ฤกษ์ดี ฤกษ์สะดวก ยังไม่พอ


พจนานุกรมพุทธศาสน์  ฉบับประมวลศัพท์  โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)  ได้ให้ความหมายไว้ว่า
"ฤกษ์"  หมายถึง  คราวหรือเวลาซึ่งถือว่าเหมาะเป็นชัยมงคล

คำว่า  ฤกษ์ดี  จึงหมายถึง  เวลาในขณะนั้นหรือช่วงนั้นเป็นเวลาที่เป็นมงคล  ทำให้ผู้ที่ทำกิจกรรมในเวลานั้นจะได้เจอแต่สิ่งดี ๆ  เช่น

ถ้าคู่บ่าวสาวหาฤกษ์แต่งงาน  แล้วเข้าพิธีแต่งงานตามฤกษ์นั้น  ชีวิตคู่ก็จะมีความสุข
ถ้าเจ้าของกิจการหาฤกษ์เปิดบริษัทร้านค้า  แล้วเริ่มทำธุรกิจตามฤกษ์นั้น  กิจการก็จะรุ่งเรือง
ถ้าเจ้าของบ้านหาฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่  แล้วย้ายเข้าไปอาศัยบ้านหลังใหม่ตามฤกษ์นั้น  ครอบครัวก็จะมีความสุข
ฯลฯ

แต่ในปัจจุบันนี้  มีหลายคนที่ให้ความสำคัญกับการหา  "ฤกษ์ดี"  น้อยลง
หันมาให้ความสำคัญกับ  "ฤกษ์สะดวก"  มากขึ้น
เช่น  เมื่อจะแต่งงาน  ก็คิดว่า  "วันไหนสะดวก  ทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว  วันนั้นแหละเป็นฤกษ์ดีแล้ว"
แล้วจึงจัดพิธีแต่งงานในวันที่สะดวกนั้น
เรียกว่า  เอาฤกษ์สะดวกมากกว่าฤกษ์ดี  อย่างนี้ก็มี

บางคน  เอาทั้งฤกษ์สะดวกด้วย  และเอาทั้งฤกษ์ดีด้วย  ก็มีอีกเหมือนกัน




องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงปฏิเสธเรื่องของฤกษ์ตามความเข้าใจของคนทั่วไป

แต่ได้ตรัสเกี่ยวกับฤกษ์ในทางพระพุทธศาสนาไว้ (ในปุพพัณหสูตร) ว่า
"สัตว์เหล่าใดประพฤติกายสุจริต  วจีสุจริต  มโนสุจริต  ในเวลาใด
เวลานั้นก็เป็นเวลาที่ดีของสัตว์เหล่านั้น  เป็นฤกษ์ที่ดีของสัตว์เหล่านั้น"

ฤกษ์ที่ใช้กันในปัจจุบัน  ขึ้นอยู่กับวันเดือนปีเกิดของแต่ละคน  ชื่อนามสกุล  อายุ  ดวงดาว  เทพเจ้า  ดินฟ้าอากาศ  สิ่งศักดิ์สิทธิ์  ฯลฯ
แต่ฤกษ์ในทางพระพุทธศาสนา  ขึ้นอยู่กับความประพฤติของตัวเราเอง

ถ้าเราตั้งมั่นอยู่ในกุศลกรรม  ประพฤติแต่กายสุจริต  วจีสุจริต  มโนสุจริต

นั่นคือเรากำลังสร้างฤกษ์ดีให้เกิดขึ้นแก่ตัวเราเองแล้ว
เพราะผลของกายสุจริต  วจีสุจริต  มโนสุจริต  ย่อมนำความสุขความสำเร็จมาให้

ฉะนั้น  ในทางพระพุทธศาสนา  เราไม่ได้เน้นการหาฤกษ์ดีจากสิ่งภายนอก

แต่เราสามารถสร้างฤกษ์ดีให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง

อย่างไรก็ตาม  บทความนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์จะคัดค้านหรือสนับสนุนทั้งฤกษ์ดีและฤกษ์สะดวก

เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่า  ถึงแม้เราจะได้ฤกษ์ดีหรือฤกษ์สะดวกก็ตาม
แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นผู้ประพฤติกายสุจริต  วจีสุจริต  มโนสุจริต
ถ้าเรายังเป็นผู้ประพฤติกายทุจริต  วจีทุจริต  มโนทุจริต
ฤกษ์ดีหรือฤกษ์สะดวกนั้น  ก็คงจะช่วยอะไรไม่ได้

สิ่งสำคัญคือ  การตั้งมั่นในกุศลกรรม  งดเว้นอกุศลกรรม
ประพฤติแต่กายสุจริต  วจีสุจริต  มโนสุจริต
เว้นขาดจากการประพฤติกายทุจริต  วจีทุจริต  มโนทุจริต
สิ่งดี ๆ ที่เราปรารถนาก็จะเกิดขึ้นได้  โดยไม่ต้องอาศัยฤกษ์ดีหรือฤกษ์สะดวกเลย

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ปุพพัณหสูตร (ว่าด้วยเวลาเช้าเป็นฤกษ์ดีเป็นต้น)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น