  มีผ้าเพียงแค่ผืนเดียว

เราจะทำกำลังใจได้อย่างพราหมณ์ผู้นี้ไหม
หรือเราจะพ่ายแพ้ต่อเหตุผลของความตระหนี่
ทำไมพราหมณ์จึงทำได้ขนาดนั้น
หยุดคิดคำตอบสักนิด  แล้วค่อยอ่านต่อ)

ในขณะนั้นเอง  พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกำลังฟังธรรมอยู่ในพระวิหารเชตวันนั้นด้วย  ได้สดับเสียงพราหมณ์ประกาศเช่นนั้น  จึงให้ราชบุรุษไปสอบถามพราหมณ์นั้น

เมื่อพระราชาทรงทราบเรื่องราวแล้ว  ทรงดำริว่า  "พราหมณ์ผู้นี้ทำสิ่งที่บุคคลทำได้ยาก"
แล้วจึงได้พระราชทานผ้าสาฎกให้พราหมณ์ ๑ คู่

พราหมณ์เมื่อได้รับพระราชทานผ้าจากพระราชา  ก็มีใจยินดี  ได้ถวายผ้าคู่นั้นแด่พระศาสดาอีก


พระราชาทรงทราบ  ก็รับสั่งให้พระราชทานผ้าสาฎกให้พราหมณ์อีกเป็นทวีคูณ  คือ  ๒ คู่  ๔ คู่  ๘ คู่  ๑๖ คู่

พราหมณ์ก็ถวายผ้าสาฎกเหล่านั้นแด่พระศาสดาด้วยความศรัทธาอีก

เมื่อพระราชาพระราชทานผ้าสาฎกให้พราหมณ์อีกเป็น ๓๒ คู่

พราหมณ์คิดว่า  "ถ้าเราถวายพระศาสดาอีก  พระราชาก็คงพระราชทานให้แก่เราอีก  ผู้คนก็อาจจะตำหนิได้"
เขาจึงเก็บผ้าสาฎกไว้ ๒ คู่ (สำหรับตนเอง ๑ คู่  และสำหรับนางพราหมณี ๑ คู่)  แล้วได้น้อมถวายผ้าสาฎกที่เหลือทั้ง ๓๐ คู่แด่พระศาสดา

พระราชารับสั่งกับราชบุรุษว่า  "ท่านทั้งหลาย  พราหมณ์ผู้นี้ทำสิ่งที่ทำได้ยาก  ท่านทั้งหลายจงไปนำเอาผ้ากัมพลเนื้อดี ๒ ผืนจากในวังของเรามา"  แล้วพระราชทานให้แก่พราหมณ์นั้น


พราหมณ์คิดว่า  "สรีระของเราไม่สมควรกับผ้ากัมพลเนื้อดีเหล่านี้  ผ้าเหล่านี้ควรแก่พระพุทธศาสนาเท่านั้น"

เขาจึงได้ขึงผ้ากัมพลผืนหนึ่งทำให้เป็นเพดานเบื้องบนที่บรรทมของพระศาสดาภายในพระกุฏิ
อีกผืนหนึ่งขึงเป็นเพดานในที่สำหรับให้ภิกษุมาฉันภัตตาหารในเรือนของตน

ต่อมาภายหลัง  เมื่อพระราชาเสด็จไปสู่พระกุฏิของพระศาสดา  ทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลที่ขึงอยู่  ทรงจำได้  ทรงดำริว่า  "พราหมณ์ผู้นี้เลื่อมใสในฐานะที่เราเลื่อมใสเหมือนกัน"

จึงรับสั่งให้พระราชทานวัตถุอย่างละ ๔ แก่พราหมณ์นั้น  คือ  ช้าง ๔  ม้า ๔  เงิน ๔๐๐๐  สตรี ๔  ทาสี ๔  บุรุษ ๔  บ้านส่วย ๔ ตำบล  จนถึงวัตถุทั้งหมด ๑๐๐ อย่าง

ภิกษุทั้งหลายเมื่อทราบเรื่อง  ก็สนทนากันว่า  "กรรมของพราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎกนี้น่าอัศจรรย์  ชั่วครู่เดียวเท่านั้น  เขาได้หมวด ๔ แห่งวัตถุทุกอย่าง  กรรมอันงามที่เขาทำในเนื้อนาบุญให้ผลในวันนี้เอง"


พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่าสนทนาอะไรกัน  แล้วตรัสว่า

"ถ้าพราหมณ์สามารถถวายแก่เราในปฐมยาม  เขาจะได้วัตถุอย่างละ ๑๖
ถ้าเขาสามารถถวายแก่เราในมัชฌิมยาม  เขาจะได้วัตถุอย่างละ ๘
แต่เพราะเขาถวายในเวลาจวนใกล้รุ่ง  เขาจึงได้วัตถุอย่างละ ๔
แท้จริงแล้ว  บุคคลเมื่อกระทำกรรมอันงาม  ไม่ควรให้กุศลจิตที่เกิดขึ้นนั้นเสื่อมเสียไป
ควรทำในทันทีนั้นเอง
ด้วยว่ากุศลที่บุคคลทำช้า  เมื่อให้ผล  ย่อมให้ช้าเหมือนกัน
ฉะนั้น  พึงกระทำกรรมงามในทันทีที่เกิดความคิดนั้นเทียว"

จากนั้น  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปอีกว่า

       "บุคคลควรรีบเร่งทำบุญ  ควรห้ามจิตจากบาป
เพราะเมื่อทำบุญช้าไป  ใจจะยินดีในบาป"

ในเวลาจบพระธรรมเทศนานี้  ภิกษุเหล่านั้นก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น
พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่มหาชนผู้มาประชุมกันแล้ว  ดังนี้แล
จูเฬกสาฎกวัตถุ  จบ

ถ้าพราหมณ์ยอมจำนนให้กับเหตุผลของความตระหนี่  ไม่สามารถเอาชนะความตระหนี่ได้

เขาจะละความโลภที่มีอยู่ในใจได้ไหม
เขาจะได้ถวายทานไหม
เขาจะสร้างเหตุปัจจัยให้พ้นจากอบายได้ไหม

เมื่อพราหมณ์เอาชนะความตระหนี่ในใจได้  เขาจึงประกาศอย่างองอาจว่า  "เราชนะแล้ว"

เป็นผู้ที่สามารถเอาชนะความตระหนี่ของตนเองได้แล้ว
เป็นผู้ยินดีที่จะให้ (ถวายด้วยความศรัทธา  ไม่ใช่ถวายเพื่อหวังผลนั่นผลนี่)

ฉะนั้น  ไม่สำคัญว่าเราจะเป็นคนรวยหรือคนจน
ไม่สำคัญว่าเราจะมีของให้ทานได้มากหรือมีของให้ทานได้น้อย
สิ่งของที่จะให้นั้น  ไม่ใช่เรื่องสำคัญ .....
แต่สิ่งสำคัญคือ  เราเอาชนะความตระหนี่ที่มีอยู่ในใจได้หรือไม่
เมื่อใดก็ตามที่เราเอาชนะความตระหนี่ที่มีอยู่ในใจได้
เมื่อนั้น  ความยินดีในการให้ก็จะเกิดขึ้น  ทั้งก่อนให้  ขณะให้  หลังให้
ได้ชื่อว่า  เป็นผู้ที่สร้างองค์ประกอบแห่งทักษิณาฝ่ายทายก (ผู้ให้) ให้บริสุทธิ์แล้ว
ห้วงบุญห้วงกุศลอันนำความสุขมาให้  ก็จะเกิดตามมาเอง .....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ทานสูตร (ว่าด้วยองค์แห่งทักษิณาทาน)


