การตอบแทนที่ทำได้ยาก



การแสดงความกตัญญูกตเวที  ตอบแทนพระคุณของบุพการี  เป็นสิ่งที่พึงกระทำของบัณฑิตหรือสัตบุรุษทั้งหลาย
(พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์  โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)  ได้ให้ความหมายไว้ว่า
บัณฑิต  หมายถึง  ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา
สัตบุรุษ  หมายถึง  คนสงบ, คนดี, คนมีศีลธรรม, คนที่ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม)

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ (ในทีฆนิกาย  ปาฏิกวรรค  สิงคาลกสูตร) ว่า

"บุตรพึงบำรุงมารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า  โดยหน้าที่  ๕  ประการ  คือ
๑. ท่านเลี้ยงเรามา  เราจักเลี้ยงท่านตอบ
๒. จักทำกิจของท่าน
๓. จักดำรงวงศ์ตระกูล
๔. จักประพฤติตนให้เหมาะสมที่จะเป็นทายาท
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว  ทำบุญอุทิศให้ท่าน"

นี่คือหน้าที่ของลูกที่ดีที่พึงกระทำตอบพ่อแม่

ลูกที่ทำได้อย่างนี้  ย่อมเป็นที่รักและไว้วางใจของพ่อแม่
และเป็นที่สรรเสริญของคนดีทั้งหลายด้วย



แต่ถึงกระนั้น  การตอบแทนพระคุณของพ่อแม่โดยสมบูรณ์  ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย

ถึงแม้เราจะประคบประหงมดูแลท่านอย่างดี  หาเงินหาทองให้ท่านใช้  หาอาหารอย่างดีให้ท่านกิน  หาบ้านสวยหรูให้ท่านอยู่  หาเสื้อผ้าเครื่องประดับให้ท่านแต่ง  หายาดีหมอดีมารักษาท่านในยามเจ็บป่วย  พาท่านไปเที่ยวพักผ่อนในที่ต่าง ๆ  ฯลฯ  อื่น ๆ อีกมากมาย  เรียกว่า  ให้ท่านมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย .....
ทั้งหมดนี้  ก็ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าตอบแทนพระคุณของท่านโดยสมบูรณ์

แต่ .....  การที่ลูกคนใดก็ตาม

๑. สามารถกระทำให้พ่อแม่จากเดิมที่เป็นคนไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ให้ท่านเป็นคนที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้
๒. สามารถกระทำให้พ่อแม่จากเดิมที่เป็นคนไม่ตั้งมั่นอยู่ในศีล  รักษาศีลได้บ้าง  ไม่ได้บ้าง
ให้ท่านเป็นคนที่รักษาศีลได้อย่างสมบูรณ์  ไม่ยอมละเมิดศีล
๓. สามารถกระทำให้พ่อแม่จากเดิมที่เป็นคนตระหนี่
ให้ท่านเป็นคนที่รู้จักเสียสละ  รู้จักให้ทาน  ยินดีในการให้ทานได้
๔. สามารถกระทำให้พ่อแม่จากเดิมที่เป็นคนไม่มีปัญญาในธรรม
ให้ท่านเป็นคนที่มีปัญญาในธรรม  เห็นโลกตามความเป็นจริงได้ตามพระธรรมของพระพุทธเจ้า
ลูกที่สามารถกระทำได้เช่นนี้  จึงจะกล่าวได้ว่าตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ได้โดยสมบูรณ์

เพราะผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว  ย่อมทราบดีว่าไม่มีทรัพย์สมบัติใดในโลกที่เราสามารถนำติดตัวไปในชาติหน้าได้  จะมีก็เพียงแต่ผลบุญและผลบาปที่เราได้กระทำไว้เอง  เราจึงไม่ควรที่จะแสวงหาความสุขในชาตินี้เพียงอย่างเดียว  แต่ควรทำเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดความสุขในชาติต่อๆไปด้วย

อริยทรัพย์เหล่านี้คือ  ศรัทธา  ศีล  จาคะ (การเสียสละ, การให้ทาน)  ปัญญา  นอกจากจะเป็นไปเพื่อประโยชน์  เพื่อเกื้อกูล  เพื่อสุขแก่พ่อแม่ในชาตินี้แล้ว  ยังเป็นบุญกุศลที่จะติดตามตัวของพ่อแม่ไปในชาติต่อๆไปได้อีกด้วย


ฉะนั้น  แม้ว่าเราจะตอบแทนพระคุณพ่อแม่ด้วยการทำให้ท่านมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสุขสบายในชาตินี้แล้ว

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น  ที่เราไม่ควรมองข้าม  คือการตอบแทนด้วยการช่วยให้ท่านมีอริยทรัพย์ทั้ง ๔  (ศรัทธา  ศีล  จาคะ  ปัญญา) นี้  เพื่อเป็นเสบียงให้ท่านสำหรับในภพชาติต่อๆไป

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง

๑. การตอบแทนที่ทำได้ยาก

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น