อันตรายจากการใช้พระธรรมผิดทาง


หลาย ๆ บทความที่ผ่านมา  ได้เขียนย้ำเกี่ยวกับพระพุทธดำรัสที่ว่
"สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  เป็นผู้รับผลของกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ใครทำกรรมใดไว้  จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม  ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น"

เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนา

ถ้าเราทุกคนมีความเชื่ออย่างถูกต้องในเรื่องกรรมและผลของกรรมที่จะได้รับ  ก็คงจะไม่มีใครกล้าทำกรรมที่ไม่ดี  ไม่มีใครกล้าละเมิดศีล  เพราะกลัวว่าจะต้องรับผลที่ไม่ดีกลับมา
.....

แต่ก็มีบางคนที่นำความรู้เรื่องกรรมนี้ไปใช้ผิดทาง




เกือนสิบปีมาแล้ว  ผมเคยเห็นบทสัมภาษณ์ผู้ชายคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นคนเจ้าชู้  คบหาเป็นแฟนกับผู้หญิงพร้อมกันหลาย ๆ คน

จำได้ว่ามีตอนหนึ่งในบทสัมภาษณ์
คนสัมภาษณ์ถามเขาว่า  "สิ่งที่ทำมาทั้งหมดนี้  ไม่กลัวเวรกรรมจะตามทันหรือ"

ผู้ชายคนนี้ตอบว่า  "ผมมองมุมกลับ  ผมถือว่าผู้หญิงที่ต้องมาคบซ้อนกับผมหลาย ๆ คนในวันนี้  เป็นการชดใช้กรรมที่เคยทำกับผมไว้ในชาติที่แล้ว"

เขายังให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกด้วยว่า  "นี่คือกฎแห่งกรรม  ชาติหน้าผมก็ต้องไปใช้กรรมให้พวกเขา  แล้วชาติต่อไปพวกเขาก็ต้องมาใช้กรรมให้ผลอีก  แต่สิ่งที่จะทำให้วงจรนี้หยุดลงได้ก็คือเราต้องหยุดกระทำเพื่อไม่ให้เกิดวงจรในชาติต่อไป  แล้วก็อโหสิกัน"
.....

รู้สึกแปลก ๆ หรือเปล่า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องกรรมและผลของกรรมไว้  เพื่อให้พุทธบริษัทมีหิริและโอตตัปปะ  เกิดความกลัวต่อผลของบาป  และละอายต่อการที่จะต้องทำบาป

แต่ผู้ที่ไม่เข้าใจธรรมะดีพอ  ก็จะเอาธรรมะไปใช้เข้าข้างกิเลสของตนเอง  และกล้าทำบาปกรรมมากยิ่งขึ้น
และเมื่อทำบาปกรรมมากยิ่งขึ้น  ตนเองนั่นแหละก็จะต้องได้รับผลของกรรมต่อไป

การหยุดวงจรกรรมโดยอโหสิ  ก็ไม่ใช่ว่าต้องให้อีกฝ่ายอโหสิก่อน  โดยเรายังคงทำกรรมไม่ดีอยู่
แท้จริงแล้ว  ไม่ว่าอีกฝ่ายจะอโหสิหรือไม่ก็ตาม  เราเองนั่นแหละควรจะหยุดทำบาปกรรมโดยไม่ต้องมีเงื่อนไขใด ๆ
.....

ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมในพระพุทธศาสนา  ผลที่เกิดขึ้นกับเราที่ตรวจสอบได้  คือ
๑. เราจะตั้งใจละจากบาปทั้งปวง (เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งไม่ดีที่จะเกิดขึ้นกับเรา)
๒. เราจะตั้งใจบำเพ็ญบุญกุศลให้มากยิ่งขึ้น (เพื่อให้เกิดแต่สิ่งดีกับเรา)

ถ้าพฤติกรรมของเรายังไม่ตรงกับ ๒ ข้อนี้  ก็ควรย้อนกลับไปดูว่าเราเข้าใจพระธรรมถูกต้องแล้วหรือไม่เพียงไร
ไม่เช่นนั้น  อันตรายจากการใช้พระธรรมผิดทาง  คือผลของกรรมไม่ดีที่เราทำลงไป  ก็จะเกิดกับเราอย่างแน่นอน
..........



แค่คิดบวกยังไม่พอ


ท่านเจ้าคุณรูปหนึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนทั้งหลาย  แม้ผมเองก็เคารพนับถือเช่นกัน
ไม่นานมานี้  ผมอ่านเจอคำสอนของท่านที่ถูกแชร์ในสังคมออนไลน์ว่า
"ให้รู้สึกว่าเคราะห์นั้นทำให้เราดีขึ้น
เป็นครูของเรา  เป็นผู้เตือนเรา  เป็นผู้ลวงใจเรา
อย่าเห็นว่าเคราะห์กรรมเป็นของเลว  ไม่น่าปรารถนา
ควรคิดว่าเป็นของดีที่ทำให้เราเข้มแข็งมั่นคงขึ้น
ให้รู้สึกเสมอว่า  เราเกิดมาเรียนทั้งเคราะห์ร้ายและเคราะห์ดี"
.....

ใช่ครับ  เมื่อเราประสบกับเหตุการณ์เคราะห์ร้ายต่าง ๆ
คนส่วนมากมักจะเป็นทุกข์  เดือดร้อน  ไม่สบายใจ  ต่าง ๆ นานา

แต่ท่านสอนให้เราเอาเคราะห์กรรมนั้นมาเป็นบทเรียน
ให้คิดว่าเคราะห์กรรมเหล่านั้นไม่ได้เป็นของเลวร้ายอะไร
แต่เป็นสิ่งที่จะมาช่วยทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้น

ถือเป็นการมองโลกในแง่ดี  พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส  ช่วยให้เรารับมือกับเหตุร้ายได้บ้าง
.....




