ความเข้าใจเรื่องธรรมทาน


จากพุทธภาษิตที่ว่า

"การให้ธรรมเป็นทาน  ชนะการให้ทั้งปวง"
เมื่อหลายคนได้รู้อย่างนี้  ก็อยากให้ธรรมเป็นทานบ้าง
เพราะเป็นการให้ที่ดีที่สุดยิ่งกว่าการให้ทานอย่างอื่น

และเมื่อมีผู้อื่นบอกต่อ ๆ กันมาว่า

อานิสงส์ของธรรมทานมีตั้งหลายอย่าง
เช่น
- กรรมเวรจากอดีตชาติจะได้ลบล้างให้สิ้น
- หนี้เวรจะได้คลี่คลาย  พ้นภัยจากทะเลทุกข์

- ความเป็นสิริมงคลจะมาสู่ทุกบ้านเรือน
- บุตรหลานที่พาลเกเรจะกลับตัวเป็นคนดี
- วงศ์สกุลจะมีผู้สืบทอดและเจริญรุ่งเรืองทุก ๆ ชั่วอายุ
- คิดจะทำการอันใดจะมีคนให้ความช่วยเหลือ
- ขจัดเคราะห์ภัย  ภัยใหญ่จะกลายเป็นภัยเล็ก
- คนป่วยเรื้อรังจะหายจากโรคภัย
- วิญญาณทุกข์ของบรรพชนจะพ้นจากทุกข์ทรมานไปสู่สุคติ
- เป็นบารมีคุ้มครองลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข

- สามีภรรยาที่แตกแยกจะคืนดีต่อกัน
- วิญญาณของเด็กที่แท้งในท้องจะได้ไปเกิดใหม่
- บุตรจะเฉลียวฉลาดและเจริญรุ่งเรือง
- พ่อแม่จะมีอายุยืน
- บังเกิดบุญวาสนาและให้มีอายุยืนยาว
- ได้เสริมสร้างและเจริญเมตตาธรรม
- คิดหาวิธีที่จะทำให้ตนและผู้อื่นพ้นทุกข์ได้
- ไม่เกิดในอบายภูมิ (นรก  เปรต  อสุรกาย  เดรัจฉาน)
ฯลฯ
(รวบรวมจากเว็บไซต์และหนังสือธรรมะแจกฟรีหลายแห่ง)

เมื่อเห็นอานิสงส์ (ที่เขาบอกต่อ ๆ กันมา) มากมายอย่างนี้

เหมือนจะยืนยันว่าธรรมทานชนะการให้ทั้งปวงแน่ ๆ
ก็จะยิ่งเพิ่มความอยากที่จะให้ธรรมเป็นทานกับเขาบ้าง
.....

แต่อานิสงส์ที่บอกต่อกันมานั้น  อ้างอิงมาจากไหน
และแตกต่างจากอานิสงส์ในการให้ทานชนิดอื่นอย่างไร
เพราะดูโดยรวมแล้ว  อานิสงส์ที่กล่าวอ้างมานั้น

บางอย่างก็เหมือนกับอานิสงส์ของการไถ่ชีวิตสัตว์
(ที่อ้างว่าทำให้อายุยืน)
บางอย่างก็เหมือนกับอานิสงส์ของการถวายยารักษาโรค
(ที่อ้างว่าทำให้หายเจ็บป่วย)
บางอย่างก็เหมือนกับอานิสงส์ของการถวายเทียนคู่
(ที่อ้างว่าทำให้ชีวิตคู่ไม่แตกแยก)
บางอย่างก็เหมือนกับอานิสงส์ของการถวายกระเบื้องมุงหลังคา
(ที่อ้างว่าทำให้ชีวิตร่มเย็น)
เป็นต้น

ถ้าอานิสงส์ของการให้ธรรมเป็นทาน  ไม่แตกต่างกับอานิสงส์ของการให้ทานอย่างอื่น
แล้วการให้ธรรมเป็นทาน  จะชนะการให้ทั้งปวงได้อย่างไร
.....


เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว
การให้ธรรมเป็นทาน  จึงไม่ได้ชนะการให้ทั้งปวงด้วยเพราะเหตุที่อ้างมานี้

แล้วสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้  "การให้ธรรมเป็นทาน  ชนะการให้ทั้งปวง"
เป็นอย่างไรกันแน่



ในอรรถกถาเรื่องท้าวสักกเทวราช  มีกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้  สรุปความว่า

บุคคลแม้จะนำผ้าไตรจีวรเนื้อละเอียด  อาหารบิณฑบาตรอันประณีต  ยารักษาโรคอย่างดี  กุฏิวิหารอันงดงามวิจิตรเพียงใด

มาถวายแด่พระพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า  และพระอรหันต์ทั้งหลายผู้นั่งติด ๆ กันในจักรวาลตลอดถึงพรหมโลกก็ตาม
ทานอันประณีตและมากมายแม้นี้  ก็ยังมีค่าไม่ถึงเศษเสี้ยวของการที่พระพุทธเจ้าเป็นต้น  ทรงกระทำอนุโมทนาแสดงธรรม
เพราะผู้ที่จะยินดีในการถวายทานอันประณีตและมากมายเห็นปานนั้นได้  ต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังธรรมมาแล้ว  เห็นถึงอานิสงส์ของทาน  จึงยินดีในการให้ได้
แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรม  แม้ข้าวเพียงทัพพีหนึ่งก็ไม่ยินดีที่จะให้

อีกอย่างหนึ่ง  บุคคลใดที่แม้จะมีปัญญาฉลาดหลักแหลม
แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บุคคลนั้นก็ไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้ด้วยตนเอง
เหมือนพระสารีบุตรบรรลุโสดาบันได้  ก็เพราะฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ
และบรรลุอรหัตผลได้  ก็เพราะฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า
.....