ทำไมจึงบวช


เมื่อวานนี้  มีคุณพ่อท่านหนึ่งพาลูกชายมาหาเพื่อปรึกษาเรื่องการบวช
พอคุยกันเสร็จแล้ว  ทำให้ย้อนนึกขึ้นมาว่าสาเหตุที่แต่ละคนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานี้  มีอะไรบ้าง

ในตอนต้นพุทธกาล  เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาใหม่ ๆ

กุลบุตรที่ได้ฟังธรรมแล้ว  เกิดศรัทธาในพระศาสดา
เมื่อมีศรัทธา  ย่อมตระหนักว่า  'การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด  แวดล้อมด้วยสิ่งยั่วยุทั้งหลาย
การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง
การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์  ไม่ใช่ทำได้ง่าย
ทางที่ดี  เราควรปลงผมและหนวด  นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์  ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต'
การที่กุลบุตรในสมัยนั้นจะมีความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นได้
ก็เพราะได้ผ่านการฟังธรรมและพิจารณาใคร่ครวญเห็นจริงตาม  ในธรรมที่พระศาสดาทรงประกาศไว้ดีแล้ว

ต่อมา  เมื่อมีผู้นับถือพระพุทธศาสนามากขึ้น  ลาภสักการะในพระศาสนาก็มากขึ้น
จุดประสงค์ในการเข้ามาบวชก็เปลี่ยนไป
หลายคนที่เข้ามาบวชโดยไม่ได้เร่ิมจากการฟังธรรมและพิจารณาใคร่ครวญมาก่อน
- แต่บวชเพราะอยากได้ลาภสักการะในพระศาสนา
- บางคนป่วย  ต้องการให้หมอชีวกช่วยรักษา  จึงบวช
- บางคนไม่อยากไปรบ  ไม่ต้องการเป็นทหาร  จึงบวช

และยิ่งไปกว่านั้น
ในสมัยนั้น  พระราชาเป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา  มีพระราชดำริจะสนับสนุนการประพฤติธรรม
จึงมีพระบรมราชานุญาตไว้ว่า
'กุลบุตรเหล่าใดได้บรรพชาในพวกสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร
ใคร ๆ จะทำอะไรกุลบุตรเหล่านั้นมิได้
พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว  จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด'
คนทั้งหลายเมื่อทราบดังนี้
- เมื่อทำความผิด  ติดคุก  ก็แหกคุกหนีมาบวช
- ทำความผิด  ถูกออกหมายจับ  ก็หนีคดีมาบวช
- เป็นหนี้  ไม่มีเงินใช้คืน  ก็หนีเจ้าหนี้มาบวช
- เป็นทาส  ต้องการเป็นอิสระ  ก็หนีนายมาบวช
...  ฯลฯ  ...

มาในยุคปัจจุบันนี้  เหตุผลในการบวชก็เปลี่ยนแปลงไปอีกมากมาย
- บวชเพราะพ่อแม่อยากให้บวช
- บวชเพราะคิดว่าจะเป็นบุญกุศลอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้
- บวชเพราะไม่อยากไปเกณฑ์ทหาร
- บวชเพราะไม่อยากทำงาน
- บวชเพราะหางานทำไม่ได้
- บวชเพราะไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู
- บวชเพราะแก้บน
- บวชเพราะเพื่อนชวน
...  ฯลฯ  ...


(ขอบคุณภาพจาก facebook.com/prapatphoto)

ทั้งนี้  คงไม่มีประโยชน์ที่จะไปตัดสินว่าเหตุผลไหนถูก  เหตุผลไหนผิด
แต่เมื่อเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานี้แล้ว
พระธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้และทรงประกาศไว้ดีแล้ว  ที่ไม่ถูกบิดเบือน  ก็ยังมีอยู่
พระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ที่สามารถเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระศาสดาได้  ก็ยังมีอยู่
ฉะนั้น  เมื่อปัจจัยภายนอกยังมีอยู่พร้อม
ปัจจัยภายในคือผู้ที่เข้ามาบวช  จะสามารถทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นจากการบวชได้มากหรือน้อยเพียงไร

ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า
กุลบุตรที่ได้ฟังธรรมดีแล้ว  ออกบวชด้วยศรัทธา
เมื่อบวชแล้ว  เป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์
เพียบพร้อมด้วยมารยาทและโคจร (การเที่ยวไป)
เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท
ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันเป็นกุศล
มีอาชีวะบริสุทธิ์
สมบูรณ์ด้วยศีล
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ
เป็นผู้สันโดษ ..... ฯลฯ

นี่คือกิจของสงฆ์ที่ผู้เข้ามาบวชควรศึกษาและเจริญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป  เพื่อความก้าวหน้าในธรรมของตน

เรียกว่า  คว้าประโยชน์ที่เป็นแก่นสารในพระพุทธศาสนาให้ได้
ตั้งแต่ประโยชน์ในเบื้องต้น  ประโยชน์ในท่ามกลาง  จนถึงประโยชน์สูงสุด
ตามกำลังสติปัญญาและความสามารถ
ไม่ใช่แค่โกนหัว  ห่มผ้าเหลือง  มีผู้คนกราบไหว้  เช้าเอน  เพลนอน
ซึ่งเป็นการเสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย

ฉะนั้น  ไม่ว่าเราจะเข้ามาบวชด้วยเหตุผลใดในตอนแรก

ไม่ว่าจะตั้งใจบวชนานแค่ไหน
เมื่อเข้ามาบวชแล้ว  ก็ขอให้ศึกษาและปฏิบัติ  ตามพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพทธเจ้า
เพื่อให้ได้ประโยชน์ที่ควรจะได้ในพระพุทธศาสนานี้เทอญ


