การเบียดเบียนนำทุกข์มาให้ (ตอนที่ ๒)


เมื่อทำกรรมดี  ย่อมได้รับผลที่ดีตอบ  ฉันใด
เมื่อทำกรรมไม่ดี  ก็ย่อมได้รับผลที่ไม่ดี  ฉันนั้น

การทำกรรมที่ไม่ดี  ก็คือ  การประพฤติทุจริตทั้ง ๓ ทาง (กาย  วาจา  ใจ)

เป็นการกระทำที่เบียดเบียนผู้อื่น  เบียดเบียนตนเอง
เป็นการกระทำที่เป็นอกุศล (อกุศลกรรม)
เป็นการกระทำที่มีโทษ  ให้ผลเป็นทุกข์

การประพฤติทุจริตทั้ง ๓ ทาง  แบ่งออกเป็นอกุศลกรรม ๑๐ อย่าง  ได้แก่

กายทุจริต ๓ >
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์  หยาบช้า  มีมือเปื้อนเลือด  ปักใจอยู่ในการฆ่าและการทุบตี  ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
๒. เป็นผู้ลักทรัพย์  คือ  เป็นผู้ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น  ที่เจ้าของไม่ได้ให้  ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม  คือ  เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่มีผู้ปกครอง  สตรีที่ประพฤติธรรม  สตรีที่มีสามี  สตรีที่มีบุรุษหมั้นหมายไว้แล้ว
วจีทุจริต ๔ >
๔. เป็นผู้พูดเท็จ  คือ  กล่าวเท็จทั้งที่รู้  เพราะตนเองเป็นเหตุบ้าง  เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง  หรือเพราะเห็นแก่อามิสเล็กน้อยเป็นเหตุบ้าง
๕. เป็นผู้พูดส่อเสียด  คือ  ฟังความฝ่ายหนึ่งแล้วไปบอกอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อทำลายฝ่ายหนึ่ง  ยุยงคนที่สามัคคีกัน  ส่งเสริมคนที่แตกแยกกัน  ชื่นชมยินดีต่อผู้ที่แตกแยกกัน  พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน
๖. เป็นผู้พูดคำหยาบ  คือ  กล่าวแต่คำที่หยาบคาย  กระทบกระทั่งผู้อื่น  ใกล้ต่อความโกรธ
๗. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ  คือ  พูดไม่ถูกเวลา  พูดคำไม่จริง  พูดไม่อิงประโยชน์  พูดไม่อิงธรรมไม่อิงวินัย  พูดคำที่ไม่มีหลักฐานไม่มีที่อ้างอิง  ไม่มีที่กำหนด
มโนทุจริต ๓ >
๘. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา  คือ  มีจิตเพ่งเล็งว่า  'ทำอย่างไรทรัพย์ของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา'
๙. เป็นผู้มีจิตพยาบาท  คือ  มีจิตคิดร้ายว่า  'ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า  จงถูกทำลาย  จงขาดสูญ  จงพินาศไป  หรืออย่าได้มี'
๑๐. เป็นมิจฉาทิฏฐิ  คือ  มีความเห็นวิปริตว่า  'ทานที่ให้แล้วไม่มีผล  ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล  การเซ่นสรวงไม่มีผล  ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วก็ไม่มี  โลกนี้ไม่มี  โลกหน้าไม่มี  มารดาไม่มีคุณ  บิดาไม่มีคุณ  โอปปาติกสัตว์ไม่มี  สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ  ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก'

ซึ่งผู้กระทำกรรมไม่ดีเหล่านี้  ย่อมต้องได้รับผลที่ไม่ดี  ตามที่กล่าวไว้แล้วในบทความที่แล้ว  คือ
๑. ถึงความเสื่อมโภคทรัพย์เป็นอันมาก
๒. กิตติศัพท์อันชั่วย่อมกระฉ่อนไป
๓. จะไปในที่ใด ๆ ก็ไม่แกล้วกล้า  เป็นผู้เก้อเขินเข้าไป
๔. หลงลืมสติตาย
๕. หลังจากตายแล้ว  ย่อมไปเกิดในอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก

