พระสวดอะไร ตอนพรมน้ำมนต์


เคยสังเกตไหมครับว่า  ในงานบุญต่าง ๆ  ตอนที่พระสงฆ์จะพรมน้ำมนต์ให้  ท่านจะสวดมนต์อยู่บทหนึ่ง
ทราบไหมครับว่าพระท่านสวดบทอะไร


(ขอบคุณภาพจาก ลลิล พร็อพเพอร์ตี้)

บทสวดเป็นภาษาบาลี  มีตอนหนึ่งสวดว่า
                    ..... ฯลฯ .....
สุนักขัตตัง  สุมังคะลัง  สุปะภาตัง  สุหุฏฐิตัง
สุขะโณ  สุมุหุตโต  จะ  สุยิฏฐัง  พรัหมะจาริสุ
ปะทักขิณัง  กายะกัมมัง  วาจากัมมัง  ปะทักขิณัง
ปะทักขิณัง  มะโนกัมมัง  ปะณิธิ  เต  ปะทักขิณา
ปะทักขิณานิ  กัตวานะ  ละภันตัตเถ  ปะทักขิเณ  ฯ
เต  อัตถะลัทธา  สุขิตา  วิรูฬหา  พุทธะสาสะเน
อะโรคา  สุขิตา  โหถะ  สะหะ  สัพเพหิ  ญาติภิ  ฯ
                    ..... ฯลฯ .....

บทสวดนี้มาจากพระดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย (ในปุพพัณหสูตร)
แปลเป็นไทยว่า
       "สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด
เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี  มงคลดี  สว่างดี  รุ่งดี
ขณะดี  ยามดี  และบูชาดีในพรหมจารีบุคคล
กายกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา (*)
วจีกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา
มโนกรรมเป็นส่วนเบื้องขวา
ความปรารถนาของท่านเป็นส่วนเบื้องขวา
สัตว์ทั้งหลายทำกรรมอันเป็นส่วนเบื้องขวาแล้ว
ย่อมได้ประโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องขวา
       ท่านเหล่านั้นได้ประโยชน์แล้ว
จงได้รับความสุข  งอกงามในพุทธศาสนา
จงไม่มีโรค  ถึงความสุขพร้อมด้วยญาติทั้งมวล"
(*ส่วนเบื้องขวา  ในที่นี้หมายถึงความเจริญหรือพฤติกรรมฝ่ายดี)

ในขณะที่ประธานสงฆ์พรมน้ำมนต์ให้เราอยู่  พระสงฆ์ที่เหลือก็จะนั่งสวดมนต์บทนี้กัน
โดยใจความที่แปลเป็นไทยแล้ว  ก็เพื่อจะบอกให้เราทั้งหลายประพฤติแต่กรรมฝ่ายดี  ทั้งกาย  วาจา  และใจ

เพราะเมื่อใดที่เราประกอบกรรมดี  เมื่อนั้นก็เป็นมงคลแก่ตัวเราเองแล้ว
ความเป็นมงคลเกิดขึ้นเมื่อเราได้ประกอบกรรมดี
ไม่ต้องรีบวิ่งมารับน้ำมนต์ก็ได้
ไม่ต้องนิมนต์ให้พระเดินไปพรมน้ำมนต์ตรงจุดนั้นจุดนี้ก็ได้
เพราะความเป็นมงคลไม่ได้เกิดจากน้ำมนต์
แต่ความเป็นมงคลเกิดจากการทำกรรมดี

ฉะนั้น  ถ้าเรารู้ความหมายของบทสวดที่พระสงฆ์ท่านสวดตอนพรมน้ำมนต์
เราก็จะไม่ต้องคอยพะวงว่าน้ำมนต์จะมาถึงเราหรือเปล่า
เราก็จะไม่ต้องคอยห่วงว่าจะได้สิริมงคลด้วยหรือเปล่า
แต่เราจะคอยเตือนตัวเองว่าต้องทำกรรมดี  ละเว้นกรรมชั่ว
ทำกรรมดีเมื่อใด  ฤกษ์ดี  มงคลดี  ก็เกิดขึ้นกับเราเมื่อนั้นนั่นเอง

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ปุพพัณหสูตร (ว่าด้วยเวลาเช้าเป็นฤกษ์ดีเป็นต้น)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น