คนเหล่าใดเป็นพระอรหันต์


สมัยหนึ่ง  มีหนูจำนวนมากอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง
สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเห็นหนูเหล่านั้นแล้ว  ก็คิดหาอุบายเพื่อจะจับหนูกิน

วันหนึ่ง  มันทำท่ายืนด้วยขาข้างเดียว  เงยหน้ามองดวงอาทิตย์  ยืนอ้าปากกว้าง
เมื่อฝูงหนูเดินผ่านมาเห็น  จึงถามมันว่า  "ท่านทำอะไร  ทำไมจึงยืนขาเดียว"
สุนัขจิ้งจอกตอบว่า  "ถ้าเรายืน ๔ เท้า  แผ่นดินนี้จะถล่ม  เพราะไม่สามารถทนรับคุณธรรมของเราได้"

"แล้วทำไมจึงยืนอ้าปาก"
"เพราะเราไม่กินอาหารอื่น  เรากินแต่ลมเท่านั้น"

"แล้วทำไมจึงเงยหน้ามองดวงอาทิตย์"
"เพราะเรานอบน้อมต่อสุริยเทพ"

พวกหนูเห็นพฤติกรรมของสุนัขจิ้งจอกดูน่าเลื่อมใส
และเมื่อฟังคำตอบแล้ว  ก็คิดว่าสุนัขจิ้งจอกตัวนี้เป็นผู้ทรงศีล
จึงชักชวนกันไปบำรุงอุปัฏฐากทั้งเช้าทั้งเย็นทุกวัน

ในเวลาที่ฝูงหนูลากลับ
สุนัขจิ้งจอกก็จับเอาหนูที่เดินออกไปเป็นตัวสุดท้ายมาเคี้ยวกิน

เมื่อฝูงหนูลดจำนวนลงเรื่อย ๆ  หัวหน้าฝูงจึงเริ่มสังเกตพฤติกรรมของสุนัขจิ้งจอกนั้น
วันต่อมา  ฝูงหนูไปบำรุงสุนัขจิ้งจอกตามปกติ
เมื่อถึงเวลากลับ  หัวหน้าฝูงจึงให้หนูตัวอื่นเดินออกไปก่อน
ตนเองเดินออกไปเป็นตัวสุดท้าย

เมื่อสุนัขจิ้งจอกจะเข้ามาจับ
หัวหน้าหนูซึ่งระวังตัวอยู่แล้วจึงหลบทัน  แล้วกล่าวว่า
"เจ้าสุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์  ทำทีว่าเป็นผู้ประพฤติธรรม
แต่เจ้าไม่ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเลย
เจ้าเอาธรรมบังหน้า  เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น  เพื่อปากท้องของเจ้า"
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในมูสิกชาดก)


ภาพลักษณ์ภายนอกของพระภิกษุหรือผู้ปฏิบัติธรรมบางคน
อาจดูเหมือนผู้มีศีลมีธรรม  น่าศรัทธาเลื่อมใส
แต่ภายในใจอาจจะไม่ใช่
การหลงเข้าไปคบหาสมาคมกับคนเหล่านี้  อาจจะนำทุกข์ภัยมาให้ก็ได้

แล้วเราควรจะเคารพบูชาบุคคลเช่นไร
.....



(ขอบคุณภาพจาก  prapirod.blogspot.com)


ครั้งหนึ่ง  พระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตรเห็นนักบวชกลุ่มหนึ่งดูน่าเลื่อมใส
ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า  "นักบวชเหล่านั้นคงจะเป็นพระอรหันต์"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า
"คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน  ยากที่จะรู้ได้ว่าคนเหล่าใดเป็นพระอรหันต์

ศีลจะพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน
ศีลนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน  ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่ใส่ใจรู้ไม่ได้
ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่มีปัญญารู้ไม่ได้

ความสะอาด (ของวาจา) จะพึงรู้ได้ด้วยการเจรจา
ความสะอาดนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน  ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่ใส่ใจรู้ไม่ได้
ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่มีปัญญารู้ไม่ได้

กำลังจะพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย
กำลังนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน  ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่ใส่ใจรู้ไม่ได้
ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่มีปัญญารู้ไม่ได้

ปัญญาจะพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา
ปัญญานั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน  ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย
ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่ใส่ใจรู้ไม่ได้
ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่มีปัญญารู้ไม่ได้"
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในสัตตชฏิลสูตร)


ในแง่ของฆราวาส
การที่จะรู้ได้ว่าพระรูปใดมีศีลมีธรรมมากน้อยแค่ไหน
ควรแก่การเคารพบูชาแค่ไหน
ต้องอาศัยเวลา  ดูกันนาน ๆ
ต้องอาศัยความเอาใจใส่  ไม่มองผิวเผินหรือฉาบฉวย
ต้องอาศัยปัญญา  ไม่ใช้ความชอบหรือความไม่ชอบส่วนตัวมาตัดสิน

พระภิกษุที่เราพบเห็นทั่วไป
บางรูปอาจจะดูเหมือนสงบเสงี่ยม  เรียบร้อย  สมถะ  สันโดษ  ปฏิบัติเคร่ง
แต่บางที  อาจจะเป็นเพียงภาพที่ดูดีภายนอก (เหมือนสุนัขจิ้งจอกหลอกฝูงหนู)
อาจจะยังไม่ใช่เนื้อนาบุญที่แท้จริงก็ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเตือนว่า
       "คนผู้รู้ดีไม่ควรไว้วางใจใครเพราะผิวพรรณและรูปร่าง
ไม่ควรไว้วางใจใครเพราะการเห็นกันชั่วครู่เดียว
เพราะว่านักบวชผู้ไม่สำรวมทั้งหลาย
ย่อมเที่ยวไปในโลกนี้ด้วยเครื่องบริขารของเหล่านักบวชผู้สำรวมดีแล้ว
       นักบวชเหล่านั้น  ผู้ไม่บริสุทธิ์ในภายใน  งามแต่ภายนอก
แวดล้อมด้วยบริวาร  ท่องเที่ยวอยู่ในโลก
ดุจตุ้มหูดินและเหรียญโลหะครึ่งมาสกหุ้มด้วยทองคำปลอมไว้"
.....

ในแง่ของพระภิกษุ
ถามตนเองว่าเราออกบวชประพฤติพรหมจรรย์เพื่ออะไร
ถ้าเราไม่ได้บวชเพื่อหาลาภสักการะและความสรรเสริญ
เราก็จะไม่ก่อบาปอกุศลกรรมหลอกลวงใคร ๆ ให้มาเคารพบูชา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเตือนไว้เช่นกันว่า
       "บรรพชิตไม่พึงพยายามในบาปกรรมทั้งปวง
ไม่พึงเป็นคนของผู้อื่น
ไม่พึงอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่
และไม่พึงใช้ธรรมเป็นเครื่องค้าขาย
(ไม่พึงแสดงธรรมเพราะต้องการทรัพย์)"
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. มูสิกชาดก (ว่าด้วยความประพฤติของผู้เอาธรรมบังหน้า)
๒. สัตตชฏิลสูตร (ว่าด้วยนักบวชพวกละ ๗ คน)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น