พึงยินดีในการให้


ที่จังหวัดเกาสง  ประเทศไต้หวัน  มีอาม่าวัยชราคนหนึ่งขายข้าวแกงอยู่ที่ตีนสะพานแห่งหนึ่  อาม่าตักข้าวให้ลูกค้าพูนจานทุกคน  กับข้าวนานาชนิดที่อยู่บนแผงขาย  มีทั้งผัก  ทั้งหมู  ทั้งปลา  จะตักกับข้าวเท่าไรก็ได้  อาม่าคิดเงินเพียง ๑๐ ดอลล่าร์ไต้หวัน (ประมาณ ๑๐ บาทไทย) เท่านั้น  เป็นไปไม่ได้เลยที่อาม่าจะมีกำไร  แต่อาม่าก็ขายข้าวแกงที่แผงเล็กๆนี้มา ๕๕ ปีแล้ว

อาม่าคนนี้ชื่อ  จวงจูอวี้  เป็นชาวเผิงหู่  ตอนอายุ ๑๖ ก็แต่งงานมาอยู่ที่เกาสง  หลังแต่งงานได้ไม่นาน  สามีก็ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร  แกตัวคนเดียวต้องเลี้ยงลูกด้วยตนเอง  ระหกระเหเร่ร่อนไปทั่วสารทิศ  เคยไม่มีเงิน  หมดจนหนทาง  แต่แล้วก็ได้รับความช่วยเหลือจากคนงานจนๆที่ท่าเรือ  แกก็เลยจำขึ้นใจ


เมื่อสามีกลับมา  ชีวิตก็ดีขึ้นมาหน่อย  ทั้งคู่เช่าคลังสินค้าที่ท่าเรือเกาสง  แล้วเปิดบริษัทเอาของขึ้นลงจากเรือ  ตอนนั้นเอง  อาม่าพบว่าคนงานที่ท่าเรือนี้เหนื่อยยากลำบากมาก  รายได้ก็น้อย  แม้แต่ที่ซุกหัวนอนก็ยังไม่มี

เมื่อนึกถึงตอนที่ตัวเองได้รับความช่วยเหลือจากคนงานที่ท่าเรือ  อาม่าก็รู้สึกซาบซึ้งใจมาก  แกจึงประกาศให้คนงานมานอนในคลังสินค้าของแกได้ฟรี

เมื่อปัญหาที่อยู่อาศัยหมดไป  อาม่าก็เริ่มสงสารที่คนงานไม่เคยได้กินอาหารร้อน ๆ  แกก็เลยทำอาหารไปให้คนงานโดยไม่คิดเงิน  แกทำแบบนี้มาตลอดชีวิต  ทุกวัน  ไม่เคยหยุด  แกจะไปซื้ออาหารสดที่ตลาด  จากนั้นก็เอากลับมาล้าง  แล้วปรุงออกมาวางบนแผงเพื่อให้คนงานได้กินข้าวอิ่มๆตั้งแต่เช้า  ไม่ว่าฝนจะตก  พายุจะเข้า  อาม่าก็ไม่เคยหยุด


ไม่นาน  เรื่องราวความมีน้ำใจของอาม่าก็แพร่ขยายไปทั่ว  ไม่เพียงแค่คนงานที่ท่าเรือเท่านั้นที่มากินข้าว  คนจน  คนข้างถนนแถวนั้น  ก็มากินด้วย  มีคนมากินอาหารฟรีวันละกว่า ๒๐๐ คน  ยิ่งทำให้อาม่ารู้สึกว่าสิ่งที่แกทำสามารถช่วยเหลือผู้คนได้มากมาย  แกก็ยิ่งมีแรงที่จะทำต่อไป


การทำอาหารเลี้ยงคนจำนวนมากกินทุกวัน  ใช้เงินไม่น้อย  อาม่าก็ใช้เงินของตัวเองมาโดยตลอด  แต่เพื่อให้แผงข้าวอยู่ได้ต่อไป  แกก็เลยเริ่มเก็บเงินจานละ ๓ ดอลล่าร์ไต้หวัน  ๕ ดอลล่าร์ไต้หวัน  ขายราคานี้มา ๑๐ ปี  จึงได้ขึ้นเป็น ๑๐ ดอลล่าร์ไต้หวัน  แต่กระนั้น  ถ้ามีคนลำบากมาที่แผง  แกก็จะให้กินจนอิ่มโดยไม่เก็บเงิน


เมื่อเงินเก็บของอาม่าเริ่มหมดไป  อาม่าก็หาทางออกด้วยตัวแกเอง  หลังจากเก็บแผงข้าวแกงแล้ว  ก็ไปเก็บขยะขายบ้าง  เงินที่ลูกๆให้ไว้ใช้ส่วนตัวก็เอามาใช้ตรงนี้  ต่อมาก็ถึงกับขายบ้าน  และไปกู้เงินนอกระบบเพื่อมาช่วยส่วนนี้ด้วย  อาม่าไม่ได้ช่วยแค่เรื่องอาหาร  เมื่อคนงานที่ท่าเรือไม่มีเงินแต่งงาน  อาม่าก็จะออกเงินจัดงานแต่งงานให้เหมือนว่าทุกคนเป็นญาติของแกเอง


