ถ้าท่านกลัวทุกข์


นาย ก  วางยาเบื่อหมาแมวที่ชอบไปถ่ายอุจจาระหน้าบ้าน
นาย ข  ชวนให้คนมาร่วมธุรกิจแชร์ลูกโซ่  เมื่อได้เงินแล้วก็หลบหนี
นาย ค  ทำอาชีพโมเดลลิ่ง  บังคับสาว ๆ ในสังกัดให้มีเพศสัมพันธ์กับตน
นาย ง  หลอกขายสินค้าไม่มีคุณภาพ  โฆษณาเกินจริง
นาย จ  ทำธุรกิจเหล้าเบียร์  ชักชวนให้คนดื่มเหล้าเบียร์กันเยอะ ๆ
ตัวอย่างการกระทำของคนเหล่านี้  ล้วนแต่เป็นบาปอกุศลทั้งสิ้น

ซึ่งแน่นอนว่า  บาปอกุศลย่อมให้ผลเป็นทุกข์ .....

บางคนอาจเกิดโรคภับไข้เจ็บร้ายแรง  หรือเกิดอุบัติเหตุทำให้พิการ
บางคนอาจถูกฟ้องล้มละลาย  หรือต้องคอยหลบ ๆ ซ่อน ๆ
บางคนอาจมีปัญหาครอบครัวแตกแยก  ลูกหลานไม่เคารพ
บางคนอาจถูกคนอื่นนินทาว่าร้าย  ทำให้เสียชื่อเสียง
บางคนอาจมีอาการทางสมอง  ความจำเสื่อม  วิกลจริต
ฯลฯ

ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้  เราจะทำอย่างไร

และถ้าปัญหาต่าง ๆ รุมเร้าเข้ามามากขึ้น  มากขึ้น  มากขึ้น
เหมือนสำนวนไทยที่ว่า  "ความวัวไม่ทันหาย  ความควายเข้ามาแทรก"
ปัญหาเก่ายังไม่ทันจบ  ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นมา  ทั้งเรื่องนั้นเรื่องนี้เต็มไปหมด
ประสบแต่ทุกข์หนักขึ้น  หนักขึ้น  เราจะทำอย่างไร


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)

ขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกและอรรถกถามาประกอบ  ดังนี้

ปุณณาเถรีคาถา  (ภาษิตของพระปุณณาเถรี)
พระปุณณาเถรีรูปนี้  เมื่อครั้งเป็นฆราวาส  ได้เป็นนางทาสีในเรือนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี  ในกรุงสาวัตถี  (เกิดเป็นทาสในเรือนเบี้ย)  มีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนา  บรรลุเป็นพระโสดาบันทั้ง ๆ ที่อยู่ในเพศฆราวาสนั่นแหละ

วันหนึ่ง  ในฤดูหนาว  นางปุณณาทาสีไปที่ท่าน้ำเพื่อเอาหม้อตักน้ำกลับไปยังเรือน

ณ  ที่นั้น  ได้พบกับพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งถือลัทธิความเชื่อว่า  "สัตว์บริสุทธิ์ได้ด้วยการอาบน้ำ"
แม้อากาศจะเหน็บหนาว  พราหมณ์นั้นก็ลงไปในแม่น้ำแต่เช้ามืด  ดำน้ำมิดทั้งศีรษะ  ร่ายมนต์  แล้วขึ้นจากน้ำ  ผ้าเปียก  ผมเปียก  สั่นเทิ้ม  ฟันกระทบกันรัวอยู่

เมื่อนางปุณณาทาสีเห็นดังนั้นแล้ว  ก็เกิดความกรุณา  อยากช่วยพราหมณ์นั้นให้พ้นจากความเห็นผิดนั้น  จึงกล่าวกับพราหมณ์ว่า
"เราเป็นหญิงตักน้ำ  เพราะกลัวเจ้านายลงโทษ  และกลัวถูกเจ้านายดุด่า  จึงต้องมาตักน้ำและลงน้ำแม้แต่หน้าหนาว
ท่านพราหมณ์  ท่านกลัวอะไร  จึงลงอาบน้ำตลอดเวลา  มีตัวสั่นเทา  ทนสู้ความหนาวเย็นอันร้ายกาจนี้"

พราหมณ์กล่าวตอบว่า
"นางปุณณาผู้เจริญ  นางรู้อยู่ก็ยังถามอีก  เรากำลังทำกุศลกรรม  เพื่อกำจัดบาปอกุศลอยู่น่ะสิ
ใครก็ตามไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่  ถ้าทำบาปกรรมไว้  ก็ย่อมจะพ้นจากบาปกรรมนั้นได้ด้วยการลงอาบน้ำ"

นางปุณณาทาสีกล่าวว่า
"ใครหนอช่างไม่รู้  มาบอกท่านพราหมณ์อย่างนี้ว่าจะพ้นจากบาปกรรมได้ด้วยการลงอาบน้ำ
พวกกบ  เต่า  งู  จรเข้  และสัตว์อื่นที่อยู่ในน้ำทั้งหมดก็คงจะพากันไปสวรรค์เป็นแน่
คนฆ่าแพะ  คนฆ่าหมู  คนฆ่าปลา  พรานล่าเนื้อ  พวกโจร  พวกเพชฌฆาต  และผู้ทำบาปกรรมอื่น ๆ  ก็คงจะหลุดพ้นจากบาปกรรมได้เพราะการลงอาบน้ำนี้
...
ถ้าหากว่าแม่น้ำนี้จะสามารถชำระล้างบาปที่ท่านทำมาแต่ก่อนได้  ทำให้ท่านหมดบาปได้จริงไซร้
แม่น้ำนี้ก็คงจะชำระล้างเอาบุญของท่านไปด้วย  ท่านก็จะเป็นผู้หมดบุญเช่นกัน
...
ท่านพราหมณ์  ถ้าท่านต้องมาลงอาบน้ำแม้แต่หน้าหนาวนี้เพราะกลัวผลของบาป
ท่านก็อย่าได้ทำบาปอันจะให้ผลเป็นทุกข์นั้นเลย
ขอความหนาวเย็นอย่าทำลายผิวของท่านเลย"

พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นแล้ว  ใคร่ครวญเห็นจริงตามที่นางปุณณากล่าว  จึงกล่าวว่า
"นางปุณณาผู้เจริญ  นางทำเราผู้มีความเห็นผิดให้มีความเห็นที่ถูกต้องแล้ว
เราขอมอบผ้าสาฎกผืนนี้เพื่อตอบแทนนาง"

นางปุณณาทาสีกล่าวว่า
"ท่านพราหมณ์  ผ้าสาฎกผืนนี้จงเป็นของท่านตามเดิมเถิด  เราไม่ต้องการผ้าสาฎกหรอก
ถ้าท่านกลัวทุกข์  ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่านไซร้
ท่านก็อย่าได้ทำบาปอกุศลกรรมทั้งหลาย  ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง
ถ้าท่านทำบาปอกุศลกรรม  ถึงท่านจะเหาะหนีไปที่ใด  ก็ไม่พ้นจากทุกข์ได้เลย
...
ถ้าท่านกลัวทุกข์  ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่าน
ท่านก็จงถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  เป็นสรณะ
จงตั้งมั่นในศีล
ข้อนั้นแหละจะเป็นไปเพื่อความไม่มีทุกข์ของท่าน"

พราหมณ์นั้นได้ถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  เป็นสรณะ  และตั้งมั่นอยู่ในศีลแล้ว
ต่อมา  ได้ไปฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เกิดศรัทธา  จึงขอบวช  ได้เพียรพยายามอยู่  ไม่นานก็บรรลุอรหัตผล

ครั้งนั้น  เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทราบเรื่องที่นางปุณณาทาสีได้ทำให้พราหมณ์เปลี่ยนความเห็นผิดมาเป็นความเห็นที่ถูกต้องได้  ก็เกิดความนับถือ  จึงประกาศให้นางเป็นไท  อนุญาตให้นางบวช
ครั้นบวชแล้ว  เจริญกรรมฐาน  ไม่นานนัก  พระปุณณาเถรีก็บรรลุอรหัตผล
ปุณณาเถรีคาถา  จบ

คนทั้งหลายเมื่อประสบกับผลของบาปอกุศลกรรม  เกิดอุปสรรคปัญหา  เกิดความทุกข์หนักหนาสาหัส  จนไม่สามารถรับไหว  ก็หาวิธีที่คิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้
ในสมัยพุทธกาล  ก็อาจจะใช้การลงอาบน้ำในแม่น้ำ  การบูชาไฟ  เป็นต้น
แต่วิธีการในสมัยนี้ก็เปลี่ยนไป  มีทั้งอาบน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์  นอนโลงศพต่อชะตาชีวิต  ให้พระสวดบังสุกุลเป็นบังสุกุลตาย  บนบานเทพเจ้าต่าง ๆ  บูชาผ้ายันต์เกจิอาจารย์ทั้งหลาย  พึ่งพาไสยศาสตร์ / โหราศาสตร์  ... ฯลฯ ...
แต่ทั้งหมดนี้  ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุกันเลย

เมื่อคนทั้งหลายไม่ได้ระลึกว่า  "ต้นเหตุของโทษทุกข์มาจากบาปอกุศลกรรม"

ก็จะไม่มีความตั้งใจหนักแน่นที่จะเลิกทำบาปอกุศลกรรมอย่างจริงจัง
มิหนำซ้ำ  เมื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา  ... ฯลฯ ...  ทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว  ก็ยังกลับไปทำบาปอกุศลกรรมเหมือนเดิมอีก  เพราะยังไม่เห็นภัยจากบาปอกุศลกรรม

คนที่ศึกษาและเข้าใจคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีแล้ว  จะรู้ว่าโทษทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น  มาจากบาปอกุศลกรรมที่เราได้กระทำไว้เอง
ถ้าไม่อยากให้เกิดโทษทุกข์ขึ้น  เราก็ไม่ควรจะกระทำบาปอกุศลกรรมทั้งหลาย  และควรที่จะตั้งมั่นอยู่แต่ในกุศลกรรมเท่านั้น

ฉะนั้น  ถ้าท่านกลัวทุกข์  ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่านไซร้

ท่านก็อย่าได้ทำบาปอกุศลกรรมทั้งหลาย  ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง
ถ้าท่านทำบาปอกุศลกรรม  ถึงท่านจะเหาะหนีไปที่ใด  ก็ไม่พ้นจากทุกข์ได้เลย
...
ถ้าท่านกลัวทุกข์  ถ้าทุกข์ไม่น่ารักสำหรับท่าน
ท่านก็จงถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  เป็นสรณะ
จงตั้งมั่นในศีล
ข้อนั้นแหละจะเป็นไปเพื่อความไม่มีทุกข์ของท่าน

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ปุณณาเถรีคาถา (ภาษิตของพระปุณณาเถรี)



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น