ไม่ว่าอย่างไร ก็ควรให้ทาน


คนไทยเป็นคนมีน้ำใจ  ชอบทำบุญให้ทานกันมาก
แต่เหตุผลในการให้ทานของแต่ละคนก็อาจแตกต่างกันไป
บางคนให้ทานเพราะบังเอิญประสบเข้า
บางคนให้ทานเพราะความชอบ
บางคนให้ทานเพราะความชัง
บางคนให้ทานเพราะความหลง
บางคนให้ทานเพราะความกลัว
บางคนให้ทานเพราะคิดว่า  "เขาได้ให้แก่เราแล้ว"
บางคนให้ทานเพราะคิดว่า  "เขาจะให้แก่เรา"
บางคนให้ทานเพราะคิดว่า  "การให้ทานเป็นการดี"
บางคนให้ทานเพราะคิดว่า  "คนเหล่านี้หุงหากินเองไม่ได้  เราควรให้ทานแก่คนเหล่านี้"
บางคนให้ทานเพราะคิดว่า  "เมื่อเราให้ทานนี้  กิตติศัพท์อันงามย่อมขจรไป"
บางคนให้ทานเพราะคิดว่า  "พ่อแม่ปู่ย่าตายายเคยให้ทาน  เราไม่ควรให้ประเพณีนี้เสื่อมเสียไป"
บางคนให้ทานเพราะคิดว่า  "เราให้ทานนี้แล้ว  หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์"
บางคนให้ทานเพราะคิดว่า  "เราให้ทานนี้แล้ว  จิตย่อมผ่องใส  เกิดความชื่นชมโสมนัส"
บางคนให้ทานเพื่อเป็นเครื่องประดับจิตและปรุงแต่งจิต (ฝึกจิตให้อ่อนโยน)
ฯลฯ
สารพัดเหตุผลในการให้ทาน


(ขอบคุณภาพจาก facebook.com/picturesofaday)

เมื่อเหตุในการให้ทานของแต่ละคนต่างกัน  แม้จะให้ทานอย่างเดียวกัน  ก็ย่อมมีผลมีอานิสงส์แตกต่างกันไป

พระสารีบุตรเคยกราบทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
มีได้ไหม  ทานชนิดเดียวกันที่บุคคลบางคนในโลกนี้ถวายแล้วไม่มีผลมาก  ไม่มีอานิสงส์มาก
แต่บุคคลบางคนในโลกนี้ถวายแล้วกลับมีผลมาก  มีอานิสงส์มาก"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบว่า  "มีได้  สารีบุตร"

แล้วพระองค์ตรัสอธิบายต่อไป (ในทานมหัปผลสูตร) ว่า
๑. บุคคลบางคนให้ทานอย่างมีใจเยื่อใย  ให้ทานอย่างมีจิตผูกพัน  ให้ทานอย่างมุ่งหวังสั่งสมบุญ  ให้ทานด้วยคิดว่า  "เราละโลกนี้ไปแล้ว  จะเสวยผลของทานนี้"
เขาให้ทานนั้นแล้ว  หลังจากตายแล้ว  ย่อมไปเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ ๑)

๒. บุคคลบางคนให้ทานเพราะคิดว่า  "การให้ทานเป็นการดี"

เขาให้ทานนั้นแล้ว  หลังจากตายแล้ว  ย่อมไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่ ๒)

๓. บุคคลบางคนให้ทานเพราะคิดว่า  "พ่อแม่ปู่ย่าตายายเคยให้ทาน  เราไม่ควรให้ประเพณีนี้เสื่อมเสียไป"

เขาให้ทานนั้นแล้ว  หลังจากตายแล้ว  ย่อมไปเกิดในสวรรค์ชั้นยามา (สวรรค์ชั้นที่ ๓)

๔. บุคคลบางคนให้ทานเพราะคิดว่า  "คนเหล่านี้หุงหากินเองไม่ได้  เราควรให้ทานแก่คนเหล่านี้"

เขาให้ทานนั้นแล้ว  หลังจากตายแล้ว  ย่อมไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต (สวรรค์ชั้นที่ ๔)

๕. บุคคลบางคนให้ทานเพราะคิดว่า  "เราให้ทานเป็นมหาทาน"
เขาให้ทานนั้นแล้ว  หลังจากตายแล้ว  ย่อมไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี (สวรรค์ชั้นที่ ๕)

๖. บุคคลบางคนให้ทานเพราะคิดว่า  "เราให้ทานนี้แล้ว  จิตย่อมผ่องใส  เกิดความชื่นชมโสมนัส"

เขาให้ทานนั้นแล้ว  หลังจากตายแล้ว  ย่อมไปเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี (สวรรค์ชั้นที่ ๖)

๗. บุคคลบางคนให้ทานเพื่อเป็นเครื่องประดับจิตและปรุงแต่่งจิต

เขาให้ทานนั้นแล้ว  หลังจากตายแล้ว  ย่อมไปเกิดในพรหมโลก
.....

แต่ไม่ว่าผลของทานจะเป็นอย่างไร  การให้ทานก็ยังควรให้

เปรียบเหมือนบ้านที่ถูกไฟไหม้
เจ้าของบ้านขนเอาสิ่งของใดออกมาได้  สิ่งของนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เจ้าของบ้าน
ส่วนของที่ไม่ได้ขนออกมา  ย่อมถูกไฟไหม้เสียหายไป  ฉันใดก็ดี
เมื่อความตายกำลังรอเราอยู่
ทานที่ได้ให้แล้วก็เปรียบเหมือนสมบัติที่ขนออกมาได้  ย่อมเป็นประโยชน์แม้ในภพชาติต่อไป

การให้ทานจึงเปรียบเสมือนการเตรียมเสบียงไว้ในภพชาติหน้า
ฉะนั้น  เมื่อมีโอกาส  เราจึงควรทำบุญให้ทานสม่ำเสมอ  เพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง

๑. ทานมหัปผลสูตร (ว่าด้วยทานที่มีผลมากและทานที่ไม่มีผลมาก)


ทำดีขนาดนี้ ทำไมไม่ได้ดี


เคยมีคนถามว่า
"เราทำงานทุ่มเทเต็มที่  ทำไมเพื่อนร่วมงานชอบกลั่นแกล้ง"
"เรารักเขาคนเดียว  ทำไมเขาแอบไปมีคนอื่น"
"เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรแล้ว  ทำไมยังโชคร้ายอยู่อีก"
"เราไม่เคยเอาเปรียบใคร  ทำไมมีแต่คนมาเอาเปรียบเรา"
.....  รวม ๆ แล้ว  ก็คือว่า
"เราทำดีมากขนาดนี้แล้ว  ทำไมยังเจอแต่สิ่งที่ไม่ดีอยู่อีก  ไม่เข้าใจ ???"
แล้วคุณล่ะ  เคยมีคำถามลักษณะนี้ไหม .....

ในขณะที่เราทำความดีต่าง ๆ มากมาย

แต่เรากลับประสบกับสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาในชีวิต
จนหลายคนเกิดความรู้สึกท้อแท้  เหนื่อยหน่าย  สิ้นหวัง
เหตุการณ์ในลักษณะนี้  ไม่ได้เกิดกับใครคนใดคนหนึ่ง  แต่เกิดขึ้นกับหลาย ๆ คน
ไม่ได้เกิดเฉพาะในยุคนี้  แต่ในอดีตก็เคยเกิดขึ้นแล้ว  และในอนาคตก็จะมีเกิดขึ้นอีก
.....  แล้วเราควรจะทำอย่างไร .....