อาม่าทำอย่างนี้มาตลอด  ทำความดีโดยไม่ได้หวังผลตอบแทน  แม้อายุจะมากขึ้นก็ตาม

ตอนช่วงอายุ ๗๐  สุขภาพของอาม่าเริ่มแย่ลง  จากที่ทำอาหาร ๓ มื้อ  ก็ต้องลดเหลือแค่ ๒ มื้อ
พอช่วงอายุ ๘๐  สุขภาพก็แย่ลงเรื่อย ๆ  จนต้องนอนบนเตียงไปไหนไม่ได้  แต่อาม่าก็ยังห่วงกังวลว่าคนงานจะไม่มีข้าวกิน  พอวันไหนอาการดีขึ้นมาหน่อย  แกก็รีบไปทำอาหารขายเหมือนเดิม  ลูกหลานห้ามก็ไม่ฟัง  จึงต้องประนีประนอมให้เหลือแค่วันละมื้อ

แต่ความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้  ต่อมาไม่นาน  อาม่าเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตก  ต้องนอนอยู่บนเตียงอีก  หลังจากนั้น ๕ ปีแกก็เสียชีวิต  ตั้งแต่นั้นมา  ก็ไม่มีแผงข้าวแกงเพื่อคนจนของอาม่าอีกต่อไป


ในงานศพของอาม่า  มีคนมาร่วมงานมากกว่า ๒,๐๐๐ คน  พวงหรีดวางยาวเรียงต่อกันหลายร้อยเมตร

คนงานท่าเรือทั้งในอดีตและปัจจุบันมากมายมางานศพอาม่า  พวกเขาระลึกถึงบุญคุณที่อาม่าเคยช่วยเหลือพวกเขาในยามลำบาก  ทุกคนร้องไห้น้ำตาไหลพราก
หลังจากครบรอบ ๑ ปีวันเสียชีวิตของอาม่า  ลูกๆของแกก็จัดตั้งมูลนิธิจวงจูอวี้  เพื่อทำตามปณิธานของแม่ต่อไป
(ขอบคุณบทความแปลและภาพประกอบโดย  http://www.liekr.com/post_153803.html)



โดยทั่วไปแล้ว  การที่ใครสักคนจะยอมสละสิ่งที่ตนเป็นเจ้าของ  ทำบุญให้ทานแก่ผู้อื่น  เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น  โดยไม่หวังผลตอบแทน  ไม่ใช่จะทำได้ง่าย
แต่ถ้าเราสามารถละความตระหนี่ที่มีอยู่ในใจ  เป็นผู้ยินดีในการให้  เราจะรู้สึกได้ถึงความสุขที่เกิดขึ้นในใจ  ความสุขที่เกิดจากการเป็นผู้ให้

นอกจากความสุขใจแล้ว  การทำบุญให้ทานที่ทำด้วยความเต็มใจ  มีความยินดีที่จะให้  ก็ยังมีผลมีอานิสงส์อีกหลายประการ .....


ในสมัยพุทธกาล  มีผู้กราบทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ในสีหเสนาปติสูตร) ว่า  "การทำบุญให้ทานจะมีผลอะไรที่พึงเห็นประจักษ์ด้วยตนเองได้บ้าง"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสตอบถึงผล ๕ ประการนี้  คือ
๑. ทำให้เราเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป
๒. คนดีย่อมอยากคบหาสมาคมด้วย
๓. ชื่อเสียงที่ดีงามก็เป็นที่เลื่องลือไป
๔. ทำให้เป็นผู้องอาจผ่าเผย  จะไปในที่ใดก็ไม่เก้อเขิน  เพราะเป็นผู้ที่ได้ทำความดีไว้
๕. หลังจากตายแล้ว  จะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

เมื่อฟังจบ  เขากราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

ใน ๔ ข้อแรกนั้น  เขาไม่เพียงแต่เชื่อเท่านั้น  แต่เขายังเห็นประจักษ์ในผลที่เกิดขึ้นทั้ง ๔ ข้อนั้นด้วย  เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเองจริง ๆ  คือ  เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป  คนดีเข้ามาคบหาสมาคมด้วย  ชื่อเสียงอันดีงามฟุ้งขจรไป  และเมื่อจะไปในที่ใด  ก็ไม่ต้องอาย  ไม่ต้องหลบซ่อน  เป็นผู้แกล้วกล้า  ไปได้ทุกที่อย่างสง่าผ่าเผย

แต่ในข้อที่ ๕ นั้น  เขายังไม่ประจักษ์แก่ตัวเอง (เพราะยังไม่ตาย)  แต่เชื่อตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเป็นจริงตามนั้นแน่นอน .....