ในพระไตรปิฎก  มีพระสูตรหนึ่งบันทึกไว้ว่า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
ธรรมเทศนาของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ว่าโดยปริยาย  มี ๒ ประการ

ธรรมเทศนา ๒ ประการ  อะไรบ้าง  คือ

๑. ธรรมเทศนาว่า  'ท่านทั้งหลายจงเห็นบาปว่าเป็นบาป'
นี้จัดเป็นธรรมเทศนาประการที่ ๑

๒. ธรรมเทศนาว่า  'ท่านทั้งหลายครั้นเห็นบาปว่าเป็นบาปแล้ว  จงเบื่อหน่ายคลายกำหนัด  ปลดเปลื้องตนให้พ้นจากบาปนั้น'
นี้จัดเป็นธรรมเทศนาประการที่ ๒

ภิกษุทั้งหลาย
ธรรมเทศนาของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ว่าโดยปริยาย  มี ๒ ประการนี้แล"
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในทสนาสูตร)


การมองเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นว่าเป็นบททดสอบของชีวิต
มองว่าจะทำให้ชีวิตมีความแข็งแกร่งขึ้น
ก็สามารถทำให้เราฮึดสู้กับเหตุการณ์นั้น ๆ ได้

แต่การมองโลกในแง่ดี  หรือคิดบวก  เท่านั้นคงยังไม่พอ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้เห็นถึงที่มาของเหตุการณ์นั้น ๆ ว่า

"สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  เป็นผู้รับผลของกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ใครทำกรรมใดไว้  จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม  ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น"

ที่เราต้องมาประสบกับเหตุการณ์ร้าย ๆ ก็เป็นเพราะเราได้เคยทำกรรมที่ไม่ดีมาก่อน
เมื่อบาปกรรมที่เราทำไว้ถึงเวลาให้ผล  เราจึงประสบกับเหตุการณ์ร้ายอย่างนี้

การมองเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยการมองในแง่ดี  อาศัยการคิดบวก  อาจจะช่วยให้สบายใจและรับมือกับเหตุร้ายนั้นได้บ้าง

แต่ถ้าเราไม่อยากประสบเหตุร้ายอีกในอนาคต  เราก็จะต้องไม่ทำบาปกรรมทั้งหลายที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายเหล่านั้นอีก

เมื่อเราเห็นบาปว่าเป็นบาป  ให้ผลเป็นโทษ  เป็นทุกข์
เราก็ควรจะละอายและรังเกียจต่อการทำบาปนั้น  เบื่อหน่ายต่อการทำบาปนั้น  และเปลื้องตนจากการทำบาปเหล่านั้น

ฉะนั้น  หยุดทำบาปกรรมทั้งหลาย  หยุดการเบียดเบียน  รักษาศีลให้ได้ทุกข้อ
เราจะได้ไม่ต้องเจอเหตุร้ายต่าง ๆ เข้ามาทดสอบชีวิตอยู่เรื่อย ๆ
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. เทสนาสูตร (ว่าด้วยธรรมเทศนา)


จำเป็นต้องรู้อดีตหรือไม่


ชายคนหนึ่ง  เกิดในตระกูลมีฐานะ  เป็นลูกช่างทอง
แต่ด้วยความมัวเมาในความเป็นหนุ่ม  จึงได้ลอบเป็นชู้กับภรรยาคนอื่น

หลังจากตายในชาตินั้น  เขาไปใช้กรรมอยู่ในนรก  ถูกไฟนรกเผาเป็นเวลานาน

เมื่อพ้นจากนรกนั้น  ก็มาเกิดในท้องของนางลิงตนหนึ่ง
เมื่อคลอดได้ ๗ วัน  ก็ถูกลิงจ่าฝูงกัดอวัยวะสืบพันธุ์เพราะกลัวจะมาแย่งความเป็นใหญ่
นี้เป็นผลกรรมที่เป็นชู้กับภรรยาคนอื่น

ตายจากชาตินั้น  ก็มาเกิดเป็นแพะตัวหนึ่ง  ตาบอด  เป็นง่อย
เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี  ก็ถูกเด็กตัดอวัยวะสืบพันธุ์  ทำให้ล้มป่วย  หนอนชอนไชที่อวัยวะสืบพันธุ์นั้น
นี้ก็เป็นผลกรรมที่เป็นชู้กับภรรยาคนอื่น

ตายจากชาตินั้น  มาเกิดเป็นลูกวัวตัวหนึ่งของพ่อค้าวัว
เมื่ออายุ ๑๒ ปี  ก็ถูกตอน  ถูกใช้ให้ลากไถและเทียมเกวียน  ป่วยเป็นโรค  ตาบอด
นี้ก็เป็นผลกรรมที่เป็นชู้กับภรรยาคนอื่น

ตายจากชาตินั้น  มาเกิดเป็นลูกของนางทาส  แต่มีเพศเป็นหญิงก็ไม่ใช่  เป็นชายก็ไม่เชิง
นี้ก็เป็นผลกรรมที่เป็นชู้กับภรรยาคนอื่น

ตายจากชาตินั้น  มาเกิดเป็นลูกสาวของคนยากจนเข็ญใจ  มีหนี้สินรุมเร้า
ถูกเจ้าหนี้ฉุดให้ไปอยู่กับลูกชายของเขาซึ่งมีภรรยาอยู่ก่อนแล้ว
ก็ไปทำให้ครอบครัวเขาแตกแยกกันอีก

มาในชาตินี้  เกิดเป็นลูกสาวเศรษฐี
เมื่อโตขึ้น  ได้แต่งงานมีครอบครัว  ไปอยู่กับสามีที่มีฐานะเสมอกัน
นางปรนนิบัติดูแลสามีประดุจเทวดา
แต่อยู่ด้วยกันได้เพียงเดือนเดียว  สามีเกิดเบื่อหน่ายนาง  และไล่นางออกจากบ้าน

พ่อแม่ได้ยกนางให้กับชายอีกคนที่มีฐานะต่ำกว่า
แต่อยู่ด้วยกันได้เพียงเดือนเดียว  สามีคนที่ ๒ ก็เบื่อหน่ายและทิ้งนางไป

พ่อแม่ได้ยกนางให้กับชายอีกคนที่มีฐานะยากจน
แต่อยู่ด้วยกันได้เพียงครึ่งเดือน  สามีคนที่ ๓ ก็เบื่อหน่ายและทิ้งนางไป
.....