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


มหากาลอุปาสกวัตถุ  (เรื่องอุบาสกชื่อมหากาล)
ในสมัยพุทธกาล  มีชายคนหนึ่งชื่อว่า  มหากาล
ทุก ๆ วันธัมมัสสวนะ (วันพระ)  เขาจะไปอยู่รักษาอุโบสถศีล (ศีล ๘) ที่วัดเป็นประจำ
และฟังธรรมอยู่ในวัดนั้นตลอดทั้งคืนยันรุ่ง

ครั้งหนึ่ง  มีโจรกลุ่มหนึ่งงัดแงะเข้าไปขโมยของในบ้านหลังหนึ่ง

ในขณะที่กำลังรวบรวมสิ่งของอยู่  พลาดทำภาชนะโลหะกระทบกัน  เกิดเสียงดังขึ้น  เจ้าของบ้านจึงตื่นขึ้นมา
พวกโจรเมื่อรู้ว่าเจ้าของบ้านตื่นแล้ว  จึงพากันวิ่งหนี
เจ้าของบ้านก็ออกไล่ตามพวกโจรเหล่านั้น
โจรเหล่านั้นก็แยกย้ายกระจัดกระจายหนีกันไปคนละทาง

ในขณะนั้น  นายมหากาลซึ่งไปฟังธรรมที่วัดตลอดทั้งคืน  ได้ออกมาล้างหน้าอยู่ที่ริมสระหน้าวัด

จรคนหนึ่งวิ่งหนีไปทางนั้น  ได้ทิ้งห่อสิ่งของที่ขโมยมาด้วยไว้ข้าง ๆ นายมหากาลแล้ววิ่งหนีไป
พวกเจ้าของบ้านวิ่งตามมาถึง  เห็นห่อสิ่งของนั้นแล้ว  จึงช่วยกันจับนายมหากาลไว้  แล้วกล่าวว่า
"แกงัดแงะบ้านของข้า  ขโมยของมา  แล้วแกล้งทำเป็นมาฟังธรรมอยู่ที่วัดหรือ"
จากนั้นจึงพากันทุบตีนายมหากาลจนถึงแก่ความตาย

เช้าวันนั้น  ภิกษุและสามเณรทั้งหลายพากันมาตักน้ำที่สระนั้น

พบนายมหากาลนอนตายอยู่ที่นั่น  จึงกล่าวกันว่า
"อุบาสกคนนี้มารักษาอุโบสถศีลวันพระ  ฟังธรรมอยู่ตลอดทั้งคืน  ไม่สมควรที่จะมาตายอยู่ตรงนี้เลย"
แล้วพากันไปเข้าเฝ้าพระศาสดา  กราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทรงทราบ

(ถามว่า  ถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์นั้น  เราจะคิดอย่างไร

"คนดี ๆ ไม่น่ามาตายแบบนี้เลย"
คิดอย่างนี้หรือเปล่า ???)

พระศาสดาเมื่อทรงทราบเหตุการณ์นั้นแล้ว  ได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า

"อย่างนั้นภิกษุทั้งหลาย  นายมหากาลได้มรณะไม่สมควรในอัตภาพนี้ (ในชาตินี้)
แต่เขาได้มรณะสมควรแก่กรรมที่ทำไว้แล้วในกาลก่อนนั่นเอง"

ภิกษุเหล่านั้นจึงทูลอาราธนาให้พระศาสดาทรงเล่าบุพกรรมของนายมหากาล

พระศาสดาทรงเล่าว่า

ในอดีตกาล  มีพวกโจรซุ่มอยู่ที่ปากดงแห่งบ้านชายแดนแห่งหนึ่ง  ในแคว้นพาราณสี

พระราชาทรงตั้งนายราชภัฏ (ข้าราชการ) คนหนึ่งไว้ที่ปากดงนั้น
ให้นายราชภัฏนั้นรับค่าจ้างเพื่อนำคนจากฟากนี้ไปฟากโน้น  นำคนจากฟากโน้นมาฟากนี้
(เพื่อช่วยป้องกันภัยจากพวกโจรที่ซุ่มอยู่)

ต่อมา  มีชายคนหนึ่งพร้อมภรรยาขึ้นเกวียนไปถึงที่แห่งนั้น

ชายคนนั้นกล่าวกับนายราชภัฏว่า  "นาย  ท่านจงช่วยพากระผมและภรรยาให้ผ่านพ้นดงนี้ด้วยเถิด"
นายราชภัฏนั้นเกิดความสิเนหาในภรรยาของชายคนนั้น  จึงออกอุบายว่า
"บัดนี้ค่ำมืดเสียแล้ว  รอตอนเช้าเถอะ  เราจะช่วยพาท่านให้พ้นดงนี้ไป"

ชายคนนั้นกล่าวว่า  "นาย  ยังมีเวลา  ขอท่านโปรดพากระผมและภรรยาไปตอนนี้เถิด"

นายราชภัฏกล่าวว่า  "รอก่อนเถิด  พวกท่านไปพักที่หมู่บ้านของเราก่อน  เราจะเตรียมอาหารและที่พักไว้ให้  พรุ่งนี้ค่อยไปเถิด"
ชายคนนั้นแม้ไม่ปรารถนา  แต่ก็ถูกนายราชภัฏและบริวารพาไปที่บ้านหลังหนึ่งแล้วให้พักอยู่ที่นั้น

ในบ้านของนายราชภัฏนั้นมีแก้วมณีดวงหนึ่ง  เขาให้บริวารแอบเอาแก้วมณีนั้นไปซ่อนไว้ในเกวียนของชายคนนั้น

ในเวลาจวนรุ่ง  ให้ทำเสียงเอะอะราวกับว่ามีขโมยขึ้นบ้าน
พวกบริวารของนายราชภัฏร้องตะโกนกันว่า  "นาย  แก้วมณีถูกพวกโจรลักเอาไปแล้ว"
นายราชภัฏสั่งว่า  "พวกเจ้าจงตั้งกองรักษาไว้ที่ประตูหมู่บ้าน  ตรวจค้นคนที่จะออกไปจากบ้าน"

ฝ่ายชายคนนั้นพร้อมภรรยากำลังขับเกวียนออกไป

ถูกพวกบริวารของนายราชภัฏตรวจค้น  พบแก้วมณีที่พวกตนเอามาซ่อนไว้
จึงพูดขู่ว่า  "เจอแล้ว  คนที่ลักเอาแก้วมณีไป"  แล้วคุมตัวไปให้นายราชภัฏ

นายราชภัฏกล่าวว่า  "ตัวเราเป็นถึงนายราชภัฏ  ให้ที่พักอาศัย  ให้อาหาร  เจ้ายังลักแก้วมณีไปได้"

แล้วหันมาสั่งบริวารของตนว่า  "พวกเจ้าจงจับชายผู้นี้ลงโทษ"
ดังนี้แล้ว  ให้ช่วยกันทุบจนตาย

นี้เป็นบุพกรรมของนายมหากาลนั้น

นายราชภัฏนั้นเคลื่อนจากอัตภาพนั้น (ตาย) แล้ว  ไปบังเกิดในอเวจี
หมกไหม้อยู่ในอเวจีสิ้นกาลนาน
และเพราะวิบากกรรมที่ยังเหลืออยู่  จึงถูกทุบตีถึงความตายอย่างนั้นอีกใน ๑๐๐ อัตภาพ

ครั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงบุพกรรมของนายมหากาลแล้ว

ได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้นว่า
       "ภิกษุทั้งหลาย  บาปกรรมอันตนทำไว้นั่นแล
ย่อมย่ำยีสัตว์เหล่านี้ในอบาย ๔ อย่างนี้"

