ตัวช่วยแก้เหตุร้าย


ใครเคยสวดพระคาถาบทนี้บ้าง  ชื่อพระคาถาว่า  อภยปริตร
บทสวดมีดังนี้

ยันทุนนิมิตตัง  อะวะมังคะลัญจะ
โย  จามะนาโป  สะกุณัสสะ  สัทโท
ปาปัคคะโห  ทุสสุปินัง  อะกันตัง
พุทธานุภาเวนะ  วินาสะเมนตุ ฯ

ยันทุนนิมิตตัง  อะวะมังคะลัญจะ
โย  จามะนาโป  สะกุณัสสะ  สัทโท
ปาปัคคะโห  ทุสสุปินัง  อะกันตัง
ธัมมานุภาเวนะ  วินาสะเมนตุ ฯ

ยันทุนนิมิตตัง  อะวะมังคะลัญจะ
โย  จามะนาโป  สะกุณัสสะ  สัทโท
ปาปัคคะโห  ทุสสุปินัง  อะกันตัง
สังฆานุภาเวนะ  วินาสะเมนตุ ฯ

คำแปลของพระคาถาบทนี้  มีอยู่ว่า
ลางร้ายใด ๆ  อัปมงคลใด ๆ  เสียงนกที่น่าสะพรึงกลัวใด ๆ  เคราะห์ร้ายและฝันร้ายที่ไม่น่าปรารถนาใด ๆ
ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า  อานุภาพของพระธรรม  อานุภาพของพระสงฆ์  ขอความเลวร้ายทั้งปวงเหล่านั้นจงพินาศไปสิ้น
.....



(ขอบคุณภาพจากแฟ้มภาพ www.thairath.co.th)


ครั้งหนึ่ง  มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า

"มีพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวอ้างว่าสามารถทำคนที่ตายแล้วให้ไปสวรรค์ได้"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
"บุรุษใดก็ตามที่ประพฤติทุจริตทางกาย  วาจา  ใจ
แม้จะมีคนมาสวดสรรเสริญ  ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า  'ขอบุรุษนี้หลังจากตายแล้วจงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์เถิด'
ถึงกระนั้นก็ตาม  อกุศลกรรมที่เขาทำไว้นั้นก็จะเป็นเหตุให้เขาไปเกิดในอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก

ในทางกลับกัน
บุรุษใดก็ตามที่ประพฤติสุจริตทางกาย  วาจา  ใจ
แม้จะมีคนมาสวดสาปแช่ง  ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า  'ขอบุรุษนี้หลังจากตายแล้วจงไปเกิดในอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรกเถิด'
ถึงกระนั้นก็ตาม  กุศลกรรมที่เขาทำไว้นั้นก็จะเป็นเหตุให้เขาไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์"
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในอสิพันธกปุตตสูตร)


ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า ...
ที่เราคิดว่าพระพุทธเจ้าสามารถปัดเป่าภัยอันตรายให้หายไปได้
แต่แม้พระพุทธเจ้าเองก็ยังต้องรับผลของกรรมที่พระองค์เคยกระทำไว้ในอดีตชาติ
ซึ่งเป็นเหตุให้ถูกกล่าวตู่ว่าทำนางจิญจมาณวิกาท้อง
ถูกพระเทวทัตกลิ้งก้อนหินใหญ่เพื่อให้หล่นมาทับ
และถูกกระทำเหตุร้ายอื่น ๆ อีกมาก
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในผลกรรมที่พระพุทธเจ้าได้รับ)


ด้วยอานุภาพของพระธรรม ...
ที่เราคิดว่าการจำธรรมได้มาก  จำปาติโมกข์ได้ทั้งหมด  สวดมนต์ได้หลายบท  จะช่วยปัดเป่าภัยอันตรายให้หายไปได้
พระโปฐิละผู้เป็นธรรมกถึก  รู้ธรรมมาก  เป็นครูสอนธรรมให้แก่คณะต่าง ๆ ถึง ๑๘ คณะ
แต่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นใบลานเปล่า  คัมภีร์เปล่า  เพราะไม่ได้รับผลใด ๆ จากการปฏิบัติ
เกือบจะต้องไปอบาย
โชคดีที่สำนึกตัว  รับฟังคำชี้แนะจากสามเณรจนบรรลุธรรมได้
.....


