การเบียดเบียนนำทุกข์มาให้ (ตอนที่ ๓)


ในสมัยพุทธกาล
มีพระราชาพระองค์หนึ่งตรัสถามพระมเหสีว่า  "มีใครที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตัวของเธอเองบ้างไหม"
พระมเหสีได้ทูลตอบว่า  "ขอเดชะ  ใครอื่นที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตัวของหม่อมฉันเอง  ไม่มีเลย
และใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตัวของพระองค์เองมีอยู่บ้างหรือ"
พระราชาตรัสว่า  "ใครอื่นที่เป็นที่รักยิ่งกว่าตัวของเราเอง  ไม่มีเลย"

จากนั้น  พระราชาพระองค์นั้นได้เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค  แล้วได้กราบทูลเรื่องราวที่ทรงสนทนากับพระมเหสีให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ


ครั้งนั้น  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระราชานั้นว่า

       "บุคคลตั้งใจค้นหาทั่วทุกทิศ
ก็ไม่พบใครที่ไหนซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนเลย
สัตว์เหล่าอื่นก็รักตนมากเช่นนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น  ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น"
.....

เรา  อยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุข  เกลียดทุกข์

เราจึงไม่อยากให้ใครมาเบียดเบียนเรา  ฉันใด
เขา  ก็อยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุข  เกลียดทุกข์
เขาก็ไม่อยากให้ใครมาเบียดเบียนเขา  ฉันนั้น
เมื่อเป็นดังนี้  ผู้รักตนทั้งหลาย  จึงไม่ควรกระทำผิดศีล  ไม่ควรเบียดเบียนกันและกัน


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)

ขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกและอรรถกถามาประกอบ  ดังนี้

ตโยชนวัตถุ  (เรื่องคน ๓ จำพวก)

--- เรื่องที่ ๓ ---
สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ  พระเชตวัน  อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตกรุงสาวัตถี
มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง  จำนวน ๗ รูป  ออกเดินทางจากปัจจันตชนบท  เพื่อไปเฝ้าพระศาสดา
ในระหว่างเดินทางวันหนึ่ง  ในเวลาเย็น  เดินทางมาถึงวัดแห่งหนึ่ง  จึงเข้าไปขอพักอาศัยที่วัดแห่งนั้น

ภิกษุเจ้าถิ่นก็จัดแจงที่พักในถ้ำแห่งหนึ่งให้  มีเตียงอยู่ ๗ เตียงพอดี
ภิกษุอาคันตุกะทั้ง ๗ รูปก็ได้เข้าพักนอนบนเดียงในถ้ำนั้นแล้ว

ตกกลางคืน  หินขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งกลิ้งลงมาจากภูเขา  แล้วหยุดอยู่ที่หน้าถ้ำ  ได้ปิดประตูถ้ำนั้นแล้ว

พวกภิกษุเจ้าถิ่นกล่าวว่า  "พวกเราให้ถ้ำนี้แก่ภิกษุอาคันตุกะพัก  ก็หินก้อนใหญ่นี้กลิ้งลงมาปิดประตูถ้ำเสียแล้ว  พวกเรามาช่วยกันนำหินก้อนนี้ออกเถิด"
แล้วได้เกณฑ์พวกชาวบ้านในละแวกนั้น ๗ หมู่บ้านโดยรอบให้มาช่วยกัน
แต่แม้จะพยายามอยู่  ก็ไม่สามารถทำให้หินนั้นขยับได้เลย

ฝ่ายภิกษุอาคันตุกะทั้ง ๗ รูปก็พยายามผลักหินจากด้านใน  แต่ก็ไม่สามารถทำให้หินขยับได้เช่นกัน

แม้จะพยายามอย่างเต็มที่ตลอด ๗ วัน  ก็ไม่สามารถทำให้หินขยับได้แม้สักนิด
พวกภิกษุ ๗ รูปที่อยู่ภายในถ้ำ  ถูกความหิวแผดเผาตลอด ๗ วัน  ได้รับทุกข์ทรมานเป็นอันมาก

แต่แล้วในวันที่ ๗  หินขนาดใหญ่ก้อนนั้นก็ได้กลิ้งออกไปเอง


เมื่อภิกษุอาคันตุกะออกมาจากถ้ำได้แล้ว  ต่างก็คิดว่า  "โอ  กรรมนี้หนักหนอ  ผู้มีอายุทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายจงดูผลกรรมของพวกเรา  เว้นพระศาสดาเสีย  ใครจะรู้กรรมที่เราทั้งหลายทำแล้ว  พวกเราจะทูลถามกรรมนั้นกะพระศาสดา"

ดังนี้แล้ว  เดินทางเพื่อไปเฝ้าพระศาสดาต่อไป

ภิกษุกลุ่มนี้ได้เดินทางมาพบกับภิกษุอีก ๒ กลุ่มในระหว่างทาง  (อ่านเรื่องราวของภิกษุ ๒ กลุ่มแรกในบทความที่แล้ว)

จึงรวมเป็นพวกเดียวกันเข้าไปเฝ้าพระศาสดา
ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่สมควร  ได้กราบทูลถึงเหตุที่พวกตนพบเห็นมาแด่พระศาสดา

