ความเห็นเรื่องโกหกสีขาว


เรื่องราวต่อไปนี้  หลายคนอาจจะเคยอ่านแล้ว
แต่ผมมีอีกแง่มุม  ที่อยากนำมาให้พิจารณาดูครับ

ขอเล่าเรื่องโดยย่อนะครับ
เป็นเรื่องของชายคนหนึ่ง  ชื่อเอี๋ยนหุย  เขาเป็นลูกศิษย์ของขงจื้อ

วันหนึ่ง  เอี๋ยนหุยไปที่ตลาด
เห็นชายคนหนึ่งที่กำลังเลือกซื้อผ้า  ทะเลาะกับพ่อค้าขายผ้าอยู่ว่า
"๘ คูณ ๓ ได้ ๒๓  ทำไมท่านให้ข้าจ่าย ๒๔ หยวนล่ะ"

พ่อค้าผ้าบอกว่า  "๘ คูณ ๓ ได้ ๒๔  ไม่ใช่ ๒๓  เจ้าอย่าขี้โกง"

ทั้งสองคนตกลงกันไม่ได้
เอี๋ยนหุยเห็นเหตุการณ์  จึงเข้าไปไกล่เกลี่ย  บอกกับชายที่ซื้อผ้าว่า
"พี่ชาย  ๘ คูณ ๓ ได้ ๒๔ นะ  ไม่ใช่ ๒๓"

ชายคนนั้นไม่เชื่อ  กล่าวว่า  "เจ้าเป็นใคร  ทำไมข้าจะต้องเชื่อเจ้า
ถ้าไม่ใช่ท่านขงจื้อ  ข้าไม่ยอมรับคำตัดสินหรอก"

เอี๋ยนหุยกล่าวว่า  "ถ้าอย่างนั้น  เราไปหาท่านขงจื้อกัน
ถ้าท่านขงจื้อบอกว่าพี่ชายผิด  พี่ชายจะทำอย่างไร"

ชายคนนั้นมั่นใจว่าตนเป็นฝ่ายถูกแน่ ๆ  จึงกล่าวว่า
"ข้าจะยอมให้ตัดหัวข้าได้เลย  แต่ถ้าเจ้าผิดล่ะ"

เอี๋ยนหุยกล่าวว่า  "ข้าจะยอมถอดหมวกประจำตำแหน่งขุนนางให้ท่านเลย"

แล้วทั้ง ๒ คนก็ไปหาขงจื้อ  เล่าเหตุการณ์ให้ฟัง

เมื่อขงจื้อฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้ว  ก็กล่าวกับเอี๋ยนหุยว่า
"๘ คูณ ๓ ได้ ๒๓
เอี๋ยนหุย  เธอจงถอดหมวกขุนนางออกเถิด"

เอี๋ยนหุยฟังคำตัดสินจากขงจื้อแล้ว  แม้จะไม่พอใจ  แต่ก็ไม่โต้แย้ง
ยอมรับคำตัดสินของอาจารย์  ถอดหมวกขุนนางออก

ชายคนนั้นเมื่อรู้ว่าตัวเองชนะ  ก็ยิ้มร่าแล้วจากไป

หลังจากนั้น  ขงจื้อได้กล่าวกับเอี๋ยนหุยว่า
"การที่อาจารย์ตัดสินว่า ๘ คูณ ๓ ได้ ๒๓  เจ้าแพ้  เจ้าก็แค่ถอดหมวกขุนนาง
แต่ถ้าอาจารย์ตัดสินว่า ๘ คูณ ๓ ได้ ๒๔  ชายคนนั้นแพ้  เขาก็จะถูกตัดคอ
ระหว่างหมวกใบหนึ่งกับชีวิตของคนคนหนึ่ง  อะไรสำคัญกว่ากัน"
.....


ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง  หรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น

แต่สิ่งที่เรื่องนี้สื่อสารออกมาก็คือ
"อย่ามองข้ามคุณธรรมโดยให้ความสำคัญแค่เรื่องถูกผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ"
เหมือนที่ขงจื้อตัดสินว่า ๘ คูณ ๓ ได้ ๒๓  เพื่อรักษาชีวิตของชายคนนั้นไว้
.....