แล้วตรัสต่อไปอีกว่า

       "บาปอันตนทำไว้เอง  เกิดในตน  มีตนเป็นแดนเกิด
ย่อมย่ำยีบุคคลผู้มีปัญญาทราม
ดุจเพชรย่ำยีแก้วมณีอันเกิดแต่หินฉะนั้น"

ในเวลาจบพระธรรมเทศนานี้  ภิกษุเหล่านั้นก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่มหาชนผู้มาประชุมกันแล้ว  ดังนี้แล
มหากาลอุปาสกวัตถุ  จบ

มาถึงตรงนี้
พอจะได้คำตอบสำหรับคำถามข้างต้นแล้วใช่ไหม
"เราทำดีมากขนาดนี้แล้ว  ทำไมยังเจอแต่สิ่งที่ไม่ดีอยู่อีก"

การทำความดี  ไม่ใช่ว่าจะไม่มีผล

แต่เพราะความดีนั้นยังไม่ถึงเวลาให้ผล
และเพราะความชั่วที่เราเคยทำไว้ในกาลก่อนให้ผลอยู่
เราจึงต้องเป็นผู้รับผลของกรรมที่เรากระทำเอง
เราจึงต้องเป็นผู้ตำหนิติเตียนตนเอง  (ไม่ใช่ตำหนิผู้อื่น)
และเมื่อความดีให้ผล  เราจะนึกขอบคุณตัวเองที่เชื่อมั่นในความดีและทำความดี

ฉะนั้น  สิ่งที่เราควรบอกตัวเองก็คือ

ความชั่วให้ผลเป็นทุกข์  ความชั่วแม้นิดก็อย่าได้ทำเลย
ความดีให้ผลเป็นสุข  ความดีแม้นิดก็อย่าได้ละเลย
เรามีหน้าที่ก้มหน้าก้มตาทำความดี  ละความชั่ว  เท่านั้น

ก่อนจบบทความนี้  ขอฝากการบ้านไว้สักนิด

ดูภาพข้างล่างนี้แล้ว  คิดอย่างไร
ก. คนขี่จักรยานยนต์ดวงซวยเอง
ข. คนขับรถบรรทุกไม่ระวัง
ค. ใครก็ไม่รู้เล่นพิเรนทร์  เอาก้อนหินไปวางบนถนน
ง. อื่น ๆ (ระบุ)


การเบียดเบียนนำทุกข์มาให้ (ตอนที่ ๓)


ในสมัยพุทธกาล
มีพระราชาพระองค์หนึ่งตรัสถามพระมเหสีว่า  "มีใครที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตัวของเธอเองบ้างไหม"
พระมเหสีได้ทูลตอบว่า  "ขอเดชะ  ใครอื่นที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตัวของหม่อมฉันเอง  ไม่มีเลย
และใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตัวของพระองค์เองมีอยู่บ้างหรือ"
พระราชาตรัสว่า  "ใครอื่นที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตัวของเราเอง  ไม่มีเลย"

จากนั้น  พระราชาพระองค์นั้นได้เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค  แล้วได้กราบทูลเรื่องราวที่ทรงสนทนากับพระมเหสีให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ


ครั้งนั้น  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระราชานั้นว่า

       "บุคคลตั้งใจค้นหาทั่วทุกทิศ
ก็ไม่พบใครที่ไหนซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนเลย
สัตว์เหล่าอื่นก็รักตนมากเช่นนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น  ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น"
.....

เรา  อยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุข  เกลียดทุกข์

เราจึงไม่อยากให้ใครมาเบียดเบียนเรา  ฉันใด
เขา  ก็อยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุข  เกลียดทุกข์
เขาก็ไม่อยากให้ใครมาเบียดเบียนเขา  ฉันนั้น
เมื่อเป็นดังนี้  ผู้รักตนทั้งหลาย  จึงไม่ควรกระทำผิดศีล  ไม่ควรเบียดเบียนกันและกัน


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)

ขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกและอรรถกถามาประกอบ  ดังนี้

ตโยชนวัตถุ  (เรื่องคน ๓ จำพวก)

--- เรื่องที่ ๓ ---
สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ  พระเชตวัน  อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตกรุงสาวัตถี
มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง  จำนวน ๗ รูป  ออกเดินทางจากปัจจันตชนบท  เพื่อไปเฝ้าพระศาสดา
ในระหว่างเดินทางวันหนึ่ง  ในเวลาเย็น  เดินทางมาถึงวัดแห่งหนึ่ง  จึงเข้าไปขอพักอาศัยที่วัดแห่งนั้น

ภิกษุเจ้าถิ่นก็จัดแจงที่พักในถ้ำแห่งหนึ่งให้  มีเตียงอยู่ ๗ เตียงพอดี
ภิกษุอาคันตุกะทั้ง ๗ รูปก็ได้เข้าพักนอนบนเดียงในถ้ำนั้นแล้ว

ตกกลางคืน  หินขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งกลิ้งลงมาจากภูเขา  แล้วหยุดอยู่ที่หน้าถ้ำ  ได้ปิดประตูถ้ำนั้นแล้ว

พวกภิกษุเจ้าถิ่นกล่าวว่า  "พวกเราให้ถ้ำนี้แก่ภิกษุอาคันตุกะพัก  ก็หินก้อนใหญ่นี้กลิ้งลงมาปิดประตูถ้ำเสียแล้ว  พวกเรามาช่วยกันนำหินก้อนนี้ออกเถิด"
แล้วได้เกณฑ์พวกชาวบ้านในละแวกนั้น ๗ หมู่บ้านโดยรอบให้มาช่วยกัน
แต่แม้จะพยายามอยู่  ก็ไม่สามารถทำให้หินนั้นขยับได้เลย

ฝ่ายภิกษุอาคันตุกะทั้ง ๗ รูปก็พยายามผลักหินจากด้านใน  แต่ก็ไม่สามารถทำให้หินขยับได้เช่นกัน

แม้จะพยายามอย่างเต็มที่ตลอด ๗ วัน  ก็ไม่สามารถทำให้หินขยับได้แม้สักนิด
พวกภิกษุ ๗ รูปที่อยู่ภายในถ้ำ  ถูกความหิวแผดเผาตลอด ๗ วัน  ได้รับทุกข์ทรมานเป็นอันมาก

แต่แล้วในวันที่ ๗  หินขนาดใหญ่ก้อนนั้นก็ได้กลิ้งออกไปเอง


เมื่อภิกษุอาคันตุกะออกมาจากถ้ำได้แล้ว  ต่างก็คิดว่า  "โอ  กรรมนี้หนักหนอ  ผู้มีอายุทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายจงดูผลกรรมของพวกเรา  เว้นพระศาสดาเสีย  ใครจะรู้กรรมที่เราทั้งหลายทำแล้ว  พวกเราจะทูลถามกรรมนั้นกะพระศาสดา"