ฉะนั้น  "การให้ธรรมเป็นทาน  ชนะการให้ทั้งปวง"
เหตุผลก็คือ  เพราะผลแห่งการให้ธรรมนั้น  เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ
ทำให้ผู้รับสามารถมีความเห็นถูกต้อง  เป็นไปตามพระธรรมของพระพุทธเจ้า
ทั้งในเรื่องทาน  ศีล  เรื่องกรรมและผลของกรรม
จนกระทั่งสามารถบรรลุธรรมได้

แต่ถ้าเข้าใจว่า  การให้ธรรมเป็นทาน  ชนะการให้ทั้งปวง
โดยการอ้างอานิสงส์ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ให้เอง
(ตามที่กล่าวอ้างไว้หลายข้อในเว็บไซต์และหนังสือธรรมะหลายเล่ม)
ก็คงจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกับความหมายเดิม
กลายเป็นการให้ธรรมที่หวังอานิสงส์มาสู่ตนเอง
ไม่ใช่การให้ธรรมเพื่อหวังประโยชน์ต่อผู้รับ

ฉะนั้น  ก่อนที่จะให้ธรรมเป็นทานกับใครก็ตาม
ขอให้คิดว่า  เราให้เพื่อประโยชน์แก่ใคร

และถ้าคิดว่าเราจะให้ธรรมเพื่อประโยชน์แก่ผู้รับ
ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า  สิ่งที่ให้นั้นเป็นธรรมที่ถูกต้องจริงหรือไม่
(เพื่อยืนยันว่าเราให้เพื่อประโยชน์ของผู้รับจริง ๆ)

การให้ธรรมเป็นทาน  จึงจะชนะการให้ทั้งปวงได้  ด้วยประการฉะนี้
.....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. สักกเทวราชวัตถุ (เรื่องท้าวสักกะจอมเทพ)



ควรทำอย่างไร เมื่อเจอพระไม่ดี


ในสังคมมนุษย์  ย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดีอยู่ในทุกแวดวง
ไม่ว่าแวดวงนักการเมือง  นักธุรกิจ  ศิลปินดารา  นักกีฬา  ฯลฯ
หรือแม้กระทั่งแวดวงพระภิกษุ
ก็มีทั้งพระที่ปฎิบัติดีปฏิบัติชอบ
และพระที่ประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมกับเพศนักบวช

ถ้าวันหนึ่ง  มีพระที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมรูปหนึ่ง
มาบิณฑบาตอยู่ละแวกบ้านของเรา
เราควรใส่บาตรพระรูปนี้ไหม
เราควรกราบไหว้พระรูปนี้ไหม
หรือเราควรทำอย่างไร ?
.....

ในสมัยพุทธกาล
เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กรุงโกสัมพี
ในครั้งนั้น  มีภิกษุแตกแยกเป็น ๒ กลุ่ม  ก่อเหตุทะเลาะวิวาทในหมู่ภิกษุด้วยกัน
แม้พระพุทธเจ้าจะทรงห้ามถึง ๓ ครั้ง
แต่ภิกษุเหล่านั้นก็ยังไม่เลิกรา
พระองค์จึงเสด็จจาริกไปกรุงสาวัตถี  ไม่ทรงอยู่ร่วมด้วยกับภิกษุเหล่านั้น

ต่อมา  ภิกษุเหล่านั้นได้พากันเดินทางไปกรุงสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

คนทั้งหลายที่อยู่ในกรุงสาวัตถี
เมื่อทราบข่าวว่าภิกษุจากกรุงโกสัมพีที่ก่อการทะเลาะวิวาทกัน
กำลังเดินทางมาเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
จึงคิดกันว่าควรจะทำอย่างไรกับภิกษุเหล่านั้น
.....

ถ้าเราเป็นชาวบ้านอยู่ที่นั่นด้วย
เรารู้ว่า  "ภิกษุเหล่านั้นประพฤติไม่เหมาะสม
ไม่มีความยำเกรงในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แม้ถูกห้ามแล้วถึง ๓ ครั้ง  ก็ยังไม่เลิกทะเลาะกัน"
เราจะอยากต้อนรับภิกษุเหล่านั้นไหม
.....


(ขอบคุณภาพจาก  klonthaiclub.com)

ในครั้งนั้น  พระเถระ  พระเถรี (ภิกษุณี)  และอุบาสกอุบาสิกา  ที่อยู่ในกรุงสาวัตถี
ต่างเข้าไปกราบทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
"พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพี  ผู้ก่อการทะเลาะวิวาทกัน  กำลังเดินทางมา
ข้าพระองค์ควรจะปฏิบัติต่อภิกษุเหล่านั้นอย่างไร"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระเถระทั้งหลายว่า
"เธอจงวางตนอยู่อย่างชอบธรรมเถิด"

แล้วตรัสกับพระเถรีทั้งหลายว่า
"เธอจงฟังธรรมในภิกษุทั้ง ๒ ฝ่าย
ครั้นฟังแล้ว  จงพอใจความเห็นของฝ่ายธรรมวาที
อนึ่ง  วัตรที่ภิกษุณีสงฆ์พึงหวังจากภิกษุสงฆ์
ก็พึงหวังจากภิกษุฝ่ายธรรมวาทีเท่านั้น"

แล้วตรัสกับอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายว่า
"เธอจงถวายทานในภิกษุทั้ง ๒ ฝ่าย
ครั้นถวายแล้ว  จงฟังธรรมในภิกษุทั้ง ๒ ฝ่าย
ครั้นฟังแล้ว  จงพอใจความเห็นของฝ่ายธรรมวาทีเท่านั้น"
.....


