๕ สิ่งที่ไม่มีใครขอได้


โดยปกติ  น้ำจะไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ
แต่เราก็สามารถสร้างปั๊มส่งน้ำให้ไหลจากที่ต่ำไปที่สูงได้
โดยปกติ  เราไม่สามารถบินได้เหมือนนก
แต่เราก็สามารถสร้างเครื่องบินให้เราอยู่บนฟ้าได้
โดยปกติ  เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์
แต่เราก็สามารถสร้างยานอวกาศออกไปสำรวจดาวดวงอื่น ๆ ได้
ฯลฯ
ด้วยเทคโนโลยีสมัยนี้  เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ที่เราไม่เคยทำได้อดีตให้เป็นไปได้  จนเราคิดว่าเราสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ตามที่เราปรารถนา
.....

อย่างไรก็ตาม  ก็ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่สามารถควบคุมได้  ไม่ว่าจะเวลาไหน  ไม่ว่าในอดีต  ปัจจุบัน  หรือแม้ในอนาคตก็ตาม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ (ในฐานสูตร) ว่า
"ฐานะ ๕ ประการ  ที่ไม่มีใครพึงได้  คือ
๑. ขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของเรา  อย่าแก่
๒. ขอสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาของเรา  อย่าเจ็บไข้
๓. ขอสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาของเรา  อย่าตาย
๔. ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดาของเรา  อย่าสิ้นไป
๕. ขอสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดาของเรา  อย่าฉิบหาย"

ไม่ว่าเราจะพยายามด้วยวิธีใด ๆ  ด้วยเทคโนโลยีใด ๆ  ด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ  ด้วยเทพเจ้าใด ๆ  ด้วยเวทมนต์ใด ๆ  ฯลฯ
เพื่อขอให้สิ่งที่มีความแก่  ความเจ็บไข้  ความตาย  ความสิ้นไป  ความฉิบหายของเรา  จงอย่าแก่  อย่าเจ็บไข้  อย่าตาย  อย่าสิ้นไป  อย่าฉิบหาย  ย่อมเป็นไปไม่ได้

ในวันที่เราประสบกับเหตุการณ์เหล่านี้
พ่อแม่ล้มป่วยเป็นโรคเรื้อรัง
ลูกหลานไม่สบายเป็นโรคร้ายแรง
คนที่เรารักไปมีคนรักใหม่
คนที่เรารักตายจากไป
ทรัพย์สินมีค่าวอดวายฉิบหาย
ฯลฯ
ถ้าเราไม่ได้พิจารณาเนือง ๆ ในฐานะเหล่านี้
เราก็คงจะเศร้าโศก  พิไรรำพัน  ตีอกชกหัว  ร้องไห้คร่ำครวญ  บ่นพร่ำเพ้อ
ไม่อยากกินข้าว  ไม่ดูแลร่างกาย  ไม่อยากทำงาน
เมื่อเป็นเช่นนี้  เพื่อน ๆ ก็จะพลอยเป็นทุกข์เสียใจไปด้วย
แต่คนที่ไม่หวังดีกับเราก็จะดีใจที่เห็นเราเป็นทุกข์

แม้ในสมัยพุทธกาล  มีพระราชา ๒ พระองค์ที่สูญเสียมเหสีผู้เป็นที่รัก
พระราชาองค์แรกเมื่อทรงทราบข่าว  ก็ทรงเป็นทุกข์  เสียพระทัย  ประทับนั่งพระศอตก  ก้มพระพักตร์  ทรงอึ้งอยู่  (ในโกสลสูตร)
พระราชาอีกองค์หนึ่งก็ไม่สรงสนาน  ไม่แต่งพระองค์  ไม่เสวยพระกระยาหาร  ไม่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ  ทรงซบอยู่ที่พระศพของพระมเหสีตลอดคืนตลอดวัน  (ในนารทสูตร)

ลองคิดดูว่า  ถ้าเราตกอยู่ในสภาพเช่นนี้  คนที่รักเรา  เป็นห่วงเรา  เขาจะรู้สึกอย่างไร
หรือถ้าคนที่เรารักตกอยู่ในสภาพเช่นนี้  เราจะรู้สึกอย่างไร


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)

