คำอวยพร


ผมได้รับคำถามจากเพื่อนคนหนึ่งว่า
"เราอวยพรให้พระได้หรือไม่"

คำถามนี้  ทำให้ผมนึกถึงเรื่องเล่าที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาเรื่องหนึ่ง
(ในภัคคชาดก)
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า

นานมาแล้ว
มียักษ์ตนหนึ่งเฝ้าอยู่ที่ศาลาที่พักอาศัยของคนเดินทางหลังหนึ่ง

ยักษ์ตนนี้ได้รับพรจากท้าวเวสสุวัณ (ราชาแห่งยักษ์) ว่า
"มนุษย์คนใดก็ตามที่เข้าไปพักในศาลานี้
ถ้าเห็นผู้อื่นจาม  แล้วไม่กล่าวว่า  'ขอให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรงเถิด'
หรือผู้ที่เขาอวยพรแล้ว  แต่ไม่กล่าวตอบว่า  'ขอให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรงเช่นกัน'
อนุญาตให้ยักษ์จับกินได้"

วันหนึ่ง  มีพ่อลูกคู่หนึ่งเดินทางไปค้าขายยังต่างแดน
ระหว่างทาง  ได้เข้าไปอาศัยนอนพักค้างแรมในศาลาพักคนเดินทางหลังนั้น

ยักษ์เห็นคนทั้งสองแล้ว  ต้องการจับกิน
จึงโรยผงละเอียดด้วยอานุภาพของตนให้เข้าไปในจมูกของผู้เป็นพ่อ
ทำให้เขาจามเสียงดัง

ผู้เป็นลูกเห็นพ่อจาม  ก็ไม่ได้พูดอะไร
ยักษ์จึงตรงเข้าไปหาเพื่อจะจับเขากิน

แต่เขาเป็นคนฉลาด  เมื่อเห็นยักษ์แล้ว  ก็รู้ได้ด้วยปัญญาไหวพริบว่า
"ยักษ์ตนนี้กำลังจะมาจับเรากิน
คงเป็นเพราะเราเห็นพ่อจามแล้วไม่ได้กล่าวว่าขอให้แข็งแรง"

คิดได้ดังนี้แล้ว  จึงกล่าวกับพ่อว่า
"ขอให้พ่อมีสุขภาพแข็งแรง  อย่าเจ็บอย่าป่วยเลย"

ยักษ์ได้ยินคำนั้นแล้ว  ก็ไม่สามารถเข้าไปจับเขากินได้
จึงหันไปทางผู้เป็นพ่อ

ผู้เป็นพ่อเห็นยักษ์เข้ามาหา  ก็รู้ว่า
"ยักษ์ตนนี้จะมาจับเรากิน
คงเพราะเราไม่ได้กล่าวอวยพรตอบ"

จึงกล่าวกับลูกชายว่า
"ขอให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง  อย่าเจ็บอย่าป่วยเช่นกันนะ"

ยักษ์จึงไม่สามารถจับทั้งสองคนกินได้

ธรรมเนียมการกล่าวอวยพรให้มีสุขภาพดี  จึงเกิดขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
..........


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


เวลาผ่านไป  จนมาถึงในสมัยพุทธกาล

ครั้งหนึ่ง  ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่
พระองค์ได้ทรงจามขึ้น

ครั้งนั้น  ภิกษุทั้งหลายต่างเป็นห่วงพระสุขภาพ  จึงพากันกราบทูลว่า
"ขอพระองค์ทรงพระเจริญพระชนมายุเถิด"

เพราะเสียงถวายพระพรนั้น  พระพุทธเจ้าจึงทรงหยุดการแสดงธรรม
แล้วตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อมีการจาม  แล้วได้รับพรว่า  'ขอจงมีอายุยืน'
ผู้ที่จามนั้นจะมีอายุยืนจากการได้รับพรนั้นหรือ"

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า  "ไม่ใช่อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
ด้วยเหตุนี้  เมื่อมีการจาม  ภิกษุไม่พึงให้พรว่า  'ขอจงมีอายุยืน'
ภิกษุรูปใดให้พร  ต้องอาบัติทุกกฏ"
..........