ภิกษุที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมกับเพศนักบวช
ก่อความทะเลาะวิวาทในหมู่สงฆ์
ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา
มันง่ายมากที่เราจะไม่พอใจหรือรังเกียจผู้ที่มีความประพฤติเช่นนี้

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนอย่างไร

แม้ภิกษุเหล่านั้นจะประพฤติไม่เหมาะสม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงให้ภิกษุณี (ในสมัยนั้น) ฟังคำสอนจากภิกษุเหล่านั้นได้
และเมื่อฟังแล้ว  ก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณาว่าสิ่งที่ฟังมานั้นเป็นธรรมหรือไม่ใช่ธรรม
ถ้าสิ่งนั้นเป็นธรรม  ก็จะได้นำมาปฏิบัติ
แต่ถ้าไม่ใช่ธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า  ก็จะได้ละทิ้งเสีย
(รู้ว่าไม่ใช่ธรรม  ก็แค่ให้ละทิ้ง  ไม่ได้ให้ไปโกรธเกลียดผู้นั้น)

สำหรับฆราวาส  ผู้ต้องการบุญ  ก็จงทำบุญ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ถวายทานกับภิกษุเหล่านั้นได้ตามปกติ
(เพราะการให้ทาน  แม้จะให้กับสัตว์ดิรัจฉาน  ก็ยังเป็นบุญ
ไม่ต้องพูดถึงเมื่อให้ทานกับคนเลย)

และถ้าภิกษุเหล่านั้นจะกล่าวสอน  ก็รับฟังได้
แล้วใช้ปัญญาพิจารณาว่าคำสอนนั้นเป็นธรรมหรือไม่ใช่ธรรม
(ถ้าไม่ใช่ธรรม  ก็วางเฉย  ไม่ยินดี  ไม่คัดค้าน  แล้วละคำสอนนั้นทิ้งไป)

ฉะนั้น  เรามีหน้าที่ทำความดีของเราต่อไป
ส่วนใครจะทำไม่ดีอย่างไร  ก็เป็นเรื่องของเขา
พระพุทธศาสนาสอนให้เราแก้ไขตัวเอง
ไม่ได้ให้เราวิ่งไปแก้ไขคนอื่น

รู้ว่าใครทำดี  ทำถูก  เราก็โมทนา
รู้ว่าใครทำผิด  ทำไม่สมควร  เราก็ต้องวางอุเบกขาให้ได้
ถึงจะเป็นพระ  แต่ถ้าประพฤติไม่ดี  ไม่เหมาะสมกับความเป็นพระ
เขาก็ต้องได้รับผลของกรรมด้วยตัวเขาเอง
อย่าให้ความไม่ดีของเขา  มาทำให้ใจเราเศร้าหมอง
อย่าให้ความไม่ดีของเขา  มาหยุดการทำความดีของเรา
.....


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. อัฏฐารสวัตถุกถา (ว่าด้วยเรื่องที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ๑๘ ประการ)



ยังไม่ทำผิดศีล แต่ไม่ใช่ผู้มีศีล


วันนี้มีคำถามง่าย ๆ ทดสอบความเข้าใจเรื่องศีลกันนิดหน่อย

สมมติว่า
นาย ก  เปิดร้านขายอาหารตามสั่ง  มีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนมากมาย
แต่ร้านของนาย ก ไม่ค่อยสะอาดมากนัก  มักจะมีแมลงสาบวิ่งเพ่นพ่าน
และเขาก็มักจะไล่เหยียบแมลงสาบเหล่านั้นทุกครั้งที่พบเจอ

นาย ข  เป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง
แต่มักจะอู้งานอยู่บ่อย ๆ  เข้างานสาย  เลิกงานก่อน
และมักจะหยิบฉวยข้าวของของบริษัทไปใช้ส่วนตัว

นาย ค  เป็นชายหนุ่มรูปหล่อ  หน้าตาดี  มีสาว ๆ มาติดพันเขามาก
เขาแต่งงานมีครอบครัวแล้ว
แต่เขาก็แอบมีกิ๊ก  และมีความสัมพันธ์กับสาว ๆ เหล่านั้น

นาย ง  มีอาชีพขายเสื้อผ้าปลีก
เมื่อลูกค้าต่อรองราคา  เขามักจะอ้างว่าต้นทุนแพง
ทั้ง ๆ ที่ต้นทุนที่เขารับมาไม่สูงขนาดนั้น  แต่เขาบวกกำไรไว้มากเกินควร

นาย จ  เป็นคนชอบเข้าสังคม  ชอบสังสรรค์กับเพื่อน ๆ
และทุกครั้งที่พบปะเพื่อนฝูง  ก็มักจะมีเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อยู่ด้วยทุกครั้ง

จากตัวอย่างเหตุการณ์เหล่านี้  เราคงบอกได้ว่าทั้ง ๕ คนเป็นผู้ที่ไม่ได้รักษาศีล
เพราะต่างก็ได้ทำผิดศีลกันทุกคน
.....

เรื่องของพวกเขายังไม่จบ
ต่อมา  ในช่วงวันหยุดยาว  พวกเขาเหล่านั้นมีโอกาสได้ไปเที่ยวชายทะเล

ณ  ชายทะเลแห่งนั้น
นาย ก  ไม่ต้องคอยไล่เหยียบแมลงสาบ
เพราะที่ทะเลไม่มีแมลงสาบ

นาย ข  ไม่ได้หยิบฉวยข้าวของของบริษัทไปใช้ส่วนตัว
เพราะที่นั่นไม่มีทรัพย์สินของบริษัทอยู่

นาย ค  ไม่ได้ล่วงละเมิดทางเพศกับกิ๊กของเขา
เพราะเขาไปคนเดียว  ไม่ได้พากิ๊กไปเที่ยวทะเลด้วย

นาย ง  ไม่ต้องโกหกลูกค้า
เพราะวันนี้ร้านปิด  ไม่มีลูกค้ามาซื้อของ

นาย จ  ไม่ได้ดื่มสุราของมึนเมา
เพราะเขาไม่ได้นำเหล้าเบียร์ไปด้วย  และที่ชายทะเลแห่งนั้นก็ไม่มีร้านขาย

คำถาม .....
ในขณะที่เขาเหล่านั้นอยู่ที่ชายทะเล
ทุกคนไม่ได้ทำผิดศีล
ในวันนั้น  พวกเขาได้ชื่อว่า  "เป็นผู้มีศีล"  แล้วหรือยัง ???
.
.
.
.