ดังนี้แล้ว  เดินทางเพื่อไปเฝ้าพระศาสดาต่อไป

ภิกษุกลุ่มนี้ได้เดินทางมาพบกับภิกษุอีก ๒ กลุ่มในระหว่างทาง  (อ่านเรื่องราวของภิกษุ ๒ กลุ่มแรกในบทความที่แล้ว)

จึงรวมเป็นพวกเดียวกันเข้าไปเฝ้าพระศาสดา
ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่สมควร  ได้กราบทูลถึงเหตุที่พวกตนพบเห็นมาแด่พระศาสดา

พระศาสดาได้ตรัสพยากรณ์แก่ภิกษุกลุ่มที่ ๓ นี้ว่า

(พยากรณ์  ในที่นี้แปลว่า  ตอบ)
"ภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอได้เสวยผลกรรมที่ตนทำแล้วนั่นแหละโดยแท้
ก็ในอดีตกาล  เด็กเลี้ยงโค ๗ คนชาวกรุงพาราณสี  เที่ยวเลี้ยงโคไปตามสถานที่ต่าง ๆ คราวละ ๗ วัน

วันหนึ่ง  เด็กทั้ง ๗ คนนั้นเลี้ยงโคเสร็จแล้ว  ได้มาพบเหี้ยใหญ่ตัวหนึ่ง  จึงพากันไล่ตาม

เหี้ยนั้นวิ่งหนีเข้าไปสู่จอมปลวกแห่งหนึ่ง  จอมปลวกนั้นมีช่องอยู ๗ ช่อง
พวกเด็กเหล่านั้นปรึกษากันว่า  "บัดนี้พวกเราไม่อาจจับมันได้  เอาไว้พรุ่งนี้มาจับใหม่เถิด"
ดังนี้แล้ว  จึงต่างคนต่างก็ถือเอากิ่งไม้ที่หักได้คนละกำ ๆ
ทั้ง ๗ คนพากันปิดช่องของจอมปลวกทั้ง ๗ ช่อง  แล้วพากันกลับไป

วันรุ่งขึ้น  เด็กเหล่านั้นไม่มีใครนึกถึงเหี้ยตัวนั้นได้  ต่างพากันต้อนโคไปในที่แห่งอื่น


ครั้นในวันที่ ๗  เด็กเหล่านั้นกลับมาเลี้ยงโคในที่แห่งนี้อีก  เมื่อเห็นจอมปลวกนั้นจึงนึกขึ้นได้

คิดกันว่า  "เหี้ยนั้นเป็นอย่างไรแล้วหนอ"
จึงช่วยกันเปิดช่องที่พวกตนปิดไว้

เหี้ยตัวนั้นได้รับทุกข์ทรมาน  หมดอาลัยในชีวิต  ผอมโซเหลือแต่กระดูกและหนัง  เดินสั่นคลานออกมา

เด็กเหล่านั้นเห็นแล้วเกิดใจอ่อน  จึงพูดว่า  "พวกเราอย่าฆ่ามันเลย  มันอดอาหารมาตลอด ๗ วันแล้ว"
จึงลูบหลังเหี้ยนั้นแล้วปล่อยไป

ภิกษุทั้งหลาย  เด็กเหล่านั้นไม่ต้องไปไหม้อยู่ในนรก  เพราะไม่ได้ฆ่าเหี้ยนั้น

แต่ทั้ง ๗ คนนั้นต้องมาเป็นผู้อดข้าวร่วมกันตลอด ๗ วัน  ใน ๑๔ อัตภาพ (๑๔ ชาติ)
ภิกษุทั้งหลาย  กรรมนั้นเป็นกรรมที่พวกเธอได้เกิดเป็นเด็กเลี้ยงโค ๗ คนร่วมกันทำไว้ในกาลนั้น"

เมื่อพระศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหาที่ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลถามแล้ว

ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามพระศาสดาว่า
"ความหนีพ้นย่อมไม่มีแก่สัตว์ที่ทำกรรมชั่วนั้นไว้
ผู้ซึ่งเหาะไปในอากาศก็ดี  ดำลงไปสู่มหาสมุทรก็ดี  หนีเข้าไปสู่ซอกเขาก็ดีหรือ  พระพุทธเจ้าข้า"

พระศาสดาตรัสตอบว่า

"อย่างนั้นแหละภิกษุ  แม้ในที่ทั้งหลาย  ทั้งในอากาศ  ในมหาสมุทร  หรือในซอกภูเขา
สถานที่สักแห่งหนึ่งที่บุคคลอยู่แล้วพึงหนีพ้นจากกรรมชั่วได้นั้น  ไม่มี"

จากนั้น  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปอีกว่า

       "บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้
ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
ถึงจะดำลงไปในมหาสมุทร  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
ถึงจะเข้าไปหลบในซอกเขา  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่คนทำบาปยืนอยู่แล้วจะพ้นจากบาปกรรมได้ ..."

ในเวลาจบพระธรรมเทศนานี้  ภิกษุเหล่านั้นก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่มหาชนผู้มาประชุมกันแล้ว  ดังนี้แล
ตโยชนวัตถุ  จบ

ถามว่า  เพราะเหตุใดภิกษุทั้ง ๗ รูปนั้นจึงต้องถูกขังอยู่ในถ้ำ  อดข้าวอดน้ำ  นานถึง ๗ วัน ???
เพราะมีคนแกล้งภิกษุเหล่านั้น
เพราะภิกษุเหล่านั้นอายุครบเบญจเพศ
เพราะราหูย้ายราศี
เพราะปีที่เกิดเหตุนั้นเป็นปีชงของภิกษุเหล่านั้น

หรือเป็นเพราะผลของกรรมไม่ดีที่ภิกษุเหล่านั้นกระทำไว้เอง !!!


ฉะนั้น  เมื่อไม่มีใครเป็นที่รักยิ่งกว่าตน
สัตว์เหล่าอื่นก็รักตนมากเช่นนั้นเหมือนกัน
ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น
เพราะการเบียดเบียน  นำทุกข์มาให้

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. มัลลิกาสูตร (ว่าด้วยเรื่องพระนางมัลลิกาเทวี)



การเบียดเบียนนำทุกข์มาให้ (ตอนที่ ๒)


เมื่อทำกรรมดี  ย่อมได้รับผลที่ดีตอบ  ฉันใด
เมื่อทำกรรมไม่ดี  ก็ย่อมได้รับผลที่ไม่ดี  ฉันนั้น

การทำกรรมที่ไม่ดี  ก็คือ  การประพฤติทุจริตทั้ง ๓ ทาง (กาย  วาจา  ใจ)

เป็นการกระทำที่เบียดเบียนผู้อื่น  เบียดเบียนตนเอง
เป็นการกระทำที่เป็นอกุศล (อกุศลกรรม)
เป็นการกระทำที่มีโทษ  ให้ผลเป็นทุกข์