ฉะนั้น  การละความตระหนี่ที่มีอยู่ในใจ  เป็นผู้ยินดีในการให้  เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
นอกจากจะได้รับความสุขเกิดขึ้นในใจแล้ว
ยังมีผลมีอานิสงส์อีกมากที่จะเกิดขึ้นกับเราได้แม้ในชาติปัจจุบันนี้  จนถึงในสัมปรายภพได้อีกด้ว

สมดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

       "นรชนผู้ไม่ตระหนี่  ให้ทานอยู่
ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก
คนหมู่มากย่อมคบหานรชนนั้น
เขาย่อมได้รับเกียรติ  เจริญด้วยยศ
เป็นผู้ไม่เก้อเขิน  แกล้วกล้า  เข้าสู่บริษัท
       เพราะเหตุนั้นแล  บัณฑิตทั้งหลายผู้หวังสุข
จงขจัดความตระหนี่อันเป็นมลทิน  แล้วให้ทาน
บัณฑิตเหล่านั้นย่อมดำรงในไตรทิพย์ (สวรรค์)
ถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทวดา
รื่นเริงอยู่ตลอดกาลนาน
       บัณฑิตเหล่านั้นได้โอกาสบำเพ็ญกุศลแล้ว
ละโลกนี้ไป  ย่อมมีรัศมีเปล่งปลั่ง
เที่ยวชมไปในอุทยานชื่อนันทวัน (เป็นชื่อสวนดอกไม้ที่อยู่บนสวรรค์)
เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕
เพลิดเพลิน  รื่นเริง  บันเทิง  อยู่ในนันทวันนั้น
       สาวกทั้งปวงของพระสุคต  ผู้ไม่มีกิเลส  ผู้คงที่
ทำตามพระดำรัสของพระองค์แล้ว
ย่อมรื่นเริงในสวรรค์"

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง


การทำบุญให้ทานไม่ใช่การลงทุน


เคยสังเกตกันบ้างไหมครับว่า
ตอนที่เราบริจาคเงินให้มูลนิธิต่าง ๆ  เช่น  มูลนิธิเด็ก  มูลนิธิกระจกเงา  มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  หรืออื่น ๆ
เพราะเราอยากสนับสนุนโครงการของมูลนิธินั้น ๆ ในการช่วยเหลือสังคม
ตอนที่เราบริจาคโลหิต  เพราะเราอยากช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการโลหิตในการรักษา
ตอนที่เราบริจาคข้าวสารอาหารแห้งและน้ำดื่ม  เพราะเราอยากช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ตอนที่เราบริจาคเงินบำรุงโรงพยาบาลสงฆ์  เพราะเราอยากช่วยเหลือพระภิกษุอาพาธ
ตอนที่เราบริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่  เพราะเราอยากให้ร่างกายที่ตายแล้วเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาแพทย์
ตอนที่เราถวายสังฆทาน  เพราะเราอยากบำรุงพระภิกษุสามเณรให้มีปัจจัย ๔ ที่จำเป็นไว้ใช้สอย  เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป
ฯลฯ .....

ที่เราทำไปทั้งหมดนั้น  เพราะเราต้องการให้ผู้อื่นบรรเทาทุกข์  อยากเห็นเขามีความสุข

ซึ่งสิ่งที่เราได้จากการกระทำเหล่านั้น  ก็คือความสุขใจที่เกิดขึ้นกับเรา  เป็นความอิ่มเอิบใจที่เกิดขึ้น ... จากการเป็นผู้ให้

เมื่อเราคิดจะให้  แม้ยังไม่ได้ให้  เพียงแค่คิดว่าจะให้  ความสุขใจก็เกิดขึ้นแล้ว

ในขณะที่กำลังให้  ได้เห็นรอยยิ้มของผู้รับ  ก็ยิ่งสุขใจมากขึ้น
หลังจากให้ไปแล้ว  ระลึกถึงขึ้นมาครั้งใด  ก็ยังสุขใจอยู่เสมอ
แม้จะไม่มีอะไรตอบแทนกลับมา  แม้ผู้รับจะลืมกล่าวคำขอบคุณ
แต่เราในฐานะผู้ให้ ..... ก็มีความสุขเกิดขึ้น  เป็นสิ่งตอบแทน
นี่คืออานิสงส์ของการเป็นผู้ให้ที่จะบังเกิดขึ้นเฉพาะตน  เป็นสิ่งที่แต่ละคนจะสัมผัสได้ด้วยตนเอง

การให้ ..... ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องได้รับอะไรตอบแทนกลับมาหรือไม่
ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีใครรู้ใครเห็นหรือไม่
ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำให้เรามีคนรักได้หรือไม่
ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำให้เราร่ำรวยได้หรือไม่
ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำให้เรามีสุขภาพแข็งแรงได้หรือไม่
ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำให้เราไปสวรรค์ได้หรือไม่
เพราะถ้าเราให้เพื่อประโยชน์ผู้อื่น  เราให้ด้วยความเต็มใจ  เราให้โดยไม่เสียดาย
เมื่อให้แล้ว  สิ่งที่เราจะได้กลับมาแน่นอน  ก็คือความสุขใจ
.....


แต่ในทางกลับกัน
ตอนที่เราลำบาก  ประสบอุบัติเหตุ  เจ็บป่วย  พลัดพรากจากคนรัก  มีความทุกข์  ฯลฯ
เราทำบุญถวายสังฆทาน  เพราะเราคิดว่าจะได้อานิสงส์หมดเวรหมดกรรม
เราทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา  เพราะเราคิดว่าจะได้อานิสงส์อายุยืนยาว
เราทำบุญบริจาคเงินบำรุงโรงพยาบาลสงฆ์  เพราะเราคิดว่าจะได้อานิสงส์หายเจ็บหายป่วย
เราทำบุญทอดกฐิน  เพราะเราคิดว่าจะได้อานิสงส์ให้ร่ำรวยมีเงินมีทอง
เราทำบุญสร้างพระสร้างโบสถ์  เพราะเราคิดว่าจะได้อานิสงส์ประสบความสำเร็จในชีวิต  หรือคิดว่าจะได้อานิสงส์ไปสวรรค์ชั้นนั้นชั้นนี้
ฯลฯ .....