.
.
.
.
.
.
.
.
.
.

.

คิดคำตอบไว้ก่อนนะ  แต่ยังไม่เฉลย
มาดูเรื่องต่อไปนี้กันก่อน  คราวนี้เป็นเรื่องของสัตว์บ้าง

มีหมาในตัวหนึ่ง  กินเก้ง  กวาง  หมูป่า  สัตว์เล็ก ๆ เป็นอาหาร
มันอาศัยอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง
วันหนึ่งในช่วงฤดูฝน  เกิดน้ำป่าไหลหลากในบริเวณที่หมาในนั้นอยู่
มันจึงขึ้นไปนอนบนหลังแผ่นหินเพื่อหนีน้ำ

ในตอนนั้น  มันคิดว่า
"เราถูกน้ำล้อมรอบอยู่  จะไปหาอาหารที่ไหนก็ลำบาก
อย่ากระนั้นเลย  เราถือศีลดีกว่า  ดีกว่านอนอยู่เฉย ๆ"
มันจึงอธิษฐานอุโบสถศีล  สมาทานศีล  แล้วนอนอยู่

เวลาผ่านไปสักครู่  สายตาของหมาในก็เหลือบไปเห็นแพะตัวหนึ่ง
ด้วยความหิว  มันจึงคิดว่า  "เราค่อยรักษาศีลในวันอื่นแล้วกัน"
แล้วมันก็ลุกขึ้นโผเข้าไปเพื่อจะตะครุบแพะนั้น

ฝ่ายแพะตัวนั้นก็วิ่งไปทางโน้นทางนี้  ไม่ให้หมาในตะครุบได้

หมาในเมื่อไม่อาจตะครุบแพะได้  จึงกลับมานอนบนหลังแผ่นหินนั้น
แล้วคิดว่า  "โชคดีจัง  ศีลของเรายังบริสุทธิ์อยู่"

คำถาม .....
ศีลของหมาในบริสุทธิ์อย่างที่มันคิดจริงหรือไม่ ???
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.

.
.
.
.
.
(ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย)

ก่อนที่จะเฉลย  ขอให้อ่านต่ออีกสักนิด

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ (ในปริกกมนสูตร) ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
เจตนางดเว้น จากการฆ่าสัตว์
เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ฆ่าสัตว์

เจตนางดเว้น จากการลักทรัพย์
เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ลักทรัพย์

เจตนางดเว้น จากการประพฤติผิดในกาม
เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม

เจตนางดเว้น จากการพูดเท็จ
เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดเท็จ

เจตนางดเว้น จากการพูดส่อเสียด
เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดส่อเสียด

เจตนางดเว้น จากการพูดคำหยาบ
เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดคำหยาบ

เจตนางดเว้น จากการพูดเพ้อเจ้อ
เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดเพ้อเจ้อ"
.....

การประพฤติผิดศีล  เปรียบเสมือนทางขรุขระ  นำไปสู่ความทุกข์ยากลำบาก
แต่ทางที่ขรุขระเหล่านั้น  มีทางราบเรียบให้ใช้เป็นทางหลีกเลี่ยงอยู่
และทางหลีกเลี่ยงที่ว่านี้  ก็คือ  เจตนางดเว้น จากการละเมิดศีลทั้งหลาย

ถ้าเรารู้ชัดว่าการละเมิดศีลไม่ว่าข้อใดก็ตาม  ล้วนนำความทุกข์มาให้  ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
เราก็จะมีเจตนาที่จะงดเว้นจากการประพฤติผิดศีลทั้งหมด

แต่ถ้าเรายังไม่เห็นชัดถึงโทษที่เกิดจากการผิดศีล
"เจตนาที่จะงดเว้น"  ก็จะไม่เกิดขึ้น
แม้จะอยากรักษาศีล  แต่ก็เป็นเพียงความอยาก
ยังไม่มีความมั่นคงเข้มแข็งในใจ
ยังอ้างโน่นอ้างนี่เพื่อจะทำผิดศีลอยู่

ตัวอย่างของหมาในที่ไม่มีเจตนาที่จะรักษาศีลอย่างจริงจัง
เพราะยังไม่เห็นโทษของการผิดศีล
เมื่อมีโอกาส  มันจึงคิดที่จะทำผิดศีลอยู่
แม้หมาในไม่สามารถจับแพะได้  แต่ศีลของหมาในก็ไม่บริสุทธิ์

ตัวอย่างของชาย ๕ คนที่ทำผิดศีลเป็นประจำ
แต่เมื่อไปเที่ยวชายทะเล  สิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยให้ทำผิดศีล
เขาเหล่านั้นจึงยังไม่ได้ทำผิดศีลในวันนั้น
แต่เขาเหล่านั้นยังไม่มี  "เจตนาที่จะงดเว้น"  จากการผิดศีล
เมื่อเป็นเช่นนี้  จึงเรียกว่า  "เป็นผู้มีศีล"  ยังไม่ได้

ฉะนั้น  การที่จะชื่อว่า  "เป็นผู้มีศีล"  ได้
ไม่ใช่เพียงแค่เราไม่ได้ทำผิดศีล
เพราะการที่ไม่ได้ทำผิดศีล  อาจจะเป็นเพราะสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย

แต่ถ้าเรามี  "เจตนาที่จะงดเว้น"  จากการทำผิดศีลแน่วแน่ในใจ
เป็นผู้มั่นคงในศีล  ไม่หวั่นไหว
แม้จะมีสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยให้เราทำผิดศีลได้
เราก็จะไม่กระทำผิดศีลเป็นอันขาด
เมื่อนั้นแหละ  จึงนับได้ว่า  "เป็นผู้มีศีล"  อย่างแท้จริง

