ก่อนที่จะเชื่อ


ในสมัยพุทธกาล  ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงประกาศพระศาสนา
ก็มีครูบาอาจารย์เจ้าลัทธิต่าง ๆ มากมายที่ประกาศลัทธิของตนเองอยู่แล้ว
ซึ่งแต่ละลัทธิก็มีลูกศิษย์ลูกหาหรือสาวกที่ปฏิบัติตามเป็นจำนวนมาก
ลัทธิที่มีชื่อเสียงที่สำคัญ ๆ ในสมัยนั้น  มีอยู่ด้วยกัน ๖ ลัทธิ  แต่ละลัทธิก็มีคำสอนแตกต่างกันไป  เช่น

- บางลัทธิสอนว่า  การเบียดเบียนผู้อื่นไม่จัดว่าเป็นบาป

แม้หากบุคคลไปทำกรรมไม่ดีที่ฝั่งขวาของแม่น้ำคงคา  ก็ไม่มีบาปมาถึงเขา
แม้หากบุคคลไปทำกรรมดีที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำคงคา  ก็ไม่มีบุญมาถึงเขา
ไม่มีบุญที่เกิดจากการให้ทาน  จากการสำรวม  จากการพูดคำสัตย์  ไม่มีบุญมาถึงเขา


- บางลัทธิสอนว่า  ความเศร้าหมองหรือความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย
เมื่อเวียนว่ายตายเกิดไปแล้ว  จักพ้นจากวัฏสงสารได้เองโดยไม่ต้องประพฤติพรหมจรรย์
เหมือนกลุ่มด้ายที่ถูกขว้างออกไป  ย่อมคลี่หมดไปได้เองฉะนั้น

- บางลัทธิสอนว่า  ทานที่ให้แล้วไม่มีผล  ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล  การเซ่นสรวงก็ไม่มีผล  ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วก็ไม่มี  โลกนี้ไม่มี  โลกหน้าไม่มี  บิดาไม่มีคุณ  มารดาไม่มีคุณ  สัตว์ที่เกิดผุดขึ้นก็ไม่มี  ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก  เมื่อสิ้นชีวิตไป  ไม่ว่าคนเขลาหรือคนฉลาดย่อมขาดสูญ  ไม่เกิดอีก

- บางลัทธิสอนว่า  ร่างกายประกอบด้วยสภาวะ ๗ กอง  คือ  กองแห่งธาตุดิน  กองแห่งธาตุน้ำ  กองแห่งธาตุไฟ  กองแห่งธาตุลม  กองสุข  กองทุกข์  กองชีวะ  ใครก็ตามแม้จะเอาอาวุธตัดศีรษะใคร  ก็ไม่ชื่อว่าปลงชีวิตใครได้  เพราะเป็นเพียงอาวุธแทรกผ่านไปในระหว่างสภาวะ ๗ กองเท่านั้นเอง

- บางลัทธิสอนว่า  ผู้ที่ปฏิบัติเคร่ง ๔ อย่าง  คือ  ๑. เว้นน้ำดิบทุกอย่าง  ๒. ประกอบกิจที่เว้นจากบาปทุกอย่าง  ๓. ล้างบาปทุกอย่าง  ๔. รับสัมผัสทุกอย่างโดยไม่ให้เกิดบาป  ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว

- บางลัทธิมีคำสอนหลบเลี่ยง  เมื่อมีผู้ถามความเห็นต่าง ๆ  ก็จะตอบหลบเลี่ยงว่า  "อย่างนี้ก็มิใช่  อย่างนั้นก็มิใช่  อย่างอื่นก็มิใช่  จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่  จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่"

(เอ ...  แล้วพระพุทธศาสนาล่ะ  มีคำสอนว่าอย่างไร
ถ้ามีคนมาถาม  เราจะตอบเขาว่าอย่างไร ???)

คำสอนของลัทธิต่าง ๆ เหล่านี้  เป็นที่น่าเชื่อถือเป็นอย่างมากในสมัยนั้น
ถ้าเราอยู่ในสมัยนั้น  เราจะเชื่อคำสอนของใครดี
แม้ในยุคสมัยนี้  คำสอนหรือความเชื่อต่าง ๆ ก็มีอยู่มากมาย
แล้วเรามีหลักอะไรที่จะเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อคำสอนเหล่านั้น


(ขอบคุณภาพโดย  Chinh Le Duc  จาก  Unsplash.com)

มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งเป็นชนชาวกาลามะ  อยู่ที่เกสปุตตนิคม  แคว้นโกศล  ต้องการทราบว่าคำสอนของลัทธิใดถูก  ลัทธิใดผิด  จึงได้กราบทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความสงสัยว่า  บรรดาท่านเหล่านั้น  ใครพูดจริง  ใครพูดเท็จ"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสตอบ (ในกาลามสูตร  หรือ  เกสปุตติสูตร) ว่า
"ท่านทั้งหลาย
- อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
- อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
- อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
- อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
- อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ (การคิดเอาเอง)
- อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
- อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
- อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน
- อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อถือ
- อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านนี้เป็นครูของเรา"

ที่ผ่านมา  เราเชื่ออะไรใครเพราะเหตุเหล่านี้บ้างหรือเปล่า

เมื่อพระองค์ตรัสห้ามการเชื่อด้วยเหตุ ๑๐ อย่างนั้นแล้ว
จึงได้ตรัสถึงหลักที่ควรใช้ในการพิจารณาต่อไปว่า
       "เมื่อใด  ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล (ความชั่ว)  ธรรมเหล่านี้มีโทษ  ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน
ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล  เพื่อทุกข์
เมื่อนั้น  ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย .....
       เมื่อใด  ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล (ความดี)  ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ  ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญ
ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล  เพื่อสุข
เมื่อนั้น  ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ ....."