แต่ผลกรรมที่เกิดขึ้น  ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น

ยังมีโทษทุกข์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาอีก  คือ
๑. ผู้ที่ฆ่าสัตว์  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้เป็นผู้มีอายุน้อย
๒. ผู้ที่ลักทรัพย์  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้เป็นผู้เสื่อมโภคทรัพย์
๓. ผู้ที่ประพฤติผิดในกาม  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้เป็นผู้มีศัตรูและเป็นผู้มีเวร
๔. ผู้ที่พูดเท็จ  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้เป็นผู้ถูกกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง
๕. ผู้ที่พูดส่อเสียด  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้ต้องแตกจากมิตร
๖. ผู้ที่พูดคำหยาบ  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้ต้องได้ฟังเรื่องที่ไม่น่าพอใจ
๗. ผู้ที่พูดเพ้อเจ้อ  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้เป็นผู้ที่มีวาจาไม่น่าเชื่อถือ
๘. ผู้ที่ดื่มสุราเมรัย  ย่อมไปเกิดเป็นสัตว์นรก  สัตว์เดรัจฉาน  เปรต
วิบากกรรมอย่างเบาที่สุดเมื่อเกิดเป็นมนุษย์  จะทำให้เป็นผู้วิกลจริต
.....


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com)

ขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกและอรรถกถามาประกอบ  ดังนี้

ตโยชนวัตถุ  (เรื่องคน ๓ จำพวก)

--- เรื่องที่ ๒ ---
สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ  พระเชตวัน  อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตกรุงสาวัตถี
ภิกษุกลุ่มที่ ๒  ได้โดยสารเรือไป  เพื่อเดินทางไปเฝ้าพระศาสดา
(อ่านเรื่องราวของภิกษุกลุ่มที่ ๑ ได้ในบทความที่แล้ว)

ในระหว่างนั้น  เรือได้หยุดนิ่งเฉยอยู่กลางสมุทร  แม้จะพยายามอย่างไร  ก็ไม่สามารถแล่นต่อไปได้

คนทั้งหลายบนเรือพากันคิดว่า  "คงจะมีคนกาลกิณีอยู่บนเรือลำนี้"
จากนั้น  จึงแจกสลากให้ทุกคนจับ  เพื่อหาตัวคนกาลกิณี

ในเรือลำนั้น  มีภรรยาของนายเรืออยู่คนหนึ่ง  กำลังอยู่ในวัยสาว  รูปสวยน่าดู  นางจับได้สลากกาลกิณีนั้น

คนทั้งหลายบนเรือเห็นแก่นายเรือ  จึงกล่าวว่า  "พวกเราแจกสลากกันใหม่เถิด"
แต่ภรรยานายเรือก็เป็นผู้ได้สลากกาลกิณีนั้นอีก
คนทั้งหลายก็ให้ทำการแจกสลากใหม่อีก  ภรรยานายเรือก็ได้สลากกาลกิณีนั้นอีก
เป็นเช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง

คนทั้งหลายเมื่อตัดสินใจไม่ได้  จึงพากันมองไปที่นายเรือ
นายเรือกล่าวว่า  "ข้าพเจ้าไม่อาจปล่อยให้คนจำนวนมากฉิบหาย  เพียงเพื่อประโยชน์แก่นางผู้เดียว  พวกท่านจงทิ้งนางในน้ำเถิด"

ภรรยานายเรือได้ยินดังนั้น  กลัวต่อมรณภัย  ได้ร้องไห้แล้ว
นายเรือได้ยินเสียงร้องไห้นั้น  กล่าวว่า  "ประโยชน์อะไรด้วยอาภรณ์เครื่องประดับของนางนี้จะฉิบหายเสียเปล่า  พวกท่านจงถอดอาภรณ์เครื่องประดับทั้งหมดของนาง  ให้นางนุ่งผ้าเก่าผืนหนึ่งแทนเถิด"
และยังได้กล่าวอีกว่า  "ข้าพเจ้าไม่อาจทนดูนางลอยอยู่เหนือน้ำได้  พวกท่านจงเอากระออมบรรจุทรายให้เต็ม  ผูกไว้ที่คอของนาง  แล้วจึงโยนให้จมลงไปในสมุทรเถิด"