ทีนี้  กลับมาตรวจสอบตัวเราเองว่า
เราเป็นแค่  "ผู้ที่ยังไม่ได้ทำผิดศีล"
หรือเราเป็น  "ผู้มีศีลมั่นคง"  แล้ว
ถ้ายังไม่ใช่  เราควรทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้มีศีลมั่นคง
.....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. วกชาดก (ว่าด้วยหมาใน)
๒. ปริกกมนสูตร (ว่าด้วยธรรมเป็นทางหลีกเลี่ยง)


สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าลักษณะของคนมีบุญ


ลักษณะของคนมีบุญเป็นอย่างไร
ในสมัยก่อนพุทธกาล  มีตำราของพราหมณ์กล่าวถึงลักษณะของมหาบุรุษ
เชื่อกันว่า  ผู้ที่มีลักษณะของมหาบุรุษตามตำรานั้นเป็นผู้ที่มีบุญ
ถ้าอยู่ครองเรือน  จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
แต่ถ้าออกบวช  ก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้า

มาในสมัยนี้  บางคนก็ดูว่าคนไหนมีบุญหรือไม่มีบุญจากรูปร่างหน้าตาบ้าง  จากโหงวเฮ้งบ้าง  จากลายมือบ้าง  หรืออื่น ๆ

และเมื่อเชื่อว่า  ผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาอย่างนี้  มีโหวงเฮ้งอย่างนี้  มีลายมืออย่างนี้  เป็นผู้มีบุญ
หลายคนก็เลยพยายามเปลี่ยนตัวเองให้มีลักษณะเช่นนั้น  เช่น  เสริมหน้าผาก  เสริมจมูก  ทำตา ๒ ชั้น  ใส่บิ๊กอาย  ปรับคาง  ฯลฯ  เพื่อจะได้เป็นคนมีบุญ  ทำอะไรจะได้ประสบความสำเร็จได้บ้าง
.....

ขอย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาลก่อนนะครับ
พระสิทธัตถะกุมารก็ทรงเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะของมหาบุรุษทั้ง ๓๒ ประการ  ถือว่าเป็นผู้ที่มีบุญมาก
ซึ่งมีพราหมณ์ทำนายว่าจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือเป็นพระพุทธเจ้า

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ (ในลักขณสูตร) ว่า
"พวกสมณพราหมณ์ภายนอกอาจจะรู้ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการนี้ได้
แต่สมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่ทราบว่า  เพราะมหาบุรุษทรงทำกรรมอะไรไว้  จึงได้ลักษณะมหาบุรุษนี้"


ขอยกตัวอย่างสิ่งที่พระองค์ตรัสมาเพียงบางข้อนะครับ  คือ

"ในชาติก่อน  ตถาคตเกิดเป็นมนุษย์  สมาทานในกุศลธรรม  สมาทานมั่นคงในกายสุจริต  ในวจีสุจริต  ในมโนสุจริต  ในการจำแนกทาน  ในการสมาทานศีล  ในการรักษาอุโบสถ  ในความเกื้อกูลมารดาบิดา  ในความเกื้อกูลสมณะพราหมณ์  ในความประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล  และในกุศลธรรมอันยิ่งอื่น ๆ อีก

เพราะได้สั่งสมกรรมนั้น  ทำกรรมนั้นให้ไพบูลย์แล้ว  หลังจากตายแล้ว  จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์  ครอบงำเทพเหล่าอื่นในเทวโลกนั้นด้วยฐานะ ๑๐
จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว  มาสู่ความเป็นมนุษย์  จึงได้ลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๑  คือ  มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน

ถ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  ไม่มีมนุษย์คนใดที่เป็นข้าศึกศัตรูข่มได้

ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  จะไม่มีข้าศึกศัตรูภายในหรือภายนอก  คือ  ราคะ  โทสะ  หรือโมหะ  หรือสมณพราหมณ์  เทพ  มาร  พรหม  ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงข่มได้
.....

ในชาติก่อน  ตถาคตเกิดเป็นมนุษย์  ได้นำความสุขมาให้แก่คนหมู่มาก  บรรเทาภัยคือความหวาดกลัวและความหวาดสะดุ้ง  จัดการรักษาป้องกันคุ้มครองอย่างเป็นธรรม  และให้ทานพร้อมทั้งของที่เป็นบริวาร

เพราะได้สั่งสมกรรมนั้น  ทำกรรมนั้นให้ไพบูลย์แล้ว  หลังจากตายแล้ว  จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์  ครอบงำเทพเหล่าอื่นในเทวโลกนั้นด้วยฐานะ ๑๐
จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว  มาสู่ความเป็นมนุษย์  จึงได้ลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒  คือ  พื้นฝ่าพระบาททั้งสองมีจักรซึ่งมีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่  มีกง  มีดุม  และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง

ถ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  จะทรงมีบริวารมาก  คือ  มีพราหมณ์  คหบดี  ชาวนิคม  ชาวชนบท  โหราจารย์และมหาอำมาตย์  แม่ทัพนายกอง  ราชองครักษ์  อำมาตย์  บริษัท  ราชา  เศรษฐี  กุมารเป็นบริวาร

ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  จะทรงมีบริวารมาก  คือ  มีภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกา  เทวดา  มนุษย์  อสูร  นาค  คนธรรพ์เป็นบริวาร
.....

ในชาติก่อน  ตถาคตเกิดเป็นมนุษย์  ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์  คือ  วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ  มีความละอาย  มีความเอ็นดู  มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์อยู่

ถ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  จะมีพระชนมายุยืน  ไม่มีข้าศึกศัตรูที่เป็นมนุษย์คนใดสามารถปลงพระชนมชีพในระหว่างได้

ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  จะมีพระชนมายุยืน  ไม่มีข้าศึกศัตรูที่เป็นสมณะ  พราหมณ์  เทพ  มาร  พรหม  หรือใคร ๆ ในโลกสามารถปลงพระชนมชีพในระหว่างได้
.....

