คนเหล่าใดเป็นพระอรหันต์


สมัยหนึ่ง  มีหนูจำนวนมากอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง
สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเห็นหนูเหล่านั้นแล้ว  ก็คิดหาอุบายเพื่อจะจับหนูกิน

วันหนึ่ง  มันทำท่ายืนด้วยขาข้างเดียว  เงยหน้ามองดวงอาทิตย์  ยืนอ้าปากกว้าง
เมื่อฝูงหนูเดินผ่านมาเห็น  จึงถามมันว่า  "ท่านทำอะไร  ทำไมจึงยืนขาเดียว"
สุนัขจิ้งจอกตอบว่า  "ถ้าเรายืน ๔ เท้า  แผ่นดินนี้จะถล่ม  เพราะไม่สามารถทนรับคุณธรรมของเราได้"

"แล้วทำไมจึงยืนอ้าปาก"
"เพราะเราไม่กินอาหารอื่น  เรากินแต่ลมเท่านั้น"

"แล้วทำไมจึงเงยหน้ามองดวงอาทิตย์"
"เพราะเรานอบน้อมต่อสุริยเทพ"

พวกหนูเห็นพฤติกรรมของสุนัขจิ้งจอกดูน่าเลื่อมใส
และเมื่อฟังคำตอบแล้ว  ก็คิดว่าสุนัขจิ้งจอกตัวนี้เป็นผู้ทรงศีล
จึงชักชวนกันไปบำรุงอุปัฏฐากทั้งเช้าทั้งเย็นทุกวัน

ในเวลาที่ฝูงหนูลากลับ
สุนัขจิ้งจอกก็จับเอาหนูที่เดินออกไปเป็นตัวสุดท้ายมาเคี้ยวกิน

เมื่อฝูงหนูลดจำนวนลงเรื่อย ๆ  หัวหน้าฝูงจึงเริ่มสังเกตพฤติกรรมของสุนัขจิ้งจอกนั้น
วันต่อมา  ฝูงหนูไปบำรุงสุนัขจิ้งจอกตามปกติ
เมื่อถึงเวลากลับ  หัวหน้าฝูงจึงให้หนูตัวอื่นเดินออกไปก่อน
ตนเองเดินออกไปเป็นตัวสุดท้าย

เมื่อสุนัขจิ้งจอกจะเข้ามาจับ
หัวหน้าหนูซึ่งระวังตัวอยู่แล้วจึงหลบทัน  แล้วกล่าวว่า
"เจ้าสุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์  ทำทีว่าเป็นผู้ประพฤติธรรม
แต่เจ้าไม่ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเลย
เจ้าเอาธรรมบังหน้า  เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น  เพื่อปากท้องของเจ้า"
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในมูสิกชาดก)


ภาพลักษณ์ภายนอกของพระภิกษุหรือผู้ปฏิบัติธรรมบางคน
อาจดูเหมือนผู้มีศีลมีธรรม  น่าศรัทธาเลื่อมใส
แต่ภายในใจอาจจะไม่ใช่
การหลงเข้าไปคบหาสมาคมกับคนเหล่านี้  อาจจะนำทุกข์ภัยมาให้ก็ได้

แล้วเราควรจะเคารพบูชาบุคคลเช่นไร
.....



(ขอบคุณภาพจาก  prapirod.blogspot.com)


ครั้งหนึ่ง  พระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตรเห็นนักบวชกลุ่มหนึ่งดูน่าเลื่อมใส
ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า  "นักบวชเหล่านั้นคงจะเป็นพระอรหันต์"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
"คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน  ยากที่จะรู้ได้ว่าคนเหล่าใดเป็นพระอรหันต์

ศีลจะพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน
ศีลนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน  ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่ใส่ใจรู้ไม่ได้
ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่มีปัญญารู้ไม่ได้

ความสะอาด (ของวาจา) จะพึงรู้ได้ด้วยการเจรจา
ความสะอาดนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน  ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่ใส่ใจรู้ไม่ได้
ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่มีปัญญารู้ไม่ได้

กำลังจะพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย
กำลังนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน  ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่ใส่ใจรู้ไม่ได้
ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่มีปัญญารู้ไม่ได้

ปัญญาจะพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา
ปัญญานั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน  ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่ใส่ใจรู้ไม่ได้
ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่มีปัญญารู้ไม่ได้"
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในสัตตชฏิลสูตร)


ในแง่ของฆราวาส
การที่จะรู้ได้ว่าพระรูปใดมีศีลมีธรรมมากน้อยแค่ไหน
ควรแก่การเคารพบูชาแค่ไหน
ต้องอาศัยเวลา  ดูกันนาน ๆ
ต้องอาศัยความเอาใจใส่  ไม่มองผิวเผินหรือฉาบฉวย
ต้องอาศัยปัญญา  ไม่ใช้ความชอบหรือความไม่ชอบส่วนตัวมาตัดสิน

พระภิกษุที่เราพบเห็นทั่วไป
บางรูปอาจจะดูเหมือนสงบเสงี่ยม  เรียบร้อย  สมถะ  สันโดษ  ปฏิบัติเคร่ง
แต่บางที  อาจจะเป็นเพียงภาพที่ดูดีภายนอก (เหมือนสุนัขจิ้งจอกหลอกฝูงหนู)
อาจจะยังไม่ใช่เนื้อนาบุญที่แท้จริงก็ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเตือนว่า
       "คนผู้รู้ดีไม่ควรไว้วางใจใครเพราะผิวพรรณและรูปร่าง
ไม่ควรไว้วางใจใครเพราะการเห็นกันชั่วครู่เดียว
เพราะว่านักบวชผู้ไม่สำรวมทั้งหลาย
ย่อมเที่ยวไปในโลกนี้ด้วยเครื่องบริขารของเหล่านักบวชผู้สำรวมดีแล้ว
       นักบวชเหล่านั้น  ผู้ไม่บริสุทธิ์ในภายใน  งามแต่ภายนอก
แวดล้อมด้วยบริวาร  ท่องเที่ยวอยู่ในโลก
ดุจตุ้มหูดินและเหรียญโลหะครึ่งมาสกหุ้มด้วยทองคำปลอมไว้"
.....

ในแง่ของพระภิกษุ
ถามตนเองว่าเราออกบวชประพฤติพรหมจรรย์เพื่ออะไร
ถ้าเราไม่ได้บวชเพื่อหาลาภสักการะและความสรรเสริญ
เราก็จะไม่ก่อบาปอกุศลกรรมหลอกลวงใคร ๆ ให้มาเคารพบูชา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเตือนไว้เช่นกันว่า
       "บรรพชิตไม่พึงพยายามในบาปกรรมทั้งปวง
ไม่พึงเป็นคนของผู้อื่น
ไม่พึงอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่
และไม่พึงใช้ธรรมเป็นเครื่องค้าขาย
(ไม่พึงแสดงธรรมเพราะต้องการทรัพย์)"
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. มูสิกชาดก (ว่าด้วยความประพฤติของผู้เอาธรรมบังหน้า)
๒. สัตตชฏิลสูตร (ว่าด้วยนักบวชพวกละ ๗ คน)


ตัวช่วยของคนมีศีล


นสมัยหนึ่ง  มีพระปัจเจกพุทธเจ้าอาศัยอยู่ที่บรรณศาลานอกหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
ชาวนาคนหนึ่งมีที่นาอยู่ระหว่างบรรณศาลากับหมู่บ้านแห่งนั้น

ชาวบ้านทั้งหลายเมื่อจะไปบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้า  ก็ต้องผ่านที่นาแปลงนั้น
พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อจะไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน  ก็ต้องผ่านที่นาแปลงนั้น

