ไม่ยินดี ไม่คัดค้าน แต่บอกความจริง


ชั่งใจอยู่นาน  ว่าจะเขียนเรื่องนี้ดีหรือไม่
เพราะอาจจะกระทบกับหลาย ๆ คน
แต่เมื่อพิจารณาแล้ว  เพื่อประโยชน์เกื้อกูลอนุเคราะห์  มิได้มีเจตนาเพ่งโทษหรือมุ่งร้ายแก่ใคร ๆ ทั้งสิ้น  จึงตัดสินใจเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา
.....

ถ้าเราย้อนนึกไปถึงกระแสความเชื่อของคนไทยที่ผ่านมาในอดีต
ไม่ว่าจะเป็นกระแสจตุคามรามเทพ  หินสีนำโชค  ตุ๊กตาลูกเทพ  พระพิฆเนศ  พระราหู  พญานาค  และอื่น ๆ อีกมาก
เราจะพบว่าพื้นฐานของความเชื่อเหล่านั้น  เกิดมาจากความปรารถนาความสุขความเจริญในชีวิต
คือเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจะนำมาซึ่งความร่ำรวย  สุขภาพแข็งแรง  หายเจ็บหายป่วย  เป็นที่รักใคร่ของคนอื่น  ฯลฯ  ได้

แม้ว่ากระแสความเชื่อเหล่านั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

แต่ความปรารถนาความสุขความเจริญในชีวิตยังคงมีอยู่
ดังนั้น  ก็จะมีกระแสความเชื่อใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาอีกอยู่เรื่อย ๆ

ในยุคที่สังคมออนไลน์กำลังระบาดอยู่นี้  ก็มีกระแสความเชื่อที่ส่งแชร์กันมาก  เช่น  ส่งภาพบางภาพไปให้เพื่อน  แล้วมีข้อความกำกับว่า
"ขึ้นหน้าเฟสใคร  ขอให้ถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง
ยิ่งแชร์  ยิ่งร่ำรวยตลอดไป"

"ขอให้ทุกท่านที่เห็นโพสต์นี้  แล้วกดไลค์  กดแชร์
ขอให้ร่ำรวยเงินทอง  มีโชคมีลาภเข้ามาไม่ขาดสาย"

"แก้ว  แหวน  เงิน  ทอง  มั่น  คง  (เป็นภาพหลวงปู่หลวงตาในอดีต)
ขอให้ลูกหลานร่ำรวย  มีกินมีใช้ไม่ขาดมือ
กดแชร์  พิมพ์สาธุ  ไม่อดไม่จน"
ฯลฯ

ซึ่งสิ่งเหล่านี้  ก็จะมีทั้งคนที่เชื่อ  และคนที่ไม่เชื่อ
แต่ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะโต้เถียงกันเพื่อเอาชนะอีกฝ่าย

แม้ในสมัยพุทธกาล  ก็มีเหตุการณ์เชนนี้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงโต้แย้งกับลัทธิอื่น  ทรงบอกความจริงตามความเป็นจริงเท่านั้น


(ขอบคุณภาพจาก  sookjai.com  วัดพระบาทน้ำพุ)

ในจุนทสูตร  มีพราหมณ์กลุ่มหนึ่งกล่าวสอนชาวบ้านให้เป็นผู้มีความสะอาดบริสุทธิ์  ด้วยข้อปฏิบัติดังนี้
"ให้ลุกจากที่นอนแต่เช้า  แล้วจับต้องแผ่นดิน
ถ้าไม่จับต้องแผ่นดิน  ให้จับต้องขี้วัวสด
ถ้าไม่จับต้องขี้วัวสด  ให้จับต้องหญ้าเขียวสด
ถ้าไม่จับต้องหญ้าเขียวสด  ให้บำเรอไฟ
ถ้าไม่บำเรอไฟ  ให้ประคองอัญชลีนอบน้อมดวงอาทิตย์
ถ้าไม่นอบน้อมดวงอาทิตย์  ให้ลงน้ำวันละ ๓ ครั้ง"

ชาวบ้านที่เชื่อและศรัทธาก็มีอยู่มาก
ซึ่งถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์สมัยนั้น  เราจะเชื่อหรือไม่
ถ้าเราไม่เชื่อ  แต่คนที่เชื่อมีอยู่  เราจะทำอย่างไร
โต้แย้งเพื่อเอาชนะ  หรือวางเฉย  หรือบอกความจริงเพื่อเกื้อกูลตามโอกาส
.....