ที่เราทำไปทั้งหมดนั้น  เป็นการทำเพื่อตัวเอง  ไม่ใช่การทำเพื่อผู้อื่น

เราทำไปเพราะหวังจะได้สิ่งตอบแทนกลับมา
ซึ่งถ้าเราสังเกตให้ดี  ความสุขใจที่ควรจะเกิดจากการทำบุญให้ทาน  กลับไม่เกิดขึ้นกับเรา ???
และเมื่อสิ่งที่เราหวังจะได้ตอบแทนกลับมาไม่สัมฤทธิ์ผล  เราก็เป็นทุกข์ไปเสียอีก

ก่อนที่จะให้  แม้ยังไม่ได้ให้  ก็คิดว่าอานิสงส์ของบุญนี้จะช่วยได้หรือไม่หนอ

ในขณะที่กำลังให้  ก็คาดหวังอานิสงส์กลับมาเต็มที่
(เหมือนที่มีคนพูดว่า  "ทำบุญ ๑๐ บาท  หวังถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑")
หลังจากให้ไปแล้ว  เมื่ออานิสงส์ของทานนั้นยังไม่ให้ผล  ก็เป็นทุกข์
และเมื่อเวลาผ่านไป  ก็ไม่สามารถระลึกถึงการทำบุญให้ทานนั้นๆได้  หรือระลึกได้ก็เฉย ๆ
เพราะเราให้เพื่อประโยชน์ตัวเอง  เราไม่ได้สละให้ด้วยความเต็มใจ  เราให้โดยหวังผล
ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้  ความสุขใจที่ควรจะได้  จึงไม่ได้  ความอิ่มเอิบใจที่ควรจะเกิด  จึงไม่เกิด

ความลำบาก  อุบัติเหตุ  ความเจ็บป่วย  ความพลัดพรากจากคนรัก  อุปสรรคปัญหาต่างๆในชีวิตที่เกิดขึ้น  เราก็ยังต้องแก้ไขฟันฝ่าปัญหาเหล่านั้น
แต่การทำบุญให้ทานโดยคิดว่าจะได้อานิสงส์มาแก้ปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้  นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด  .....

ฉะนั้น  การทำบุญให้ทานที่มีเจตนาเพื่อตัวเอง  จึงเปรียบเหมือนการลงทุนโดยหวังผลตอบแทน  จิตใจจะไม่ได้รับความสุข

(หลายๆคนหลงเชื่อคำกล่าวอ้างโฆษณาที่ว่า  "ทำบุญให้ทานอย่างนั้นอย่างนี้  แล้วจะได้อานิสงส์อย่างนั้นอย่างนี้"  จึงทำให้การทำบุญให้ทานกลับกลายเป็นการลงทุน)

แต่การทำบุญให้ทานที่มีเจตนาเพื่อผู้อื่น  ถึงแม้อานิสงส์ของทานนั้นจะยังไม่ให้ผล  แต่ผู้ให้ย่อมได้รับความสุขใจเกิดขึ้นทันที

(อานิสงส์ของทานมีอะไรบ้าง  จะกล่าวในโอกาสต่อไป)

จะให้ทานเพื่อการลงทุน  หรือจะให้ทานเพื่อการทำบุญ ..... คุณเป็นผู้เลือก !!!



ชื่อนั้นสำคัญจริงหรือ


ทุกคนคงเคยประสบกับปัญหาต่างๆในชีวิต  ทั้งปัญหาครอบครัว  ปัญหาคนรัก  ปัญหาเพื่อนฝูง  ปัญหาการเงิน  ปัญหาที่ทำงาน  ปัญหาสุขภาพ  ฯลฯ
บางคนอาจจะประสบกับปัญหาหนักรุมเร้าเข้ามามากมายในเวลาเดียวกัน
แต่คุณจะมีวิธีการรับมือกับปัญหานั้น ๆ อย่างไร

สถานการณ์ที่ ๑

คุณเป็นคนต่างจังหวัด  หลังจากแต่งงานแล้วได้ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ  และเริ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับงานแต่งงาน  แต่ก็ล้มเหลว  คุณหันมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอื่น ๆ  ต่อมา  เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าฟองสบู่แตก  ธุรกิจของคุณก็ล้มเหลวอีก  ทำให้คุณมีหนี้สินมูลค่ากว่า ๑๐๐ ล้านบาท  คุณจะทำอย่างไร

สถานการณ์ที่ ๒
คุณอยู่ในช่วงที่ชีวิตลำบาก  คุณถูกไล่ออกจากงาน  ชีวิตครอบครัวมีปัญหา  คุณกำลังทำเรื่องหย่ากับสามี (หรือภรรยา) ของคุณ  ต้องพักอาศัยอยู่ในแฟลตเล็ก ๆ  มีลูกสาวที่ต้องคอยดูแล  มิหนำซ้ำแม่ของคุณก็เสียชีวิตลง  คุณมีรายได้จากเงินช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ จากรัฐบาลเท่านั้น  คุณจะทำอย่างไร

