การเบียดเบียนนำทุกข์มาให้ (ตอนที่ ๑)


"เราทุกคนล้วนอยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุข  เกลียดทุกข์"
และไม่ใช่เพียงภพชาตินี้เท่านั้น
แม้ในภพชาติไหน ๆ  เราทุกคนก็ยังอยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุข  เกลียดทุกข์

การกระทำใด ๆ ที่เราคิดว่าจะทำให้เราได้พบความสุขในภพชาตินี้

แต่ถ้าผลของการกระทำนั้น  จะทำให้เราต้องพบความทุกข์ในภพชาติต่อไป
เราควรกระทำกรรมนั้นไหม ???

และที่คิดว่าการกระทำนั้น ๆ จะทำให้เราได้พบความสุขในภพชาตินี้

แต่ถ้าการกระทำนั้นเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นหรือเบียดเบียนตนเอง
การกระทำนั้นก็ไม่ได้ทำให้เราพบความสุขได้จริง  แม้ในปัจจุบันนี้ก็ตาม

ตัวอย่างที่เห็นกันได้ง่าย ๆ  คือเรื่องของศีล

ถ้าเราเบียดเบียนผู้อื่น  เบียดเบียนตนเอง  ละเมิดศีลอยู่เนือง ๆ
เราก็จะเป็นผู้ได้รับโทษทุกข์จากการกระทำนั้น ๆ  เช่น
๑. ถึงความเสื่อมโภคทรัพย์เป็นอันมาก
๒. กิตติศัพท์อันชั่วย่อมกระฉ่อนไป
๓. จะไปในที่ใด ๆ ก็ไม่แกล้วกล้า  เป็นผู้เก้อเขินเข้าไป
๔. หลงลืมสติตาย
๕. หลังจากตายแล้ว  ย่อมไปเกิดในอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก

ลองนึกถึงตัวอย่างที่เป็นข่าวอยู่ในเวลานี้  เรื่องของนักศึกษาแพทย์ที่วางยาเบื่อสุนัขเพื่อหวังเงินประกัน

ถ้าเหตุการณ์นี้เป็นจริง  เขาย่อมได้รับผลที่เป็นโทษทุกข์จากการเบียดเบียนผู้อื่น
เขาอาจจะต้องถูกกฎหมายลงโทษทั้งจำทั้งปรับ
ชื่อเสียงในเวลานี้ย่อมเป็นที่ติเตียนไปทั่ว
เมื่อไปในที่ต่าง ๆ  ก็ย่อมถูกผู้คนตำหนินินทาได้
ส่วนโทษทุกข์ในข้อ ๔ และ ๕  แม้เขาจะยังไม่ได้รับในปัจจุบัน  แต่พระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหนึ่ง  ไม่มีสอง  พระองค์ตรัสไว้เช่นไร  ย่อมเป็นเช่นนั้น
เมื่อถึงเวลา  เขาย่อมได้รับโทษทุกข์แม้ข้อ ๔ และ ๕ นั้นด้วย

ถามว่า  ในขณะที่เขากระทำการเบื่อสุนัขเพื่อหวังเงินประกันนั้น

เขาไม่ได้คิดว่าเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น  ไม่ได้คิดว่าเป็นการละเมิดศีลใช่ไหม
แต่เขาคิดว่ากำลังกระทำเหตุที่ให้ได้มาซึ่งความสุขใช่ไหม
บุคคลที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  จึงชื่อว่าเป็นผู้อาภัพ
เพราะเขาคิดว่าจะหาสุข  แต่กลับกระทำกรรมที่นำทุกข์มาให้

ตรงกันข้าม

ถ้าเราตั้งเจตนาไว้ว่าจะไม่เบียดเบียนผู้อื่นหรือตนเอง
ตั้งเจตนาไว้ว่าจะรักษาศีล
เราก็จะเป็นผู้ได้รับอานิสงส์จากการกระทำดี  เช่น
๑. ย่อมมีโภคทรัพย์เป็นอันมาก
๒. กิตติศัพท์อันงามย่อมขจรไป
๓. จะไปในที่ใด ๆ ก็มีความแกล้วกล้า  เป็นผู้ไม่เก้อเขินเข้าไป
๔. ไม่หลงลืมสติตาย
๕. หลังจากตายแล้ว  ย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์



ขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกและอรรถกถามาประกอบ  ดังนี้

ตโยชนวัตถุ  (เรื่องคน ๓ จำพวก)

--- เรื่องที่ ๑ ---
สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ  พระเชตวัน  อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตกรุงสาวัตถี
ภิกษุกลุ่มหนึ่งเดินทางมาเพื่อจะเฝ้าพระศาสดา  ในระหว่างทาง  ได้เข้าไปสู่หมู่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อบิณฑบาต
ชาวบ้านรับบาตรของภิกษุเหล่านั้นแล้วนิมนต์ให้นั่งรอในโรงฉัน  ถวายข้าวยาคูและของเคี้ยว  ระหว่างรอเวลาบิณฑบาต  ได้นั่งฟังธรรมอยู่

ในขณะนั้น  หญิงคนหนึ่งกำลังหุงข้าวและปรุงอาหารอยู่  เปลวไฟได้ลุกขึ้นจากเตาของหญิงนั้นไปติดชายคา  ไฟได้ลามไปติดเสวียนหญ้าอันหนึ่ง  แล้วปลิวลอยขึ้นจากชายคาลอยไปบนท้องฟ้า