ถ้าเราเกิดเป็นนางในชาตินี้  ประสบกับปัญหาในชีวิต  ถูกสามีทอดทิ้งถึง ๓ ครั้ง
เราจะทำอย่างไร
.....


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


บางคนอาจจะไปหาพระ  แม่ชี  หมอดู  ร่างทรง  สิ่งศักดิ์สิทธิ์  อื่น ๆ  ให้ช่วยแก้ไข
ให้ช่วยดูอดีต  สแกนกรรม  สะเดาะเคราะห์  ฯลฯ
จุดประสงค์หลัก  เพราะคิดว่าปัญหาเหล่านั้นเกิดจากผลกรรมในอดีต  จึงต้องการที่จะแก้กรรมด้วยวิธีการอะไรก็ได้
.....

ลูกสาวเศรษฐีเมื่อถูกสามีทอดทิ้ง  ก็คิดว่าจะไปฆ่าตัวตายให้หมดเวรหมดกรรม
แต่ในเวลานั้น  มีภิกษุณีรูปหนึ่งเดินบิณฑบาตมาถึงบ้านที่นางอยู่พอดี
นางจึงได้นิมนต์และถวายภัตตาหารแก่ภิกษุณีรูปนั้น

เมื่อภิกษุณีรูปนั้นฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว  ได้แสดงธรรมให้นางฟัง
นางจึงกล่าวกับบิดามารดาว่า
"พ่อจ๋า  แม่จ๋า  ลูกทำบาปกรรมมามากแล้ว  ลูกจะขอชำระกรรมนั้นให้สิ้นไป  ลูกจะขอบวช"

เมื่อบิดามารดาอนุญาตแล้ว  นางจึงได้บวชเป็นภิกษุณี  ศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน  จนได้บรรลุพระอรหันต์
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในอิสิทาสีเถรีคาถา)


ก่อนที่จะบวชนั้น  ลูกสาวเศรษฐีไม่รู้ว่าตนเองทำกรรมอะไรไว้ในอดีต
แต่เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว  จึงตระหนักว่า
"สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  เป็นผู้รับผลของกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ใครทำกรรมใดไว้  จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม  ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น"

การที่จะเสียเวลาไปค้นหาว่าอดีตเคยทำกรรมอะไรไว้  ไม่เป็นประโยชน์
เพราะกรรมที่ทำลงไปแล้วไม่สามารถแก้ไขได้
เมื่อผลของกรรมที่ทำในอดีตกำลังให้ผล  ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี  ก็เป็นผลจากเหตุที่เราทำมาเอง  จึงควรยอมรับผลกรรมนั้นด้วยความเคารพ

แต่ปัจจุบันและอนาคต  คือสิ่งที่เราสามารถกำหนดได้
เลือกทำกรรมที่ดี  ไม่ทำบาปอกุศลกรรม  ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ผลของกรรมดีย่อมตามมาให้ผลที่ดีแน่นอน
.....

ย้ำอีกทีว่า  การรู้อดีตว่าเราทำกรรมอะไรมา  ไม่สำคัญ
แม้เราจะไม่รู้  แต่ถ้าเราเชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม  เราก็จะยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นได้
และตั้งมั่นที่จะทำแต่กรรมดีในปัจจุบันและอนาคตตลอดไป
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. อิสิทาสีเถรีคาถา (ภาษิตของพระอิสิทาสีเถรี)


ทำบุญถวายอะไรดี


วันก่อน  ได้เห็นโพสต์ของเพื่อนในเฟซบุ๊ค  แชร์คำพูดของหมอดูคนหนึ่งที่กล่าวถึงการทำบุญเสริมดวงในช่วงเข้าพรรษานี้สำหรับคนที่เกิดในวันต่าง ๆ ไว้ว่า

คนที่เกิดวันจันทร์  ให้ทำบุญด้วยเทียนพรรษา  หลอดไฟ  ไฟฉาย  ชุดสังฆทาน  จะได้เริ่มต้นสิ่งใหม่ที่จะช่วยนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จ

คนที่เกิดวันอังคาร  กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง  ให้ทำบุญด้วยข้าวสารอาหารแห้ง  เพื่อเสริมให้ชีวิตมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารการกิน

คนที่เกิดวันพุธ  มีโชคทางการเจรจาสื่อสาร  ให้ทำบุญด้วยอุปกรณ์การเรียน  เครื่องเขียน  หนังสือ  หลอดไฟ  โคมไฟ

คนที่เกิดวันพฤหัสบดี  มีเกณฑ์เจ็บป่วย  ไม่สบายได้ง่าย  ให้เน้นการทำบุญด้วยยาสามัญประจำบ้าน  ยารักษาโรคต่าง ๆ

คนที่เกิดวันศุกร์  เป็นคนที่มีโชคที่ดีอยู่แล้ว  ให้ทำบุญด้วยชุดของใช้สำหรับพระสงฆ์  หรือของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน  สบู่  แปรงสีฟัน  น้ำยาล้างจาน  ช่วยเสริมให้มีโชคลาภ  มีกินมีใช้  ไม่ขัดสน

คนที่เกิดวันเสาร์  เป็นคนที่มีโอกาสได้เดินทางบ่อยขึ้น  ให้ทำบุญด้วยผ้าไตรจีวร  รองเท้า  อาสนะ  เพื่อส่งเสริมดวงการเดินทางให้ราบรื่นลงตัวคลาดแคล้วปลอดภัย

คนที่เกิดวันอาทิตย์  จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน  ให้ทำบุญด้วยข้าวสาร  อาหารแห้ง  หรือของใช้ในครัว  ช่วยเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีและทำให้มีกินมีใช้ตลอด

นอกจากนี้  ยังกล่าวอีกว่า
คนที่อยากจะเสริมโชคเรื่องความรัก  ให้ทำบุญด้วยของเป็นคู่  เช่น  เทียนคู่  ช้อนส้อม  รองเท้า

คนที่อยากมีโชคด้านการเงิน  ควรทำบุญด้วยข้าวสาร  อาหารแห้ง  หรือชุดเครื่องครัว  ถ้วยชาม

คนที่มีปัญหาเรื่องงาน  ให้ทำบุญด้วยแสงสว่าง  เช่น  ไฟฉาย  หลอดไฟ

คนที่มีปัญหาสุขภาพ  ให้ถวายยา
.....