คนทั้งหลายได้กระทำตามนั้นแล้ว  ภรรยานายเรือถึงแก่ความตายในน้ำนั้นเอง
เรือก็สามารถแล่นต่อไปได้

พวกภิกษุเห็นเหตุการณ์นั้นแล้ว  คิดว่า  "โอ  กรรมนี้หนักหนอ  ผู้มีอายุทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายจงดูหญิงนั้น  เว้นพระศาสดาเสีย  ใครจะรู้กรรมที่หญิงนั้นทำแล้ว  พวกเราจะทูลถามกรรมของหญิงนั้นกะพระศาสดา"

ดังนี้แล้ว  เดินทางเพื่อไปเฝ้าพระศาสดาต่อไป

ยังมีภิกษุอีก ๒ กลุ่ม  กำลังเดินทางไปกรุงสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระศาสดาเช่นกัน

และภิกษุทั้ง ๒ กลุ่มนั้นก็ได้พบเหตุการณ์แปลกประหลาดเช่นเดียวกัน

ภิกษุทั้ง ๓ กลุ่มนั้นเดินทางมาบรรจบกันในระหว่างทาง  รวมเป็นพวกเดียวกันเข้าไปเฝ้าพระศาสดา
ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่สมควร  ได้กราบทูลถึงเหตุที่พวกตนพบเห็นมาแด่พระศาสดา

พระศาสดาได้ตรัสพยากรณ์แก่ภิกษุกลุ่มที่ ๒ นี้ว่า

(พยากรณ์  ในที่นี้แปลว่า  ตอบ)
"ภิกษุทั้งหลาย  หญิงนั้นได้เสวยผลกรรมที่ตนทำแล้วนั่นแหละโดยแท้
ก็ในอดีตกาล  หญิงนั้นเป็นภรรยาของคหบดีคนหนึ่งในกรุงพาราณสี  ได้กระทำกิจทุกอย่าง  มีตักน้ำ  ซ้อมข้าว  ปรุงอาหาร  เป็นต้น  ด้วยมือของนางเอง
ครั้งนั้น  สุนัขตัวหนึ่งของนางนั่งแลดูนางอยู่  เมื่อนางนำอาหารไปที่นาก็ดี  ไปหาฟืนหาผักในป่าก็ดี  สุนัขตัวนั้นก็ตามไปกับนางเสมอ
พวกชายหนุ่มในละแวกนั้นเห็นเหตุการณ์นั้นเข้า  ก็กล่าวเยาะเย้ยนางว่า  "นั่นแน่  พรานสุนัขออกมาแล้ว  วันนี้พวกเราจะได้กินเนื้อกันล่ะ"
นางได้ยินก็เกิดอาการขวยเขิน  จึงไล่สุนัขนั้นด้วยก้อนดินและท่อนไม้ให้กลับไป
สุนัขนั้นกลับไปแล้ว  ก็ตามไปอีก
นางโกรธสุนัขนั้นแล้ว

ได้ยินว่า  สุนัขตัวนั้นเป็นสามีของนางในอัตภาพ (ชาติ) ที่ ๓ ก่อนอัตภาพนี้

ด้วยเหตุนั้น  มันจึงไม่อาจตัดความรักได้
จริงอยู่  ใคร ๆ ชื่อว่าไม่เคยเป็นสามีภรรยากัน  ในวัฏสงสารอันยาวไกลนี้  ไม่มี
แต่ถึงกระนั้น  ความรักอันมีประมาณยิ่ง  ย่อมมีในผู้ที่เป็นญาติในอัตภาพไม่ไกล
ดังนั้น  สุนัขนั้นจึงไม่อาจละนางนั้นได้

