ผู้ที่ตระหนี่ ให้ทานไม่ได้


การทำบุญให้ทาน  ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย
แต่สำหรับคนที่ยังมีความตระหนี่เหนียวแน่นอยู่ในใจ  การให้ทานไม่ใช่ทำได้ง่ายเลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัส (ในทานสูตร) ถึงเรื่องทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ ประการ  คือ
องค์ประกอบฝ่ายทายก (ผู้ให้)  ได้แก่
๑. ก่อนให้  ก็มีใจดี
๒. กำลังให้  ก็ทำจิตให้เลื่อมใส
๓. ครั้นให้แล้ว  ก็มีใจเบิกบาน
และ
องค์ประกอบฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ)  ได้แก่
๑. เป็นผู้ปราศจากราคะ  หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ
๒. เป็นผู้ปราศจากโทสะ  หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ
๓. เป็นผู้ปราศจากโมหะ  หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ
การให้ทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ นี้  เป็นทักษิณาที่มีอานิสงส์มาก

การจะประมาณบุญแห่งทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ นี้ว่า

‘จะมีห้วงบุญห้วงกุศลเกิดขึ้นประมาณเท่านี้  นำความสุขมาให้  มีอารมณ์ดีเลิศ  มีวิบากเป็นสุข  เป็นไปเพื่อสวรรค์  เป็นไปเพื่อเกื้อกูล  เพื่อสุขที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ’  มิใช่จะประมาณกันได้ง่าย
แท้จริง  ห้วงบุญห้วงกุศลแห่งทักษิณานั้นถึงการนับว่า  ‘เป็นกองบุญใหญ่ที่นับไม่ได้  ประมาณไม่ได้’

เราไม่สามารถที่จะล่วงรู้ได้หรอกว่าใครเป็นผู้หมดกิเลสแล้ว  หรือกำลังเพียรปฏิบัติเพื่อความหมดกิเลสอยู่
เราอาจจะเคยได้ยินคำพูดที่บอกต่อ ๆ กันมาว่าพระรูปนั้นรูปนี้ปฏิบัติดี  เข้าฌานได้  เคร่ง  น่าเลื่อมใส  ฯลฯ
หรือแม้อาจจะเคยได้พบกับพระรูปนั้นรูปนี้มาเองก็ตาม
แต่ระดับคุณธรรมในใจของแต่ละคน  เป็นสิ่งที่รู้กันได้ยาก  เพราะสิ่งเหล่านี้จะพึงรู้ได้ต้องใช้เวลา  ไม่ใช่ดูกันเพียงชั่วคราว  ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่ใส่ใจรู้ไม่ได้  ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้  ผู้ไม่มีปัญญารู้ไม่ได้
ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมจัดการไม่ได้

แต่เราสามารถควบคุมจัดการปัจจัยภายในได้  ซึ่งก็คือตัวเราเอง

เราสามารถสร้างองค์ประกอบแห่งทักษิณาที่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก (ผู้ให้) ให้เกิดขึ้นได้
เราสามารถทำใจของเราเองให้มีความยินดีในการให้  ทั้งก่อนให้  ขณะที่กำลังให้  และหลังจากให้แล้ว
ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้  ก็ต้องเริ่มที่การละความความตระหนี่ที่มีอยู่ในใจของเราให้ได้เสียก่อน


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)

ขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกและอรรถกถามาประกอบ  ดังนี้

จูเฬกสาฎกวัตถุ  (เรื่องพราหมณ์จูเฬกสาฎก)
สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ  พระเชตวัน  อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตกรุงสาวัตถี
สมัยนั้น  มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อจูเฬกสาฎก  อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถีนั้น
พราหมณ์ผู้นี้เป็นคนยากจน  มีผ้าสาฎกสำหรับนุ่งเพียงผืนเดียว  แม้นางพราหมณีก็มีผ้าสาฎกสำหรับนุ่งเพียงผืนเดียวเช่นกัน
ทั้ง ๒ คนมีผ้าสาฎกสำหรับห่มคลุมร่างกายร่วมกัน ๑ ผืน  ใช้สำหรับห่มเมื่อออกไปนอกเรือน