คราวนี้  ลองมาดูการทำบุญของอุบาสกอุบาสิกาในสมัยพุทธกาลบ้าง

นางวิสาขาเห็นว่าภิกษุต้องเปลือยกายอาบน้ำกลางฝน  จึงขอพระพุทธานุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝนเป็นครั้งแรก

นางวิสาขาเห็นพระที่มาจากต่างแดน  ยังไม่ชำนาญเส้นทางในหมู่บ้าน  ทำให้ลำบากในการบิณฑบาต  จึงขอพระพุทธานุญาตถวายภัตสำหรับภิกษุผู้มาพักชั่วคราว

นางวิสาขาเห็นพระที่จะจาริกไปต่างถิ่น  แต่ต้องออกบิณฑบาตก่อน  ทำให้พลาดหมู่เกวียน  จึงขอพระพุทธานุญาตถวายภัตสำหรับภิกษุที่จะเดินทาง

นางวิสาขาเห็นพระที่ป่วยไข้ได้อาหารที่ไม่เหมาะกับโรค  จึงขอพระพุทธานุญาตถวายภัตสำหรับภิกษุไข้

นางวิสาขาเห็นพระที่คอยพยาบาลภิกษุไข้ต้องอดบิณฑบาต  จึงขอพระพุทธานุญาตถวายภัตสำหรับภิกษุที่ดูแลภิกษุไข้

นางวิสาขาเห็นพระที่ป่วยไข้ไม่มียาสำหรับรักษาโรค  จึงขอพระพุทธานุญาตถวายเภสัชสำหรับภิกษุไข้
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในวิสาขาวัตถุ)


ก่อนที่นางวิสาขาจะทำบุญถวายทาน  นางได้ดูไหมว่าตนเองเกิดวันอะไร  ควรจะถวายอะไร

สิ่งที่นางวิสาขาทำบุญถวายพระ  ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่านางเกิดวันอะไร  ถวายแล้วนางจะได้อานิสงส์อะไร

แต่ขึ้นอยูกับว่าผู้รับจำเป็นต้องใช้สิ่งใด  ถวายแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรต่อผู้รับ
.....

เห็นความแตกต่างในการเลือกสิ่งของทำบุญใน ๒ เหตุการณ์ไหมครับ

ย้อนกลับมาสำรวจตัวเราเอง
เราใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการเลือกสิ่งที่จะนำไปทำบุญ
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. วิสาขาวัตถุ (ว่าด้วยนางวิสาขากราบทูลขอพร)


กินอย่างไรเมื่อมีข่าวไขมันทรานส์


สืบเนื่องจากประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเร็ว ๆ นี้  ที่มีคำสั่งห้ามการผลิต  นำเข้า  หรือจำหน่ายอาหารที่มีไขมันทรานส์
ทั้งนี้  อาหารที่มีไขมันทรานส์อยู่มาก  ได้แก่  เนยขาว  เนยเทียม  คุ้กกี้  โดนัท  วิปครีม  ขนมขบเคี้ยว  และอาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ

หลังจากมีการเผยแพร่ประกาศฉบับนี้ออกมาไม่นาน  ก็มีข่าวคนไทยป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น  และผู้ที่ชอบกินบุฟเฟต์ - หมูกระทะจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง  ประกาศออกมาอีก

หลายคนจึงมีคำถามว่า  "อันนั้นก็ห้ามกิน  อันนี้ก็ห้ามกิน  แล้วจะกินอะไรได้บ้างนี่"
.....


(ขอบคุณภาพจาก thairath.co.th)


ในสมัยหนึ่ง  มีสามีภรรยาคู่หนึ่งเดินทางไกลในทางทุรกันดารพร้อมลูกน้อย ๑ คน
เสบียงที่เตรียมไว้ได้หมดไปก่อนที่จะถึงจุดหมาย  ระยะทางก็ยังอีกไกล

ทั้ง ๒ คนมีความคิดว่า  "ถ้าพวกเราเดินทางต่อไปทั้งที่ไม่มีเสบียงอย่างนี้  คงต้องตายหมดทั้งพ่อแม่ลูกแน่ ๆ"
จึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร
ในที่สุด  ก็คิดว่า  "เราคงต้องเสียสละฆ่าลูกน้อยสุดที่รักคนนี้  แล้วกินเนื้อของลูกเป็นเสบียงไปจนกว่าจะถึงที่หมาย"

เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น  เขาก็ฆ่าลูก  แล้วนำเนื้อลูกไปทำเนื้อย่างและเนื้อเค็ม  กินเนื้อลูกนั้นไปตลอดเส้นทางที่เหลือจนถึงจุดหมาย
พวกเขากินเนื้อลูกไป  พลางร่ำไห้ไปว่า  "ลูกสุดที่รักของพ่อ  ลูกสุดที่รักของแม่"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
"พวกเขากินเนื้อบุตรเป็นอาหาร  เพราะติดรสชาติ  เพราะความอร่อย  เพราะความมัวเมา  ใช่หรือไม่"

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า  "ไม่ใช่อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"

"พวกเขากินเนื้อบุตรเป็นอาหาร  เพราะความจำเป็น  เพราะต้องข้ามทางกันดาร  ใช่หรือไม่"

"อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในปุตตมังสสูตร)


ในการฉันอาหารของพระสงฆ์  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า
"ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว  จึงฉันบิณฑบาต
ไม่ใช่เพื่อเล่น  ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา  ไม่ใช่เพื่อประดับ  ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง
แต่เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ได้  เพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป  เพื่อบำบัดความหิว  เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์
ด้วยคิดเห็นว่า  'โดยอุบายนี้  เราจะกำจัดเวทนาเก่า (คือความหิว) เสียได้  และจะไม่ให้เวทนาใหม่ (คือความอิ่มจนแน่นอึดอัด) เกิดขึ้น  ความดำรงอยู่แห่งชีวิต  ความไม่มีโทษ  และการอยู่โดยผาสุกก็จะมีแก่เรา'
แล้วจึงบริโภคอาหาร"
.....