วันหนึ่ง  เมื่อนางนำอาหารไปให้สามีที่นา  นางได้เอาเชือกเส้นหนึ่งไปด้วย

สุนัขนั้นเดินตามนางไปเหมือนกัน
นางเมื่อนำอาหารให้สามีแล้ว  ถือกระออมเปล่าไปสู่ท่าน้ำแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้  บรรจุทรายให้เต็มกระออม  แล้วส่งเสียงให้สัญญาณแก่สุนัขนั้นซึ่งยืนห่างออกไป
สุนัขได้ยินสัญญาณนั้น  ดีใจว่า  "โอหนอ  วันนี้เราได้ยินเสียงเรียกจากนางแล้ว"
จึงกระดิกหางเข้าไปหานาง

นางจับสุนัขนั้นอย่างแน่นที่คอ  แล้วเอาปลายเชือกข้างหนึ่งผูกกระออมไว้  เอาปลายเชือกอีกข้างหนึ่งผูกที่คอสุนัขนั้น  แล้วผลักกระออมให้กลิ้งลงน้ำ

สุนัขนั้นตามกระออมไปตกลงน้ำ  ได้ถึงแก่ความตายในที่นั้นเอง

ภิกษุทั้งหลาย  กรรมอันเป็นบาปที่นางทำแล้วในครั้งนั้น

นางจึงไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน
และเพราะผลของกรรมที่ยังเหลืออยู่  นางจึงถูกผู้คนเอากระออมบรรจุทรายจนเต็มผูกคอ  ถ่วงลงในน้ำ  จนถึงแก่ความตายตลอด ๑๐๐ อัตภาพ (๑๐๐ ชาติ)"

เมื่อพระศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหาที่ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลถามแล้ว

ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามพระศาสดาว่า
"ความหนีพ้นย่อมไม่มีแก่สัตว์ที่ทำกรรมชั่วนั้นไว้
ผู้ซึ่งเหาะไปในอากาศก็ดี  ดำลงไปสู่มหาสมุทรก็ดี  หนีเข้าไปสู่ซอกเขาก็ดีหรือ  พระพุทธเจ้าข้า"

พระศาสดาตรัสตอบว่า

"อย่างนั้นแหละภิกษุ  แม้ในที่ทั้งหลาย  ทั้งในอากาศ  หรือในมหาสมุทรเป็นต้น
สถานที่สักแห่งหนึ่งที่บุคคลอยู่แล้วพึงหนีพ้นจากกรรมชั่วได้นั้น  ไม่มี"

จากนั้น  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปอีกว่า

       "บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้
ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
ถึงจะดำลงไปในมหาสมุทร  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
ถึงจะเข้าไปหลบในซอกเขา  ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมไปได้
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่คนทำบาปยืนอยู่แล้วจะพ้นจากบาปกรรมได้ ..."

ในเวลาจบพระธรรมเทศนานี้  ภิกษุเหล่านั้นก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น

พระธรรมเทศนามีประโยชน์แม้แก่มหาชนผู้มาประชุมกันแล้ว  ดังนี้แล
ตโยชนวัตถุ  จบ

ถามว่า
ใครทำให้นางอายุสั้น  ต้องตายด้วยวัยเพียงเท่านี้
ใครทำให้นางต้องถูกถ่วงน้ำตายด้วยความทรมานเช่นนี้ ???

เป็นเพราะคนทั้งหลายบนเรือหรือ

เป็นเพราะนายเรือใจร้ายหรือ
เป็นเพราะถูกพระเจ้ากลั่นแกล้งหรือ
เป็นเพราะถูกใครสาปแช่งไว้หรือ ???

หรือเป็นเพราะผลของกรรมไม่ดีที่นางกระทำไว้เอง ...


ฉะนั้น  เราจึงไม่ควรเบียดเบียนใคร ๆ  ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม
เพราะการเบียดเบียน  ให้ผลเป็นทุกข์

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ทุจจริตวิปากสูตร (ว่าด้วยวิบากแห่งทุจริต)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น