บุญใหญ่


เคยได้ยินคนพูดกันว่า
การไถ่ชีวิตโคกระบือ  เป็นบุญใหญ่
การถวายสังฆทาน  เป็นบุญใหญ่
การถวายเทียนพรรษา  เป็นบุญใหญ่
การทอดกฐิน  เป็นบุญใหญ่
การสร้างวัด  เป็นบุญใหญ่
การสร้างพระพุทธรูป  เป็นบุญใหญ่
การให้หนังสือธรรมะ  เป็นบุญใหญ่
และอีกมากมายสารพัด  ฯลฯ

ซึ่งบุญแต่ละอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้น  ถ้าพิจารณาให้ดี  จะเห็นว่านับรวมอยู่ในการให้ทานทั้งสิ้น

ซึ่งบางอย่างก็ต้องใช้ทุนทรัพย์มาก  บางอย่างก็ต้องใช้เวลาตระเตรียมมาก

แล้วจะมีอะไรอย่างอื่นบ้างไหม  ที่ใช้ทุนทรัพย์น้อยกว่า  และมีการตระเตรียมน้อยกว่า

แต่มีอานิสงส์มากกว่าบุญทั้งหลายข้างต้น
พอจะนึกออกไหมครับ ???



องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ (ในทีฆนิกาย > สีลขันธวรรค > กูฏทันตสูตร) ตอนหนึ่งว่า

"การมีจิตเลื่อมใส  ถึงพระพุทธเจ้า  พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
นี้เป็นบุญซึ่งใช้ทุนทรัพย์น้อยกว่า  มีการตระเตรียมน้อยกว่า  แต่มีอานิสงส์มากกว่าบุญจากการให้ทาน"

เพราะคนที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาที่ทำบุญให้ทานก็มีมากมาย

คนนอกพระพุทธศาสนามาร่วมทำบุญกฐินก็มี  บริจาคเงินสร้างวัดก็มี  พิมพ์หนังสือธรรมะแจกก็มี
แต่เขาอาจจะไม่ได้ทำด้วยศรัทธาก็ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังได้ตรัสต่อไปอีกว่า

"การมีจิตเลื่อมใส  สมาทานสิกขาบททั้งหลาย  คือ
- เจตนาละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
- เจตนาละเว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
- เจตนาละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
- เจตนาละเว้นขาดจากการพูดเท็จ
- เจตนาละเว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
นี้เป็นบุญซึ่งใช้ทุนทรัพย์น้อยกว่า  มีการตระเตรียมน้อยกว่า  แต่มีอานิสงส์มากกว่าบุญข้างต้น"

การรักษาศีล  ไม่ละเมิดศีล  เป็นบุญที่ไม่ต้องใช้ทุนทรัพย์  และไม่มีการตระเตรียมอะไรเลย  แต่มีอานิสงส์มากกว่าการให้ทาน


แต่ถึงกระนั้น  ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ทำบุญให้ทานได้  แต่รักษาศีลไม่ได้
หลายคนฆ่าหมูฆ่าวัวฆ่าไก่  มาออกโรงทานงานกฐิน
หลายคนโกงเงินคนอื่น  มาทำบุญสร้างพระพุทธรูป
หลายคนคบชู้กับลูกเมียชาวบ้าน  แต่ชอบบริจาคเงินสร้างวัด
หลายคนทำธุรกิจต้มตุ๋นหลอกลวง  แต่สั่งพิมพ์หนังสือธรรมะแจก
หลายคนชอบกินเหล้าเป็นประจำ  แต่ก็ใส่บาตรทุกเช้า

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ??? (ฝากให้คิดครับ)


และเมื่อคนเหล่านั้น  ทำบุญให้ทานด้วย  ละเมิดศีลด้วย  อะไรจะเกิดขึ้น

ลองนึกถึงคนที่มีฐานะดี  ร่ำรวยเป็นเศรษฐี  มีทรัพย์สมบัติมากมาย
แต่เป็นโรคร้าย
สุขภาพไม่ดี
พิการ
อายุสั้น
ครอบครัวแตกแยก
บริวารไม่ซื่อสัตย์
วิกลจริต
ฯลฯ
เราเคยเห็นคนรวยที่มีสภาพอย่างนี้บ้างไหมครับ
แม้เขาจะมีเงินทองมากมาย  แต่เขาจะมีความสุขไหมถ้าต้องตกอยู่ในสภาพอย่างนี้
แสดงว่า  ผลบุญผลบาปหักล้างกันได้ไหม ???

ฉะนั้น  แม้เราจะเป็นผู้ทำบุญให้ทานแล้วก็ตาม
แต่อย่าได้คิดว่าเพียงพอแล้วด้วยบุญเพียงเท่านี้
บุญใหญ่ยิ่งกว่าที่เกิดจากการรักษาศีล  ยังมีอยู่
ขอให้เราตั้งมั่นอยู่ในศีล  มีเจตนาละเว้นขาดจากการละเมิดศีลทั้งหลาย
ทั้งนี้  เพื่อประโยชน์สุขในชีวิตของเรานั่นเอง


2 ความคิดเห็น:

  1. <<< คัดลอกมาจาก Google + นพมาศ งอกผล >>>
    สาธุค่ะ
    ทานทำง่าย และเห็นผลเลยคือปิติอิ่มใจว่าเราได้ทำทานแล้ว

    ส่วนศีล ต้องข่มใจ และผลของการมีศีลมันจับต้องไม่ได้ (การที่เราแข็งแรงไม่มีโรคก็เพราะเราไม่เบียดเบียนสัตว์)(เรารักษาทรัพย์ไว้ได้ ก็เพราะเราไม่ลักทรัพย์ผู้อื่น) เป็นต้น คิดแบบนี้ พยามยามรักษาศีลให้ครบอยู่ค่ะ

    <<< ตอบคุณนพมาศ งอกผล >>>
    ความจริง อานิสงส์ของศีลที่เห็นผลได้ในทันทีก็มีนะครับ
    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า
    "ศีล มีความไม่ร้อนใจ (อวิปปฏิสาร) เป็นอานิสงส์
    ความไม่ร้อนใจ มีความบันเทิงใจ (ปราโมทย์) เป็นอานิสงส์
    ความบันเทิงใจ มีความอิ่มใจ (ปีติ) เป็นอานิสงส์
    ฯลฯ (ขออนุญาตยังไม่ลงรายละเอียดนะครับ)
    จนถึงมีความรู้เห็นในวิมุตติ (วิมุตติญาณทัสสนะ) เป็นอานิสงส์"
    .....
    ผู้ที่สามารถทำศีลให้บริบูรณ์ได้ ความปีติอิ่มใจว่าเราสามารถรักษาศีลได้ก็เกิดขึ้นเช่นกัน
    และอานิสงส์ของศีลก็ส่งผลมากขึ้นๆ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้
    เป็นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นภายในใจของเราเอง
    ส่วนอานิสงส์ที่ว่าทำให้เราไม่เจ็บไม่ป่วย ทรัพย์สินไม่เสียหาย เป็นอานิสงส์ภายนอก ซึ่งมีส่วนช่วยให้เราไม่ต้องประสบทุกข์
    .....
    ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้สามารถรักษาศีลให้บริสุทธิ์ให้ได้นะครับ
    สาธุ

    ตอบลบ