ไม่ได้เอาความเห็นของเราเองเป็นหลัก ...
ไม่ได้ยึดที่ตัวบุคคลผู้พูดเป็นหลัก ...
แต่หลักที่พระองค์ทรงให้ไว้  คือให้เราพิจารณาด้วยปัญญาก่อนว่า
ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศลหรือกุศล  เป็นธรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ
เมื่อพิจารณารู้ด้วยปัญญาแล้ว  จึงละธรรมที่เป็นอกุศล  ถือปฏิบัติเฉพาะในธรรมที่เป็นกุศล

คำถามต่อไปก็คือ  เราจะรู้ได้อย่างไรว่า  อะไรเป็นอกุศล  อะไรเป็นกุศล ???

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถามชนชาวกาลามะต่อไปว่า
"โลภะ  โทสะ  โมหะ  เมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคลแล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล"
"ไม่เกื้อกูล  พระพุทธเจ้าข้า"
"บุคคลที่มีโลภะ  โทสะ  โมหะ  ถูกโลภะ  โทสะ  โมหะครอบงำ  เขาย่อมฆ่าสัตว์  ลักทรัพย์  ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น  พูดเท็จ  บ้างไหม  เขาย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อสิ่งที่ไม่เกื้อกูลเพื่อทุกข์บ้างไหม"
"อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"
"การกระทำเช่นนี้เป็นกุศลหรืออกุศล"
"เป็นอกุศล  พระพุทธเจ้าข้า"
"เป็นธรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ"
"มีโทษ  พระพุทธเจ้าข้า"
"เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียนหรือผู้รู้สรรเสริญ"
"ผู้รู้ติเตียน  พระพุทธเจ้าข้า"
"ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูลเพื่อทุกข์หรือไม่"
"เป็นอย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"

"อโลภะ  อโทสะ  อโมหะ  เมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคลแล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลหรือไม่เกื้อกูล"
"เกื้อกูล  พระพุทธเจ้าข้า"
"บุคคลที่ไม่มีโลภะ  โทสะ  โมหะ  ไม่ถูกโลภะ  โทสะ  โมหะครอบงำ  เขาย่อมไม่ฆ่าสัตว์  ไม่ลักทรัพย์  ไม่ล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น  ไม่พูดเท็จ  บ้างไหม  เขาย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อสิ่งที่เกื้อกูลเพื่อสุขบ้างไหม"
"อย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"
"การกระทำเช่นนี้เป็นกุศลหรืออกุศล"
"เป็นกุศล  พระพุทธเจ้าข้า"
"เป็นธรรมที่มีโทษหรือไม่มีโทษ"
"ไม่มีโทษ  พระพุทธเจ้าข้า"
"เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียนหรือผู้รู้สรรเสริญ"
"ผู้รู้สรรเสริญ  พระพุทธเจ้าข้า"
"ธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลเพื่อสุขหรือไม่"
"เป็นอย่างนั้น  พระพุทธเจ้าข้า"

การละเมิดศีล  จัดเป็นอกุศลกรรม (ความชั่ว)  เกิดจากโลภะ  โทสะ  โมหะ
เป็นธรรมที่มีโทษ  เป็นธรรมที่ผู้รู้ติเตียน  เป็นธรรมที่ไม่เกื้อกูล  เป็นไปเพื่อทุกข์
จึงควรละสิ่งนี้เสีย
ส่วนการไม่ละเมิดศีล  จัดเป็นกุศลกรรม (ความดี)  เกิดจากความไม่มีโลภะ  โทสะ  โมหะ
เป็นธรรมที่ไม่มีโทษ  เป็นธรรมที่ผู้รู้สรรเสริญ  เป็นธรรมที่เกื้อกูล  เป็นไปเพื่อสุข
ควรถือปฏิบัติสิ่งนี้

เมื่อพิจารณาโดยหลักนี้แล้ว  ก็จะเห็นว่าคำสอนของทั้ง ๖ ลัทธินั้นเป็นธรรมที่มีโทษ  ผู้รู้ติเตียน  เป็นไปเพื่อทุกข์  ทำให้ตัดสินใจได้ว่าควรละคำสอนของทั้ง ๖ ลัทธินั้นเสีย

ในปัจจุบัน  ก็มีคำสอนจากหลายที่หลายสำนัก
การมีหลักในการพิจารณาตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้นี้
จะช่วยให้เราแยกแยะได้ว่าคำสอนใดเป็นคุณ  คำสอนใดเป็นโทษ
ทำให้เราไม่หลงไปตามคำสอนที่มีโทษ
และเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตให้อยู่ในทางที่ถูกต้องได้

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. เกสปุตติสูตร (ว่าด้วยกาลามะชาวเกสปุตตนิคม)



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น