เมื่อคนทั้งหลายเดินผ่านที่นาแปลงนั้นบ่อยครั้ง  นาของชาวนาก็ได้รับความเสียหาย
เขาคิดว่า  "ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่อยู่  ชาวบ้านก็คงจะไม่เดินย่ำบนที่นาของเรา"

วันหนึ่ง  เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน
ชาวนาคนนั้นจึงเข้าไปยังบรรณศาลาแห่งนั้น
ทุบทำลายข้าวของในนั้นจนแตก  แล้วจุดไฟเผาบรรณศาลา

พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อบิณฑบาตกลับมาเห็นบรรณศาลาถูกไฟไหม้
ก็ไม่ได้มีความเดือดร้อนใจแม้สักนิด
ได้เดินทางไปที่แห่งอื่นโดยไม่อาลัย

ชาวบ้านทั้งหลายเมื่อจะมาฟังธรรมในเวลาเย็น
เห็นบรรณศาลาถูกไฟไหม้  พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ไม่อยู่แล้ว
เมื่อสืบสวนจนรู้ว่าชาวนาคนนั้นเป็นคนเผาบรรณศาลา
จึงรุมประชาทัณฑ์ชาวนาคนนั้นจนถึงแก่ความตาย

หลังจากตายแล้ว  เขาได้ไปเกิดเป็นเปรต
มีหัวเป็นคน  มีตัวเป็นงู  และมีไฟลุกไหม้อยู่ตั้งแต่หัวจนถึงหาง
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในอหิเปตวัตถุ)


(ขอบคุณภาพจาก pexels.com : Photo by Spencer Selover)


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ตอนหนึ่ง  ในโอวาทปาฏิโมกข์ว่า
"ขนฺตี  ปรมํ  ตโป  ตีติกฺขา"
"ขันติ (คือความอดทน) เป็นตบะ (เครื่องเผาบาป) อย่างยิ่ง"

ถ้าเราไม่รู้จักอดทนต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต
เราก็อาจจะพลาดพลั้งทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลได้โดยง่าย
.....

บางคนมีฐานะยากจน  ถูกความอดอยากบีบคั้น  ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ
ถ้าไม่อดทนต่อความลำบาก  ก็อาจจะหันไปประกอบมิจฉาชีพได้

บางคนถูกขับรถปาดหน้ากะทันหัน  ต้องเหยียบเบรคจนหัวทิ่ม
ถ้าไม่อดทนต่อความโกรธ  ก็อาจจะขับรถตามไปเอาคืน

บางคนชอบกินอาหารทะเล  คิดว่าต้องกินสด ๆ จึงจะอร่อย
ถ้าไม่อดทนต่อความอยาก  ก็อาจจะหากุ้งหอยปูปลาที่สด ๆ เป็น ๆ มาเผามาย่างกิน

บางคนถูกแย่งคนรัก  แฟนบอกเลิก
ถ้าไม่อดทนต่อความเศร้า  ก็อาจจะกินเหล้าจนเมาขาดสติ  แล้วก่อเรื่องที่ไม่ดีตามมา

บางคนถูกเอารัดเอาเปรียบ  ถูกทำร้ายร่างกาย
ถ้าไม่อดทนต่อความเจ็บปวด  ก็อาจจะโต้ตอบทำร้ายร่างกายคืน

ชาวนาคนนั้นเมื่อไม่สามารถอดทนต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
ไม่สามารถควบคุมสติเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในทางที่ถูก
จึงพลาดพลั้งทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศลลงไป
และเป็นเหตุให้ต้องรับผลของกรรม  ไปเกิดเป็นเปรตอีกยาวนาน
.....

