ตัวอย่างที่ดีจากนางวิสาขา


ครั้งหนึ่ง  นางวิสาขาได้กราบทูลนิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เพื่อรับภัตตาหารในเรือนของนาง

ในการทำบุญเลี้ยงพระครั้งนั้น
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยเสร็จแล้ว
ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายฉันเสร็จแล้ว
นางวิสาขาได้กราบทูลขอพร ๘ ประการ  ดังนี้ว่า

พรข้อที่ ๑
สาวใช้ของนางวิสาขาไปที่วัด  เห็นพระหลายรูปอาบน้ำชำระร่างกายท่ามกลางสายฝน
ไม่รู้ว่าเป็นพระ  คิดว่าเป็นพวกนักบวชเปลือย
นางวิสาขากราบทูลว่าการที่ภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝน  น่าเกลียด  ไม่น่าดู
ฉะนั้น  ขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต

พรข้อที่ ๒
เมื่อมีภิกษุมาจากต่างแดน  ไม่ชำนาญทางในหมู่บ้าน  บิณฑบาตลำบาก
ฉะนั้น  ขอถวายอาคันตุกภัต (อาหารสำหรับภิกษุที่มาขอพักชั่วคราว) แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต

พรข้อที่ ๓
เมื่อภิกษุจะต้องเดินทาง  ถ้ามัวบิณฑบาตอยู่  อาจจะพลาดหมู่เกวียน  หรือไปถึงที่หมายในเวลาค่ำมืด
ฉะนั้น  ขอถวายคมิกภัต (อาหารสำหรับภิกษุที่จะต้องเดินทาง) แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต

พรข้อที่ ๔
ภิกษุที่ป่วยไข้  ถ้าไม่ได้อาหารที่เหมาะสม  อาการป่วยอาจจะทรุดหนักหรือถึงตายได้
ฉะนั้น  ขอถวายคิลานภัต (อาหารสำหรับภิกษุไข้) แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต

พรข้อที่ ๕
ภิกษุที่พยาบาลภิกษุไข้  ถ้ามัวบิณฑบาตอยู่  อาจจะนำอาหารไปให้ภิกษุไข้ไม่ตรงเวลา  หรือตนเองต้องอดอาหาร
ฉะนั้น  ขอถวายคิลานุปัฏฐากภัต (อาหารสำหรับภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้) แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต

พรข้อที่ ๖
ภิกษุที่ป่วยไข้  ถ้าไม่ได้ยารักษา  อาการป่วยอาจจะทรุดหนักหรือถึงตายได้
ฉะนั้น  ขอถวายคิลานเภสัช (ยาสำหรับภิกษุไข้) แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต

พรข้อที่ ๗
พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า  ข้าวยาคูมีอานิสงส์ ๑๐ ประการ
(ดูอานิสงส์ได้ในยาคุมธุโคฬกานุชานนา)
ฉะนั้น  ขอถวายธุวยาคู (ข้าวยาคูที่ถวายประจำ) แก่พระสงฆ์ตลอดชีวิต

พรข้อที่ ๘
การที่ภิกษุณีเปลือยกายอาบน้ำ  ย่อมน่าเกลียด  ไม่น่าดู
ฉะนั้น  ขอถวายผ้าอาบน้ำแก่ภิกษุณีสงฆ์จนตลอดชีวิต"

(เห็นตัวอย่างความฉลาดในการให้ทานของนางวิสาขาไหมครับ
อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ในวิสาขาวัตถุ)
.....





นางวิสาขาเป็นผู้สร้างวัดบุพพารามถวายไว้ในพระพุทธศาสนา
มีโอกาสเข้าวัด  ฟังธรรม  และถวายทานอยู่เป็นประจำ

เมื่อนางสังเกตเห็นความลำบากที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์
ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคในการประพฤติธรรม
จึงทูลขออนุญาตถวายสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่พระสงฆ์

การถวายทานในลักษณะนี้  เรียกว่า  "กาลทาน"
คือ  การถวายทานตามกาล  หรือตามโอกาสที่สมควร
โดยถวายสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในโอกาสนั้น ๆ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงกาลทานไว้ว่า
       "ผู้มีปัญญา  รู้ความประสงค์ของผู้ขอ
เป็นผู้ปราศจากความตระหนี่
ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้
       ทานที่ให้ในพระอริยะผู้ซื่อตรง  ผู้คงที่
ย่อมเป็นทักษิณาที่ไพบูลย์
ทำให้เขามีใจผ่องใส
       ชนเหล่าใดอนุโมทนาหรือขวนขวายในทักษิณานั้น
เพราะการอนุโมทนาหรือขวนขวายของชนเหล่านั้น
ทักษิณาย่อมมีผลไม่พร่อง
แม้พวกเขาก็เป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ
       เพราะฉะนั้น  ผู้มีจิตไม่ท้อถอย
จึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า"

(อ่านเพิ่มเติมได้ในกาลทานสูตร)
.....


นอกจากนี้  กาลทานยังมีอานิสงส์ที่สำคัญอื่นอีก
นางวิสาขากราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

"ถ้าหม่อมฉันทราบข่าวว่ามีภิกษุบรรลุโสดาบัน  สกทาคามี  อนาคามี  หรืออรหันต์
และทราบว่าภิกษุเหล่านั้นเคยมาที่กรุงสาวัตถีนี้ด้วย
หม่อมฉันจะปลื้มใจมาก

เพราะเป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นจะเคยใช้ผ้าอาบน้ำฝน  เคยฉันอาคันตุกภัต  คมิกภัต  คิลานภัต  คิลานุปัฏฐากภัต  คิลานเภสัช  หรือธุวยาคูของหม่อมฉันเป็นแน่

เมื่อหม่อมฉันระลึกถึงบุญกุศลนั้น  ก็จะเกิดความปลื้มใจ
เมื่อหม่อมฉันปลื้มใจ  ก็จะเกิดอิ่มใจ
เมื่ออิ่มใจ  กายจะสงบ
หม่อมฉันมีกายสงบ  จะมีความสุข
จิตของผู้มีความสุข  จะตั้งมั่น
หม่อมฉันจะได้อบรมอินทรีย์  พละ  และโพชฌงค์"
.....


ทานที่ให้ไว้ดีแล้ว  นำมาซึ่งความสุข
และเป็นพื้นฐานในการทำกุศลธรรมอื่น ๆ ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้อีกด้วย

ถ้าเรามีโอกาสอนุเคราะห์ผู้ที่ประพฤติธรรมในโอกาสต่าง ๆ
คอยดูแลช่วยเหลือให้ผู้นั้นประพฤติธรรมได้โดยไม่ลำบาก
นับว่าเป็นบุญกุศลที่เราได้ทำไว้ดีแล้ว

และถ้าผู้นั้นประสบความสำเร็จในธรรมด้วย
โดยได้รับการสนับสนุนจากเราอยู่เบื้องหลัง
เราจะมีความปลื้มปีติและมีความสุขมากแค่ไหน

เห็นตัวอย่างความฉลาดในการให้ทานของนางวิสาขาแล้ว
เกิดความคิดดี ๆ อะไรบ้างไหมครับ
.....

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น