สถานการณ์ที่ ๓

ผู้บริหารในบริษัทที่คุณทำธุรกิจอยู่ไล่คุณออก  ทั้งๆที่คุณก็เป็นส่วนหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทนั้นขึ้นมา  โดยเหตุผลคือความขัดแย้งเรื่องทิศทางของธุรกิจ  คุณตัดสินใจออกมาเปิดบริษัทเองใหม่อีกครั้ง  แต่บริษัทใหม่นี้ก็ถูกซื้อกิจการไปอีก  เป็นอย่างนี้ถึง ๒ ครั้ง  คุณจะทำอย่างไร

สถานการณ์ที่ ๔
คุณเกิดในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา  และได้บวชเป็นพระภิกษุรูปหนึ่ง  แต่เนื่องจากชื่อของคุณเป็นที่ล้อเลียนในหมู่เพื่อนพระภิกษุด้วยกัน  ไม่ว่าคุณจะทำอะไร  คุณก็ถูกพระภิกษุรูปอื่น ๆ ล้อเลียนชื่อของคุณอยู่ตลอด  คุณจะทำอย่างไร
.....

ในปัจจุบัน  มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต  ด้วยการไปหาเกจิอาจารย์ทั้งหลาย  หาพระสงฆ์ที่ตนรู้จัก  หาหมอดูที่มีชื่อเสียง  ขอให้ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตของตน

หนึ่งในวิธีที่นิยมกันมาก  ก็คือขอให้ช่วยเปลี่ยนชื่อของตน
คุณคิดว่า  ปัญหาต่างๆในชีวิตของบุคคลเหล่านั้นจะถูกแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนชื่อเท่านั้นจริงหรือ
.....



บุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในสถานการณ์ที่ ๑, ๒, ๓  คือ

คุณตัน  ภาสกรนที  (ผู้ก่อตั้งบริษัท  อิชิตัน  กรุ๊ป  จำกัด)
เจ. เค. โรว์ลิ่ง  (เจ้าของผลงานนวนิยายเด็กเรื่อง  แฮร์รี่  พ็อตเตอร์)
สตีฟ  จ็อบส์  (ผู้ริเริ่มนวัตกรรมไอโฟน)

ในช่วงเวลาที่ประสบกับปัญหาดังกล่าว  ถ้าบุคคลเหล่านี้คิดเอาเองว่า  "ที่เราต้องประสบกับปัญหาต่างๆในชีวิต  เป็นเพราะชื่อของเราไม่เป็นมงคล"

ชื่อ  ตัน  มีความหมายว่าไม่ทะลุ  มีสิ่งกีดขวาง  ชีวิตมีแต่ทางตัน  มีแต่อุปสรรค
ชื่อ  โรว์ลิ่ง  ออกเสียงคล้าย rolling  แปลว่าการกลิ้ง  มีนัยว่าชีวิตล้มลุกคลุกคลาน  กลิ้งไปกลิ้งมา
ชื่อ  จ็อบส์  หมายถึงหลายงาน  มีนัยว่าต้องถูกเปลี่ยนงานไปเรื่อย ๆ  ไม่มั่นคง
ถ้าบุคคลเหล่านี้เปลี่ยนชื่อของตัวเองใหม่  เพราะคิดว่าชื่อที่เป็นสิริมงคล  จะช่วยให้ผ่านพ้นปัญหาชีวิตในขณะนั้น ๆ ได้

คุณคิดว่า  "ชื่อใหม่"  จะทำให้ชีวิตของบุคคลเหล่านี้หมดเคราะห์หมดโศก  หมดอุปสรรคปัญหาได้จริงหรือ

แล้วถ้าเขาประสบกับปัญหาชีวิตครั้งใหม่อีก  เขาจะต้องเปลี่ยนชื่อไปอีกเรื่อยๆอย่างนั้นหรือ ???

ในความเป็นจริง

บุคคลในสถานการณ์ทั้ง ๓ นี้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนชื่อเลย
และในความเป็นจริงอีกเช่นกัน
ผู้ที่แม้จะมีชื่อที่มีความหมายดี  ก็ยังประสบกับปัญหาในชีวิตได้เหมือนกัน

ในสถานการณ์ที่ ๔
เป็นเหตุการณ์จริงที่บันทึกอยู่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา  เรื่องนามสิทธิชาดก
พระภิกษุรูปนั้นได้เข้าไปหาพระอุปัชฌาย์เพื่อขอให้ช่วยเปลี่ยนชื่อให้ใหม่
คุณคิดว่า  ถ้าเปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว  พระภิกษุรูปอื่นๆจะหยุดล้อเลียนพระรูปนั้นไหม
.....