ปัญหาที่เกิดขึ้น  ไม่ใช่ให้งอมืองอเท้ายอมจำนน
เพียงแต่ต้องมีความอดทนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ไม่ให้อารมณ์ชั่ววูบชักนำไปในทางที่ไม่ดี

ในเบื้องต้น  ถ้าเราสามารถอดทนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้
เราก็จะคิดหาวิธีที่จะรับมือกับสิ่งนั้นได้อย่างถูกต้องตามมา

เราจะไม่ไปประกอบมิจฉาชีพ
เราจะไม่ขับรถตามไปปาดหน้ารถคันนั้น
เราจะไม่ฆ่าสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่
เราจะไม่กินเหล้าเมายา
เราจะไม่ทำร้ายร่างกายคนอื่น

เราจะไม่อ้างว่า  "เพราะเขาทำเราก่อน  เขาทำให้เราเดือดร้อน"
เราจะไม่มีเหตุผลใด ๆ มาอ้างเพื่อให้เราทำผิดศีลได้
.....

ปัญหาทุกปัญหามีทางออก
และทางออกที่ไม่ผิดศีล  ก็มีอยู่

ขันติหรือความอดทน  จึงเป็นตัวช่วยสำคัญอย่างหนึ่ง  ที่จะช่วยเผาบาปอกุศลในใจ
ทำให้เราไม่ต้องทำผิดศีล

เมื่อเราไม่ทำผิดศีล  ก็จะไม่มีโทษภัยใด ๆ ตามมาในภายหลัง
ภัยจากการติเตียนตนเองว่าทำผิดศีล  ก็ไม่มี
ภัยจากผู้อื่นติเตียนว่าเราทำผิดศีล  ก็ไม่มี
ภัยจากการถูกกฎหมายลงโทษ  ก็ไม่มี
เมื่อตายไป  ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไปทุคติ

วันนี้  เรามีความอดทนต่อการไม่ทำผิดศีลมากน้อยแค่ไหน
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. อหิเปตวัตถุ (เรื่องเปรตผู้มีรูปร่างเหมือนงู)


กลัวโทษภัย ๔ อย่างนี้ไหม


ข่าวไม่ดีต่าง ๆ ที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์
ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว  ล้วนเกิดขึ้นเพราะคนที่ไม่มีศีลทั้งนั้น

ถ้าเรารักษาศีลข้อที่ ๑ ได้
ละเว้นจากการฆ่าสัตว์
จะมีข่าวการฆ่าเสือดำที่ทุ่งใหญ่นเรศวรหรือไม่

ถ้าเรารักษาศีลข้อที่ ๒ ได้
ละเว้นจากการลักทรัพย์
จะมีข่าวการทุจริตโกงเงินช่วยเหลือคนจน  ข่าวทุจริตเกี่ยวกับเงินทอนวัดหรือไม่

ถ้าเรารักษาศีลข้อที่ ๓ ได้
ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
จะมีข่าวข้าราชการระดับสูงซื้อบริการเด็กหญิงจากขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่

ถ้าเรารักษาศีลข้อที่ ๔ ได้
ละเว้นจากการพูดเท็จ
จะมีข่าวการกล่าวตู่ว่าล็อตเตอรี่รางวัล ๓๐ ล้านบาทเป็นของตนทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่หรือไม่

ถ้าเรารักษาศีลข้อที่ ๕ ได้
ละเว้นจากการเสพของมึนเมา
จะมีข่าวลูกเมาเหล้าเสพยาบ้าคลุ้มคลั่งจะแทงพ่อหรือไม่

บางเหตุการณ์อาจจะเกิดขึ้นเพราะการละเมิดศีลเพียงข้อเดียว
แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ละเมิดศีลข้ออื่น ๆ ตามมาได้อีก
และไม่ว่าใครก็ตามที่กระทำอย่างนี้  ย่อมถูกติเตียนจากผู้อื่นได้
และอาจจะมีโทษภัยอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย
.....