ด้วยอานุภาพของพระสงฆ์ ...
ที่เราคิดว่าพระสงฆ์จะสามารถปัดเป่าภัยอันตรายของเราให้หายไปได้
แต่แม้พระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า
มารดาของท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ  ไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา  เสี่ยงที่จะไปอบาย
พระสารีบุตรก็ไม่สามารถดลบันดาลฤทธิ์ช่วยมารดาได้
แต่พระสารีบุตรออกอุบายให้มารดาได้มีโอกาสฟังธรรม  จนเกิดดวงตาเห็นธรรม  และพ้นอบายได้
.....


สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  เป็นผู้รับผลของกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ใครทำกรรมใดไว้  จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม  ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

พระโปฐิละก็ต้องทำกรรมอันดี  เพื่อเป็นที่พึ่งอาศัยของตน
มารดาของพระสารีบุตรก็ต้องทำกรรมอันดี  เพื่อเป็นที่พึ่งอาศัยของตน
ไม่มีใครทำแทนให้ใครได้
พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  ก็ทำแทนให้เราไม่ได้
.....

พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  ไม่ได้มีอานุภาพที่จะช่วยดลบันดาลให้ใครรอดพ้นจากภัยอันตรายต่าง ๆ ตามผลของกรรมที่เคยทำมาได้
การขอให้พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  ช่วยปัดเป่าภัยอันตรายให้พ้นไป  ย่อมเป็นไปไม่ได้

อานุภาพของพระพุทธเจ้า  เกิดจากการตรัสรู้และเผยแผ่พระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้แล้วเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก

อานุภาพของพระธรรม  เกิดจากการศึกษา (ทั้งปริยัติและปฏิบัติ) อย่างจริงจัง  จนเกิดประโยชน์สุขแก่ผู้ที่ศึกษานั้น

อานุภาพของพระสงฆ์  เกิดจากการปฏิบัติตรงตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  และบอกกล่าวแก่สัตว์โลกที่ต้องการรู้ธรรมเห็นธรรมตาม

อานุภาพทั้ง ๓ นี้จะให้ผลเกิดขึ้นเป็นประโยชน์แก่เรา
ก็ต่อเมื่อเราปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
โดยมีพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบคอยชี้แนะ
ให้เราตั้งมั่นที่จะประพฤติสุจริต  ละเว้นขาดจากการประพฤติทุจริตทั้งปวง
เมื่อกระทำแต่กรรมดี  ไม่ทำกรรมชั่ว  เหตุร้ายต่าง ๆ  เรื่องอัปมงคล  หรือเรื่องที่น่าสะพรึงกลัว  ก็จะไม่เกิดขึ้นกับเรา
นี่แลคือการปัดเป่าภัยอันตรายได้อย่างแท้จริง

อย่าหวังพึ่งตัวช่วยใด ๆ  โดยไม่ทำที่พึ่งอันดีของตนเอง  ด้วยตนเอง
ตัวช่วยแก้เหตุร้ายที่ดีที่สุด  คือตัวเราเองที่มีธรรม

ตนแล (ที่มีธรรม) เป็นที่พึ่งแห่งตน
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. อสิพันธกปุตตสูตร (ว่าด้วยผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตร)


มองโทษประหารอย่างชาวพุทธ


ไม่กี่วันมานี้  มีข่าวการประหารชีวิตนักโทษในไทยเป็นครั้งแรกในรอบ ๙ ปี
มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย  และฝ่ายที่คัดค้าน
ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลที่สนับสนุนความเห็นของตน

การลงโทษผู้ที่กระทำความผิด  ด้วยวิธีการที่รุนแรง  จนถึงขั้นประหารชีวิต  ก็มีปรากฏอยู่แม้ในสมัยพุทธกาล

แต่สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้คืออย่างไร
.....


