วิธีตามหาเนื้อนาบุญ


หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาว่า
"ให้ทานในสัตว์ดิรัจฉาน  ได้อานิสงส์ ๑๐๐ อัตภาพ
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล  ได้อานิสงส์ ๑,๐๐๐ อัตภาพ
ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล  ได้อานิสงส์ ๑๐๐,๐๐๐ อัตภาพ
ให้ทานในคนนอกศาสนาผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม  ได้อานิสงส์แสนโกฏิอัตภาพ
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล  ได้อานิสงส์นับไม่ได้
ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการถวายทานในพระโสดาบันหรืออริยบุคคลยิ่ง ๆ ขึ้นไป"

เมื่อเป็นเช่นนี้  ถ้าเลือกได้  หลายคนจึงอยากจะให้ทานในเนื้อนาบุญทั้งหลาย

ทีนี้  ลองมาดูตัวอย่างขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ว่าทรงให้ทานอย่างไร
.....


สมัยหนึ่ง  พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นพญาช้าง  อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง
ครั้งนั้น  มีพรานป่าคนหนึ่งเดินเข้าไปหาของป่า
แต่เนื่องจากยังไม่ชำนาญเส้นทาง  จึงหลงทางอยู่ในป่า  หาทางออกไม่ได้
ด้วยความกลัวตาย  จึงได้แต่ร้องคร่ำครวญอยู่

พญาช้างโพธิสัตว์ได้ยินเสียงร้องนั้น  จึงเดินไปจนพบนายพรานคนนั้น
เมื่อรู้ว่านายพรานนั้นหลงป่า  จึงให้ขึ้นขี่หลังแล้วพาออกจากป่า

ในระหว่างทางนั้น  นายพรานก็เริ่มสังเกตและจดจำทิศทางในป่า
เมื่อออกจากป่าได้แล้ว  จึงเข้าไปหาพวกช่างสลักงาว่า
"ถ้ามีงาช้างที่ได้จากช้างตัวเป็น ๆ อยู่  พวกท่านจะซื้อไหม"

พวกช่างสลักงาตอบรับว่า
"งาของช้างที่ยังไม่ตาย  ได้ราคาดีกว่างาของช้างที่ตายแล้วเสียอีก"

นายพรานนั้นจึงกลับเข้าไปในป่าอีกครั้ง  พร้อมกับเอาเลื่อยไปด้วย
เมื่อพบพญาช้าง  จึงกล่าวว่า
"ท่านพญาช้าง  ข้าพเจ้าเป็นคนยากจนข้นแค้น
จะมาของาจากท่านไปทำทุนจะได้ไหม"

พญาช้างกล่าวว่า  "ได้สิ  ถ้าท่านมีเลื่อยมาด้วย  เราจะให้งาแก่ท่าน"

นายพรานดีใจ  รีบนำเลื่อยที่นำมาด้วยเลื่อยงาส่วนปลายไป
แล้วนำไปขายให้พวกช่างสลักงา

เมื่อเงินหมด  ก็กลับไปหาพญาช้างอีก  กล่าวว่า
"ท่านพญาช้าง  เงินที่ได้จากการขายงาส่วนปลายของท่าน
เพียงพอสำหรับการใช้หนี้ของข้าพเจ้าเท่านั้น
ข้าพเจ้าอยากจะของาส่วนกลางของท่านจะได้ไหม"

พญาช้างก็ยินดีให้นายพรานเลื่อยไปอีก

ต่อมา  เมื่อนายพรานใช้เงินหมด
เขาก็กลับไปหาพญาช้างอีก  กล่าวว่า
"ท่านพญาช้าง  ข้าพเจ้ายังลำบากอยู่เลย
ของาส่วนโคนที่เหลือของท่านได้ไหม"

พญาช้างก็ยินดีให้นายพรานเลื่อยไปอีก

ทุกครั้งที่พญาช้างสละงาของตนให้นายพราน  พญาช้างได้ตั้งปณิธานว่า
"การที่เรายอมสละงาคู่นี้
ไม่ใช่เพราะงาคู่นี้ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราแล้ว
แต่พระสัพพัญญุตญาณที่จะสามารถตรัสรู้ธรรมได้
เป็นที่รักที่ชอบใจของเรายิ่งกว่างานี้ตั้งร้อยเท่า  พันเท่า  แสนเท่า
การให้งาเป็นทานนี้  จงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณเถิด"
.....
(อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ในสีลวนาคชาดก)



