ควรทำอย่างไร เมื่อเจอพระไม่ดี


ในสังคมมนุษย์  ย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดีอยู่ในทุกแวดวง
ไม่ว่าแวดวงนักการเมือง  นักธุรกิจ  ศิลปินดารา  นักกีฬา  ฯลฯ
หรือแม้กระทั่งแวดวงพระภิกษุ
ก็มีทั้งพระที่ปฎิบัติดีปฏิบัติชอบ
และพระที่ประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมกับเพศนักบวช

ถ้าวันหนึ่ง  มีพระที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมรูปหนึ่ง
มาบิณฑบาตอยู่ละแวกบ้านของเรา
เราควรใส่บาตรพระรูปนี้ไหม
เราควรกราบไหว้พระรูปนี้ไหม
หรือเราควรทำอย่างไร ?
.....

ในสมัยพุทธกาล
เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กรุงโกสัมพี
ในครั้งนั้น  มีภิกษุแตกแยกเป็น ๒ กลุ่ม  ก่อเหตุทะเลาะวิวาทในหมู่ภิกษุด้วยกัน
แม้พระพุทธเจ้าจะทรงห้ามถึง ๓ ครั้ง
แต่ภิกษุเหล่านั้นก็ยังไม่เลิกรา
พระองค์จึงเสด็จจาริกไปกรุงสาวัตถี  ไม่ทรงอยู่ร่วมด้วยกับภิกษุเหล่านั้น

ต่อมา  ภิกษุเหล่านั้นได้พากันเดินทางไปกรุงสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

คนทั้งหลายที่อยู่ในกรุงสาวัตถี
เมื่อทราบข่าวว่าภิกษุจากกรุงโกสัมพีที่ก่อการทะเลาะวิวาทกัน
กำลังเดินทางมาเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
จึงคิดกันว่าควรจะทำอย่างไรกับภิกษุเหล่านั้น
.....

ถ้าเราเป็นชาวบ้านอยู่ที่นั่นด้วย
เรารู้ว่า  "ภิกษุเหล่านั้นประพฤติไม่เหมาะสม
ไม่มีความยำเกรงในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แม้ถูกห้ามแล้วถึง ๓ ครั้ง  ก็ยังไม่เลิกทะเลาะกัน"
เราจะอยากต้อนรับภิกษุเหล่านั้นไหม
.....


(ขอบคุณภาพจาก  klonthaiclub.com)

ในครั้งนั้น  พระเถระ  พระเถรี (ภิกษุณี)  และอุบาสกอุบาสิกา  ที่อยู่ในกรุงสาวัตถี
ต่างเข้าไปกราบทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
"พวกภิกษุชาวกรุงโกสัมพี  ผู้ก่อการทะเลาะวิวาทกัน  กำลังเดินทางมา
ข้าพระองค์ควรจะปฏิบัติต่อภิกษุเหล่านั้นอย่างไร"

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระเถระทั้งหลายว่า
"เธอจงวางตนอยู่อย่างชอบธรรมเถิด"

แล้วตรัสกับพระเถรีทั้งหลายว่า
"เธอจงฟังธรรมในภิกษุทั้ง ๒ ฝ่าย
ครั้นฟังแล้ว  จงพอใจความเห็นของฝ่ายธรรมวาที
อนึ่ง  วัตรที่ภิกษุณีสงฆ์พึงหวังจากภิกษุสงฆ์
ก็พึงหวังจากภิกษุฝ่ายธรรมวาทีเท่านั้น"

แล้วตรัสกับอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายว่า
"เธอจงถวายทานในภิกษุทั้ง ๒ ฝ่าย
ครั้นถวายแล้ว  จงฟังธรรมในภิกษุทั้ง ๒ ฝ่าย
ครั้นฟังแล้ว  จงพอใจความเห็นของฝ่ายธรรมวาทีเท่านั้น"
.....


ภิกษุที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมกับเพศนักบวช
ก่อความทะเลาะวิวาทในหมู่สงฆ์
ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา
มันง่ายมากที่เราจะไม่พอใจหรือรังเกียจผู้ที่มีความประพฤติเช่นนี้

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนอย่างไร

แม้ภิกษุเหล่านั้นจะประพฤติไม่เหมาะสม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงให้ภิกษุณี (ในสมัยนั้น) ฟังคำสอนจากภิกษุเหล่านั้นได้
และเมื่อฟังแล้ว  ก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณาว่าสิ่งที่ฟังมานั้นเป็นธรรมหรือไม่ใช่ธรรม
ถ้าสิ่งนั้นเป็นธรรม  ก็จะได้นำมาปฏิบัติ
แต่ถ้าไม่ใช่ธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า  ก็จะได้ละทิ้งเสีย
(รู้ว่าไม่ใช่ธรรม  ก็แค่ให้ละทิ้ง  ไม่ได้ให้ไปโกรธเกลียดผู้นั้น)

สำหรับฆราวาส  ผู้ต้องการบุญ  ก็จงทำบุญ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ถวายทานกับภิกษุเหล่านั้นได้ตามปกติ
(เพราะการให้ทาน  แม้จะให้กับสัตว์ดิรัจฉาน  ก็ยังเป็นบุญ
ไม่ต้องพูดถึงเมื่อให้ทานกับคนเลย)

และถ้าภิกษุเหล่านั้นจะกล่าวสอน  ก็รับฟังได้
แล้วใช้ปัญญาพิจารณาว่าคำสอนนั้นเป็นธรรมหรือไม่ใช่ธรรม
(ถ้าไม่ใช่ธรรม  ก็วางเฉย  ไม่ยินดี  ไม่คัดค้าน  แล้วละคำสอนนั้นทิ้งไป)

ฉะนั้น  เรามีหน้าที่ทำความดีของเราต่อไป
ส่วนใครจะทำไม่ดีอย่างไร  ก็เป็นเรื่องของเขา
พระพุทธศาสนาสอนให้เราแก้ไขตัวเอง
ไม่ได้ให้เราวิ่งไปแก้ไขคนอื่น

รู้ว่าใครทำดี  ทำถูก  เราก็โมทนา
รู้ว่าใครทำผิด  ทำไม่สมควร  เราก็ต้องวางอุเบกขาให้ได้
ถึงจะเป็นพระ  แต่ถ้าประพฤติไม่ดี  ไม่เหมาะสมกับความเป็นพระ
เขาก็ต้องได้รับผลของกรรมด้วยตัวเขาเอง
อย่าให้ความไม่ดีของเขา  มาทำให้ใจเราเศร้าหมอง
อย่าให้ความไม่ดีของเขา  มาหยุดการทำความดีของเรา
.....


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. อัฏฐารสวัตถุกถา (ว่าด้วยเรื่องที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ๑๘ ประการ)



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น