เป็นผู้สมควรเข้าไปสู่ตระกูลหรือยัง


พระรูปหนึ่ง  มีความคิดในขณะที่กำลังเดินบิณฑบาตว่า
"ขอให้มีคนมาใส่บาตร  อย่าได้ไม่มีเลย
ขอให้มีคนมาใส่บาตรมาก ๆ  อย่าได้มีน้อยเลย
ขอให้ใส่บาตรแต่ของดี ๆ อร่อย ๆ  อย่าได้ใส่แต่ของธรรมดา ๆ เลย
ขอให้กระตือรือร้นเพื่อใส่บาตร  อย่าได้เฉื่อยชาเลย
ขอให้ใส่บาตรโดยเคารพนอบน้อม  อย่าได้ใส่โดยไม่เคารพนอบน้อมเลย"

แต่เมื่อไม่มีคนใส่บาตร
หรือมีคนใส่บาตรน้อย
หรือใส่บาตรแต่ของธรรมดา ๆ
หรือใส่บาตรอย่างเฉื่อยชา
หรือใส่บาตรโดยไม่เคารพนอบน้อม
พระรูปนี้ก็เสียใจ  มีความทุกข์เกิดขึ้น
.....

พระอีกรูปหนึ่ง  ไปบิณฑบาตเหมือนกัน  และมีความคิดเหมือนกันว่า
"ขอให้มีคนมาใส่บาตร  อย่าได้ไม่มีเลย
ขอให้มีคนมาใส่บาตรมาก ๆ  อย่าได้มีน้อยเลย
ขอให้ใส่บาตรแต่ของดี ๆ อร่อย ๆ  อย่าได้ใส่แต่ของธรรมดา ๆ เลย
ขอให้กระตือรือร้นเพื่อใส่บาตร  อย่าได้เฉื่อยชาเลย
ขอให้ใส่บาตรโดยเคารพนอบน้อม  อย่าได้ใส่โดยไม่เคารพนอบน้อมเลย"

แต่เมื่อไม่มีคนใส่บาตร
หรือมีคนใส่บาตรน้อย
หรือใส่บาตรแต่ของธรรมดา ๆ
หรือใส่บาตรอย่างเฉื่อยชา
หรือใส่บาตรโดยไม่เคารพนอบน้อม
พระรูปที่สองนี้ก็ไม่เสียใจ  ไม่ได้เป็นทุกข์
.....



(ขอบคุณภาพจาก www.dhamma.serichon.us)


ดูเผิน ๆ แล้ว  พระทั้ง ๒ รูปต่างก็มีความคิดในการบิณฑบาตเหมือน ๆ กัน

แต่พระรูปแรกปรารถนาให้คนมาใส่บาตรเยอะ ๆ ดี ๆ เร็ว ๆ  โดยเคารพ
เพราะต้องการให้ตนเองได้รับของเยอะ  ของดี  ได้เร็ว  และได้รับความเคารพ
แต่เมื่อไม่ได้ตามที่ปรารถนา  จึงเสียใจ  เป็นทุกข์
.....

ในขณะที่พระรูปที่สอง  ก็ปรารถนาให้คนมาใส่บาตรเยอะ ๆ ดี ๆ เร็ว ๆ  โดยเคารพ
แต่ที่ปรารถนาเช่นนั้น  เพราะรู้ว่า
การให้ทาน  มีอานิสงส์
การให้ของมาก  ก็มีอานิสงส์
การให้ของประณีต  ก็มีอานิสงส์
การให้โดยกระตือรือร้น  ก็มีอานิสงส์
การให้โดยเคารพ  ก็มีอานิสงส์
อานิสงส์ของทานจะเกิดขึ้นแก่ผู้ให้ทานนั้นเอง

พระรูปที่สองนี้  ปรารถนาจะให้ผู้คนทำบุญให้ทานใส่บาตร
เพราะจะมีผลมีอานิสงส์ต่อผู้นั้นเอง

เมื่อมีผู้ทำบุญให้ทานเช่นนั้น  ก็จะยินดี  อนุโมทนาในความดีของผู้นั้น
(ไม่ใช่ยินดีว่าเราได้รับของดีของเยอะ)

แต่ถ้าเขาไม่ทำบุญใส่บาตร
หรือเขาทำบุญใส่บาตร  แต่ใส่น้อย
หรือใส่แต่ของธรรมดา ๆ
หรือใส่อย่างเฉื่อยชา
หรือใส่โดยไม่เคารพนอบน้อม
พระรูปนี้ก็จะไม่เสียใจหรือเป็นทุกข์
เพราะรู้ว่า
๑. เขาอาจจะยังไม่รู้ถึงอานิสงส์ของการให้ทาน  หรือ
๒. อาจจะเป็นเพราะผลของอกุศลกรรมที่เราเคยทำไว้
ทำให้ไม่มีใครใส่บาตรให้เรา  เหมือนเรื่องของพระโลสกเถระ
.....


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
ภิกษุประเภทที่ ๑  "เป็นผู้ไม่สมควรเข้าไปสู่ตระกูล"
เพราะไม่ได้เป็นเนื้อนาบุญต่อผู้อื่น  และเป็นโทษทุกข์ต่อภิกษุรูปนั้นเอง
ภิกษุประเภทที่ ๒  "เป็นผู้สมควรเข้าไปสู่ตระกูล"
เพราะสามารถสงเคราะห์คฤหัสถ์ทั้งหลายที่ปรารถนาบุญได้
.....
(อ่านเพิ่มเติมได้ในกุลูปกสูตร)


ก่อนที่จะไปบิณฑบาต
ตรวจสอบตนเองว่า  เราเป็นผู้สมควรเข้าไปสู่ตระกูลแล้วหรือยัง
เราไปบิณฑบาตเพื่อการสงเคราะห์อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย
หรือไปบิณฑบาตเพื่อหาลาภสักการะมาสู่ตนเองกันแน่
..........



คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. กุลูปกสูตร (ว่าด้วยภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูล)
๒. โลสกชาดก (ว่าด้วยคนโลเลต้องเศร้าโศก)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น