การประพฤติทุจริตทั้ง ๓ ทาง  แบ่งออกเป็นอกุศลกรรม ๑๐ อย่าง  ได้แก่

กายทุจริต ๓ >
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์  หยาบช้า  มีมือเปื้อนเลือด  ปักใจอยู่ในการฆ่าและการทุบตี  ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
๒. เป็นผู้ลักทรัพย์  คือ  เป็นผู้ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น  ที่เจ้าของไม่ได้ให้  ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม  คือ  เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่มีผู้ปกครอง  สตรีที่ประพฤติธรรม  สตรีที่มีสามี  สตรีที่มีบุรุษหมั้นหมายไว้แล้ว
วจีทุจริต ๔ >
๔. เป็นผู้พูดเท็จ  คือ  กล่าวเท็จทั้งที่รู้  เพราะตนเองเป็นเหตุบ้าง  เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง  หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อยเป็นเหตุบ้าง
๕. เป็นผู้พูดส่อเสียด  คือ  ฟังความฝ่ายหนึ่งแล้วไปบอกอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อทำลายฝ่ายหนึ่ง  ยุยงคนที่สามัคคีกัน  ส่งเสริมคนที่แตกแยกกัน  ชื่นชมยินดีต่อผู้ที่แตกแยกกัน  พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน
๖. เป็นผู้พูดคำหยาบ  คือ  กล่าวแต่คำที่หยาบคาย  กระทบกระทั่งผู้อื่น  ใกล้ต่อความโกรธ
๗. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ  คือ  พูดไม่ถูกเวลา  พูดคำไม่จริง  พูดไม่อิงประโยชน์  พูดไม่อิงธรรมไม่อิงวินัย  พูดคำที่ไม่มีหลักฐานไม่มีที่อ้างอิง  ไม่มีที่กำหนด
มโนทุจริต ๓ >
๘. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา  คือ  มีจิตเพ่งเล็งว่า  'ทำอย่างไรทรัพย์ของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา'
๙. เป็นผู้มีจิตพยาบาท  คือ  มีจิตคิดร้ายว่า  'ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า  จงถูกทำลาย  จงขาดสูญ  จงพินาศไป  หรืออย่าได้มี'
๑๐. เป็นมิจฉาทิฏฐิ  คือ  มีความเห็นวิปริตว่า  'ทานที่ให้แล้วไม่มีผล  ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล  การเซ่นสรวงไม่มีผล  ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วก็ไม่มี  โลกนี้ไม่มี  โลกหน้าไม่มี  มารดาไม่มีคุณ  บิดาไม่มีคุณ  โอปปาติกสัตว์ไม่มี  สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ  ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก'

ซึ่งผู้กระทำกรรมไม่ดีเหล่านี้  ย่อมต้องได้รับผลที่ไม่ดี  ตามที่กล่าวไว้แล้วในบทความที่แล้ว  คือ
๑. ถึงความเสื่อมโภคทรัพย์เป็นอันมาก
๒. กิตติศัพท์อันชั่วย่อมกระฉ่อนไป
๓. จะไปในที่ใด ๆ ก็ไม่แกล้วกล้า  เป็นผู้เก้อเขินเข้าไป
๔. หลงลืมสติตาย
๕. หลังจากตายแล้ว  ย่อมไปเกิดในอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก

แต่ผลกรรมที่เกิดขึ้น  ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น

ยังมีโทษทุกข์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาอีก  คือ
๑. ผู้ที่ฆ่าสัตว์  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้เป็นผู้มีอายุน้อย
๒. ผู้ที่ลักทรัพย์  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้เป็นผู้เสื่อมโภคทรัพย์
๓. ผู้ที่ประพฤติผิดในกาม  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้เป็นผู้มีศัตรูและเป็นผู้มีเวร
๔. ผู้ที่พูดเท็จ  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้เป็นผู้ถูกกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง
๕. ผู้ที่พูดส่อเสียด  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้ต้องแตกจากมิตร
๖. ผู้ที่พูดคำหยาบ  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้ต้องได้ฟังเรื่องที่ไม่น่าพอใจ
๗. ผู้ที่พูดเพ้อเจ้อ  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้เป็นผู้ที่มีวาจาไม่น่าเชื่อถือ
๘. ผู้ที่ดื่มสุราเมรัย  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้เป็นผู้วิกลจริต
.....


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)

ขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกและอรรถกถามาประกอบ  ดังนี้

ตโยชนวัตถุ  (เรื่องคน ๓ จำพวก)

--- เรื่องที่ ๒ ---
สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ  พระเชตวัน  อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตกรุงสาวัตถี
ภิกษุกลุ่มที่ ๒  ได้โดยสารเรือไป  เพื่อเดินทางไปเฝ้าพระศาสดา
(อ่านเรื่องราวของภิกษุกลุ่มที่ ๑ ได้ในบทความที่แล้ว)

ในระหว่างนั้น  เรือได้หยุดนิ่งเฉยอยู่กลางสมุทร  แม้จะพยายามอย่างไร  ก็ไม่สามารถแล่นต่อไปได้

คนทั้งหลายบนเรือพากันคิดว่า  "คงจะมีคนกาลกิณีอยู่บนเรือลำนี้"
จากนั้น  จึงแจกสลากให้ทุกคนจับ  เพื่อหาตัวคนกาลกิณี

ในเรือลำนั้น  มีภรรยาของนายเรืออยู่คนหนึ่ง  กำลังอยู่ในวัยสาว  รูปสวยน่าดู  นางจับได้สลากกาลกิณีนั้น

คนทั้งหลายบนเรือเห็นแก่นายเรือ  จึงกล่าวว่า  "พวกเราแจกสลากกันใหม่เถิด"
แต่ภรรยานายเรือก็เป็นผู้ได้สลากกาลกิณีนั้นอีก
คนทั้งหลายก็ให้ทำการแจกสลากใหม่อีก  ภรรยานายเรือก็ได้สลากกาลกิณีนั้นอีก
เป็นเช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง

คนทั้งหลายเมื่อตัดสินใจไม่ได้  จึงพากันมองไปที่นายเรือ
นายเรือกล่าวว่า  "ข้าพเจ้าไม่อาจปล่อยให้คนจำนวนมากฉิบหาย  เพียงเพื่อประโยชน์แก่นางผู้เดียว  พวกท่านจงทิ้งนางในน้ำเถิด"

ภรรยานายเรือได้ยินดังนั้น  กลัวต่อมรณภัย  ได้ร้องไห้แล้ว
นายเรือได้ยินเสียงร้องไห้นั้น  กล่าวว่า  "ประโยชน์อะไรด้วยอาภรณ์เครื่องประดับของนางนี้จะฉิบหายเสียเปล่า  พวกท่านจงถอดอาภรณ์เครื่องประดับทั้งหมดของนาง  ให้นางนุ่งผ้าเก่าผืนหนึ่งแทนเถิด"
และยังได้กล่าวอีกว่า  "ข้าพเจ้าไม่อาจทนดูนางลอยอยู่เหนือน้ำได้  พวกท่านจงเอากระออมบรรจุทรายให้เต็ม  ผูกไว้ที่คอของนาง  แล้วจึงโยนให้จมลงไปในสมุทรเถิด"

คนทั้งหลายได้กระทำตามนั้นแล้ว  ภรรยานายเรือถึงแก่ความตายในน้ำนั้นเอง
เรือก็สามารถแล่นต่อไปได้

