เราเป็นผู้ว่าง่ายแค่ไหน


หญิงคนหนึ่งชื่อ  เวเทหิกา  มีชื่อเสียงร่ำลือว่าเป็นคนเรียบร้อย  สุภาพ  ใจเย็น
เธอมีสาวใช้คนหนึ่งชื่อ  กาลี  เป็นคนขยัน  ช่วยงานบ้านงานเรือนเป็นอย่างดี

วันหนึ่ง  สาวใช้คิดว่า
"มีคนร่ำลือว่านายหญิงของเราเป็นคนเรียบร้อย  สุภาพ  ใจเย็น
อยากรู้จังว่าการที่นายหญิงไม่เคยแสดงอาการโกรธให้ใครเห็นเลย
เพราะนายหญิงเป็นคนที่ไม่โกรธใครเลย  จริงหรือ
หรือเพราะยังไม่มีใครทำให้โกรธกันแน่
เราลองหาทางทดสอบดูดีกว่า"

วันรุ่งขึ้น  นางจึงทำเป็นนอนตื่นสาย  ไม่ลุกขึ้นมาจัดการงานบ้านเหมือนที่เคยทำ
นางเวเทหิกาจึงถามว่า  "เฮ้ย  นางกาลี  ทำไมวันนี้ตื่นสาย"
นางกาลีตอบว่า  "ไม่มีอะไรเจ้าค่ะ"
นางเวเทหิกาตวาดว่า  "อ้าวเฮ้ย  ไม่มีอะไร  ไม่เจ็บไม่ป่วย  แล้วทำไมตื่นสาย"
นางเริ่มโกรธ  ไม่พอใจ  หน้านิ่วคิ้วขมวด

วันต่อมา  นางกาลีตื่นสายกว่าเมื่อวันก่อนอีก
นางเวเทหิกาจึงถามอีก  "เฮ้ย  นางกาลี  ทำไมวันนี้ยังตื่นสายอีก"
"ไม่มีอะไรเจ้าค่ะ"
"เฮ้ย  ถ้าไม่เป็นอะไร  ก็ลุกขึ้นมาทำงาน"
นางโกรธ  ไม่พอใจ  แผดเสียงด้วยความขุ่นเคือง

ในวันที่ ๓  นางกาลีก็ยังตื่นสายอีก
นางเวเทหิกาจึงตวาดด่าอีก  "เฮ้ย  นางกาลี  ทำไมวันนี้ตื่นสายอีก"
"ไม่มีอะไรเจ้าค่ะ"
"เฮ้ย  ไม่มีอะไร  แต่ก็ยังตื่นสายอยู่อีก  ขี้เกียจแล้วล่ะสิ  ข้าจะทำโทษเอ็ง"
นางโกรธ  ไม่พอใจ  แล้วคว้าสิ่งของขว้างใส่ศีรษะของนางกาลี

ตั้งแต่นั้นมา  ชื่อเสียงของนางเวเทหิกาก็เป็นที่โจษจันไปว่าเป็นคนเกรี้ยวกราด  ดุร้าย
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในกกจูปมสูตร)



(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


ผู้ที่เอิมอิ่มพรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งต่าง ๆ  แม้จะเป็นคนใจเย็น  สุภาพอ่อนโยน
แต่พระพุทธเจ้าตรัสถึงผู้นั้นว่า  "ยังไม่เรียกว่าเป็นผู้ว่าง่าย"
เพราะเมื่อผู้นั้นมีเหตุขัดข้อง  เสื่อมจากสิ่งที่มี  ก็อาจจะเป็นผู้ว่ายากได้

ตรงกันข้าม  พระพุทธเจ้าตรัสถึงผู้ที่ให้ความเคารพพระธรรมว่า  "เป็นผู้ว่าง่าย"
เพราะผู้ที่สักการะเคารพพระธรรมจริง  คือผู้ที่ปฏิบัติตามพระธรรม  คือ
ย่อมละเว้นจากการทำบาปอกุศลทั้งปวง
ย่อมบำเพ็ญบุญกุศลทั้งหลายให้เจริญ
ความประพฤติอย่างนี้  จึงเป็นลักษณะของผู้ว่าง่าย
.....

ในเหตุการณ์ปกติ  เราเป็นคนสงบเสงี่ยม  เรียบร้อย  ใจเย็น
แต่ในบางโอกาส  ถ้าเราประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ
เจอคนที่คิดร้ายกับเรา
เจอคนที่พูดไม่ดีกับเรา
เจอคนที่ทำร้ายเรา
ในสถานการณ์เช่นนั้น  เราจะทำอย่างไร

ถ้าเราเป็นผู้ว่าง่ายจริง
เราจะสักการะเคารพและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ในสถานการณ์เช่นนี้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้เตือนตัวเองว่า
"จิตของเราจะไม่แปรผัน
เราจะไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ
และจะอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างผู้มีเมตตา  ไม่มีโทสะ
เราจะแผ่เมตตาจิตไปให้บุคคลนั้น
และเราจะแผ่เมตตาจิตอันไม่มีขอบเขตไปให้สัตว์โลกทั้งสิ้นอีกด้วย"
.....

คำถามคือ  เราจะทำได้ไหม
จะสามารถทำใจให้ไม่โกรธได้ไหม
จะสามารถระงับการโต้ตอบทั้งทางกายและทางวาจาได้ไหม
ยิ่งไปกว่านั้น  จะสามารถทำใจให้มีเมตตาต่อผู้นั้นได้ไหม

ถ้าทำไม่ได้
เราก็จะกลายเป็นคนดุร้าย  เกรี้ยวกราด  ใจร้อน  และทำบาปอกุศลกรรมตามมา

แต่ถ้าทำได้
พระพุทธเจ้าตรัสว่า  "จะเป็นไปเพื่อประโยชน์  เพื่อสุข  แก่เธอทั้งหลายสิ้นกาลนาน"

ลองตรวจสอบตัวเองนะครับว่า  เราเป็นผู้ว่าง่ายหรือว่ายากแค่ไหน
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. กกจูปมสูตร (ว่าด้วยอุปมาด้วยเลื่อย)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น