วันหนึ่ง  เมื่อชาวกรุงสาวัตถีป่าวประกาศเชิญชวนฟังธรรมในพระวิหารเชตวัน

พราหมณ์กล่าวกับภรรยาว่า  "นางผู้เจริญ  เขาประกาศการฟังธรรมในวันนี้  เราทั้งสองไม่อาจไปพร้อมกันได้  เพราะมีผ้าสำหรับห่มเพียงผืนเดียว  เจ้าจะไปฟังธรรมในตอนกลางวันหรือกลางคืน"
นางพราหมณีตอบว่า  "นาย  ฉันจะไปตอนกลางวัน"
แล้วนางพราหมณีก็ห่มผ้าสาฎกนั้นไปฟังธรรม

ตกกลางคืน  พราหมณ์ได้ไปฟังธรรมที่วิหารบ้าง  เขานั่งฟังธรรมอยู่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา

เมื่อฟังธรรมแล้ว  เกิดความศรัทธาในพระศาสดา  มีปีติซาบซ่านเกิดขึ้น
เขาอยากจะบูชาพระศาสดา  แต่มองไม่เห็นสิ่งใดที่จะถวายบูชาพระศาสดาได้  มีเพียงผ้าสาฎกที่ห่มมาเท่านั้น  เขาจึงคิดจะถวายผ้าสาฎกผืนนั้นแด่พระศาสดาด้วยความศรัทธา

ขณะนั้นเอง  เมื่อเขาคิดว่าจะถวาย  ก็เกิดมีความคิดขึ้นมาอีกว่า  "ถ้าเราถวายผ้าสาฎกผืนนี้แล้ว  ผ้าห่มของนางพราหมณีก็จะไม่มี  ของเราก็จะไม่มี"

จิตที่ประกอบด้วยความตระหนี่เกิดขึ้นครอบงำจิตที่ประกอบด้วยศรัทธาของเขา
เมื่อเขาคิดจะถวายด้วยความศรัทธาอีก  ความตระหนี่ก็เกิดขึ้นครอบงำความคิดนั้นอีก

เขาปล่อยให้ความคิดว่า  "จะถวาย"  หรือ  "จะไม่ถวาย"  เกิดขึ้นไป ๆ มา ๆ อยู่อย่างนั้น  จนล่วงเวลาปฐมยาม


แม้ในมิชฌิมยาม  จิตที่ประกอบด้วยความตระหนี่ก็ยังครอบงำจิตที่มีศรัทธาของเขาอยู่

เขาก็ยังไม่อาจถวายผ้าสาฎกในมัชฌิมยามได้

เมื่อถึงปัจฉิมยาม  เขาคิดว่า  "เมื่อเรารบกับศรัทธาจิตและความตระหนี่อยู่นั่นแหละ  เวลาได้ล่วงมาถึงปัจฉิมยามนี้แล้ว  ถ้าเราปล่อยให้ความตระหนี่มีกำลังครอบงำเราอยู่  เราคงไม่สามารถทำเหตุปัจจัยให้พ้นจากอบายได้  เราจะถวายผ้าสาฎกนี้ล่ะ"

พราหมณ์นั้นข่มความตระหนี่ที่เกิดขึ้นได้แล้ว  ทำความศรัทธาให้ตั้งมั่น  แล้วนำผ้าสาฎกนั้นไปถวายแทบบาทมูลของพระศาสดา
เมื่อเขาทำการน้อมถวายแล้ว  ได้เปล่งเสียงดังขึ้น ๓ ครั้งว่า  "เราชนะแล้ว  เราชนะแล้ว  เราชนะแล้ว"

(ถามว่า  ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับพราหมณ์  ฐานะยากจนมาก  มีผ้าเพียงแค่ผืนเดียว