ไม่เฉพาะเพียงพระสงฆ์เท่านั้น  แม้แต่ฆราวาสผู้ครองเรือน  ถ้าสามารถสร้างนิสัยการกินได้อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน  ก็คงจะดีไม่น้อย

ไม่ใช่เพื่อเล่น - ดูหนังไปกินไป  ขนมว่าง  ขนมขบเคี้ยว  กินจุบกินจิบ
ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา - กินของแพง  ของลดราคา  ของฟรี  ของอร่อย
ไม่ใช่เพื่อประดับ - ให้ร่างกายอ้วนพี  ดูหรูหรามีฐานะ
ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง - ให้ดูเปล่งปลั่ง  มีผิวพรรณดี

แต่ให้เห็นอาหารเป็นเหมือนเนื้อของลูก
เราจะกินเพียงเท่าที่จำเป็น  ไม่ติดรสชาติ  ไม่มัวเมาในอาหาร  ไม่กินจนอึดอัด

เหตุการณ์ที่ทรงอุปมาขึ้นมานี้  มิได้หมายความว่าเราจะต้องกินเนื้อลูกจริง ๆ
แต่เพียงให้เปรียบเทียบถึงอารมณ์การกินเพียงเพราะความจำเป็น  กับอารมณ์การกินเพราะความอยาก

ถ้าเราสามารถสร้างนิสัยการกินได้อย่างนี้  ความมัวเมาในอาหารก็จะลดน้อยลง
ปัญหาที่ว่า  "อันนั้นก็ห้ามกิน  อันนี้ก็ห้ามกิน  แล้วจะกินอะไรได้บ้าง"  ก็จะหมดไป
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ปุตตมังสสูตร (ว่าด้วยเนื้อบุตร)


มีปัญหาชีวิต ต้องแก้อย่างไร


เด็กคนหนึ่งเกิดมาในตระกูลคนยากจน
เขามีรูปร่างประหลาด  มือเท้าไม่สมประกอบ
แถมยังมีหน้าตาอัปลักษณ์  ตา  หู  จมูก  ปาก  ไม่อยู่ในตำแหน่งปกติ
ตั้งแต่วันที่เขาปฏิสนธิในท้องมารดา  จนกระทั่งคลอดออกมา  ครอบครัวก็หากินฝืดเคืองมาตลอด

สมมติว่าคุณเป็นเด็กคนนั้น
ร่างกายก็ไม่สมประกอบ  เกิดมามีชีวิตอาภัพอย่างนี้
คุณจะทำอย่างไร
.....


(ขอบคุณภาพจาก mthai.com)


หลายคนที่ชีวิตอาจจะไม่ราบรื่น  มีปัญหาอุปสรรคตลอดเวลา
หรือแม้บางคนที่ชีวิตไม่ได้มีปัญหาอะไรมากนัก
แต่มีคนมาทักว่าโครงหน้าไม่ดี  โหงวเฮ้งไม่ดี  มีปานตรงนั้น  มีไฝตรงนี้
แล้วชวนให้ศัลยกรรมผ่าตัด  เพื่อเปลี่ยนโครงหน้าให้ดี  ให้โหงวเฮ้งดีขึ้น
สิ่งเหล่านี้  เพื่อที่จะให้ชีวิตดีขึ้น  ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ลดน้อยลง

คุณคิดว่าอย่างไร
.....

สำหรับเด็กที่หน้าตาอัปลักษณ์คนนั้น  เกิดมาพิกลพิการ  ลำบาก
ถ้าเด็กคนนั้นไปผ่าตัดให้ร่างกายสมบูรณ์ขึ้น
คุณคิดว่าชีวิตของเขาจะพ้นจากความลำบากได้จริงไหม

ย้อนกลับไปดูในอดีตชาติที่แล้ว
เด็กคนนี้เคยเป็นเศรษฐีคนหนึ่ง  แต่มีนิสัยตระหนี่  ขี้เหนียว
แม้จะสอนลูกสอนหลาน  ก็สอนให้เป็นคนตระหนี่เหมือนตน
เขากลัวทรัพย์สินจะหมดสิ้นไป  จึงไม่ยอมบอกที่ฝังขุมทรัพย์ของตนให้ใครรู้แม้กระทั่งลูกของตัวเอง

ด้วยความตระหนี่อันเป็นมลทินในใจนี้เอง
หลังจากตายแล้ว  เศรษฐีตระหนี่ผู้นี้จึงมาเกิดเป็นเด็กหน้าตาอัปลักษณ์เช่นนี้
และด้วยผลของความตระหนี่ในชาตินั้นเอง  ทำให้เขาต้องมีชีวิตที่ยากลำบากในชาตินี้
(อ่านเพิ่มเติมได้ในอานันทเสฏฐิวัตถุ)
.....

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว
แม้จะมีใครทำศัลยกรรมผ่าตัดให้เด็กคนนี้  ให้มีรูปร่างหน้าตาปกติ  ให้มีร่างกายปกติ
หรือแม้จะยิ่งไปกว่านั้น  ศัลยกรรมให้มีโหงวเฮ้งดีตามตำรากันเลย
แต่ความยากลำบากในชีวิตจะหมดสิ้นไปไหม

สาเหตุของการมีชีวิตยากลำบาก  มีปัญหาอุปสรรคมากมาย
ไม่ได้เกิดจากการมีหน้าตาขี้เหร่
ไม่ได้เกิดจากการมีโหงวเฮ้งไม่ดี
ไม่ได้เกิดจากการมีไฝตรงนั้น  มีปานตรงนี้

การศัลยกรรมปรับเปลี่ยนใบหน้า  การเอาไฝเอาปานออก
จึงไม่ช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้จริง

เราทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  และเป็นผู้รับผลของกรรมที่เราทำมาเอง
ฉะนั้น  ถ้าต้องการให้มีชีวิตราบรื่น  ไม่มีปัญหาอุปสรรค
ก็ควรแก้ให้ถูกจุด