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


ในทางพระพุทธศาสนา

คำว่า  "กาม"  หมายถึง  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส
(ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเจาะจงเรื่องของเพศสัมพันธ์อย่างที่หลายคนเข้าใจ)

สิ่งที่คนทั้งหลายปรารถนา  ก็หนีไม่พ้นกามทั้ง ๕ เหล่านี้  คือ  รูปสวย  เสียงเพราะ  กลิ่นหอม  รสอร่อย  สัมผัสอ่อนนุ่ม
นี่คือคุณของกาม  หรือที่เรียกว่า  กามคุณ

แต่กามไม่ได้มีเพียงสิ่งที่เป็นคุณที่ชาวโลกต้องการเท่านั้น
กามยังให้โทษให้ทุกข์อีกมาก

เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งกามที่ปรารถนา
บางคนจึงอดหลับอดนอน  ทำงานหาเงินหามรุ่งหามค่ำ  ยอมเหน็ดยอมเหนื่อย
แต่แม้จะขยันแค่ไหน  บางครั้งก็ไม่ได้กามตามที่ปรารถนา
หรือแม้จะได้มาแล้ว  ก็มีความกลัวว่าจะเสียหาย  หรือจะถูกขโมยไป

ยิ่งไปกว่านั้น  เพราะกามเป็นเหตุ  การทะเลาะวิวาทก็เกิดขึ้น  การทำร้ายร่างกายก็เกิดขึ้น  การทำผิดกฎหมายก็เกิดขึ้น  การกระทำผิดศีลก็เกิดขึ้น

เมื่อมีการทะเลาะวิวาท  ทำร้ายร่างกาย  ก็อาจจะบาดเจ็บ  หรือเสียชีวิต
เมื่อทำผิดกฎหมาย  ก็ถูกจับกุม  กักขัง  ลงโทษ
เมื่อทำผิดศีล  หลังจากตายไป  ก็ต้องไปนรก
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในจูฬทุกขักขันธสูตร)


จะเห็นว่า  การที่ใครสักคนจะทำผิดกฎหมาย  แล้วถูกจับกุม  ถูกลงโทษ  ตั้งแต่โทษเบา  จนถึงโทษหนัก  ตั้งแต่ทรมาน  จนถึงประหารชีวิต  มีสาเหตุมาจากความปรารถนาในกาม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นโทษของกามว่าน่ากลัวยิ่งนัก

เราไม่ควรเสียเวลาในการโต้เถียงกันว่านักโทษสมควรถูกประหารชีวิตหรือไม่
แต่ควรใช้เวลามาตระหนักถึงโทษทุกข์ที่เกิดจากกาม  แล้วยับยั้งการกระทำที่ผิดกฎหมาย  หยุดการกระทำที่ผิดศีลได้  น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร  ก็แล้วแต่เขาเถิด
กลับมาตรวจสอบตัวเราเองดีกว่า
เราเห็นโทษเห็นภัยของกามหรือยัง
เราสามารถหยุดการกระทำที่เป็นอกุศลได้หรือไม่

ใครที่ทำได้  โทษประหารก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวสำหรับเขาเลย
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. จูฬทุกขักขันธสูตร (ว่าด้วยกองทุกข์  สูตรเล็ก)


จะสอนลูกอย่างไรเมื่อเห็นคนชั่วได้ดี


เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
มีข่าวใหญ่เกี่ยวกับการล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร  ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
แต่จนถึงวันนี้  ผู้ทำผิดก็ยังไม่ได้รับการลงโทษ

จนกระทั่งไม่กี่วันมานี้  ก็มีคนโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คว่า
"ทำไมคนเลวยังไม่ถูกลงโทษ
แล้วเราจะสอนลูกยังไง"
.....

ครั้งหนึ่ง  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงบุคคล ๔ จำพวกมีปรากฏอยู่ในโลก  คือ
๑. บุคคลที่ทำกรรมชั่ว  หลังจากตายแล้วไปนรก
๒. บุคคลที่ทำกรรมชั่ว  หลังจากตายแล้วไปสวรรค์
๓. บุคคลที่ทำกรรมดี  หลังจากตายแล้วไปสวรรค์
๔. บุคคลที่ทำกรรมดี  หลังจากตายแล้วไปนรก

เหตุที่เป็นเช่นนี้  ไม่ใช่ว่าผลบุญผลบาปไม่มีจริง
ทำกรรมดี  ย่อมได้ผลดีแน่นอน
ทำกรรมชั่ว  ย่อมได้ผลชั่วแน่นอน
.....