เราจะทำกำลังใจได้อย่างพราหมณ์ผู้นี้ไหม
หรือเราจะพ่ายแพ้ต่อเหตุผลของความตระหนี่
ทำไมพราหมณ์จึงทำได้ขนาดนั้น
หยุดคิดคำตอบสักนิด  แล้วค่อยอ่านต่อ)

ในขณะนั้นเอง  พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกำลังฟังธรรมอยู่ในพระวิหารเชตวันนั้นด้วย  ได้สดับเสียงพราหมณ์ประกาศเช่นนั้น  จึงให้ราชบุรุษไปสอบถามพราหมณ์นั้น

เมื่อพระราชาทรงทราบเรื่องราวแล้ว  ทรงดำริว่า  "พราหมณ์ผู้นี้ทำสิ่งที่บุคคลทำได้ยาก"
แล้วจึงได้พระราชทานผ้าสาฎกให้พราหมณ์ ๑ คู่

พราหมณ์เมื่อได้รับพระราชทานผ้าจากพระราชา  ก็มีใจยินดี  ได้ถวายผ้าคู่นั้นแด่พระศาสดาอีก


พระราชาทรงทราบ  ก็รับสั่งให้พระราชทานผ้าสาฎกให้พราหมณ์อีกเป็นทวีคูณ  คือ  ๒ คู่  ๔ คู่  ๘ คู่  ๑๖ คู่

พราหมณ์ก็ถวายผ้าสาฎกเหล่านั้นแด่พระศาสดาด้วยความศรัทธาอีก

เมื่อพระราชาพระราชทานผ้าสาฎกให้พราหมณ์อีกเป็น ๓๒ คู่

พราหมณ์คิดว่า  "ถ้าเราถวายพระศาสดาอีก  พระราชาก็คงพระราชทานให้แก่เราอีก  ผู้คนก็อาจจะตำหนิได้"
เขาจึงเก็บผ้าสาฎกไว้ ๒ คู่ (สำหรับตนเอง ๑ คู่  และสำหรับนางพราหมณี ๑ คู่)  แล้วได้น้อมถวายผ้าสาฎกที่เหลือทั้ง ๓๐ คู่แด่พระศาสดา

พระราชารับสั่งกับราชบุรุษว่า  "ท่านทั้งหลาย  พราหมณ์ผู้นี้ทำสิ่งที่ทำได้ยาก  ท่านทั้งหลายจงไปนำเอาผ้ากัมพลเนื้อดี ๒ ผืนจากในวังของเรามา"  แล้วพระราชทานให้แก่พราหมณ์นั้น


พราหมณ์คิดว่า  "สรีระของเราไม่สมควรกับผ้ากัมพลเนื้อดีเหล่านี้  ผ้าเหล่านี้ควรแก่พระพุทธศาสนาเท่านั้น"

เขาจึงได้ขึงผ้ากัมพลผืนหนึ่งทำให้เป็นเพดานเบื้องบนที่บรรทมของพระศาสดาภายในพระกุฏิ
อีกผืนหนึ่งขึงเป็นเพดานในที่สำหรับให้ภิกษุมาฉันภัตตาหารในเรือนของตน

ต่อมาภายหลัง  เมื่อพระราชาเสด็จไปสู่พระกุฏิของพระศาสดา  ทอดพระเนตรเห็นผ้ากัมพลที่ขึงอยู่  ทรงจำได้  ทรงดำริว่า  "พราหมณ์ผู้นี้เลื่อมใสในฐานะที่เราเลื่อมใสเหมือนกัน"

จึงรับสั่งให้พระราชทานวัตถุอย่างละ ๔ แก่พราหมณ์นั้น  คือ  ช้าง ๔  ม้า ๔  เงิน ๔๐๐๐  สตรี ๔  ทาสี ๔  บุรุษ ๔  บ้านส่วย ๔ ตำบล  จนถึงวัตถุทั้งหมด ๑๐๐ อย่าง