ฉะนั้น  เมื่อประสบกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต  การแก้ปัญหาที่ดีคือตั้งสติ  ทำใจให้สงบ  ไม่ฟุ้งซ่านตีโพยตีพาย  เพราะการตีโพยตีพายไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น

ใจที่สงบ  จะทำให้มองต้นเหตุของปัญหาได้ดีขึ้น  ค่อย ๆ ทบทวนเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น  ลองปรึกษากับผู้รู้หรือผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า

แต่ที่สำคัญ  ต้องอย่าลืมว่า ...  ไม่มีสิ่งใดที่ไม่เกิดจากเหตุ

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต  เป็นผลมาจากการกระทำของเราเองทั้งในอดีตและปัจจุบัน
อุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลของกรรมที่เรากระทำเองทั้งสิ้น
กรรมใดที่กระทำไปแล้ว  เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้
สิ่งที่ทำได้  คือกระทำกรรมใหม่ในปัจจุบันให้ดีที่สุดเท่านั้น

สรุปว่า

ชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกัน
ความสำเร็จเพราะชื่อมิได้มีเลย
ความสำเร็จมีได้เพราะการกระทำเท่านั้น

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. นามสิทธิชาดก (ว่าด้วยชื่อไม่เป็นของสำคัญ)


การตอบแทนที่ทำได้ยาก



การแสดงความกตัญญูกตเวที  ตอบแทนพระคุณของบุพการี  เป็นสิ่งที่พึงกระทำของบัณฑิตหรือสัตบุรุษทั้งหลาย
(พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์  โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)  ได้ให้ความหมายไว้ว่า
บัณฑิต  หมายถึง  ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา
สัตบุรุษ  หมายถึง  คนสงบ, คนดี, คนมีศีลธรรม, คนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม)

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ (ในทีฆนิกาย  ปาฏิกวรรค  สิงคาลกสูตร) ว่า

"บุตรพึงบำรุงมารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า  โดยหน้าที่  ๕  ประการ  คือ
๑. ท่านเลี้ยงเรามา  เราจักเลี้ยงท่านตอบ
๒. จักทำกิจของท่าน
๓. จักดำรงวงศ์ตระกูล
๔. จักประพฤติตนให้เหมาะสมที่จะเป็นทายาท
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว  ทำบุญอุทิศให้ท่าน"

นี่คือหน้าที่ของลูกที่ดีที่พึงกระทำตอบพ่อแม่

ลูกที่ทำได้อย่างนี้  ย่อมเป็นที่รักและไว้วางใจของพ่อแม่
และเป็นที่สรรเสริญของคนดีทั้งหลายด้วย



แต่ถึงกระนั้น  การตอบแทนพระคุณของพ่อแม่โดยสมบูรณ์  ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย

ถึงแม้เราจะประคบประหงมดูแลท่านอย่างดี  หาเงินหาทองให้ท่านใช้  หาอาหารอย่างดีให้ท่านกิน  หาบ้านสวยหรูให้ท่านอยู่  หาเสื้อผ้าเครื่องประดับให้ท่านแต่ง  หายาดีหมอดีมารักษาท่านในยามเจ็บป่วย  พาท่านไปเที่ยวพักผ่อนในที่ต่าง ๆ  ฯลฯ  อื่น ๆ อีกมากมาย  เรียกว่า  ให้ท่านมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย .....
ทั้งหมดนี้  ก็ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าตอบแทนพระคุณของท่านโดยสมบูรณ์

แต่ .....  การที่ลูกคนใดก็ตาม

๑. สามารถกระทำให้พ่อแม่จากเดิมที่เป็นคนไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ให้ท่านเป็นคนที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้
๒. สามารถกระทำให้พ่อแม่จากเดิมที่เป็นคนไม่ตั้งมั่นอยู่ในศีล  รักษาศีลได้บ้าง  ไม่ได้บ้าง
ให้ท่านเป็นคนที่รักษาศีลได้อย่างสมบูรณ์  ไม่ยอมละเมิดศีล
๓. สามารถกระทำให้พ่อแม่จากเดิมที่เป็นคนตระหนี่
ให้ท่านเป็นคนที่รู้จักเสียสละ  รู้จักให้ทาน  ยินดีในการให้ทานได้
๔. สามารถกระทำให้พ่อแม่จากเดิมที่เป็นคนไม่มีปัญญาในธรรม
ให้ท่านเป็นคนที่มีปัญญาในธรรม  เห็นโลกตามความเป็นจริงได้ตามพระธรรมของพระพุทธเจ้า
ลูกที่สามารถกระทำได้เช่นนี้  จึงจะกล่าวได้ว่าตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ได้โดยสมบูรณ์

เพราะผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว  ย่อมทราบดีว่าไม่มีทรัพย์สมบัติใดในโลกที่เราสามารถนำติดตัวไปในชาติหน้าได้  จะมีก็เพียงแต่ผลบุญและผลบาปที่เราได้กระทำไว้เอง  เราจึงไม่ควรที่จะแสวงหาความสุขในชาตินี้เพียงอย่างเดียว  แต่ควรทำเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดความสุขในชาติต่อๆไปด้วย

อริยทรัพย์เหล่านี้คือ  ศรัทธา  ศีล  จาคะ (การเสียสละ, การให้ทาน)  ปัญญา  นอกจากจะเป็นไปเพื่อประโยชน์  เพื่อเกื้อกูล  เพื่อสุขแก่พ่อแม่ในชาตินี้แล้ว  ยังเป็นบุญกุศลที่จะติดตามตัวของพ่อแม่ไปในชาติต่อๆไปได้อีกด้วย


ฉะนั้น  แม้ว่าเราจะตอบแทนพระคุณพ่อแม่ด้วยการทำให้ท่านมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสุขสบายในชาตินี้แล้ว