ในชาติก่อน
... ให้ของที่ควรเคี้ยว  ของที่ควรบริโภค  ของที่ควรลิ้ม  ของที่ควรชิม  น้ำที่ควรดื่ม  อันประณีต  มีรสอร่อย

... สงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔  คือ
(๑) ทาน (การให้)
(๒) เปยยวัชชะ (วาจาเป็นที่รัก)
(๓) อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์)
(๔) สมานัตตตา (การวางตนสม่ำเสมอ)

... เป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยประโยชน์  ประกอบด้วยธรรม  แนะนำคนหมู่มาก  เป็นผู้นำประโยชน์และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย  เป็นผู้บูชาธรรมเป็นปกติ

... เป็นผู้ตั้งใจสอนศิลปะ  วิชา  จรณะ  หรือกรรม  โดยประสงค์ว่าทำอย่างไรชนทั้งหลายนี้พึงรู้ได้เร็ว  พึงปฏิบัติได้เร็ว  ไม่พึงลำบากนาน

... ได้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์  แล้วซักถามสนทนาธรรม

... ไม่มีความโกรธ  ไม่มีความแค้นใจ
แม้จะถูกว่ากล่าวรุนแรงก็ไม่ขัดเคือง  ไม่โกรธ  ไม่จองล้างจองผลาญ
ไม่แสดงความโกรธ  ความคิดประทุษร้าย  และความเสียใจให้ปรากฏ

... และอื่น ๆ อีกหลายข้อ



โดยทั่วไปแล้ว
เราทุกคนอยากเป็นผู้ที่ไม่มีข้าศึกศัตรูข่มได้
อยากมีเพื่อนฝูงบริวารมาก
อยากมีอายุยืนยาว  ฯลฯ

แต่สิ่งที่สรุปได้จากพระดำรัสของพระพุทธเจ้าในพระสูตรนี้  คือ
การจะเป็นผู้ที่ไม่มีข้าศึกศัตรูข่มได้
เกิดจากการสมาทานในกุศลธรรมทั้งหลาย
มิได้เกิดจากการมีลักษณะมหาบุรุษ

การมีเพื่อนฝูงบริวารมาก
เกิดจากการนำความสุขมาให้แก่คนหมู่มาก  ป้องกันคุ้มครองอย่างเป็นธรรม
มิได้เกิดจากการมีลักษณะมหาบุรุษ

การมีอายุยืนยาว
เกิดจากการเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์  มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์
มิได้เกิดจากการมีลักษณะมหาบุรุษ
.....

ลักษณะของคนมีบุญ  โหงวเฮ้งดี  รูปร่างหน้าตาดี  ลายมือดี  จึงไม่ใช่สิ่งสำคัญ
เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เราไม่มีศัตรู
ไม่ได้ทำให้เรามีเพื่อนฝูงบริวารมาก
ไม่ได้ทำให้เรามีอายุยืน
ไม่ได้ทำให้เราได้ในสิ่งที่น่าปรารถนา ...

สิ่งที่สำคัญ  คือ  การกระทำกรรมดี  ละเว้นกรรมชั่ว
นี่ต่างหากที่จะเป็นเหตุให้เราไม่มีศัตรู
ทำให้เรามีเพื่อนฝูงบริวารมาก
ทำให้เราอายุยืน
ทำให้เราได้ในสิ่งที่น่าปรารถนา ...

ฉะนั้น  ความสำคัญจึงสรุปลงมาที่โอวาทปาฏิโมกข์ (คำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา)  คือ
การไม่ทำบาปทั้งปวง
การบำเพ็ญบุญกุศลให้ถึงพร้อม
การชำระจิตให้ผ่องใสบริสุทธิ์
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
.....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ลักขณสูตร (ว่าด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ)


มีตนเป็นใหญ่หรือมีธรรมเป็นใหญ่


มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับแมวศักดิ์สิทธิ์  ที่ผมอ่านเจอจากบล็อกของคุณ Anontawong's Musings  เรื่องมีอยู่ว่า
ย้อนกลับไปราว ๑๐๐ ปีเศษ  ณ วัดแห่งหนึ่ง
ขณะที่พระในวัดกำลังสวดมนต์ทำวัตรเย็น  ปรากฏว่ามีแมววัดตัวหนึ่งเข้าไปเดินป้วนเปี้ยนรบกวนการสวดมนต์และการนั่งสมาธิของพระในวัด  เป็นอย่างนี้อยู่หลายวัน
ต่อมา  เจ้าอาวาสจึงให้ลูกศิษย์นำแมวตัวนั้นไปผูกไว้กับเสาตรงระเบียงทุกครั้งก่อนที่จะทำวัตรเย็น
หลายปีผ่านไป  เมื่อเจ้าอาวาสมรณภาพ  แมวตัวนั้นก็ยังถูกผูกไว้ที่เสาต้นเดิมทุกครั้งที่มีการทำวัตรเย็น
๑๐ ปีผ่านไป  แมวตัวนั้นก็ได้ตายลง  ลูกศิษย์ในวัดจึงหาแมวตัวอื่นมาผูกไว้ที่เสาต้นนั้น
๑๐๐ ปีผ่านไป  วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดที่มีชื่อเสียงเรื่อง "แมวประจำพิธี"  ที่จะถูกผูกไว้ที่เสาในโบสถ์ทุกครั้งที่ทำวัตรเย็น
ชาวบ้านจากทั่วทุกสารทิศต่างแห่แหนมากราบไหว้และขอพรจากแมวตัวนี้  โดยบอกต่อ ๆ กันว่าจะได้รับโชคลาภและสิริมงคลกลับบ้านไปทุกคน
(ขอบคุณข้อมูลจาก Anontawong's Musings)
.....

