ให้พระปริตรคุ้มครองต้องทำยังไง


ในสมัยพุทธกาล  มีภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดตาย
เมื่อภิกษุทั้งหลายนำเรื่องไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
"ภิกษุรูปนั้นคงจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปให้พญางูทั้ง ๔ ตระกูล
เพราะถ้าเธอแผ่เมตตาจิตไปให้พญางูทั้ง ๔ ตระกูลนั้น  เธอก็จะไม่ถูกกัดจนมรณภาพ"

แล้วตรัสให้ภิกษุทั้งหลายแผ่เมตตาจิตให้พญางูทั้ง ๔ ตระกูลนี้
เพื่อคุ้มครองตน  เพื่อรักษาตน  เพื่อป้องกันตน

จากนั้น  ได้ตรัสพระคาถาต่อไปอีก  มีใจความว่า
       "เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูวิรูปักขะ
เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูเอราปถะ
เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูฉัพยาปุตตะ
เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูกัณหาโคตมกะ
       เราขอมีเมตตาต่อสัตว์ไม่มีเท้า
เราขอมีเมตตาต่อสัตว์สองเท้า
เราขอมีเมตตาต่อสัตว์สี่เท้า
เราขอมีเมตตาต่อสัตว์หลายเท้า
       สัตว์ไม่มีเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์สองเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์สี่เท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์หลายเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
       ขอสรรพสัตว์ที่มีลมหายใจ
ขอสรรพสัตว์ที่ยังมีชีวิตทั้งมวล
จงประสพกับความเจริญ
ความเลวร้ายอย่าได้มาแผ้วพานสัตว์ใด ๆ เลย
       พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้
พระธรรมมีพระคุณหาประมาณมิได้
พระสงฆ์มีพระคุณหาประมาณมิได้
สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย  คือ
งู  แมงป่อง  ตะขาบ  แมงมุม  ตุ๊กแก  หนู  มีคุณพอประมาณ
       เราทำการรักษา  ทำการป้องกันไว้แล้ว
ขอหมู่สัตว์ผู้มีชีวิตทั้งหลายจงหลีกไป
เรานั้นขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาค
ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์"
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในอหิราชสูตร)



(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


ในปัจจุบัน  มีการนำพระคาถานี้มาสวดเป็นพระปริตร (เครื่องป้องกัน)
เพื่อหวังอานิสงส์ในการคุ้มครองตนเองให้ปลอดภัยจากสัตว์ร้ายต่าง ๆ

แม้ในงานที่นิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล
ก็มีการสวดพระคาถานี้ด้วย

คนส่วนใหญ่คิดว่าการสวดพระคาถานี้  จะมีอานิสงส์ทำให้ปลอดภัยจากสัตว์ร้าย

มีหลายคนที่สวดหรือฟังเป็นภาษาบาลี  แต่ไม่รู้คำแปล
และหลายคนที่รู้คำแปล  แต่ไม่รู้ความหมายหรือสิ่งที่พระคาถาสอนไว้
(แต่คิดว่าพระคาถาจะช่วยให้ปลอดภัยได้)
.....


ลองกลับไปอ่านเนื้อความในย่อหน้าแรกอีกครั้ง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
"ภิกษุรูปนั้นคงจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปให้พญางูทั้ง ๔ ตระกูล
เพราะถ้าเธอแผ่เมตตาจิตไปให้พญางูทั้ง ๔ ตระกูลนั้น  เธอก็จะไม่ถูกกัดจนมรณภาพ"

แสดงว่า  สาเหตุที่ภิกษุรูปนั้นถูกงูกัด  เป็นเพราะไม่ได้เจริญเมตตาจิต
ไม่ใช่ถูกงูกัดเพราะไม่ได้สวดพระปริตร
.....


ลองนึกภาพงูและคนที่เผชิญหน้ากันโดยบังเอิญ
ถ้าคนไม่ทำอะไรที่เป็นสัญญาณอันตรายให้งูตัวนั้นตกใจ
คุณคิดว่างูตัวนั้นจะพยายามเลื้อยหนี  หรือจะเลื้อยเข้ามากัดครับ

ตรงกันข้าม
ถ้าคนนั้นทำท่าทางที่ทำให้งูคิดว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้นกับมัน
มันก็อาจจะฉกกัดคนคนนั้นเพื่อป้องกันตัวเองก็ได้
.....


ความสำคัญของพระคาถานี้ (หรือที่นำมาสวดเป็นพระปริตรกัน)
ก็คือคำสอนที่อยู่ในพระคาถานั้น
เป็นเครื่องช่วยเตือนสติให้ผู้สวดหรือผู้ฟังมีเมตตาในสัตว์ทั้งหลาย

เมื่อเรามีเมตตาจิต  ปรารถนาดี  อยากให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุข
เราก็จะไม่คิดเบียดเบียนหรือทำร้ายสัตว์เหล่านั้น

เมื่อเราไม่เบียดเบียน  ไม่ทำร้ายทำลายสัตว์เหล่านั้น
สัตว์เหล่านั้นก็ไม่ทำร้ายเราเช่นกัน
.....


ฉะนั้น  ถ้าอยากแคล้วคลาดปลอดภัยจากสัตว์ร้าย
ด้วยวิธีของพระพุทธเจ้า
ก็ต้องมีความเมตตาปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งหลาย
ไม่คิดร้าย  ไม่เบียดเบียน  ไม่ทำอันตรายใด ๆ
เพียงเท่านี้  เราก็จะปลอดภัยจากสัตว์ร้ายทั้งหลาย
.....


จากที่กล่าวมานี้
การเพียงแค่สวดหรือฟังพระคาถาหรือพระปริตรใด ๆ ก็ตาม
ไม่ได้ทำให้เราแคล้วคลาดจากภัยอันตรายได้

แต่การปฏิบัติตามคำสอนในพระคาถาหรือพระปริตรนั้น ๆ ต่างหาก
ที่จะช่วยให้เราแคล้วคลาดปลอดภัยได้

ขอให้เจริญในกุศลธรรม
และมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ยิ่ง ๆ ขึ้นไปนะครับ
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. อหิราชสูตร (ว่าด้วยตระกูลพญางู)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น