พระศาสดาได้ตรัสพยากรณ์แก่ภิกษุกลุ่มที่ ๓ นี้ว่า

(พยากรณ์  ในที่นี้แปลว่า  ตอบ)
"ภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอได้เสวยผลกรรมที่ตนทำแล้วนั่นแหละโดยแท้
ก็ในอดีตกาล  เด็กเลี้ยงโค ๗ คนชาวกรุงพาราณสี  เที่ยวเลี้ยงโคไปตามสถานที่ต่าง ๆ คราวละ ๗ วัน

วันหนึ่ง  เด็กทั้ง ๗ คนนั้นเลี้ยงโคเสร็จแล้ว  ได้มาพบเหี้ยใหญ่ตัวหนึ่ง  จึงพากันไล่ตาม

เหี้ยนั้นวิ่งหนีเข้าไปสู่จอมปลวกแห่งหนึ่ง  จอมปลวกนั้นมีช่องอยู ๗ ช่อง
พวกเด็กเหล่านั้นปรึกษากันว่า  "บัดนี้พวกเราไม่อาจจับมันได้  เอาไว้พรุ่งนี้มาจับใหม่เถิด"
ดังนี้แล้ว  จึงต่างคนต่างก็ถือเอากิ่งไม้ที่หักได้คนละกำ ๆ
ทั้ง ๗ คนพากันปิดช่องของจอมปลวกทั้ง ๗ ช่อง  แล้วพากันกลับไป

วันรุ่งขึ้น  เด็กเหล่านั้นไม่มีใครนึกถึงเหี้ยตัวนั้นได้  ต่างพากันต้อนโคไปในที่แห่งอื่น


ครั้นในวันที่ ๗  เด็กเหล่านั้นกลับมาเลี้ยงโคในที่แห่งนี้อีก  เมื่อเห็นจอมปลวกนั้นจึงนึกขึ้นได้

คิดกันว่า  "เหี้ยนั้นเป็นอย่างไรแล้วหนอ"
จึงช่วยกันเปิดช่องที่พวกตนปิดไว้

เหี้ยตัวนั้นได้รับทุกข์ทรมาน  หมดอาลัยในชีวิต  ผอมโซเหลือแต่กระดูกและหนัง  เดินสั่นคลานออกมา

เด็กเหล่านั้นเห็นแล้วเกิดใจอ่อน  จึงพูดว่า  "พวกเราอย่าฆ่ามันเลย  มันอดอาหารมาตลอด ๗ วันแล้ว"
จึงลูบหลังเหี้ยนั้นแล้วปล่อยไป

ภิกษุทั้งหลาย  เด็กเหล่านั้นไม่ต้องไปไหม้อยู่ในนรก  เพราะไม่ได้ฆ่าเหี้ยนั้น

แต่ทั้ง ๗ คนนั้นต้องมาเป็นผู้อดข้าวร่วมกันตลอด ๗ วัน  ใน ๑๔ อัตภาพ (๑๔ ชาติ)
ภิกษุทั้งหลาย  กรรมนั้นเป็นกรรมที่พวกเธอได้เกิดเป็นเด็กเลี้ยงโค ๗ คนร่วมกันทำไว้ในกาลนั้น"

เมื่อพระศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหาที่ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลถามแล้ว

ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามพระศาสดาว่า
"ความหนีพ้นย่อมไม่มีแก่สัตว์ที่ทำกรรมชั่วนั้นไว้
ผู้ซึ่งเหาะไปในอากาศก็ดี  ดำลงไปสู่มหาสมุทรก็ดี  หนีเข้าไปสู่ซอกเขาก็ดีหรือ  พระพุทธเจ้าข้า"

พระศาสดาตรัสตอบว่า

"อย่างนั้นแหละภิกษุ  แม้ในที่ทั้งหลาย  ทั้งในอากาศ  ในมหาสมุทร  หรือในซอกภูเขา
สถานที่สักแห่งหนึ่งที่บุคคลอยู่แล้วพึงหนีพ้นจากกรรมชั่วได้นั้น  ไม่มี"

จากนั้น  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปอีกว่า

       "บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้
ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
ถึงจะดำลงไปในมหาสมุทร  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
ถึงจะเข้าไปหลบในซอกเขา  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่คนทำบาปยืนอยู่แล้วจะพ้นจากบาปกรรมได้ ..."

ในเวลาจบพระธรรมเทศนานี้  ภิกษุเหล่านั้นก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่มหาชนผู้มาประชุมกันแล้ว  ดังนี้แล
ตโยชนวัตถุ  จบ

ถามว่า  เพราะเหตุใดภิกษุทั้ง ๗ รูปนั้นจึงต้องถูกขังอยู่ในถ้ำ  อดข้าวอดน้ำ  นานถึง ๗ วัน ???
เพราะมีคนแกล้งภิกษุเหล่านั้น
เพราะภิกษุเหล่านั้นอายุครบเบญจเพศ
เพราะราหูย้ายราศี
เพราะปีที่เกิดเหตุนั้นเป็นปีชงของภิกษุเหล่านั้น

หรือเป็นเพราะผลของกรรมไม่ดีที่ภิกษุเหล่านั้นกระทำไว้เอง !!!


ฉะนั้น  เมื่อไม่มีใครเป็นที่รักยิ่งกว่าตน
สัตว์เหล่าอื่นก็รักตนมากเช่นนั้นเหมือนกัน
ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น
เพราะการเบียดเบียน  นำทุกข์มาให้

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. มัลลิกาสูตร (ว่าด้วยเรื่องพระนางมัลลิกาเทวี)



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น