ความเข้าใจเรื่องธรรมทาน


จากพุทธภาษิตที่ว่า

"การให้ธรรมเป็นทาน  ชนะการให้ทั้งปวง"
เมื่อหลายคนได้รู้อย่างนี้  ก็อยากให้ธรรมเป็นทานบ้าง
เพราะเป็นการให้ที่ดีที่สุดยิ่งกว่าการให้ทานอย่างอื่น

และเมื่อมีผู้อื่นบอกต่อ ๆ กันมาว่า

อานิสงส์ของธรรมทานมีตั้งหลายอย่าง
เช่น
- กรรมเวรจากอดีตชาติจะได้ลบล้างให้สิ้น
- หนี้เวรจะได้คลี่คลาย  พ้นภัยจากทะเลทุกข์

- ความเป็นสิริมงคลจะมาสู่ทุกบ้านเรือน
- บุตรหลานที่พาลเกเรจะกลับตัวเป็นคนดี
- วงศ์สกุลจะมีผู้สืบทอดและเจริญรุ่งเรืองทุก ๆ ชั่วอายุ
- คิดจะทำการอันใดจะมีคนให้ความช่วยเหลือ
- ขจัดเคราะห์ภัย  ภัยใหญ่จะกลายเป็นภัยเล็ก
- คนป่วยเรื้อรังจะหายจากโรคภัย
- วิญญาณทุกข์ของบรรพชนจะพ้นจากทุกข์ทรมานไปสู่สุคติ
- เป็นบารมีคุ้มครองลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข

- สามีภรรยาที่แตกแยกจะคืนดีต่อกัน
- วิญญาณของเด็กที่แท้งในท้องจะได้ไปเกิดใหม่
- บุตรจะเฉลียวฉลาดและเจริญรุ่งเรือง
- พ่อแม่จะมีอายุยืน
- บังเกิดบุญวาสนาและให้มีอายุยืนยาว
- ได้เสริมสร้างและเจริญเมตตาธรรม
- คิดหาวิธีที่จะทำให้ตนและผู้อื่นพ้นทุกข์ได้
- ไม่เกิดในอบายภูมิ (นรก  เปรต  อสุรกาย  เดรัจฉาน)
ฯลฯ
(รวบรวมจากเว็บไซต์และหนังสือธรรมะแจกฟรีหลายแห่ง)

เมื่อเห็นอานิสงส์ (ที่เขาบอกต่อ ๆ กันมา) มากมายอย่างนี้

เหมือนจะยืนยันว่าธรรมทานชนะการให้ทั้งปวงแน่ ๆ
ก็จะยิ่งเพิ่มความอยากที่จะให้ธรรมเป็นทานกับเขาบ้าง
.....

แต่อานิสงส์ที่บอกต่อกันมานั้น  อ้างอิงมาจากไหน
และแตกต่างจากอานิสงส์ในการให้ทานชนิดอื่นอย่างไร
เพราะดูโดยรวมแล้ว  อานิสงส์ที่กล่าวอ้างมานั้น

บางอย่างก็เหมือนกับอานิสงส์ของการไถ่ชีวิตสัตว์
(ที่อ้างว่าทำให้อายุยืน)
บางอย่างก็เหมือนกับอานิสงส์ของการถวายยารักษาโรค
(ที่อ้างว่าทำให้หายเจ็บป่วย)
บางอย่างก็เหมือนกับอานิสงส์ของการถวายเทียนคู่
(ที่อ้างว่าทำให้ชีวิตคู่ไม่แตกแยก)
บางอย่างก็เหมือนกับอานิสงส์ของการถวายกระเบื้องมุงหลังคา
(ที่อ้างว่าทำให้ชีวิตร่มเย็น)
เป็นต้น

ถ้าอานิสงส์ของการให้ธรรมเป็นทาน  ไม่แตกต่างกับอานิสงส์ของการให้ทานอย่างอื่น
แล้วการให้ธรรมเป็นทาน  จะชนะการให้ทั้งปวงได้อย่างไร
.....


เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว
การให้ธรรมเป็นทาน  จึงไม่ได้ชนะการให้ทั้งปวงด้วยเพราะเหตุที่อ้างมานี้

แล้วสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้  "การให้ธรรมเป็นทาน  ชนะการให้ทั้งปวง"
เป็นอย่างไรกันแน่



ในอรรถกถาเรื่องท้าวสักกเทวราช  มีกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้  สรุปความว่า

บุคคลแม้จะนำผ้าไตรจีวรเนื้อละเอียด  อาหารบิณฑบาตรอันประณีต  ยารักษาโรคอย่างดี  กุฏิวิหารอันงดงามวิจิตรเพียงใด

มาถวายแด่พระพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า  และพระอรหันต์ทั้งหลายผู้นั่งติด ๆ กันในจักรวาลตลอดถึงพรหมโลกก็ตาม
ทานอันประณีตและมากมายแม้นี้  ก็ยังมีค่าไม่ถึงเศษเสี้ยวของการที่พระพุทธเจ้าเป็นต้น  ทรงกระทำอนุโมทนาแสดงธรรม
เพราะผู้ที่จะยินดีในการถวายทานอันประณีตและมากมายเห็นปานนั้นได้  ต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังธรรมมาแล้ว  เห็นถึงอานิสงส์ของทาน  จึงยินดีในการให้ได้
แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรม  แม้ข้าวเพียงทัพพีหนึ่งก็ไม่ยินดีที่จะให้

อีกอย่างหนึ่ง  บุคคลใดที่แม้จะมีปัญญาฉลาดหลักแหลม
แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บุคคลนั้นก็ไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้ด้วยตนเอง
เหมือนพระสารีบุตรบรรลุโสดาบันได้  ก็เพราะฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ
และบรรลุอรหัตผลได้  ก็เพราะฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า
.....


ฉะนั้น  "การให้ธรรมเป็นทาน  ชนะการให้ทั้งปวง"
เหตุผลก็คือ  เพราะผลแห่งการให้ธรรมนั้น  เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ
ทำให้ผู้รับสามารถมีความเห็นถูกต้อง  เป็นไปตามพระธรรมของพระพุทธเจ้า
ทั้งในเรื่องทาน  ศีล  เรื่องกรรมและผลของกรรม
จนกระทั่งสามารถบรรลุธรรมได้

แต่ถ้าเข้าใจว่า  การให้ธรรมเป็นทาน  ชนะการให้ทั้งปวง
โดยการอ้างอานิสงส์ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ให้เอง
(ตามที่กล่าวอ้างไว้หลายข้อในเว็บไซต์และหนังสือธรรมะหลายเล่ม)
ก็คงจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกับความหมายเดิม
กลายเป็นการให้ธรรมที่หวังอานิสงส์มาสู่ตนเอง
ไม่ใช่การให้ธรรมเพื่อหวังประโยชน์ต่อผู้รับ

ฉะนั้น  ก่อนที่จะให้ธรรมเป็นทานกับใครก็ตาม
ขอให้คิดว่า  เราให้เพื่อประโยชน์แก่ใคร

และถ้าคิดว่าเราจะให้ธรรมเพื่อประโยชน์แก่ผู้รับ
ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า  สิ่งที่ให้นั้นเป็นธรรมที่ถูกต้องจริงหรือไม่
(เพื่อยืนยันว่าเราให้เพื่อประโยชน์ของผู้รับจริง ๆ)

การให้ธรรมเป็นทาน  จึงจะชนะการให้ทั้งปวงได้  ด้วยประการฉะนี้
.....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. สักกเทวราชวัตถุ (เรื่องท้าวสักกะจอมเทพ)



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น