มีตนเป็นใหญ่หรือมีธรรมเป็นใหญ่


มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับแมวศักดิ์สิทธิ์  ที่ผมอ่านเจอจากบล็อกของคุณ Anontawong's Musings  เรื่องมีอยู่ว่า
ย้อนกลับไปราว ๑๐๐ ปีเศษ  ณ วัดแห่งหนึ่ง
ขณะที่พระในวัดกำลังสวดมนต์ทำวัตรเย็น  ปรากฏว่ามีแมววัดตัวหนึ่งเข้าไปเดินป้วนเปี้ยนรบกวนการสวดมนต์และการนั่งสมาธิของพระในวัด  เป็นอย่างนี้อยู่หลายวัน
ต่อมา  เจ้าอาวาสจึงให้ลูกศิษย์นำแมวตัวนั้นไปผูกไว้กับเสาตรงระเบียงทุกครั้งก่อนที่จะทำวัตรเย็น
หลายปีผ่านไป  เมื่อเจ้าอาวาสมรณภาพ  แมวตัวนั้นก็ยังถูกผูกไว้ที่เสาต้นเดิมทุกครั้งที่มีการทำวัตรเย็น
๑๐ ปีผ่านไป  แมวตัวนั้นก็ได้ตายลง  ลูกศิษย์ในวัดจึงหาแมวตัวอื่นมาผูกไว้ที่เสาต้นนั้น
๑๐๐ ปีผ่านไป  วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดที่มีชื่อเสียงเรื่อง "แมวประจำพิธี"  ที่จะถูกผูกไว้ที่เสาในโบสถ์ทุกครั้งที่ทำวัตรเย็น
ชาวบ้านจากทั่วทุกสารทิศต่างแห่แหนมากราบไหว้และขอพรจากแมวตัวนี้  โดยบอกต่อ ๆ กันว่าจะได้รับโชคลาภและสิริมงคลกลับบ้านไปทุกคน
(ขอบคุณข้อมูลจาก Anontawong's Musings)
.....

เรื่องที่ ๒  ยกมาจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา
เรื่องมหาโมรชาดก
เป็นเรื่องของนกยูงตัวหนึ่ง  เป็นนกยูงทอง  อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง
ครั้งนั้น  พระมเหสีของพระราชาในเมืองหนึ่ง  มีพระสุบินว่าได้พบนกยูงทองตัวหนึ่ง
ครั้นตื่นบรรทมขึ้นมาก็อยากพบนกยูงทองตัวนั้น  จึงออกอุบายกราบทูลพระราชาว่าตนเองตั้งครรภ์  ปรารถนาที่จะได้พบนกยูงทอง  ถ้าไม่ได้พบก็ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้
พระราชารับสั่งในนายพรานทั้งหมดในแว่นแคว้นไปจับนกยูงทองมาให้ได้  แต่ก็ไม่มีใครสามารถจับนกยูงทองตัวนั้นได้
เวลาผ่านไป  พระมเหสีเมื่อไม่ได้ตามปรารถนา  ก็ตรอมพระทัย  สิ้นพระชนม์ไป
พระราชาทรงกริ้วนกยูงทองว่าเป็นต้นเหตุทำให้พระมเหสีต้องสิ้นพระชนม์  จึงทรงให้ราชบุรุษจารึกลงในแผ่นทองว่า
"ในป่าแห่งโน้น  มีนกยูงทองอาศัยอยู่  ผู้ที่ได้กินเนื้อของนกยูงทองนั้นจะไม่แก่ไม่ตาย"
แล้วบรรจุหนังสือนั้นไว้ในหีบ  แล้วสวรรคต
พระราชาองค์ต่อมา  เมื่อทอดพระเนตรเห็นแผ่นจารึกนั้น  ก็ทรงปรารถนาว่า  "เราจะไม่แก่ไม่ตาย"  จึงทรงส่งนายพรานออกไปดักจับนกยูงทองตัวนั้น  แต่ก็ไม่สามารถจับได้  จนสิ้นรัชกาลของพระองค์
พระราชาองค์ต่อมาก็ทรงประพฤติเช่นเดียวกันอีก
เหตุการณ์เป็นไปเช่นนี้อยู่หลายรัชกาล  เพราะหวังว่าจะได้ไม่แก่ไม่ตาย
.....



องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสอุปมาถึงเรื่องทำนองนี้ (ในจังกีสูตร) ว่า
"อุปมาเหมือนคนตาบอดเข้าแถวเกาะหลังกัน
คนอยู่หัวแถว  คนอยู่กลางแถว  และคนอยู่ปลายแถว  ต่างก็มองไม่เห็นกัน"

คนหัวแถวบอกว่ากราบไหว้ขอพรจากแมวแล้วจะได้โชคลาภ  ทั้งที่แมวเหล่านั้นก็เป็นแมวธรรมดาที่ถูกจับผูกไว้  ช่วยตัวเองไม่ให้ถูกผูกยังไม่ได้เลย  แล้วจะไปให้โชคลาภใครได้
แต่คนกลางแถว  คนปลายแถว  ก็เชื่อ

คนหัวแถวบอกว่าได้กินเนื้อนกยูงทองแล้วจะไม่แก่ไม่ตาย  ทั้งที่รู้ว่ามันไม่จริง
แต่คนกลางแถว  คนปลายแถว  ก็เชื่อ
.....

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปถึงธรรม ๕ ประการที่ให้ผล ๒ อย่างอีกว่า
"ภิกษุทั้งหลาย  ธรรม ๕ ประการนี้  คือ
๑. ความเชื่อ
๒. ความชอบใจ
๓. การฟังตามกันมา
๔. ความตรึกตามอาการ
๕. ความเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้

ธรรม ๕ ประการนี้  มีผล ๒ อย่างในปัจจุบัน  คือ

สิ่งที่เชื่อกันด้วยดี  สิ่งที่ชอบใจ  สิ่งที่ฟังตามกันมาอย่างดี  สิ่งที่ตรึกไว้อย่างดี  สิ่งที่พินิจไว้อย่างดี
แต่สิ่งนั้นกลับเป็นของว่างเปล่า  เป็นเท็จไป  ก็มี

สิ่งที่ไม่เชื่อกันด้วยดี  สิ่งที่ไม่ชอบใจ  สิ่งที่ไม่ฟังตามกันมาอย่างดี  สิ่งที่ไม่ได้ตรึกไว้อย่างดี  สิ่งที่ไม่ได้พินิจไว้อย่างดี
แต่สิ่งนั้นกลับเป็นจริงแท้  ไม่เป็นอื่น  ก็มี"
.....

สิ่งที่เราคิดว่าจริง  คิดว่าใช่  อาจจะไม่จริง  อาจจะไม่ใช่ก็ได้
สิ่งที่เราคิดว่าไม่จริง  คิดว่าไม่ใช่  อาจจะจริง  อาจจะใช่ก็ได้

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  เพราะเรายึดความคิดของเราเป็นหลัก
เราไม่ได้มีความจริงตามพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นหลัก

ถ้าเราได้ศึกษา  ทำความเข้าใจ  และเห็นจริง  ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว  เรื่องราวทั้ง ๒ เหตุการณ์ข้างต้นก็จะไม่เกิดขึ้น

ถ้าเรารู้ว่าโชคลาภหรือความเป็นสิริมงคล  เกิดจากการทำกรรมดี  ละเว้นกรรมชั่ว
ถ้าเห็นจริงอย่างนี้  การไปกราบไหว้ขอพรจากแมว (หรือสิ่งอื่นที่คิดว่าจะประทานพรให้เราได้)  ก็จะไม่เกิดขึ้น

ถ้าเรารู้ว่าธรรมดาของทุกชีวิตที่เกิดมาล้วนต้องตาย
แม้นกยูงทองเองก็ไม่ได้เป็นอมตะ  สักวันหนึ่งก็ต้องตาย
การกินสิ่งที่ไม่ได้เป็นอมตะ  แต่คิดว่าจะทำให้เป็นอมตะ  มันเป็นไปไม่ได้
ถ้าเห็นจริงอย่างนี้  การดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่จะทำให้ไม่แก่ไม่ตาย  ก็จะไม่เกิดขึ้น

ฉะนั้น  การศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
เราควรศึกษา  ทำความเข้าใจ  จนเห็นจริง  ตามพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อใด  ที่เรารู้ว่าสิ่งใดใช่  สิ่งใดไม่ใช่  ตามความเป็นจริง
เมื่อนั้น  เราก็จะได้ดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกที่ควร
เราจะได้ไม่ต้องงมงายไปกราบไหว้สิ่งต่าง ๆ
เราจะได้ไม่ต้องก่ออกุศลกรรม (มีจิตคิดจะฆ่า) เหมือนพระราชาเหล่านั้น
.....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น