กรรมในอดีตที่ผ่านมาแล้ว  เราไม่สามารถย้อนเวลาไปแก้ไขอะไรได้
ปัญหาชีวิตในปัจจุบัน  ก็เป็นผลมาจากการกระทำของเราเองที่เราต้องยอมรับ

แต่สิ่งสำคัญที่เราจะทำได้ในเวลานี้  และต่อ ๆ ไป
คือ  ทำแต่กรรมดี  ละเว้นกรรมที่ไม่ดีทั้งปวง
เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาชีวิตในอนาคตข้างหน้า

ดีกว่าเสียเวลาไปแก้ผิดจุด  แก้ผิดที่ผิดทาง  และไม่ได้ผลจริง
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. อานันทเสฏฐิวัตถุ (เรื่องอานนทเศรษฐี)


ทำไมต้องหาคนผิด


นสมัยพุทธกาล  มีภิกษุกลุ่มหนึ่งจำนวน ๗ รูปเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ระหว่างทาง  ได้ขอเข้าพักค้างแรมที่วัดแห่งหนึ่ง
เจ้าอาวาสได้จัดสถานที่ในถ้ำให้พักอาศัย

ตกกลางคืน  หินขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งได้กลิ้งลงมาปิดประตูถ้ำนั้น
เจ้าอาวาสได้ให้ชาวบ้านมาช่วยกันผลักหินก้อนนั้น
แต่แม้จะเกณฑ์ชาวบ้านมาถึง ๗ หมู่บ้าน  ก็ไม่สามารถทำให้หินนั้นเคลื่อนออกไปได้

ภิกษุทั้ง ๗ รูปติดอยู่ในถ้ำนั้นนานถึง ๗ วันโดยไม่มีอาหารตกถึงท้องเลย  ต้องทรมานเพราะความหิวเป็นอันมาก

ในวันที่ ๗  หินก้อนนั้นก็ได้เคลื่อนออกไปเองราวปาฏิหาริย์

เมื่อภิกษุทั้ง ๗ รูปออกจากถ้ำได้แล้ว  จึงเดินทางต่อเพื่อไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
แล้วได้กราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ
.....

พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากกรรมที่ภิกษุเหล่านั้นทำไว้เอง

ในอดีตชาติ  ภิกษุเหล่านั้นเกิดเป็นเด็กในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ทั้งหมดเป็นเพื่อนกัน
วันหนึ่ง  เด็กเหล่านั้นเจอเหี้ยตัวหนึ่ง  จึงช่วยกันไล่จับ
แต่เหี้ยตัวนั้นวิ่งหนีเข้าไปในจอมปลวกซึ่งมีรูอยู่ ๗ รู
เด็กเหล่านั้นจึงหาใบไม้  กิ่งไม้  ไปอุดรูนั้นไว้ทั้งหมด
แล้วคิดว่าวันพรุ่งนี้จะมาจับเหี้ยตัวนั้นใหม่

แต่วันรุ่งขึ้น  เด็กเหล่านั้นพากันลืมนึกถึงเหี้ยตัวนั้น

ผ่านไป ๗ วัน
เด็กเหล่านั้นเดินไปเห็นจอมปลวก  ก็นึกถึงเหี้ยตัวนั้นได้  จึงรีบเปิดช่องรูเหล่านั้น

เหี้ยตัวนั้นอดอาหารอยู่ในนั้นนาน ๗ วัน  ซูบผอม  ตัวสั่น  ได้คลานออกมาอย่างน่าเวทนา
เด็กเหล่านั้นเห็นแล้วจึงปล่อยเหี้ยตัวนั้นให้เป็นอิสระ
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในการเบียดเบียนนำทุกข์มาให้  (ตอนที่ ๓))

นี่คืออกุศลกรรมที่เด็ก ๗ คนนั้นทำไว้
ในชาตินี้  จึงต้องมาติดอยู่ในถ้ำและอดอาหารนาน ๗ วัน



(ขอบคุณภาพจาก www.tourismthailand.org)


ปลายเดือนที่แล้ว
มีข่าวของเด็กกลุ่มหนึ่งเข้าไปในถ้ำแล้วออกไม่ได้  เพราะเกิดฝนตกหนัก  ทำให้น้ำไหลเข้าไปท่วมปิดทางออก
สถานการณ์คล้ายคลึงกันกับภิกษุ ๗ รูปที่ถูกหินปิดปากถ้ำ

ณ วันนี้ (๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑)  แม้ทีมค้นหาจะพบเด็กกลุ่มนี้แล้ว
แต่ยังไม่สามารถช่วยออกมาจากถ้ำได้ทันที
ยังต้องมีขั้นตอนในการเคลื่อนย้ายและเยียวยารักษาอีก

อย่างไรก็ตาม  ก็เริ่มมีคนพูดถึงเรื่องนี้ว่าเป็นความผิดของใคร
บ้างก็ว่าเป็นความผิดของเด็ก  เพราะเด็กซน  เข้าไปเล่นในถ้ำเอง
บ้างก็ว่าเป็นความผิดของผู้ใหญ่ที่ไปกับเด็ก  เพราะผู้ใหญ่ไม่ห้าม  แต่กลับเข้าไปในถ้ำกับเด็กด้วย
โทษคนนั้น  โทษคนนี้

แต่เราจะได้ประโยชน์อะไร  จากการรู้ว่าใครผิด
.....

เหตุการณ์ที่ภิกษุ ๗ รูปติดอยู่ในถ้ำ
พระพุทธเจ้าก็มิได้ตรัสว่าเป็นความผิดของภิกษุทั้ง ๗ รูป
และมิได้ตรัสว่าเป็นความผิดของภิกษุเจ้าอาวาส
เพราะไม่มีประโยชน์อะไร

แต่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงอกุศลกรรมที่ภิกษุเหล่านั้นเคยทำมาในอดีต
เป็นเหตุให้ต้องมารับผลกรรมในชาตินี้
การรู้อย่างนี้  เป็นประโยชน์มากกว่า
เพราะจะทำให้เรากลัวที่จะทำบาปอกุศลกรรมใหม่

สำหรับเหตุการณ์ของเด็กติดถ้ำ
แม้เราจะระลึกชาติไม่ได้  ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอกุศลกรรมอะไรที่เด็กกลุ่มนี้เคยทำมาก่อน
แต่เรารู้ว่า  "ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากเหตุ"
"สิ่งที่ดี  เกิดจากเหตุที่ดี
สิ่งที่ไม่ดี  เกิดจากเหตุที่ไม่ดี"
รู้และตระหนักในข้อนี้  ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการเที่ยวหาคนผิด
.....