เรื่องที่ ๒  ยกมาจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา
เรื่องมหาโมรชาดก
เป็นเรื่องของนกยูงตัวหนึ่ง  เป็นนกยูงทอง  อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง
ครั้งนั้น  พระมเหสีของพระราชาในเมืองหนึ่ง  มีพระสุบินว่าได้พบนกยูงทองตัวหนึ่ง
ครั้นตื่นบรรทมขึ้นมาก็อยากพบนกยูงทองตัวนั้น  จึงออกอุบายกราบทูลพระราชาว่าตนเองตั้งครรภ์  ปรารถนาที่จะได้พบนกยูงทอง  ถ้าไม่ได้พบก็ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้
พระราชารับสั่งในนายพรานทั้งหมดในแว่นแคว้นไปจับนกยูงทองมาให้ได้  แต่ก็ไม่มีใครสามารถจับนกยูงทองตัวนั้นได้
เวลาผ่านไป  พระมเหสีเมื่อไม่ได้ตามปรารถนา  ก็ตรอมพระทัย  สิ้นพระชนม์ไป
พระราชาทรงกริ้วนกยูงทองว่าเป็นต้นเหตุทำให้พระมเหสีต้องสิ้นพระชนม์  จึงทรงให้ราชบุรุษจารึกลงในแผ่นทองว่า
"ในป่าแห่งโน้น  มีนกยูงทองอาศัยอยู่  ผู้ที่ได้กินเนื้อของนกยูงทองนั้นจะไม่แก่ไม่ตาย"
แล้วบรรจุหนังสือนั้นไว้ในหีบ  แล้วสวรรคต
พระราชาองค์ต่อมา  เมื่อทอดพระเนตรเห็นแผ่นจารึกนั้น  ก็ทรงปรารถนาว่า  "เราจะไม่แก่ไม่ตาย"  จึงทรงส่งนายพรานออกไปดักจับนกยูงทองตัวนั้น  แต่ก็ไม่สามารถจับได้  จนสิ้นรัชกาลของพระองค์
พระราชาองค์ต่อมาก็ทรงประพฤติเช่นเดียวกันอีก
เหตุการณ์เป็นไปเช่นนี้อยู่หลายรัชกาล  เพราะหวังว่าจะได้ไม่แก่ไม่ตาย
.....



องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสอุปมาถึงเรื่องทำนองนี้ (ในจังกีสูตร) ว่า
"อุปมาเหมือนคนตาบอดเข้าแถวเกาะหลังกัน
คนอยู่หัวแถว  คนอยู่กลางแถว  และคนอยู่ปลายแถว  ต่างก็มองไม่เห็นกัน"

คนหัวแถวบอกว่ากราบไหว้ขอพรจากแมวแล้วจะได้โชคลาภ  ทั้งที่แมวเหล่านั้นก็เป็นแมวธรรมดาที่ถูกจับผูกไว้  ช่วยตัวเองไม่ให้ถูกผูกยังไม่ได้เลย  แล้วจะไปให้โชคลาภใครได้
แต่คนกลางแถว  คนปลายแถว  ก็เชื่อ

คนหัวแถวบอกว่าได้กินเนื้อนกยูงทองแล้วจะไม่แก่ไม่ตาย  ทั้งที่รู้ว่ามันไม่จริง
แต่คนกลางแถว  คนปลายแถว  ก็เชื่อ
.....

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปถึงธรรม ๕ ประการที่ให้ผล ๒ อย่างอีกว่า
"ภิกษุทั้งหลาย  ธรรม ๕ ประการนี้  คือ
๑. ความเชื่อ
๒. ความชอบใจ
๓. การฟังตามกันมา
๔. ความตรึกตามอาการ
๕. ความเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้

ธรรม ๕ ประการนี้  มีผล ๒ อย่างในปัจจุบัน  คือ

สิ่งที่เชื่อกันด้วยดี  สิ่งที่ชอบใจ  สิ่งที่ฟังตามกันมาอย่างดี  สิ่งที่ตรึกไว้อย่างดี  สิ่งที่พินิจไว้อย่างดี
แต่สิ่งนั้นกลับเป็นของว่างเปล่า  เป็นเท็จไป  ก็มี

สิ่งที่ไม่เชื่อกันด้วยดี  สิ่งที่ไม่ชอบใจ  สิ่งที่ไม่ฟังตามกันมาอย่างดี  สิ่งที่ไม่ได้ตรึกไว้อย่างดี  สิ่งที่ไม่ได้พินิจไว้อย่างดี
แต่สิ่งนั้นกลับเป็นจริงแท้  ไม่เป็นอื่น  ก็มี"
.....

สิ่งที่เราคิดว่าจริง  คิดว่าใช่  อาจจะไม่จริง  อาจจะไม่ใช่ก็ได้
สิ่งที่เราคิดว่าไม่จริง  คิดว่าไม่ใช่  อาจจะจริง  อาจจะใช่ก็ได้

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  เพราะเรายึดความคิดของเราเป็นหลัก
เราไม่ได้มีความจริงตามพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นหลัก

ถ้าเราได้ศึกษา  ทำความเข้าใจ  และเห็นจริง  ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว  เรื่องราวทั้ง ๒ เหตุการณ์ข้างต้นก็จะไม่เกิดขึ้น

ถ้าเรารู้ว่าโชคลาภหรือความเป็นสิริมงคล  เกิดจากการทำกรรมดี  ละเว้นกรรมชั่ว
ถ้าเห็นจริงอย่างนี้  การไปกราบไหว้ขอพรจากแมว (หรือสิ่งอื่นที่คิดว่าจะประทานพรให้เราได้)  ก็จะไม่เกิดขึ้น

ถ้าเรารู้ว่าธรรมดาของทุกชีวิตที่เกิดมาล้วนต้องตาย
แม้นกยูงทองเองก็ไม่ได้เป็นอมตะ  สักวันหนึ่งก็ต้องตาย
การกินสิ่งที่ไม่ได้เป็นอมตะ  แต่คิดว่าจะทำให้เป็นอมตะ  มันเป็นไปไม่ได้
ถ้าเห็นจริงอย่างนี้  การดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่จะทำให้ไม่แก่ไม่ตาย  ก็จะไม่เกิดขึ้น