(ขอบคุณภาพจาก matichonweekly.com)


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงภัย ๔ อย่างที่เกิดจากการประพฤติทุจริตว่า
๑. ถ้าเราประพฤติทุจริต  ย่อมเป็นเหตุให้เราติเตียนตนเองได้
๒. ถ้าเราประพฤติทุจริต  เราจะถูกผู้อื่นติเตียนได้
๓. ถ้าเราประพฤติทุจริต  เราจะถูกกฎหมายลงโทษได้
๔. ถ้าเราประพฤติทุจริต  เราจะไปเกิดเป็นสัตว์นรก  เปรต  หรือสัตว์เดรัจฉานได้
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในอัตตานุวาทสูตร)


เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเจอภัยทั้ง ๔ อย่างนี้
ไม่อยากติเตียนตนเอง
ไม่อยากถูกคนอื่นติเตียน
ไม่อยากถูกกฎหมายลงโทษ
ไม่อยากเกิดในแดนทุคติ

เมื่อไม่อยากเจอ  ก็ต้องหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นเหตุนำภัย ๔ อย่างนี้มาให้
คือ  หลีกเลี่ยงการประพฤติทุจริต
ประกอบแต่สุจริต
รักษาศีลทั้ง ๕ ข้อให้บริบูรณ์

ถ้าทำได้อย่างนี้
ตนเองก็จะมีความสุข
สังคมก็จะมีความสุข
ข่าวไม่ดีในหนังสือพิมพ์ก็จะลดน้อยลงไปในที่สุด
.....

เอาล่ะ  ข่าวที่ปรากฎในสื่อต่าง ๆ  อาจจะเป็นเรื่องของคนอื่น
ซึ่งเราไม่สามารถไปแก้ไขหรือทำอะไรคนอื่นได้

แต่ที่เราจะทำได้ก็คือ  กลับมาถามตัวเราเอง
เรากลัวโทษภัยทั้ง ๔ อย่างนี้ไหม
และเราควรจะเลิกการประพฤติทุจริตทุกอย่างแล้วหรือยัง

ศีลนั่นแล  จึงนำสุขมาให้
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. อัตตานุวาทสูตร (ว่าด้วยอัตตานุวาทภัย)



เราเป็นผู้ว่าง่ายแค่ไหน


หญิงคนหนึ่งชื่อ  เวเทหิกา  มีชื่อเสียงร่ำลือว่าเป็นคนเรียบร้อย  สุภาพ  ใจเย็น
เธอมีสาวใช้คนหนึ่งชื่อ  กาลี  เป็นคนขยัน  ช่วยงานบ้านงานเรือนเป็นอย่างดี

วันหนึ่ง  สาวใช้คิดว่า
"มีคนร่ำลือว่านายหญิงของเราเป็นคนเรียบร้อย  สุภาพ  ใจเย็น
อยากรู้จังว่าการที่นายหญิงไม่เคยแสดงอาการโกรธให้ใครเห็นเลย
เพราะนายหญิงเป็นคนที่ไม่โกรธใครเลย  จริงหรือ
หรือเพราะยังไม่มีใครทำให้โกรธกันแน่
เราลองหาทางทดสอบดูดีกว่า"

วันรุ่งขึ้น  นางจึงทำเป็นนอนตื่นสาย  ไม่ลุกขึ้นมาจัดการงานบ้านเหมือนที่เคยทำ
นางเวเทหิกาจึงถามว่า  "เฮ้ย  นางกาลี  ทำไมวันนี้ตื่นสาย"
นางกาลีตอบว่า  "ไม่มีอะไรเจ้าค่ะ"
นางเวเทหิกาตวาดว่า  "อ้าวเฮ้ย  ไม่มีอะไร  ไม่เจ็บไม่ป่วย  แล้วทำไมตื่นสาย"
นางเริ่มโกรธ  ไม่พอใจ  หน้านิ่วคิ้วขมวด

วันต่อมา  นางกาลีตื่นสายกว่าเมื่อวันก่อนอีก
นางเวเทหิกาจึงถามอีก  "เฮ้ย  นางกาลี  ทำไมวันนี้ยังตื่นสายอีก"
"ไม่มีอะไรเจ้าค่ะ"
"เฮ้ย  ถ้าไม่เป็นอะไร  ก็ลุกขึ้นมาทำงาน"
นางโกรธ  ไม่พอใจ  แผดเสียงด้วยความขุ่นเคือง