ไม่ว่าจะเป็นพรในเรื่องใดก็ตาม
ขอให้อายุยืน
ขอให้สุขภาพแข็งแรง
ขอให้ร่ำรวย
ขอให้ปลอดภัย
ฯลฯ

ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า
การจะมีอายุยืน  ไม่ได้เกิดจากการได้รับพร
การจะมีสุขภาพแข็งแรง  ไม่ได้เกิดจากการได้รับพร
การจะร่ำรวย  ไม่ได้เกิดจากการได้รับพร
การจะมีความปลอดภัย  ไม่ได้เกิดจากการได้รับพร
ฯลฯ

แต่หลาย ๆ คน  ก็ยังอยากได้พร
..........


หลังจากการแสดงธรรมในครั้งนั้นแล้ว
อยู่มาวันหนึ่ง  มีภิกษุเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  แล้วจาม
ชาวบ้านจึงกล่าวว่า
"ขอให้พระคุณเจ้าจงมีอายุยืน  อย่าเจ็บอย่าป่วยเลย"

ภิกษุนั้นกลัวว่าจะต้องอาบัติ  จึงไม่ได้ให้พรตอบ

ชาวบ้านเหล่านั้นจึงตำหนิว่า
"ภิกษุเหล่านี้เมื่อเขาให้พรแล้ว  ทำไมไม่ยอมให้พรตอบ"

พระพุทธเจ้าเมื่อทรงทราบ  จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
พวกคฤหัสถ์เขาถือมงคลกัน
เมื่อพวกคฤหัสถ์ให้พรว่า  'ขอพระคุณเจ้าจงมีอายุยืน'
เราอนุญาตให้ภิกษุให้พรตอบว่า  'ท่านก็จงมีอายุยืน"
..........


จากที่ไม่เคยมีการให้พร
กลายมาเป็นธรรมเนียมการให้พร  เพราะยักษ์เป็นเหตุ

จากธรรมเนียมการให้พร
กลายมาเป็นความเชื่อว่า  "การได้รับพร  เป็นมงคล"
.....

เมื่อคนที่ยังไม่เข้าใจธรรมะ  ยังอยากได้พร
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ภิกษุให้พรได้

เมื่อเขาได้รับพรแล้ว  ได้เข้ามาใกล้  เปิดใจที่จะรับฟังแล้ว
ภิกษุนั้นก็ควรแสดงธรรมให้ผู้รับพรได้รู้ความจริง
ว่า  "สิ่งต่าง ๆ ที่ปรารถนานั้น  ไม่ได้สำเร็จได้จากการรับพร"
.....

ฝ่ายผู้ที่ได้รับพร  ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท
ก็ควรศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ให้เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัย
ไม่มีใครประทานพรให้อะไรแก่ใครได้
เมื่ออยากได้สิ่งที่ดี  ก็ต้องทำเหตุปัจจัยที่ดีด้วยตนเอง
..........


"ท้ายที่สุดนี้  ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย
จงดลบันดาลให้คุณและครอบครัวพบแต่ความสุขความเจริญ
ตลอดไปเทอญ"

"อายุ  วัณโณ  สุขัง  พะลัง"

แต่ ... ก่อนจบ  ขอกล่าวเสริมในฐานะของผู้ให้พรว่า
การที่เราจะพบความสุขความเจริญได้
พระรัตนตรัยไม่อาจดลบันดาลให้เราได้โดยตรง
แต่พระรัตนตรัยจะเป็นผู้ชี้บอกวิธีให้เราปฏิบัติ
เพื่อให้พบความสุขความเจริญได้ด้วยตัวเราเอง

ทีนี้  ในฐานะที่คุณเป็นผู้รับพร  คุณคิดอย่างไร  และควรทำอย่างไร
..........

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ภัคคชาดก (ว่าด้วยบิดาพระโพธิสัตว์ชื่อภัคคะ)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น