พวกภิกษุเห็นเหตุการณ์นั้นแล้ว  คิดว่า  "โอ  กรรมนี้หนักหนอ  ผู้มีอายุทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายจงดูหญิงนั้น  เว้นพระศาสดาเสีย  ใครจะรู้กรรมที่หญิงนั้นทำแล้ว  พวกเราจะทูลถามกรรมของหญิงนั้นกะพระศาสดา"

ดังนี้แล้ว  เดินทางเพื่อไปเฝ้าพระศาสดาต่อไป

ยังมีภิกษุอีก ๒ กลุ่ม  กำลังเดินทางไปกรุงสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระศาสดาเช่นกัน

และภิกษุทั้ง ๒ กลุ่มนั้นก็ได้พบเหตุการณ์แปลกประหลาดเช่นเดียวกัน

ภิกษุทั้ง ๓ กลุ่มนั้นเดินทางมาบรรจบกันในระหว่างทาง  รวมเป็นพวกเดียวกันเข้าไปเฝ้าพระศาสดา
ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่สมควร  ได้กราบทูลถึงเหตุที่พวกตนพบเห็นมาแด่พระศาสดา

พระศาสดาได้ตรัสพยากรณ์แก่ภิกษุกลุ่มที่ ๒ นี้ว่า

(พยากรณ์  ในที่นี้แปลว่า  ตอบ)
"ภิกษุทั้งหลาย  หญิงนั้นได้เสวยผลกรรมที่ตนทำแล้วนั่นแหละโดยแท้
ก็ในอดีตกาล  หญิงนั้นเป็นภรรยาของคหบดีคนหนึ่งในกรุงพาราณสี  ได้กระทำกิจทุกอย่าง  มีตักน้ำ  ซ้อมข้าว  ปรุงอาหาร  เป็นต้น  ด้วยมือของนางเอง
ครั้งนั้น  สุนัขตัวหนึ่งของนางนั่งแลดูนางอยู่  เมื่อนางนำอาหารไปที่นาก็ดี  ไปหาฟืนหาผักในป่าก็ดี  สุนัขตัวนั้นก็ตามไปกับนางเสมอ
พวกชายหนุ่มในละแวกนั้นเห็นเหตุการณ์นั้นเข้า  ก็กล่าวเยาะเย้ยนางว่า  "นั่นแน่  พรานสุนัขออกมาแล้ว  วันนี้พวกเราจะได้กินเนื้อกันล่ะ"
นางได้ยินก็เกิดอาการขวยเขิน  จึงไล่สุนัขนั้นด้วยก้อนดินและท่อนไม้ให้กลับไป
สุนัขนั้นกลับไปแล้ว  ก็ตามไปอีก
นางโกรธสุนัขนั้นแล้ว

ได้ยินว่า  สุนัขตัวนั้นเป็นสามีของนางในอัตภาพ (ชาติ) ที่ ๓ ก่อนอัตภาพนี้

ด้วยเหตุนั้น  มันจึงไม่อาจตัดความรักได้
จริงอยู่  ใคร ๆ ชื่อว่าไม่เคยเป็นสามีภรรยากัน  ในวัฏสงสารอันยาวไกลนี้  ไม่มี
แต่ถึงกระนั้น  ความรักอันมีประมาณยิ่ง  ย่อมมีในผู้ที่เป็นญาติในอัตภาพไม่ไกล
ดังนั้น  สุนัขนั้นจึงไม่อาจละนางนั้นได้

วันหนึ่ง  เมื่อนางนำอาหารไปให้สามีที่นา  นางได้เอาเชือกเส้นหนึ่งไปด้วย

สุนัขนั้นเดินตามนางไปเหมือนกัน
นางเมื่อนำอาหารให้สามีแล้ว  ถือกระออมเปล่าไปสู่ท่าน้ำแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้  บรรจุทรายให้เต็มกระออม  แล้วส่งเสียงให้สัญญาณแก่สุนัขนั้นซึ่งยืนห่างออกไป
สุนัขได้ยินสัญญาณนั้น  ดีใจว่า  "โอหนอ  วันนี้เราได้ยินเสียงเรียกจากนางแล้ว"
จึงกระดิกหางเข้าไปหานาง

นางจับสุนัขนั้นอย่างแน่นที่คอ  แล้วเอาปลายเชือกข้างหนึ่งผูกกระออมไว้  เอาปลายเชือกอีกข้างหนึ่งผูกที่คอสุนัขนั้น  แล้วผลักกระออมให้กลิ้งลงน้ำ

สุนัขนั้นตามกระออมไปตกลงน้ำ  ได้ถึงแก่ความตายในที่นั้นเอง

ภิกษุทั้งหลาย  กรรมอันเป็นบาปที่นางทำแล้วในครั้งนั้น

นางจึงไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน
และเพราะผลของกรรมที่ยังเหลืออยู่  นางจึงถูกผู้คนเอากระออมบรรจุทรายจนเต็มผูกคอ  ถ่วงลงในน้ำ  จนถึงแก่ความตายตลอด ๑๐๐ อัตภาพ (๑๐๐ ชาติ)"

เมื่อพระศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหาที่ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลถามแล้ว

ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามพระศาสดาว่า
"ความหนีพ้นย่อมไม่มีแก่สัตว์ที่ทำกรรมชั่วนั้นไว้
ผู้ซึ่งเหาะไปในอากาศก็ดี  ดำลงไปสู่มหาสมุทรก็ดี  หนีเข้าไปสู่ซอกเขาก็ดีหรือ  พระพุทธเจ้าข้า"

พระศาสดาตรัสตอบว่า

"อย่างนั้นแหละภิกษุ  แม้ในที่ทั้งหลาย  ทั้งในอากาศ  หรือในมหาสมุทรเป็นต้น
สถานที่สักแห่งหนึ่งที่บุคคลอยู่แล้วพึงหนีพ้นจากกรรมชั่วได้นั้น  ไม่มี"

จากนั้น  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปอีกว่า

       "บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้
ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
ถึงจะดำลงไปในมหาสมุทร  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
ถึงจะเข้าไปหลบในซอกเขา  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่คนทำบาปยืนอยู่แล้วจะพ้นจากบาปกรรมได้ ..."

ในเวลาจบพระธรรมเทศนานี้  ภิกษุเหล่านั้นก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่มหาชนผู้มาประชุมกันแล้ว  ดังนี้แล
ตโยชนวัตถุ  จบ

ถามว่า
ใครทำให้นางอายุสั้น  ต้องตายด้วยวัยเพียงเท่านี้
ใครทำให้นางต้องถูกถ่วงน้ำตายด้วยความทรมานเช่นนี้ ???

เป็นเพราะคนทั้งหลายบนเรือหรือ

เป็นเพราะนายเรือใจร้ายหรือ
เป็นเพราะถูกพระเจ้ากลั่นแกล้งหรือ
เป็นเพราะถูกใครสาปแช่งไว้หรือ ???

หรือเป็นเพราะผลของกรรมไม่ดีที่นางกระทำไว้เอง ...


ฉะนั้น  เราจึงไม่ควรเบียดเบียนใคร ๆ  ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม
เพราะการเบียดเบียน  ให้ผลเป็นทุกข์

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ทุจจริตวิปากสูตร (ว่าด้วยวิบากแห่งทุจริต)