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


การที่ใครก็ตาม  หลังจากตายแล้วไปนรกนั้น
เป็นได้ทั้งจากผลของกรรมชั่วที่เขาทำไว้ในชาติก่อน
หรือเพราะผลของกรรมชั่วที่ทำไว้ในชาตินี้
หรือเพราะก่อนตาย  เขายึดมั่นมิจฉาทิฏฐิ

หรือถ้าตายแล้วไปสวรรค์
ก็เป็นได้ทั้งจากผลของกรรมดีที่เขาทำไว้ในชาติก่อน
หรือเพราะผลของกรรมดีที่ทำไว้ในชาตินี้
หรือเพราะก่อนตาย  เขายึดมั่นสัมมาทิฏฐิ
.....

ส่วนกรรมชั่วหรือกรรมดีที่เขาทำไว้ในชาตินี้
ไม่หายไปไหน  ย่อมให้ผลแน่นอน
ถ้ายังไม่ให้ผลชาตินี้  ก็ให้ผลชาติหน้า  หรือชาติต่อ ๆ ไป
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในมหากัมมวิภังคสูตร)


เรื่องของกรรม  เป็น ๑ ในเรื่องอจินไตย ๔
เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าไม่ควรคิด
เพราะเกินวิสัยที่เราจะหยั่งรู้ได้
.....

กรรมบางอย่างให้ผลแล้ว  บางอย่างยังไม่ให้ผล
กรรมบางอย่างให้ผลเร็ว  บางอย่างให้ผลช้า
กรรมบางอย่างให้ผลหนัก  บางอย่างให้ผลเบา
กรรมบางอย่างให้ผลก่อน  บางอย่างให้ผลหลัง
กรรมบางอย่างให้ผลนาน  บางอย่างให้ผลไม่นาน

รายละเอียดในเรื่องผลของกรรมเป็นสิ่งเกินวิสัยที่เราจะรู้ได้

แต่สิ่งที่รู้ได้แน่ ๆ คือ
กรรมดี  ให้ผลดีแน่นอน
กรรมชั่ว  ให้ผลชั่วแน่นอน
.....

พลเมืองดีบางคนเก็บกระเป๋าเงินได้  ส่งคืนเจ้าของ  ได้รับการยกย่องจากสังคม
แต่บางคนเก็บเงินได้  ส่งคืนเจ้าของ  สังคมก็ไม่ได้ยกย่องอะไร

นักการเมืองบางคนทุจริต  ก็ถูกศาลตัดสินลงโทษอย่างหนัก
แต่บางคนทุจริต  กลับไม่ถูกดำเนินคดีอะไร

ถ้าเราเชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรมจริงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
เราจะไม่สงสัยเลยว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
.....

กรรมที่ไม่ควร  ส่องให้เห็นว่าไม่ควร  ก็มีอยู่
กรรมที่ไม่ควร  ส่องให้เห็นว่าควร  ก็มีอยู่
กรรมที่ควร  ส่องให้เห็นว่าควร  ก็มีอยู่
กรรมที่ควร  ส่องให้เห็นว่าไม่ควร  ก็มีอยู่

แม้ว่าเรื่องกรรมและผลของกรรมจะเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน
แต่หลักง่าย ๆ ที่เป็นจริงเสมอ  ก็คือ
ทำกรรมดี  ย่อมได้ผลดี
ทำกรรมชั่ว  ย่อมได้ผลชั่ว
ผลของกรรม  ยุติธรรมเสมอ

ความเชื่อมั่นเพียงเท่านี้  ก็น่าจะเพียงพอที่จะสอนลูกสอนหลานได้แล้ว
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. มหากัมมวิภังคสูตร (ว่าด้วยการจำแนกกรรม  สูตรใหญ่)


เป็นผู้สมควรเข้าไปสู่ตระกูลหรือยัง


พระรูปหนึ่ง  มีความคิดในขณะที่กำลังเดินบิณฑบาตว่า
"ขอให้มีคนมาใส่บาตร  อย่าได้ไม่มีเลย
ขอให้มีคนมาใส่บาตรมาก ๆ  อย่าได้มีน้อยเลย
ขอให้ใส่บาตรแต่ของดี ๆ อร่อย ๆ  อย่าได้ใส่แต่ของธรรมดา ๆ เลย
ขอให้กระตือรือร้นเพื่อใส่บาตร  อย่าได้เฉื่อยชาเลย
ขอให้ใส่บาตรโดยเคารพนอบน้อม  อย่าได้ใส่โดยไม่เคารพนอบน้อมเลย"

แต่เมื่อไม่มีคนใส่บาตร
หรือมีคนใส่บาตรน้อย
หรือใส่บาตรแต่ของธรรมดา ๆ
หรือใส่บาตรอย่างเฉื่อยชา
หรือใส่บาตรโดยไม่เคารพนอบน้อม
พระรูปนี้ก็เสียใจ  มีความทุกข์เกิดขึ้น
.....