ภิกษุทั้งหลายเมื่อทราบเรื่อง  ก็สนทนากันว่า  "กรรมของพราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎกนี้น่าอัศจรรย์  ชั่วครู่เดียวเท่านั้น  เขาได้หมวด ๔ แห่งวัตถุทุกอย่าง  กรรมอันงามที่เขาทำในเนื้อนาบุญให้ผลในวันนี้เอง"


พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่าสนทนาอะไรกัน  แล้วตรัสว่า

"ถ้าพราหมณ์สามารถถวายแก่เราในปฐมยาม  เขาจะได้วัตถุอย่างละ ๑๖
ถ้าเขาสามารถถวายแก่เราในมัชฌิมยาม  เขาจะได้วัตถุอย่างละ ๘
แต่เพราะเขาถวายในเวลาจวนใกล้รุ่ง  เขาจึงได้วัตถุอย่างละ ๔
แท้จริงแล้ว  บุคคลเมื่อกระทำกรรมอันงาม  ไม่ควรให้กุศลจิตที่เกิดขึ้นนั้นเสื่อมเสียไป
ควรทำในทันทีนั้นเอง
ด้วยว่ากุศลที่บุคคลทำช้า  เมื่อให้ผล  ย่อมให้ช้าเหมือนกัน
ฉะนั้น  พึงกระทำกรรมงามในทันทีที่เกิดความคิดนั้นเทียว"

จากนั้น  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปอีกว่า

       "บุคคลควรรีบเร่งทำบุญ  ควรห้ามจิตจากบาป
เพราะเมื่อทำบุญช้าไป  ใจจะยินดีในบาป"

ในเวลาจบพระธรรมเทศนานี้  ภิกษุเหล่านั้นก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น
พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่มหาชนผู้มาประชุมกันแล้ว  ดังนี้แล
จูเฬกสาฎกวัตถุ  จบ

ถ้าพราหมณ์ยอมจำนนให้กับเหตุผลของความตระหนี่  ไม่สามารถเอาชนะความตระหนี่ได้

เขาจะละความโลภที่มีอยู่ในใจได้ไหม
เขาจะได้ถวายทานไหม
เขาจะสร้างเหตุปัจจัยให้พ้นจากอบายได้ไหม

เมื่อพราหมณ์เอาชนะความตระหนี่ในใจได้  เขาจึงประกาศอย่างองอาจว่า  "เราชนะแล้ว"

เป็นผู้ที่สามารถเอาชนะความตระหนี่ของตนเองได้แล้ว
เป็นผู้ยินดีที่จะให้ (ถวายด้วยความศรัทธา  ไม่ใช่ถวายเพื่อหวังผลนั่นผลนี่)

ฉะนั้น  ไม่สำคัญว่าเราจะเป็นคนรวยหรือคนจน
ไม่สำคัญว่าเราจะมีของให้ทานได้มากหรือมีของให้ทานได้น้อย
สิ่งของที่จะให้นั้น  ไม่ใช่เรื่องสำคัญ .....
แต่สิ่งสำคัญคือ  เราเอาชนะความตระหนี่ที่มีอยู่ในใจได้หรือไม่
เมื่อใดก็ตามที่เราเอาชนะความตระหนี่ที่มีอยู่ในใจได้
เมื่อนั้น  ความยินดีในการให้ก็จะเกิดขึ้น  ทั้งก่อนให้  ขณะให้  หลังให้
ได้ชื่อว่า  เป็นผู้ที่สร้างองค์ประกอบแห่งทักษิณาฝ่ายทายก (ผู้ให้) ให้บริสุทธิ์แล้ว
ห้วงบุญห้วงกุศลอันนำความสุขมาให้  ก็จะเกิดตามมาเอง .....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ทานสูตร (ว่าด้วยองค์แห่งทักษิณาทาน)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น