(ขอบคุณภาพจาก http://ent.sina.com.cn)


ครั้งแรกที่ผมอ่านเรื่องนี้จบ
ผมนึกถึงคำว่า  "โกหกสีขาว"
ซึ่งมีคนให้นิยามว่า  เป็นการโกหกที่ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้าย
แต่เพื่อให้อีกฝ่ายสบายใจ
หรือเพื่อให้สถานการณ์ในขณะนั้นดีขึ้น

แต่  "โกหกสีขาว"  เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่
ผมก็นึกถึงพระสูตรเรื่องหนึ่งในพระไตรปิฎก

เจ้าชายอภัยราชกุมารกราบทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระองค์จะพึงตรัสวาจาอันไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นบ้างไหม"

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า
"ราชกุมาร  ปัญหาข้อนี้  จะตอบโดยแง่เดียวมิได้

๑. วาจาที่ไม่เป็นความจริง  ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น
เราไม่กล่าววาจานั้น

๒. วาจาที่เป็นความจริง  แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น
เราไม่กล่าววาจานั้น

๓. วาจาที่เป็นความจริง  และประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น
ในข้อนั้น  เรารู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น

๔. วาจาที่ไม่เป็นความจริง  ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นเป็นที่ชอบใจของคนอื่น
เราไม่กล่าววาจานั้น

๕. วาจาที่เป็นความจริง  แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แม้วาจานั้นเป็นที่ชอบใจของคนอื่น
เราไม่กล่าววาจานั้น

๖. วาจาที่เป็นความจริง  ที่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นเป็นที่ชอบใจของคนอื่น
ในข้อนั้น  เรารู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น

เหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น
เพราะเรามีความเอ็นดูในหมู่สัตว์ทั้งหลาย"
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในอภยราชกุมารสูตร)





กรณีของ  "โกหกสีขาว"
ก็คือ  "วาจาที่ไม่เป็นความจริง  แต่ (คิดเองว่า) เป็นประโยชน์"
ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้

แต่ถ้าพิจารณาให้ดี
จะเห็นว่า  "ประโยชน์"  ของการกล่าววาจาที่ไม่เป็นจริงนั้น
เป็นประโยชน์ที่  "คิดกันไปเอง"  ว่าจะเป็นประโยชน์

ยกตัวอย่างในกรณีของขงจื้อ
เขาคิดว่าการตัดสินว่า  ๘ คูณ ๓ ได้ ๒๓  เป็นประโยชน์
เพราะทำให้ชายคนนั้นไม่ต้องถูกตัดคอ

แต่ถ้าชายคนนั้นไปซื้อสินค้าอย่างอื่นอีก  ก็จะต้องทะเลาะกับคนขายอีก
ถ้าชายคนนั้นไปสอนลูก  ลูกก็จะได้ความรู้ที่ผิด
คนอื่นที่ไม่รู้เรื่องราวทั้งหมด  แต่ศรัทธาขงจื้อ  ก็จะเชื่อว่า ๘ คูณ ๓ ได้ ๒๓ จริง ๆ
และปัญหาอื่น ๆ อีก  ฯลฯ
ที่คิดว่าเป็นประโยชน์  จึงกลายเป็นโทษ

ฉะนั้น  "วาจาที่ไม่เป็นความจริง  แต่มีประโยชน์"  จึงไม่มี
.....


ทีนี้  มาพิจารณา  "๘ คูณ ๓ ได้ ๒๔"
สิ่งนี้เป็นวาจาที่เป็นความจริง  เป็นวาจาที่มีประโยชน์
และเป็นวาจาที่เอี๋ยนหุยชอบใจ
แต่เป็นวาจาที่ชายคู่กรณีคนนั้นไม่ชอบใจ
ฉะนั้น  วาจานี้จึงต้องกล่าวให้ถูกที่ถูกเวลา
(อาจจะให้ทั้ง ๒ คนยกเลิกข้อตกลงกันก่อน  แล้วค่อยกล่าวก็ได้)
.....


ในชีวิตจริง  เราอาจจะเจอเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อการโกหกสีขาว
แต่ถ้าเรามีหลักที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้วนี้
เราก็จะไม่พูดเท็จ  เพราะมันคือวจีทุจริต  เป็นบาปอกุศล

บางคนอาจจะคิดว่าบาปไม่มากหรอก  คงไม่เป็นไร
แต่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  "บาปแม้นิด  อย่าได้คิดกระทำเลย"

ไม่ว่าโกหกสีขาว  หรือโกหกสีดำ  ก็ไม่ดีทั้งนั้น

เราควรพูดเรื่องจริง  ที่มีประโยชน์  ด้วยใจที่ปรารถนาดี
โดยใช้ปัญญาประกอบการพูดนั้น  ให้ถูกที่ถูกเวลา  จะดีกว่า

เลิกโกหกกันเถิดครับ
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น