พระอีกรูปหนึ่ง  ไปบิณฑบาตเหมือนกัน  และมีความคิดเหมือนกันว่า
"ขอให้มีคนมาใส่บาตร  อย่าได้ไม่มีเลย
ขอให้มีคนมาใส่บาตรมาก ๆ  อย่าได้มีน้อยเลย
ขอให้ใส่บาตรแต่ของดี ๆ อร่อย ๆ  อย่าได้ใส่แต่ของธรรมดา ๆ เลย
ขอให้กระตือรือร้นเพื่อใส่บาตร  อย่าได้เฉื่อยชาเลย
ขอให้ใส่บาตรโดยเคารพนอบน้อม  อย่าได้ใส่โดยไม่เคารพนอบน้อมเลย"

แต่เมื่อไม่มีคนใส่บาตร
หรือมีคนใส่บาตรน้อย
หรือใส่บาตรแต่ของธรรมดา ๆ
หรือใส่บาตรอย่างเฉื่อยชา
หรือใส่บาตรโดยไม่เคารพนอบน้อม
พระรูปที่สองนี้ก็ไม่เสียใจ  ไม่ได้เป็นทุกข์
.....



(ขอบคุณภาพจาก www.dhamma.serichon.us)


ดูเผิน ๆ แล้ว  พระทั้ง ๒ รูปต่างก็มีความคิดในการบิณฑบาตเหมือน ๆ กัน

แต่พระรูปแรกปรารถนาให้คนมาใส่บาตรเยอะ ๆ ดี ๆ เร็ว ๆ  โดยเคารพ
เพราะต้องการให้ตนเองได้รับของเยอะ  ของดี  ได้เร็ว  และได้รับความเคารพ
แต่เมื่อไม่ได้ตามที่ปรารถนา  จึงเสียใจ  เป็นทุกข์
.....

ในขณะที่พระรูปที่สอง  ก็ปรารถนาให้คนมาใส่บาตรเยอะ ๆ ดี ๆ เร็ว ๆ  โดยเคารพ
แต่ที่ปรารถนาเช่นนั้น  เพราะรู้ว่า
การให้ทาน  มีอานิสงส์
การให้ของมาก  ก็มีอานิสงส์
การให้ของประณีต  ก็มีอานิสงส์
การให้โดยกระตือรือร้น  ก็มีอานิสงส์
การให้โดยเคารพ  ก็มีอานิสงส์
อานิสงส์ของทานจะเกิดขึ้นแก่ผู้ให้ทานนั้นเอง

พระรูปที่สองนี้  ปรารถนาจะให้ผู้คนทำบุญให้ทานใส่บาตร
เพราะจะมีผลมีอานิสงส์ต่อผู้นั้นเอง

เมื่อมีผู้ทำบุญให้ทานเช่นนั้น  ก็จะยินดี  อนุโมทนาในความดีของผู้นั้น
(ไม่ใช่ยินดีว่าเราได้รับของดีของเยอะ)

แต่ถ้าเขาไม่ทำบุญใส่บาตร
หรือเขาทำบุญใส่บาตร  แต่ใส่น้อย
หรือใส่แต่ของธรรมดา ๆ
หรือใส่อย่างเฉื่อยชา
หรือใส่โดยไม่เคารพนอบน้อม
พระรูปนี้ก็จะไม่เสียใจหรือเป็นทุกข์
เพราะรู้ว่า
๑. เขาอาจจะยังไม่รู้ถึงอานิสงส์ของการให้ทาน  หรือ
๒. อาจจะเป็นเพราะผลของอกุศลกรรมที่เราเคยทำไว้
ทำให้ไม่มีใครใส่บาตรให้เรา  เหมือนเรื่องของพระโลสกเถระ
.....