ผู้ที่พิจารณาอยู่เสมอ ๆ ว่า
"ไม่ใช่สิ่งที่มีความแก่  ความเจ็บไข้  ความตาย  ความสิ้นไป  ความฉิบหาย  ของเราเท่านั้น  ที่จะต้องแก่  ต้องเจ็บไข้  ต้องตาย  ต้องสิ้นไป  ต้องฉิบหาย
แท้จริงแล้ว  สิ่งที่มีความแก่  ความเจ็บไข้  ความตาย  ความสิ้นไป  ความฉิบหาย  ของสัตว์อื่น  ก็ต้องแก่  ต้องเจ็บไข้  ต้องตาย  ต้องสิ้นไป  ต้องฉิบหาย  ด้วยกันทั้งสิ้น
.....
เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว  ถ้าเราจะมัวเศร้าโศกเสียใจ  คร่ำครวญอยู่
อาหารก็ไม่ยอมรับประทาน  กายก็จะเศร้าหมอง  การงานก็จะหยุดชะงัก
พวกศัตรูก็จะดีใจ  พวกมิตรก็จะเสียใจ"

เมื่อพิจารณาได้ดังนี้แล้ว  ก็จะไม่เศร้าโศกเสียใจ
เพราะความเศร้าโศกเสียใจ  ไม่ได้ช่วยให้สิ่งเหล่านั้นไม่เกิดขึ้น
ไม่มีประโยชน์อะไรจากความเสียใจนั้น

สมดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า
       "ประโยชน์แม้เล็กน้อยในโลกนี้
ใคร ๆ ย่อมไม่ได้ด้วยความเศร้าโศก
ย่อมไม่ได้ด้วยความคร่ำครวญ
พวกศัตรูทราบว่าเขาเศร้าโศกเป็นทุกข์  ย่อมดีใจ
...
       แต่ในกาลใด  บัณฑิตฉลาดในการพิจารณาเหตุผล
ไม่หวั่นไหวในอันตราย (ในสิ่งที่เกิดขึ้น) ทั้งหลาย
ในกาลนั้น  พวกศัตรูเห็นหน้าซึ่งไม่ผิดปกติของบัณฑิตนั้น
ผู้ยังยิ้มแย้มตามเคย  ย่อมเป็นทุกข์
...
       บุคคลหากพึงได้ตามต้องการในที่ใด ๆ ด้วยวิธีใด ๆ
คือด้วยการสรรเสริญ  ด้วยการร่ายมนตร์
ด้วยการกล่าวคำสุภาษิต  ด้วยการให้
หรือด้วยการอ้างประเพณี
ก็พึงบากบั่นในที่นั้น ๆ ด้วยวิธีนั้น ๆ
...
       หากทราบว่าความต้องการนี้เราหรือคนอื่นไม่พึงได้
ก็ไม่ควรเศร้าโศก
ควรพิจารณายอมรับว่าเป็นธรรมดาของสิ่งเหล่านั้นในโลก
บัดนี้  เราจะทำอะไรได้"

ความเศร้าโศกเสียใจไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย
ถ้าการร้องไห้คร่ำครวญจะเป็นประโยชน์ให้สิ่งเหล่านั้นไม่เกิดขึ้น  ท่านผู้รู้ทั้งหลายก็คงจะสรรเสริญการร้องไห้คร่ำครวญ
แต่เพราะการขอให้สิ่งเหล่านั้นอย่าเกิด  มันเป็นไปไม่ได้
เพราะนี่คือธรรมดาของโลก  เราไม่สามารถห้ามอะไรได้
แล้วเราจะเศร้าโศกเสียใจเพื่อประโยชน์อะไร

ฉะนั้น  ไม่ว่าความแก่  ความเจ็บไข้  ความตาย  ความสิ้นไป  ความฉิบหาย  จะเกิดขึ้นกับเรา  หรือกับคนที่เรารัก
เราก็ไม่ควรจมอยู่ในทุกข์
และคนอื่น ๆ ที่รักเราก็จะได้ไม่เป็นทุกข์ไปกับเราด้วย

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง

๑. ฐานสูตร (ว่าด้วยฐานะที่ใคร ๆ ไม่พึงได้)
๒. โกสลสูตร (ว่าด้วยพระเจ้าปเสนทิโกศล)
๓. นารทสูตร (ว่าด้วยพระนารทะ)



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น