ในขณะนั้น  กาตัวหนึ่งบินมาทางอากาศโดยไม่ทันระวัง  สอดคอเข้าไปในเสวียนหญ้านั้น  ถูกเสวียนหญ้าที่ลุกติดไฟนั้นพันคออยู่  ไหม้ตกลงมาตายที่กลางหมู่บ้าน

พวกภิกษุเห็นเหตุการณ์นั้นแล้ว  คิดว่า  "โอ  กรรมนี้หนักหนอ  ผู้มีอายุทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายจงดูกาตัวนั้น  เว้นพระศาสดาเสีย  ใครจะรู้กรรมที่กานี้ทำแล้ว  พวกเราจะทูลถามกรรมของกานั้นจากพระศาสดา"

ดังนี้แล้ว  เดินทางเพื่อไปเฝ้าพระศาสดาต่อไป

ยังมีภิกษุอีก ๒ กลุ่ม  กำลังเดินทางไปกรุงสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระศาสดาเช่นกัน

และภิกษุทั้ง ๒ กลุ่มนั้นก็ได้พบเหตุการณ์แปลกประหลาดอื่นเช่นกัน
(ขออนุญาตเล่าในบทความต่อไป)

ภิกษุทั้ง ๓ กลุ่มนั้นเดินทางมาบรรจบกันในระหว่างทาง  รวมเป็นพวกเดียวกันเข้าไปเฝ้าพระศาสดา

ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่สมควร  ได้กราบทูลถึงเหตุที่พวกตนพบเห็นมาแด่พระศาสดา

พระศาสดาได้ตรัสพยากรณ์แก่ภิกษุกลุ่มที่ ๑ ว่า

(พยากรณ์  ในที่นี้แปลว่า  ตอบ)
"ภิกษุทั้งหลาย  กานั้นได้เสวยผลกรรมที่ตนทำแล้วนั่นแหละโดยแท้
ก็ในอดีตกาล  ชาวนาผู้หนึ่งในกรุงพาราณสี  ฝึกโคของเขาอยู่  แต่ไม่อาจฝึกได้
ด้วยว่าโคของเขานั้นเดินไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็นอนเสีย
แม้เขาตีให้ลุกขึ้นแล้ว  เดินไปได้หน่อยหนึ่ง  ก็กลับนอนเสียเหมือนเดิมอีกนั่นแล
ชาวนานั้นแม้พยายามแล้ว  ก็ไม่อาจฝึกโคนั้นได้
เขาถูกความโกรธครอบงำแล้ว  จึงกล่าวว่า  "บัดนี้  เจ้าจงนอนให้สบายเถิด"
แล้วทำโคนั้นให้เป็นดุจฟ่อนฟาง  พันคอโคนั้นด้วยฟาง  แล้วก็จุดไฟ
โคถูกไฟคลอกตายในที่นั้นเอง

ภิกษุทั้งหลาย  กรรมอันเป็นบาปอันเขาทำแล้วในครั้งนั้น

เขาจึงไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน
และเพราะวิบากของกรรมนั้น  เขาเกิดเป็นกา ๗ ครั้ง  ถูกไฟไหม้ตายในอากาศอย่างนั้นแหละด้วยวิบากที่เหลือ"

เมื่อพระศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหาที่ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลถามแล้ว

ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามพระศาสดาว่า
"ความหนีพ้นย่อมไม่มีแก่สัตว์ที่ทำกรรมชั่วนั้นไว้
ผู้ซึ่งเหาะไปในอากาศก็ดี  ดำลงไปสู่มหาสมุทรก็ดี  หนีเข้าไปสู่ซอกเขาก็ดีหรือ  พระพุทธเจ้าข้า"

พระศาสดาตรัสตอบว่า

"อย่างนั้นแหละภิกษุ  แม้ในที่ทั้งหลายมีอากาศเป็นต้น
สถานที่สักแห่งหนึ่งที่บุคคลอยู่แล้วพึงหนีพ้นจากกรรมชั่วได้นั้น  ไม่มี"

จากนั้น  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปอีกว่า

       "บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้
ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
ถึงจะดำลงไปในมหาสมุทร  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
ถึงจะเข้าไปหลบในซอกเขา  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่คนทำบาปยืนอยู่แล้วจะพ้นจากบาปกรรมได้ ..."

ในเวลาจบพระธรรมเทศนานี้  ภิกษุเหล่านั้นก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่มหาชนผู้มาประชุมกันแล้ว  ดังนี้แล
ตโยชนวัตถุ  จบ

ถามว่า  ในขณะที่ชาวนานั้นเอาฟางพันคอโคแล้วจุดไฟเผา
เขาคิดไหมว่าเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น  เขาคิดไหมว่าเป็นการละเมิดศีล
เขาคิดว่าการกระทำนั้นสมควรแล้วใช่ไหม
แต่ผลที่ได้รับเป็นอย่างไร .....

ขอย้ำอีกครั้งว่า

บุคคลที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  จึงชื่อว่าเป็นผู้อาภัพ
เพราะเขาคิดว่าจะหาสุข  แต่กลับกระทำกรรมที่นำทุกข์มาให้

ฉะนั้น  ก่อนที่จะกระทำกรรมใด ๆ ลงไป

พิจารณาให้ดีว่าการกระทำนั้น ๆ เบียดเบียนผู้อื่นหรือเบียดเบียนตนเองหรือไม่
ถ้าการกระทำนั้น ๆ เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นหรือเบียดเบียนตนเอง  อย่ากระทำ
เพราะการเบียดเบียนย่อมนำทุกข์มาให้

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. สีลสูตร (ว่าด้วยศีล)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น