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น  ที่เราไม่ควรมองข้าม  คือการตอบแทนด้วยการช่วยให้ท่านมีอริยทรัพย์ทั้ง ๔  (ศรัทธา  ศีล  จาคะ  ปัญญา) นี้  เพื่อเป็นเสบียงให้ท่านสำหรับในภพชาติต่อๆไป

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง

๑. การตอบแทนที่ทำได้ยาก

กตัญญูกตเวที


หลายคนคงจะเคยได้ฟังเรื่องราวของ "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่"
ซึ่งหลายคนก็คงจะรู้สึกโกรธเกลียดผู้ที่เป็นลูกชาย  ที่กล้าลงมือฆ่าแม่ของตนเองได้

ส่วนอีกด้านหนึ่ง  หลายคนคงจะเคยได้ฟังเรื่องราวของ "เด็กหญิงวัลลี"

ซึ่งหลายคนก็คงจะรู้สึกชื่นชมยกย่องและสรรเสริญในความกตัญญูของเธอที่มีต่อแม่ของตน

เชื่อว่าทุกคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่  มีบทบาทหน้าที่ของความเป็นลูกอยู่แล้ว

และมีหลายคนที่ยังมีบทบาทหน้าที่ของความเป็นแม่หรือพ่ออีกด้วย
ถ้ามองในฐานะที่เราเป็นแม่หรือเป็นพ่อก็ตาม
เราก็คงอยากมีลูกที่เป็นคนดี  มีความกตัญญูกตเวที  รู้คุณคน  และตอบแทนคุณ
แต่ถ้าลูกของเราเป็นคนอกตัญญู  อกตเวที  ไม่รู้คุณคน  และไม่คิดจะตอบแทนคุณ  เราก็คงเสียใจมาก

เมื่อเราอยากมีลูกที่รู้จักกตัญญูกตเวที

แม่และพ่อของเรา  ก็อยากให้เราเป็นลูกที่รู้จักกตัญญูกตเวทีเช่นกัน
ฉะนั้น  ในบทบาทหน้าที่ของความเป็นลูก  เราได้ทำหน้าที่ของลูกที่ดีแล้วหรือยัง  เราทำให้แม่และพ่อภูมิใจ  หรือเราทำให้ท่านเสียใจ



ตัวอย่างในสมัยพุทธกาล  ในเรื่องกัจจานิชาดก

มีลูกสะใภ้คนหนึ่ง  ทำอุบายขับไล่แม่สามีออกจากบ้าน  โดยการทำให้บ้านเลอะเทอะด้วยน้ำมูกน้ำลาย  บอกสามีว่าแม่เป็นคนทำ
แล้วถามสามีว่า  "มารดาของท่านทำอย่างนี้  ฉันบอกว่าอย่าทำเลย  ก็พาลทะเลาะ  ฉันไม่อาจอยู่ร่วมเรือนกับมารดาของท่านได้  เรือนนี้ท่านจะให้มารดาของท่านอยู่  หรือจะให้ฉันอยู่"
ถ้าเราเป็นสามี  เราจะตอบว่าอย่างไร ???

ฉะนั้น  เมื่อเราอยากมีลูกที่เป็นคนดี  มีความกตัญญูกตเวที

เราเองก็ต้องเป็นลูกที่ดี  มีความกตัญญูกตเวที  ต่อแม่และพ่อของเราด้วยเช่นกัน

ขอนำพระพุทธพจน์ที่เคยยกมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ (แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง) มากล่าวซ้ำอีกครั้ง  เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจเราทุกคน  ดังนี้ว่า

"มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์ประชา
ท่านเรียกว่าพรหม  บุรพาจารย์  และอาหุไนยบุคคลของบุตรทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้น  บัณฑิตพึงนมัสการและสักการะมารดาบิดานั้น
ด้วยข้าว  น้ำ  ผ้า  ที่นอน  การอบกลิ่น  การให้อาบน้ำ  และการล้างเท้า
เพราะการปรนนิบัติมารดาบิดานั้นแล
บัณฑิตทั้งหลายจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง
เขาตายไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์"

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง

๑. กัจจานิชาดก (ว่าด้วยนางกัจจานี)
๒. สพรหมกสูตร (ว่าด้วยสกุลที่มีพรหม)


แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง


เมื่อผู้หญิงธรรมดาๆคนหนึ่งกลายเป็นแม่  ชีวิตของเธอจะเรียบง่ายขึ้น

เคยทำผมร้านประจำ  เมื่อกลายเป็นแม่  ใช้มือสางผมเอาก็ได้
เคยทาครีมทุกวัน  เมื่อกลายเป็นแม่  ไม่ต้องทาครีมทุกวันก็ได้
เคยใช้เสื้อผ้าใหม่ๆ  เมื่อกลายเป็นแม่  เสื้อผ้าชุดเก่าก็ใส่ได้
เคยกินกาแฟที่แพงกว่าข้าว  เมื่อกลายเป็นแม่  กาแฟโบราณธรรมดาก็กินได้
เคยใช้กระเป๋าหรูๆ  เมื่อกลายเป็นแม่  กระเป๋าถือมีแต่ของใช้ลูกเต็มไปหมด
เคยใส่รองเท้าส้นสูง  เมื่อกลายเป็นแม่  รองเท้าส้นสูงก็ถูกเก็บเข้าตู้
.....