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงโต้แย้งกับพราหมณ์หรือชาวบ้านเหล่านั้น
แต่พระองค์ทรงแสดงความจริงตามความเป็นจริงให้ฟังว่า
"ข้อปฏิบัติเพื่อความสะอาดของพราหมณ์เป็นอย่างนั้น
แต่ข้อปฏิบัติเพื่อความสะอาดในพระธรรมวินัยนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง"

ซึ่งเมื่อชาวบ้านคนนั้นทูลถามว่าเป็นอย่างไร
พระองค์จึงตรัสเรื่องความไม่สะอาดก่อนว่า
"ความไม่สะอาดในพระธรรมวินัยนี้  คือการกระทำอกุศลกรรมทางกาย  วาจา  ใจ
ถ้าบุคคลประกอบอกุศลกรรมเหล่านี้แล้ว  เมื่อลุกจากที่นอนแต่เช้า
แม้จะจับต้องแผ่นดินหรือไม่ก็ตาม  ก็ไม่ใช่ผู้สะอาด
แม้จะจับต้องโคมัยสดหรือไม่ก็ตาม  ก็ไม่ใช่ผู้สะอาด
แม้จะจับต้องหญ้าเขียวสดหรือไม่ก็ตาม  ก็ไม่ใช่ผู้สะอาด
แม้จะบำเรอไฟหรือไม่ก็ตาม  ก็ไม่ใช่ผู้สะอาด
แม้จะนอบน้อมดวงอาทิตย์หรือไม่ก็ตาม  ก็ไม่ใช่ผู้สะอาด
แม้จะลงน้ำวันละ ๓ ครั้งหรือไม่ก็ตาม  ก็ไม่ใช่ผู้สะอาด"

จากนั้น  พระองค์จึงตรัสเรื่องความสะอาดว่า
"ความสะอาดในพระธรรมวินัยนี้  คือการกระทำกุศลกรรมทางกาย  วาจา  ใจ
ถ้าบุคคลประกอบกุศลกรรมเหล่านี้แล้ว  เมื่อลุกจากที่นอนแต่เช้า
แม้จะจับต้องแผ่นดินหรือไม่ก็ตาม  ก็เป็นผู้สะอาด
แม้จะจับต้องโคมัยสดหรือไม่ก็ตาม  ก็เป็นผู้สะอาด
แม้จะจับต้องหญ้าเขียวสดหรือไม่ก็ตาม  ก็เป็นผู้สะอาด
แม้จะบำเรอไฟหรือไม่ก็ตาม  ก็เป็นผู้สะอาด
แม้จะนอบน้อมดวงอาทิตย์หรือไม่ก็ตาม  ก็เป็นผู้สะอาด
แม้จะลงน้ำวันละ ๓ ครั้งหรือไม่ก็ตาม  ก็เป็นผู้สะอาด"
.....

พระองค์ไม่ทรงยกย่องธรรมของตนเอง  และไม่ทรงรุกรานธรรมของผู้อื่น
แต่ทรงแสดงธรรมตามเหตุผล  ตรัสแต่เนื้อความเท่านั้น
ส่วนผู้ฟังจะเข้าใจและเชื่อหรือไม่  ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องไปคาดคั้น

เหมือนที่พระองค์ได้ตรัสกับปริพาชกคนหนึ่ง (ในอุทุมพริกสูตร) ว่า
"เพราะปรารถนาจะให้ท่านเป็นสาวก  เราจึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่
ปรารถนาจะให้ท่านเคลื่อนจากคำสอน  จึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่
ปรารถนาจะให้ท่านเคลื่อนจากอาชีพ  จึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่
ปรารถนาจะให้ท่านดำรงอยู่ในอกุศลธรรม  จึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่
ปรารถนาจะให้ท่านห่างจากกุศลธรรม  จึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่
เราแสดงธรรมเพื่อให้ละอกุศลธรรมที่ยังละไม่ได้  ที่เศร้าหมอง  ที่สร้างภพใหม่  ที่มีความกระวนกระวาย  ที่มีทุกข์เป็นผล  ที่เป็นปัจจัยแห่งความเกิด  ความแก่  และความตายต่อ ๆ ไป"
.....

ฉะนั้น  เมื่อเราพบผู้ที่มีความเชื่อในเรื่องต่าง ๆ
สิ่งที่เราทำได้  คือทำตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่ใช่โต้เถียงเพื่อเอาชนะ
แต่บอกความจริงตามความเป็นจริงเมื่อมีโอกาสเอื้ออำนวย
ด้วยเจตนาหวังเกื้อกูลอนุเคราะห์

"ถ้าบุคคลประกอบอกุศลกรรมแล้ว
แม้จะบูชาจตุคามรามเทพ  หินนำโชค  ตุ๊กตาลูกเทพ  พระพิฆเนศ  พระราหุู  พญานาค  หรืออื่น ๆ  หรือไม่ก็ตาม
จะพิมพ์สาธุ  กดไลค์  กดแชร์  หรือไม่ก็ตาม
ก็ไม่ประสบความสุขความเจริญในชีวิต

แต่ถ้าบุคคลประกอบกุศลกรรมแล้ว
เขาจะบูชาจตุคามรามเทพ  หินนำโชค  ตุ๊กตาลูกเทพ  พระพิฆเนศ  พระราหู  พญานาค  หรืออื่น ๆ  หรือไม่ก็ตาม
จะพิมพ์สาธุ  กดไลค์  กดแชร์  หรือไม่ก็ตาม
ก็ย่อมประสบความสุขความเจริญในชีวิต"

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. จุนทสูตร (ว่าด้วยนายจุนทกัมมารบุตร)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น