กตัญญูกตเวที


หลายคนคงจะเคยได้ฟังเรื่องราวของ "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่"
ซึ่งหลายคนก็คงจะรู้สึกโกรธเกลียดผู้ที่เป็นลูกชาย  ที่กล้าลงมือฆ่าแม่ของตนเองได้

ส่วนอีกด้านหนึ่ง  หลายคนคงจะเคยได้ฟังเรื่องราวของ "เด็กหญิงวัลลี"

ซึ่งหลายคนก็คงจะรู้สึกชื่นชมยกย่องและสรรเสริญในความกตัญญูของเธอที่มีต่อแม่ของตน

เชื่อว่าทุกคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่  มีบทบาทหน้าที่ของความเป็นลูกอยู่แล้ว

และมีหลายคนที่ยังมีบทบาทหน้าที่ของความเป็นแม่หรือพ่ออีกด้วย
ถ้ามองในฐานะที่เราเป็นแม่หรือเป็นพ่อก็ตาม
เราก็คงอยากมีลูกที่เป็นคนดี  มีความกตัญญูกตเวที  รู้คุณคน  และตอบแทนคุณ
แต่ถ้าลูกของเราเป็นคนอกตัญญู  อกตเวที  ไม่รู้คุณคน  และไม่คิดจะตอบแทนคุณ  เราก็คงเสียใจมาก

เมื่อเราอยากมีลูกที่รู้จักกตัญญูกตเวที

แม่และพ่อของเรา  ก็อยากให้เราเป็นลูกที่รู้จักกตัญญูกตเวทีเช่นกัน
ฉะนั้น  ในบทบาทหน้าที่ของความเป็นลูก  เราได้ทำหน้าที่ของลูกที่ดีแล้วหรือยัง  เราทำให้แม่และพ่อภูมิใจ  หรือเราทำให้ท่านเสียใจ



ตัวอย่างในสมัยพุทธกาล  ในเรื่องกัจจานิชาดก

มีลูกสะใภ้คนหนึ่ง  ทำอุบายขับไล่แม่สามีออกจากบ้าน  โดยการทำให้บ้านเลอะเทอะด้วยน้ำมูกน้ำลาย  บอกสามีว่าแม่เป็นคนทำ
แล้วถามสามีว่า  "มารดาของท่านทำอย่างนี้  ฉันบอกว่าอย่าทำเลย  ก็พาลทะเลาะ  ฉันไม่อาจอยู่ร่วมเรือนกับมารดาของท่านได้  เรือนนี้ท่านจะให้มารดาของท่านอยู่  หรือจะให้ฉันอยู่"
ถ้าเราเป็นสามี  เราจะตอบว่าอย่างไร ???

ฉะนั้น  เมื่อเราอยากมีลูกที่เป็นคนดี  มีความกตัญญูกตเวที

เราเองก็ต้องเป็นลูกที่ดี  มีความกตัญญูกตเวที  ต่อแม่และพ่อของเราด้วยเช่นกัน

ขอนำพระพุทธพจน์ที่เคยยกมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ (แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง) มากล่าวซ้ำอีกครั้ง  เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจเราทุกคน  ดังนี้ว่า

"มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์ประชา
ท่านเรียกว่าพรหม  บุรพาจารย์  และอาหุไนยบุคคลของบุตรทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้น  บัณฑิตพึงนมัสการและสักการะมารดาบิดานั้น
ด้วยข้าว  น้ำ  ผ้า  ที่นอน  การอบกลิ่น  การให้อาบน้ำ  และการล้างเท้า
เพราะการปรนนิบัติมารดาบิดานั้นแล
บัณฑิตทั้งหลายจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง
เขาตายไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์"

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง

๑. กัจจานิชาดก (ว่าด้วยนางกัจจานี)
๒. สพรหมกสูตร (ว่าด้วยสกุลที่มีพรหม)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น