มองโทษประหารอย่างชาวพุทธ


ไม่กี่วันมานี้  มีข่าวการประหารชีวิตนักโทษในไทยเป็นครั้งแรกในรอบ ๙ ปี
มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย  และฝ่ายที่คัดค้าน
ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลที่สนับสนุนความเห็นของตน

การลงโทษผู้ที่กระทำความผิด  ด้วยวิธีการที่รุนแรง  จนถึงขั้นประหารชีวิต  ก็มีปรากฏอยู่แม้ในสมัยพุทธกาล

แต่สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้คืออย่างไร
.....


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)


ในทางพระพุทธศาสนา

คำว่า  "กาม"  หมายถึง  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส
(ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเจาะจงเรื่องของเพศสัมพันธ์อย่างที่หลายคนเข้าใจ)

สิ่งที่คนทั้งหลายปรารถนา  ก็หนีไม่พ้นกามทั้ง ๕ เหล่านี้  คือ  รูปสวย  เสียงเพราะ  กลิ่นหอม  รสอร่อย  สัมผัสอ่อนนุ่ม
นี่คือคุณของกาม  หรือที่เรียกว่า  กามคุณ

แต่กามไม่ได้มีเพียงสิ่งที่เป็นคุณที่ชาวโลกต้องการเท่านั้น
กามยังให้โทษให้ทุกข์อีกมาก

เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งกามที่ปรารถนา
บางคนจึงอดหลับอดนอน  ทำงานหาเงินหามรุ่งหามค่ำ  ยอมเหน็ดยอมเหนื่อย
แต่แม้จะขยันแค่ไหน  บางครั้งก็ไม่ได้กามตามที่ปรารถนา
หรือแม้จะได้มาแล้ว  ก็มีความกลัวว่าจะเสียหาย  หรือจะถูกขโมยไป

ยิ่งไปกว่านั้น  เพราะกามเป็นเหตุ  การทะเลาะวิวาทก็เกิดขึ้น  การทำร้ายร่างกายก็เกิดขึ้น  การทำผิดกฎหมายก็เกิดขึ้น  การกระทำผิดศีลก็เกิดขึ้น

เมื่อมีการทะเลาะวิวาท  ทำร้ายร่างกาย  ก็อาจจะบาดเจ็บ  หรือเสียชีวิต
เมื่อทำผิดกฎหมาย  ก็ถูกจับกุม  กักขัง  ลงโทษ
เมื่อทำผิดศีล  หลังจากตายไป  ก็ต้องไปนรก
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในจูฬทุกขักขันธสูตร)


จะเห็นว่า  การที่ใครสักคนจะทำผิดกฎหมาย  แล้วถูกจับกุม  ถูกลงโทษ  ตั้งแต่โทษเบา  จนถึงโทษหนัก  ตั้งแต่ทรมาน  จนถึงประหารชีวิต  มีสาเหตุมาจากความปรารถนาในกาม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นโทษของกามว่าน่ากลัวยิ่งนัก

เราไม่ควรเสียเวลาในการโต้เถียงกันว่านักโทษสมควรถูกประหารชีวิตหรือไม่
แต่ควรใช้เวลามาตระหนักถึงโทษทุกข์ที่เกิดจากกาม  แล้วยับยั้งการกระทำที่ผิดกฎหมาย  หยุดการกระทำที่ผิดศีลได้  น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร  ก็แล้วแต่เขาเถิด
กลับมาตรวจสอบตัวเราเองดีกว่า
เราเห็นโทษเห็นภัยของกามหรือยัง
เราสามารถหยุดการกระทำที่เป็นอกุศลได้หรือไม่

ใครที่ทำได้  โทษประหารก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวสำหรับเขาเลย
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. จูฬทุกขักขันธสูตร (ว่าด้วยกองทุกข์  สูตรเล็ก)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น