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
ภิกษุประเภทที่ ๑  "เป็นผู้ไม่สมควรเข้าไปสู่ตระกูล"
เพราะไม่ได้เป็นเนื้อนาบุญต่อผู้อื่น  และเป็นโทษทุกข์ต่อภิกษุรูปนั้นเอง
ภิกษุประเภทที่ ๒  "เป็นผู้สมควรเข้าไปสู่ตระกูล"
เพราะสามารถสงเคราะห์คฤหัสถ์ทั้งหลายที่ปรารถนาบุญได้
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในกุลูปกสูตร)


ก่อนที่จะไปบิณฑบาต
ตรวจสอบตนเองว่า  เราเป็นผู้สมควรเข้าไปสู่ตระกูลแล้วหรือยัง
เราไปบิณฑบาตเพื่อการสงเคราะห์อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย
หรือไปบิณฑบาตเพื่อหาลาภสักการะมาสู่ตนเองกันแน่
..........



คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. กุลูปกสูตร (ว่าด้วยภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูล)
๒. โลสกชาดก (ว่าด้วยคนโลเลต้องเศร้าโศก)


ก่อนที่ความตายจะมาถึง


วันนี้  เห็นข่าวเด็กนักเรียนอายุ ๑๖ ปี  ไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็มขณะฝนตก  ถูกไฟดูด
แต่โชคดี  เพื่อนที่มาด้วยช่วยไว้ได้ทัน  จึงรอดตายได้หวุดหวิด

อีกข่าวหนึ่ง  หลวงตาอายุ ๘๑ ปี  ถือขวานไปตัดกิ่งต้นไทรเพื่อพัฒนาวัด  แต่พลาด  ทำให้ถูกกิ่งต้นไทรหล่นทับร่างจนมรณภาพ
.....

ความตายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา  ทุกสถานที่  เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องเจอ

เราไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเราเมื่อไร  ที่ไหน
และไม่รู้ว่าจะมาในรูปแบบใด
อาจจะถูกไฟดูดตาย  ถูกกิ่งไม้ใหญ่หล่นทับตาย  ถูกฆ่าตาย  ป่วยตาย  ฯลฯ
ไม่มีใครรู้

แต่ที่รู้แน่ ๆ คือ  เราหนีความตายไม่พ้น

แล้วเราควรทำอย่างไร
.....


(ขอบคุณภาพจาก Facebook ของ Rachata Budlek)


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนพราหมณ์ที่มีอายุถึง ๑๒๐ ปีว่า
       "ชีวิตถูกชรานำเข้าไปสู่ความมีอายุสั้น
ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปแล้ว  ย่อมไม่มีเครื่องต้านทาน
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรทำบุญที่นำความสุขมาให้
       ความสำรวมทางกาย  วาจา  และใจ  ในโลกนี้
ย่อมมีเพื่อความสุขแก่บุคคลผู้ตายไปแล้ว
ซึ่งได้ทำบุญไว้ขณะเมื่อมีชีวิตอยู่"
.....
(อ่านเพิ่มเติมในปฐมเทวพราหมณสูตร)


อย่าประมาทมัวเมาว่าเรายังหนุ่มยังสาวอยู่
อย่าประมาทมัวเมาว่าเรายังแข็งแรง  ไม่เจ็บไม่ป่วย
อย่าประมาทมัวเมาว่าเรายังไม่ตาย
เพราะความประมาทมัวเมาเหล่านี้  จะทำให้เราทำอกุศลกรรมต่าง ๆ ได้
และจะต้องรับโทษภัยจากอกุศลกรรมเหล่านั้นแม้ในสัมปรายภพ

ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง  ความตายเป็นของเที่ยง
ฉะนั้น  ก่อนที่จะความตายจะมาถึง
เราควรสร้างบุญกุศลไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
ไม่ว่าจะเป็นบุญจากการให้ทาน  รักษาศีล  ฟังธรรม  เจริญสติปัญญา
เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยนำไปสู่ความสุขแม้ในสัมปรายภพได้
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ปฐมเทวพราหมณสูตร (ว่าด้วยพราหมณ์แก่ ๒ คน  สูตรที่ ๑)