แค่คิดบวกยังไม่พอ


ท่านเจ้าคุณรูปหนึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนทั้งหลาย  แม้ผมเองก็เคารพนับถือเช่นกัน
ไม่นานมานี้  ผมอ่านเจอคำสอนของท่านที่ถูกแชร์ในสังคมออนไลน์ว่า
"ให้รู้สึกว่าเคราะห์นั้นทำให้เราดีขึ้น
เป็นครูของเรา  เป็นผู้เตือนเรา  เป็นผู้ลวงใจเรา
อย่าเห็นว่าเคราะห์กรรมเป็นของเลว  ไม่น่าปรารถนา
ควรคิดว่าเป็นของดีที่ทำให้เราเข้มแข็งมั่นคงขึ้น
ให้รู้สึกเสมอว่า  เราเกิดมาเรียนทั้งเคราะห์ร้ายและเคราะห์ดี"
.....

ใช่ครับ  เมื่อเราประสบกับเหตุการณ์เคราะห์ร้ายต่าง ๆ
คนส่วนมากมักจะเป็นทุกข์  เดือดร้อน  ไม่สบายใจ  ต่าง ๆ นานา

แต่ท่านสอนให้เราเอาเคราะห์กรรมนั้นมาเป็นบทเรียน
ให้คิดว่าเคราะห์กรรมเหล่านั้นไม่ได้เป็นของเลวร้ายอะไร
แต่เป็นสิ่งที่จะมาช่วยทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้น

ถือเป็นการมองโลกในแง่ดี  พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส  ช่วยให้เรารับมือกับเหตุร้ายได้บ้าง
.....




ในพระไตรปิฎก  มีพระสูตรหนึ่งบันทึกไว้ว่า
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
ธรรมเทศนาของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ว่าโดยปริยาย  มี ๒ ประการ

ธรรมเทศนา ๒ ประการ  อะไรบ้าง  คือ

๑. ธรรมเทศนาว่า  'ท่านทั้งหลายจงเห็นบาปว่าเป็นบาป'
นี้จัดเป็นธรรมเทศนาประการที่ ๑

๒. ธรรมเทศนาว่า  'ท่านทั้งหลายครั้นเห็นบาปว่าเป็นบาปแล้ว  จงเบื่อหน่ายคลายกำหนัด  ปลดเปลื้องตนให้พ้นจากบาปนั้น'
นี้จัดเป็นธรรมเทศนาประการที่ ๒

ภิกษุทั้งหลาย
ธรรมเทศนาของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ว่าโดยปริยาย  มี ๒ ประการนี้แล"
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในทสนาสูตร)


การมองเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นว่าเป็นบททดสอบของชีวิต
มองว่าจะทำให้ชีวิตมีความแข็งแกร่งขึ้น
ก็สามารถทำให้เราฮึดสู้กับเหตุการณ์นั้น ๆ ได้

แต่การมองโลกในแง่ดี  หรือคิดบวก  เท่านั้นคงยังไม่พอ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้เห็นถึงที่มาของเหตุการณ์นั้น ๆ ว่า

"สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  เป็นผู้รับผลของกรรม
มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ใครทำกรรมใดไว้  จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม  ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น"

ที่เราต้องมาประสบกับเหตุการณ์ร้าย ๆ ก็เป็นเพราะเราได้เคยทำกรรมที่ไม่ดีมาก่อน
เมื่อบาปกรรมที่เราทำไว้ถึงเวลาให้ผล  เราจึงประสบกับเหตุการณ์ร้ายอย่างนี้

การมองเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยการมองในแง่ดี  อาศัยการคิดบวก  อาจจะช่วยให้สบายใจและรับมือกับเหตุร้ายนั้นได้บ้าง

แต่ถ้าเราไม่อยากประสบเหตุร้ายอีกในอนาคต  เราก็จะต้องไม่ทำบาปกรรมทั้งหลายที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายเหล่านั้นอีก

เมื่อเราเห็นบาปว่าเป็นบาป  ให้ผลเป็นโทษ  เป็นทุกข์
เราก็ควรจะละอายและรังเกียจต่อการทำบาปนั้น  เบื่อหน่ายต่อการทำบาปนั้น  และเปลื้องตนจากการทำบาปเหล่านั้น

ฉะนั้น  หยุดทำบาปกรรมทั้งหลาย  หยุดการเบียดเบียน  รักษาศีลให้ได้ทุกข้อ
เราจะได้ไม่ต้องเจอเหตุร้ายต่าง ๆ เข้ามาทดสอบชีวิตอยู่เรื่อย ๆ
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. เทสนาสูตร (ว่าด้วยธรรมเทศนา)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น