(ขอบคุณภาพจาก pexels.com)

ทำไมผู้หญิงธรรมดาๆคนหนึ่ง  เมื่อกลายเป็นแม่  จึงเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้

มีคนบอกว่า  เพราะลูกคือสิ่งที่วิเศษที่สุดในชีวิตของแม่


(ขอบคุณคลิปวิดีโอจาก facebook.com/littlemonsterrocknroll)


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ (ใน  อังคุตตรนิกาย  ทุกนิบาต  ตติยปัณณาสก์  อาสาทุปปชหวรรค) ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย  บุคคล ๒ จำพวกนี้หาได้ยากในโลก
บุคคล ๒ จำพวกไหนบ้าง  คือ
๑. บุพการี (ผู้ทำอุปการะก่อน)
๒. กตัญญูกตเวที (ผู้รู้อุปการะที่เขาทำแล้ว  และตอบแทน)
บุคคล ๒ จำพวกนี้แล  หาได้ยากในโลก"

ถ้าจะถามว่า  ในโลกนี้จะมีใครที่ยอมเสียสละ  ยอมเหน็ดเหนื่อย  ยอมลำบาก  ยอมอดทน  ยอมทำทุกอย่างให้กับเรา  โดยไม่หวังอะไรตอบแทน

ลองคิดในมุมของเราว่า  "ถ้าเป็นเรา"
มีหรือที่เราจะยอมเสียสละ  ยอมเหน็ดเหนื่อย  ยอมลำบาก  ยอมอดทน  ยอมทำทุกอย่างให้กับใครสักคน  ที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน  โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนจากเขา ?  คงจะมีไม่กี่คน  หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้

พระดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นคำจริงแท้  ไม่แปรเป็นอื่น

บุคคลที่หาได้ยากในโลกจำพวกแรก  ก็คือบุพการีนั่นเอง
พ่อแม่  จึงได้ชื่อว่าเป็นบุพการีของลูก

ส่วนผู้ที่ได้รับการอุปการะจากผู้อื่นแล้ว  ที่จะรู้คุณ  และกระทำตอบแทนต่อผู้นั้น  ก็หาได้ยาก

ลูกที่ดี  จึงควรรู้อุปการะที่พ่อและแม่ได้กระทำให้แก่ตน  และควรกระทำตอบแทนพระคุณของพ่อแม่โดยธรรม  จึงจะได้ชื่อว่าเป็นกตัญญูกตเวทีบุคคลของพ่อแม่

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสอุปมาไว้ (ในสพรหมกสูตร) ว่า

"คำว่า  พรหม  นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา
คำว่า  บุรพาจารย์  นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา
คำว่า  บุรพเทพ  นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา
คำว่า  อาหุไนยบุคคล  นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก  บำรุงเลี้ยง  แสดงโลกนี้แก่บุตร"

ทำไมมารดาบิดาจึงได้ชื่อว่า  พรหม

เพราะท่านมีพรหมวิหาร ๔ ประการต่อลูก  คือ  เมตตา  กรุณา  มุทิตา  อุเบกขา

ทำไมมารดาบิดาจึงได้ชื่อว่า  บุรพาจารย์

เพราะท่านเป็นอาจารย์คนแรกที่สอนลูกให้เรียนรู้การนั่ง  การยืน  การเดิน  การนอน  การเคี้ยว  การกิน  รวมทั้งสอนให้รู้จักพูด  และรู้จักว่าอะไรควร  อะไรไม่ควร

ทำไมมารดาบิดาจึงได้ชื่อว่า  บุรพเทพ

เพราะท่านเป็นดุจเทพผู้มีพรหมวิหารธรรม  ไม่ผูกใจถึงความผิดที่ลูกทำไป  พร้อมที่จะให้อภัย  มุ่งหวังแต่ความเจริญแก่ลูก  นำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาแก่ลูก

ทำไมมารดาบิดาจึงได้ชื่อว่า  อาหุไนยบุคคล

เพราะท่านเป็นผู้ควรแก่ปฏิการคุณที่ลูกพึงทำตอบแทน  เช่น  การปรนนิบัติท่านด้วยอาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  ฯลฯ


(ขอบคุณคลิปวิดีโอจาก facebook.com/littlemonsterrocknroll)

ฉะนั้น  ผู้ที่หวังความเจริญมาสู่ตน  จึงควรเป็นผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ที่มีพระคุณ

ผู้ที่เป็นลูกทุกคน  จึงควรกระทำการตอบแทนพระคุณของพ่อแม่โดยธรรม

สมดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า

"มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์ประชา
ท่านเรียกว่าพรหม  บุรพาจารย์  และอาหุไนยบุคคลของบุตรทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้น  บัณฑิตพึงนมัสการและสักการะมารดาบิดานั้น
ด้วยข้าว  น้ำ  ผ้า  ที่นอน  การอบกลิ่น  การให้อาบน้ำ  และการล้างเท้า
เพราะการปรนนิบัติมารดาบิดานั้นแล
บัณฑิตทั้งหลายจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง
เขาตายไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์"

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. สพรหมกสูตร (ว่าด้วยสกุลที่มีพรหม)