การให้อภัยที่ประณีตยิ่งกว่าการให้อภัย


หลายคนอาจจะรู้จักความหมายของคำว่า  "การให้อภัย"  ในแง่ของการยกโทษให้  การไม่ถือโทษ

แต่ยังมีความหมายของ  "การให้อภัย"  ที่ประณีตยิ่งกว่านั้น  ที่เราหลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน

การให้อภัย  ถ้าแปลตรง ๆ มาจากภาษาบาลีว่า  "อภัยทาน"

ลองแยกศัพท์ดู  คำว่า  อภัยทาน  =  อ + ภัย + ทาน
อ  =  ไม่
(เป็นอักษรใช้นําหน้าคําที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต
บอกความปฏิเสธหรือตรงกันข้าม  แปลว่า  ไม่  หรือ  ไม่ใช่)
ภัย  =  สิ่งที่น่ากลัว,  อันตราย
ทาน  =  การให้
อภัยทาน  =  การให้ความไม่มีภัย

ฉะนั้น  การให้อภัยที่แท้จริง  ที่มีความหมายประณีตยิ่งกว่าการยกโทษให้  ก็คือ  "การให้ความไม่มีภัย"

แล้ว  "การให้ความไม่มีภัย"  มันเป็นอย่างไรล่ะ ??
ลองอ่านต่อไปนะครับ
.....



องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงทานอันเลิศ ๕ ประการไว้ (ในอภิสันทสูตร) ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
ทาน ๕ ประการนี้เป็นมหาทาน  ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ  รู้กันมานาน  รู้กันว่าเป็นอริยวงศ์  เป็นของเก่า  ในอดีตไม่ถูกลบล้างแล้ว  ไม่เคยถูกลบล้าง  ในปัจจุบันไม่ถูกลบล้าง  ในอนาคตก็จักไม่ถูกลบล้าง  ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน

ทาน ๕ ประการ  คือ
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ
๕. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท

อริยสาวกผู้ละเว้นขาดเช่นนี้แล้ว  ชื่อว่าให้ความไม่มีภัย  ให้ความไม่มีเวร  ให้ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์ทั้งหลาย  ไม่มีประมาณ

อริยสาวกนั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย  ความไม่มีเวร  ความไม่เบียดเบียน  อันไม่มีประมาณ

นี้เป็นมหาทานที่รู้กันว่าล้ำเลิศ  รู้กันมานาน  รู้กันว่าเป็นอริยวงศ์  เป็นของเก่า  ในอดีตไม่ถูกลบล้างแล้ว  ไม่เคยถูกลบล้าง  ในปัจจุบันไม่ถูกลบล้าง  ในอนาคตก็จักไม่ถูกลบล้าง  ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน

นี้เป็นห้วงบุญกุศลที่นำสุขมาให้  เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี  มีสุขเป็นผล  ให้เกิดในสวรรค์  เป็นไปเพื่อเกื้อกูล  เพื่อสุขที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ"
.....


พระพุทธเจ้าตรัสถึงการละเว้นขาดจากการเบียดเบียนผู้อื่น  ตั้งมั่นอยู่ในศีลทั้ง ๕ ข้อ  ว่า  "เป็นการให้ความไม่มีภัยแก่สัตว์ทั้งหลาย"
การตั้งมั่นอยู่ในศีลทั้ง ๕ ข้อนี้  จึงจัดเป็นอภัยทานในพระพุทธศาสนานี้

ไม่จำเป็นว่าต้องรอให้มีใครทำผิดกับเราก่อน  แล้วเราจึงให้อภัย
แต่เราสามารถให้อภัย (โดยนัยของการให้ความไม่มีภัย) ได้ตลอดเวลา

และเนื่องจากการให้อภัยที่ประณีตยิ่งกว่าการให้อภัยในที่นี้
โดยนัยก็คือการตั้งมั่นในศีล
ฉะนั้น  อภัยทาน (ศีล) จึงเป็นมหาทาน
มีอานิสงส์มากกว่าการให้ทานทั่วไปด้วยประการฉะนี้

ขอแถมท้ายอีกนิด
คำว่า  "เขตอภัยทาน"  ที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นเขตห้ามจับปลา  ห้ามฆ่าสัตว์
ความหมายนี้จึงยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดทีเดียว

เขตอภัยทาน  ควรจะเป็นเขตที่ให้ความปลอดภัยแก่คนและสัตว์ทั้งหลาย
ด้วยการไม่ละเมิดศีลทั้ง ๕ ข้อ
ละเว้นขาดจากการฆ่าหรือทำร้ายสัตว์ในเขตอภัยทาน
ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ในเขตอภัยทาน
ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามในเขตอภัยทาน
ละเว้นขาดจากการพูดเท็จหลอกลวงในเขตอภัยทาน
ละเว้นขาดจากการเสพของมึนเมาในเขตอภัยทาน

จะดีแค่ไหน  ถ้าเราสามารถขยายพื้นที่เขตอภัยทานให้ครอบคลุมให้กว้างไกลมากกว่าแค่ในวัด  แล้วสังคมจะเป็นสุขด้วยอภัยทานนี้เอง
.....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น