อย่ามัวเสียเวลากับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์  เที่ยวโทษคนนั้น  โทษคนนี้

ใช้เวลาในการทำความเห็นให้เป็นสัมมาทิฏฐิ
ตระหนักในเรื่องกรรมและผลของกรรมให้ดี
เพื่อให้เราละเว้นจากอกุศลกรรมทั้งปวงให้ได้
จะมีประโยชน์ต่อตัวเราเองมากกว่า
..........


ตัวช่วยแก้เหตุร้าย


ใครเคยสวดพระคาถาบทนี้บ้าง  ชื่อพระคาถาว่า  อภยปริตร
บทสวดมีดังนี้

ยันทุนนิมิตตัง  อะวะมังคะลัญจะ
โย  จามะนาโป  สะกุณัสสะ  สัทโท
ปาปัคคะโห  ทุสสุปินัง  อะกันตัง
พุทธานุภาเวนะ  วินาสะเมนตุ ฯ

ยันทุนนิมิตตัง  อะวะมังคะลัญจะ
โย  จามะนาโป  สะกุณัสสะ  สัทโท
ปาปัคคะโห  ทุสสุปินัง  อะกันตัง
ธัมมานุภาเวนะ  วินาสะเมนตุ ฯ

ยันทุนนิมิตตัง  อะวะมังคะลัญจะ
โย  จามะนาโป  สะกุณัสสะ  สัทโท
ปาปัคคะโห  ทุสสุปินัง  อะกันตัง
สังฆานุภาเวนะ  วินาสะเมนตุ ฯ

คำแปลของพระคาถาบทนี้  มีอยู่ว่า
ลางร้ายใด ๆ  อัปมงคลใด ๆ  เสียงนกที่น่าสะพรึงกลัวใด ๆ  เคราะห์ร้ายและฝันร้ายที่ไม่น่าปรารถนาใด ๆ
ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า  อานุภาพของพระธรรม  อานุภาพของพระสงฆ์  ขอความเลวร้ายทั้งปวงเหล่านั้นจงพินาศไปสิ้น
.....



(ขอบคุณภาพจากแฟ้มภาพ www.thairath.co.th)


ครั้งหนึ่ง  มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า

"มีพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวอ้างว่าสามารถทำคนที่ตายแล้วให้ไปสวรรค์ได้"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
"บุรุษใดก็ตามที่ประพฤติทุจริตทางกาย  วาจา  ใจ
แม้จะมีคนมาสวดสรรเสริญ  ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า  'ขอบุรุษนี้หลังจากตายแล้วจงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์เถิด'
ถึงกระนั้นก็ตาม  อกุศลกรรมที่เขาทำไว้นั้นก็จะเป็นเหตุให้เขาไปเกิดในอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก

ในทางกลับกัน
บุรุษใดก็ตามที่ประพฤติสุจริตทางกาย  วาจา  ใจ
แม้จะมีคนมาสวดสาปแช่ง  ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า  'ขอบุรุษนี้หลังจากตายแล้วจงไปเกิดในอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรกเถิด'
ถึงกระนั้นก็ตาม  กุศลกรรมที่เขาทำไว้นั้นก็จะเป็นเหตุให้เขาไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์"
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในอสิพันธกปุตตสูตร)


ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า ...
ที่เราคิดว่าพระพุทธเจ้าสามารถปัดเป่าภัยอันตรายให้หายไปได้
แต่แม้พระพุทธเจ้าเองก็ยังต้องรับผลของกรรมที่พระองค์เคยกระทำไว้ในอดีตชาติ
ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกกล่าวตู่ว่าทำนางจิญจมาณวิกาท้อง
ถูกพระเทวทัตกลิ้งก้อนหินใหญ่เพื่อให้หล่นมาทับ
และถูกกระทำเหตุร้ายอื่น ๆ อีกมาก
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในผลกรรมที่พระพุทธเจ้าได้รับ)


ด้วยอานุภาพของพระธรรม ...
ที่เราคิดว่าการจำธรรมได้มาก  จำปาติโมกข์ได้ทั้งหมด  สวดมนต์ได้หลายบท  จะช่วยปัดเป่าภัยอันตรายให้หายไปได้
พระโปฐิละผู้เป็นธรรมกถึก  รู้ธรรมมาก  เป็นครูสอนธรรมให้แก่คณะต่าง ๆ ถึง ๑๘ คณะ
แต่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นใบลานเปล่า  คัมภีร์เปล่า  เพราะไม่ได้รับผลใด ๆ จากการปฏิบัติ
เกือบจะต้องไปอบาย
โชคดีที่สำนึกตัว  รับฟังคำชี้แนะจากสามเณรจนบรรลุธรรมได้
.....


ด้วยอานุภาพของพระสงฆ์ ...
ที่เราคิดว่าพระสงฆ์จะสามารถปัดเป่าภัยอันตรายของเราให้หายไปได้
แต่แม้พระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า
มารดาของท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ  ไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา  เสี่ยงที่จะไปอบาย
พระสารีบุตรก็ไม่สามารถดลบันดาลฤทธิ์ช่วยมารดาได้
แต่พระสารีบุตรออกอุบายให้มารดาได้มีโอกาสฟังธรรม  จนเกิดดวงตาเห็นธรรม  และพ้นอบายได้
.....


สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  เป็นผู้รับผลของกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ใครทำกรรมใดไว้  จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม  ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

พระโปฐิละก็ต้องทำกรรมอันดี  เพื่อเป็นที่พึ่งอาศัยของตน
มารดาของพระสารีบุตรก็ต้องทำกรรมอันดี  เพื่อเป็นที่พึ่งอาศัยของตน
ไม่มีใครทำแทนให้ใครได้
พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  ก็ทำแทนให้เราไม่ได้
.....

พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  ไม่ได้มีอานุภาพที่จะช่วยดลบันดาลให้ใครรอดพ้นจากภัยอันตรายต่าง ๆ ตามผลของกรรมที่เคยทำมาได้
การขอให้พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  ช่วยปัดเป่าภัยอันตรายให้พ้นไป  ย่อมเป็นไปไม่ได้

อานุภาพของพระพุทธเจ้า  เกิดจากการตรัสรู้และเผยแผ่พระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้แล้วเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก

อานุภาพของพระธรรม  เกิดจากการศึกษา (ทั้งปริยัติและปฏิบัติ) อย่างจริงจัง  จนเกิดประโยชน์สุขแก่ผู้ที่ศึกษานั้น

อานุภาพของพระสงฆ์  เกิดจากการปฏิบัติตรงตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  และบอกกล่าวแก่สัตว์โลกที่ต้องการรู้ธรรมเห็นธรรมตาม

อานุภาพทั้ง ๓ นี้จะให้ผลเกิดขึ้นเป็นประโยชน์แก่เรา
ก็ต่อเมื่อเราปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
โดยมีพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบคอยชี้แนะ
ให้เราตั้งมั่นที่จะประพฤติสุจริต  ละเว้นขาดจากการประพฤติทุจริตทั้งปวง
เมื่อกระทำแต่กรรมดี  ไม่ทำกรรมชั่ว  เหตุร้ายต่าง ๆ  เรื่องอัปมงคล  หรือเรื่องที่น่าสะพรึงกลัว  ก็จะไม่เกิดขึ้นกับเรา
นี่แลคือการปัดเป่าภัยอันตรายได้อย่างแท้จริง

อย่าหวังพึ่งตัวช่วยใด ๆ  โดยไม่ทำที่พึ่งอันดีของตนเอง  ด้วยตนเอง
ตัวช่วยแก้เหตุร้ายที่ดีที่สุด  คือตัวเราเองที่มีธรรม

ตนแล (ที่มีธรรม) เป็นที่พึ่งแห่งตน
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. อสิพันธกปุตตสูตร (ว่าด้วยผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตร)


มองโทษประหารอย่างชาวพุทธ


ไม่กี่วันมานี้  มีข่าวการประหารชีวิตนักโทษในไทยเป็นครั้งแรกในรอบ ๙ ปี
มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย  และฝ่ายที่คัดค้าน
ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลที่สนับสนุนความเห็นของตน

การลงโทษผู้ที่กระทำความผิด  ด้วยวิธีการที่รุนแรง  จนถึงขั้นประหารชีวิต  ก็มีปรากฏอยู่แม้ในสมัยพุทธกาล

แต่สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้คืออย่างไร
.....


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


ในทางพระพุทธศาสนา

คำว่า  "กาม"  หมายถึง  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส
(ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเจาะจงเรื่องของเพศสัมพันธ์อย่างที่หลายคนเข้าใจ)

สิ่งที่คนทั้งหลายปรารถนา  ก็หนีไม่พ้นกามทั้ง ๕ เหล่านี้  คือ  รูปสวย  เสียงเพราะ  กลิ่นหอม  รสอร่อย  สัมผัสอ่อนนุ่ม
นี่คือคุณของกาม  หรือที่เรียกว่า  กามคุณ

แต่กามไม่ได้มีเพียงสิ่งที่เป็นคุณที่ชาวโลกต้องการเท่านั้น
กามยังให้โทษให้ทุกข์อีกมาก

เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งกามที่ปรารถนา
บางคนจึงอดหลับอดนอน  ทำงานหาเงินหามรุ่งหามค่ำ  ยอมเหน็ดยอมเหนื่อย
แต่แม้จะขยันแค่ไหน  บางครั้งก็ไม่ได้กามตามที่ปรารถนา
หรือแม้จะได้มาแล้ว  ก็มีความกลัวว่าจะเสียหาย  หรือจะถูกขโมยไป

ยิ่งไปกว่านั้น  เพราะกามเป็นเหตุ  การทะเลาะวิวาทก็เกิดขึ้น  การทำร้ายร่างกายก็เกิดขึ้น  การทำผิดกฎหมายก็เกิดขึ้น  การกระทำผิดศีลก็เกิดขึ้น

เมื่อมีการทะเลาะวิวาท  ทำร้ายร่างกาย  ก็อาจจะบาดเจ็บ  หรือเสียชีวิต
เมื่อทำผิดกฎหมาย  ก็ถูกจับกุม  กักขัง  ลงโทษ
เมื่อทำผิดศีล  หลังจากตายไป  ก็ต้องไปนรก
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในจูฬทุกขักขันธสูตร)


จะเห็นว่า  การที่ใครสักคนจะทำผิดกฎหมาย  แล้วถูกจับกุม  ถูกลงโทษ  ตั้งแต่โทษเบา  จนถึงโทษหนัก  ตั้งแต่ทรมาน  จนถึงประหารชีวิต  มีสาเหตุมาจากความปรารถนาในกาม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นโทษของกามว่าน่ากลัวยิ่งนัก

เราไม่ควรเสียเวลาในการโต้เถียงกันว่านักโทษสมควรถูกประหารชีวิตหรือไม่
แต่ควรใช้เวลามาตระหนักถึงโทษทุกข์ที่เกิดจากกาม  แล้วยับยั้งการกระทำที่ผิดกฎหมาย  หยุดการกระทำที่ผิดศีลได้  น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร  ก็แล้วแต่เขาเถิด
กลับมาตรวจสอบตัวเราเองดีกว่า
เราเห็นโทษเห็นภัยของกามหรือยัง
เราสามารถหยุดการกระทำที่เป็นอกุศลได้หรือไม่

ใครที่ทำได้  โทษประหารก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวสำหรับเขาเลย
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. จูฬทุกขักขันธสูตร (ว่าด้วยกองทุกข์  สูตรเล็ก)