กินอย่างไรเมื่อมีข่าวไขมันทรานส์


สืบเนื่องจากประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเร็ว ๆ นี้  ที่มีคำสั่งห้ามการผลิต  นำเข้า  หรือจำหน่ายอาหารที่มีไขมันทรานส์
ทั้งนี้  อาหารที่มีไขมันทรานส์อยู่มาก  ได้แก่  เนยขาว  เนยเทียม  คุ้กกี้  โดนัท  วิปครีม  ขนมขบเคี้ยว  และอาหารฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ

หลังจากมีการเผยแพร่ประกาศฉบับนี้ออกมาไม่นาน  ก็มีข่าวคนไทยป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น  และผู้ที่ชอบกินบุฟเฟต์ - หมูกระทะจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง  ประกาศออกมาอีก

หลายคนจึงมีคำถามว่า  "อันนั้นก็ห้ามกิน  อันนี้ก็ห้ามกิน  แล้วจะกินอะไรได้บ้างนี่"
.....


(ขอบคุณภาพจาก thairath.co.th)


ในสมัยหนึ่ง  มีสามีภรรยาคู่หนึ่งเดินทางไกลในทางทุรกันดารพร้อมลูกน้อย ๑ คน
เสบียงที่เตรียมไว้ได้หมดไปก่อนที่จะถึงจุดหมาย  ระยะทางก็ยังอีกไกล

ทั้ง ๒ คนมีความคิดว่า  "ถ้าพวกเราเดินทางต่อไปทั้งที่ไม่มีเสบียงอย่างนี้  คงต้องตายหมดทั้งพ่อแม่ลูกแน่ ๆ"
จึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร
ในที่สุด  ก็คิดว่า  "เราคงต้องเสียสละฆ่าลูกน้อยสุดที่รักคนนี้  แล้วกินเนื้อของลูกเป็นเสบียงไปจนกว่าจะถึงที่หมาย"

เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น  เขาก็ฆ่าลูก  แล้วนำเนื้อลูกไปทำเนื้อย่างและเนื้อเค็ม  กินเนื้อลูกนั้นไปตลอดเส้นทางที่เหลือจนถึงจุดหมาย
พวกเขากินเนื้อลูกไป  พลางร่ำไห้ไปว่า  "ลูกสุดที่รักของพ่อ  ลูกสุดที่รักของแม่"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
"พวกเขากินเนื้อบุตรเป็นอาหาร  เพราะติดรสชาติ  เพราะความอร่อย  เพราะความมัวเมา  ใช่หรือไม่"

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า  "ไม่ใช่อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"

"พวกเขากินเนื้อบุตรเป็นอาหาร  เพราะความจำเป็น  เพราะต้องข้ามทางกันดาร  ใช่หรือไม่"

"อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในปุตตมังสสูตร)


ในการฉันอาหารของพระสงฆ์  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า
"ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว  จึงฉันบิณฑบาต
ไม่ใช่เพื่อเล่น  ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา  ไม่ใช่เพื่อประดับ  ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง
แต่เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ได้  เพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป  เพื่อบำบัดความหิว  เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์
ด้วยคิดเห็นว่า  'โดยอุบายนี้  เราจะกำจัดเวทนาเก่า (คือความหิว) เสียได้  และจะไม่ให้เวทนาใหม่ (คือความอิ่มจนแน่นอึดอัด) เกิดขึ้น  ความดำรงอยู่แห่งชีวิต  ความไม่มีโทษ  และการอยู่โดยผาสุกก็จะมีแก่เรา'
แล้วจึงบริโภคอาหาร"
.....


ไม่เฉพาะเพียงพระสงฆ์เท่านั้น  แม้แต่ฆราวาสผู้ครองเรือน  ถ้าสามารถสร้างนิสัยการกินได้อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน  ก็คงจะดีไม่น้อย

ไม่ใช่เพื่อเล่น - ดูหนังไปกินไป  ขนมว่าง  ขนมขบเคี้ยว  กินจุบกินจิบ
ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา - กินของแพง  ของลดราคา  ของฟรี  ของอร่อย
ไม่ใช่เพื่อประดับ - ให้ร่างกายอ้วนพี  ดูหรูหรามีฐานะ
ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง - ให้ดูเปล่งปลั่ง  มีผิวพรรณดี

แต่ให้เห็นอาหารเป็นเหมือนเนื้อของลูก
เราจะกินเพียงเท่าที่จำเป็น  ไม่ติดรสชาติ  ไม่มัวเมาในอาหาร  ไม่กินจนอึดอัด

เหตุการณ์ที่ทรงอุปมาขึ้นมานี้  มิได้หมายความว่าเราจะต้องกินเนื้อลูกจริง ๆ
แต่เพียงให้เปรียบเทียบถึงอารมณ์การกินเพียงเพราะความจำเป็น  กับอารมณ์การกินเพราะความอยาก

ถ้าเราสามารถสร้างนิสัยการกินได้อย่างนี้  ความมัวเมาในอาหารก็จะลดน้อยลง
ปัญหาที่ว่า  "อันนั้นก็ห้ามกิน  อันนี้ก็ห้ามกิน  แล้วจะกินอะไรได้บ้าง"  ก็จะหมดไป
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ปุตตมังสสูตร (ว่าด้วยเนื้อบุตร)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น