(ขอบคุณภาพจาก  commons.wikimedia.org)



แม้พญาช้างโพธิสัตว์จะรู้ว่านายพรานเป็นคนทุศีล  มีความอกตัญญู  ไม่รู้คุณคน
แต่เมื่อนายพรานมาของา  พญาช้างก็ยินดีสละให้ทุกครั้ง
ไม่ได้คิดว่าต้องเก็บไว้ทำบุญกับอริยบุคคลหรือเนื้อนาบุญเท่านั้น

เพราะไม่ว่าจะให้ทานกับคนทุศีลหรือคนมีศีล  ให้ทานกับปุถุชนหรืออริยบุคคล
ก็จะมีปณิธานเดียว  คือ
"การให้นั้น  เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณในอนาคต"
.....


เรารู้ได้ว่า  "การให้ทานกับผู้ที่มีคุณธรรมต่างกัน  จะได้อานิสงส์ไม่เท่ากัน"
แต่รู้แล้ว  ไม่ควรมีอคติในการเลือกให้ทาน

บางคนได้ฟังข่าวลือว่า  หลวงปู่หลวงตารูปนั้นรูปนี้  บรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้
ก็เกิดอาการตระหนี่บุญ
พยายามดั้นด้นไปทำบุญถวายทานกับท่านเหล่านั้น
โดยที่ไม่รู้ว่าท่านเหล่านั้นเป็นอริยบุคคลจริง  หรือเป็นเพียงข่าวลือ
.....


แทนที่จะเที่ยวเสาะหาอริยบุคคล
จะดีกว่าไหมถ้าอริยบุคคลมาสงเคราะห์เราเอง

แล้วทำอย่างไร  อริยบุคคลจึงจะมาสงเคราะห์เรา
คำตอบอยู่ในคำถามเหล่านี้ครับ

๑. พระอรหันต์เมื่อจะอนุเคราะห์  จะอนุเคราะห์ใครก่อน
ระหว่างคนไม่มีศรัทธา  ตระหนี่ถี่เหนียว  ชอบด่าบริภาษ
กับคนที่มีศรัทธา  เป็นทานบดี  ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ

๒. พระอรหันต์เมื่อจะเข้าไปหา  จะเข้าไปหาใครก่อน
ระหว่างคนไม่มีศรัทธา  ตระหนี่ถี่เหนียว  ชอบด่าบริภาษ
กับคนที่มีศรัทธา  เป็นทานบดี  ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ

๓. พระอรหันต์เมื่อจะรับทาน  จะรับทานของใครก่อน
ระหว่างคนไม่มีศรัทธา  ตระหนี่ถี่เหนียว  ชอบด่าบริภาษ
กับคนที่มีศรัทธา  เป็นทานบดี  ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ

๔. พระอรหันต์เมื่อจะแสดงธรรม  จะแสดงธรรมแก่ใครก่อน
ระหว่างคนไม่มีศรัทธา  ตระหนี่ถี่เหนียว  ชอบด่าบริภาษ
กับคนที่มีศรัทธา  เป็นทานบดี  ยินดีให้ทานสม่ำเสมอ

(อ่านเพิ่มเติมได้ในสีหเสนาปติสูตร)

เมื่อเราให้ทานสม่ำเสมอ  ไม่มีความตระหนี่
สัตบุรุษหรือบัณฑิตจะมาสงเคราะห์เราเอง
.....


สรุปอีกครั้ง

เมื่อเราตั้งจิตในการให้ทานเพื่อละความตระหนี่  เพื่อเป็นปัจจัยในการบรรลุธรรม
เราก็จะยินดีในการให้ทานกับใครก็ได้  แม้แต่คนทุศีล

และเมื่อเราละความตระหนี่ในใจได้  ยินดีในการให้ได้ทุกครั้ง
เนื้อนาบุญก็จะมาสงเคราะห์เราเอง
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. สีลวนาคชาดก (ว่าด้วยพญาช้างสีลวะ)
๒. สีหเสนาปติสูตร (ว่าด้วยสีหเสนาบดี)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น