ในวันที่ ๓  นางกาลีก็ยังตื่นสายอีก
นางเวเทหิกาจึงตวาดด่าอีก  "เฮ้ย  นางกาลี  ทำไมวันนี้ตื่นสายอีก"
"ไม่มีอะไรเจ้าค่ะ"
"เฮ้ย  ไม่มีอะไร  แต่ก็ยังตื่นสายอยู่อีก  ขี้เกียจแล้วล่ะสิ  ข้าจะทำโทษเอ็ง"
นางโกรธ  ไม่พอใจ  แล้วคว้าสิ่งของขว้างใส่ศีรษะของนางกาลี

ตั้งแต่นั้นมา  ชื่อเสียงของนางเวเทหิกาก็เป็นที่โจษจันไปว่าเป็นคนเกรี้ยวกราด  ดุร้าย
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในกกจูปมสูตร)



(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


ผู้ที่เอิมอิ่มพรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งต่าง ๆ  แม้จะเป็นคนใจเย็น  สุภาพอ่อนโยน
แต่พระพุทธเจ้าตรัสถึงผู้นั้นว่า  "ยังไม่เรียกว่าเป็นผู้ว่าง่าย"
เพราะเมื่อผู้นั้นมีเหตุขัดข้อง  เสื่อมจากสิ่งที่มี  ก็อาจจะเป็นผู้ว่ายากได้

ตรงกันข้าม  พระพุทธเจ้าตรัสถึงผู้ที่ให้ความเคารพพระธรรมว่า  "เป็นผู้ว่าง่าย"
เพราะผู้ที่สักการะเคารพพระธรรมจริง  คือผู้ที่ปฏิบัติตามพระธรรม  คือ
ย่อมละเว้นจากการทำบาปอกุศลทั้งปวง
ย่อมบำเพ็ญบุญกุศลทั้งหลายให้เจริญ
ความประพฤติอย่างนี้  จึงเป็นลักษณะของผู้ว่าง่าย
.....

ในเหตุการณ์ปกติ  เราเป็นคนสงบเสงี่ยม  เรียบร้อย  ใจเย็น
แต่ในบางโอกาส  ถ้าเราประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ
เจอคนที่คิดร้ายกับเรา
เจอคนที่พูดไม่ดีกับเรา
เจอคนที่ทำร้ายเรา
ในสถานการณ์เช่นนั้น  เราจะทำอย่างไร

ถ้าเราเป็นผู้ว่าง่ายจริง
เราจะสักการะเคารพและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ในสถานการณ์เช่นนี้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้เตือนตัวเองว่า
"จิตของเราจะไม่แปรผัน
เราจะไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ
และจะอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างผู้มีเมตตา  ไม่มีโทสะ
เราจะแผ่เมตตาจิตไปให้บุคคลนั้น
และเราจะแผ่เมตตาจิตอันไม่มีขอบเขตไปให้สัตว์โลกทั้งสิ้นอีกด้วย"
.....

คำถามคือ  เราจะทำได้ไหม
จะสามารถทำใจให้ไม่โกรธได้ไหม
จะสามารถระงับการโต้ตอบทั้งทางกายและทางวาจาได้ไหม
ยิ่งไปกว่านั้น  จะสามารถทำใจให้มีเมตตาต่อผู้นั้นได้ไหม

ถ้าทำไม่ได้
เราก็จะกลายเป็นคนดุร้าย  เกรี้ยวกราด  ใจร้อน  และทำบาปอกุศลกรรมตามมา

แต่ถ้าทำได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า  "จะเป็นไปเพื่อประโยชน์  เพื่อสุข  แก่เธอทั้งหลายสิ้นกาลนาน"

ลองตรวจสอบตัวเองนะครับว่า  เราเป็นผู้ว่าง่ายหรือว่ายากแค่ไหน
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. กกจูปมสูตร (ว่าด้วยอุปมาด้วยเลื่อย)