ฉะนั้น  การศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
เราควรศึกษา  ทำความเข้าใจ  จนเห็นจริง  ตามพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อใด  ที่เรารู้ว่าสิ่งใดใช่  สิ่งใดไม่ใช่  ตามความเป็นจริง
เมื่อนั้น  เราก็จะได้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกที่ควร
เราจะได้ไม่ต้องงมงายไปกราบไหว้สิ่งต่าง ๆ
เราจะได้ไม่ต้องก่ออกุศลกรรม (มีจิตคิดจะฆ่า) เหมือนพระราชาเหล่านั้น
.....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง


การให้อภัยที่ประณีตยิ่งกว่าการให้อภัย


หลายคนอาจจะรู้จักความหมายของคำว่า  "การให้อภัย"  ในแง่ของการยกโทษให้  การไม่ถือโทษ

แต่ยังมีความหมายของ  "การให้อภัย"  ที่ประณีตยิ่งกว่านั้น  ที่เราหลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน

การให้อภัย  ถ้าแปลตรง ๆ มาจากภาษาบาลีว่า  "อภัยทาน"

ลองแยกศัพท์ดู  คำว่า  อภัยทาน  =  อ + ภัย + ทาน
อ  =  ไม่
(เป็นอักษรใช้นําหน้าคําที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต
บอกความปฏิเสธหรือตรงกันข้าม  แปลว่า  ไม่  หรือ  ไม่ใช่)
ภัย  =  สิ่งที่น่ากลัว,  อันตราย
ทาน  =  การให้
อภัยทาน  =  การให้ความไม่มีภัย

ฉะนั้น  การให้อภัยที่แท้จริง  ที่มีความหมายประณีตยิ่งกว่าการยกโทษให้  ก็คือ  "การให้ความไม่มีภัย"

แล้ว  "การให้ความไม่มีภัย"  มันเป็นอย่างไรล่ะ ??
ลองอ่านต่อไปนะครับ
.....



องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงทานอันเลิศ ๕ ประการไว้ (ในอภิสันทสูตร) ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
ทาน ๕ ประการนี้เป็นมหาทาน  ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ  รู้กันมานาน  รู้กันว่าเป็นอริยวงศ์  เป็นของเก่า  ในอดีตไม่ถูกลบล้างแล้ว  ไม่เคยถูกลบล้าง  ในปัจจุบันไม่ถูกลบล้าง  ในอนาคตก็จักไม่ถูกลบล้าง  ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน

ทาน ๕ ประการ  คือ
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ
๕. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท

อริยสาวกผู้ละเว้นขาดเช่นนี้แล้ว  ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย  ให้ความไม่มีเวร  ให้ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์ทั้งหลาย  ไม่มีประมาณ

อริยสาวกนั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย  ความไม่มีเวร  ความไม่เบียดเบียน  อันไม่มีประมาณ

นี้เป็นมหาทานที่รู้กันว่าล้ำเลิศ  รู้กันมานาน  รู้กันว่าเป็นอริยวงศ์  เป็นของเก่า  ในอดีตไม่ถูกลบล้างแล้ว  ไม่เคยถูกลบล้าง  ในปัจจุบันไม่ถูกลบล้าง  ในอนาคตก็จักไม่ถูกลบล้าง  ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน

นี้เป็นห้วงบุญกุศลที่นำสุขมาให้  เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี  มีสุขเป็นผล  ให้เกิดในสวรรค์  เป็นไปเพื่อเกื้อกูล  เพื่อสุขที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ"
.....


พระพุทธเจ้าตรัสถึงการละเว้นขาดจากการเบียดเบียนผู้อื่น  ตั้งมั่นอยู่ในศีลทั้ง ๕ ข้อ  ว่า  "เป็นการให้ความไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย"
การตั้งมั่นอยู่ในศีลทั้ง ๕ ข้อนี้  จึงจัดเป็นอภัยทานในพระพุทธศาสนานี้

ไม่จำเป็นว่าต้องรอให้มีใครทำผิดกับเราก่อน  แล้วเราจึงให้อภัย
แต่เราสามารถให้อภัย (โดยนัยของการให้ความไม่มีภัย) ได้ตลอดเวลา

และเนื่องจากการให้อภัยที่ประณีตยิ่งกว่าการให้อภัยในที่นี้
โดยนัยก็คือการตั้งมั่นในศีล
ฉะนั้น  อภัยทาน (ศีล) จึงเป็นมหาทาน
มีอานิสงส์มากกว่าการให้ทานทั่วไปด้วยประการฉะนี้

ขอแถมท้ายอีกนิด
คำว่า  "เขตอภัยทาน"  ที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นเขตห้ามจับปลา  ห้ามฆ่าสัตว์
ความหมายนี้จึงยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดทีเดียว

เขตอภัยทาน  ควรจะเป็นเขตที่ให้ความปลอดภัยแก่คนและสัตว์ทั้งหลาย
ด้วยการไม่ละเมิดศีลทั้ง ๕ ข้อ
ละเว้นขาดจากการฆ่าหรือทำร้ายสัตว์ในเขตอภัยทาน
ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ในเขตอภัยทาน
ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามในเขตอภัยทาน
ละเว้นขาดจากการพูดเท็จหลอกลวงในเขตอภัยทาน
ละเว้นขาดจากการเสพของมึนเมาในเขตอภัยทาน

จะดีแค่ไหน  ถ้าเราสามารถขยายพื้นที่เขตอภัยทานให้ครอบคลุมให้กว้างไกลมากกว่าแค่ในวัด  แล้วสังคมจะเป็นสุขด้วยอภัยทานนี้เอง
.....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง