ทำไมจึงบวช


เมื่อวานนี้  มีคุณพ่อท่านหนึ่งพาลูกชายมาหาเพื่อปรึกษาเรื่องการบวช
พอคุยกันเสร็จแล้ว  ทำให้ย้อนนึกขึ้นมาว่าสาเหตุที่แต่ละคนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานี้  มีอะไรบ้าง

ในตอนต้นพุทธกาล  เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาใหม่ ๆ

กุลบุตรที่ได้ฟังธรรมแล้ว  เกิดศรัทธาในพระศาสดา
เมื่อมีศรัทธา  ย่อมตระหนักว่า  'การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด  แวดล้อมด้วยสิ่งยั่วยุทั้งหลาย
การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง
การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์  ไม่ใช่ทำได้ง่าย
ทางที่ดี  เราควรปลงผมและหนวด  นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์  ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต'
การที่กุลบุตรในสมัยนั้นจะมีความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นได้
ก็เพราะได้ผ่านการฟังธรรมและพิจารณาใคร่ครวญเห็นจริงตาม  ในธรรมที่พระศาสดาทรงประกาศไว้ดีแล้ว

ต่อมา  เมื่อมีผู้นับถือพระพุทธศาสนามากขึ้น  ลาภสักการะในพระศาสนาก็มากขึ้น
จุดประสงค์ในการเข้ามาบวชก็เปลี่ยนไป
หลายคนที่เข้ามาบวชโดยไม่ได้เร่ิมจากการฟังธรรมและพิจารณาใคร่ครวญมาก่อน
- แต่บวชเพราะอยากได้ลาภสักการะในพระศาสนา
- บางคนป่วย  ต้องการให้หมอชีวกช่วยรักษา  จึงบวช
- บางคนไม่อยากไปรบ  ไม่ต้องการเป็นทหาร  จึงบวช

และยิ่งไปกว่านั้น
ในสมัยนั้น  พระราชาเป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา  มีพระราชดำริจะสนับสนุนการประพฤติธรรม
จึงมีพระบรมราชานุญาตไว้ว่า
'กุลบุตรเหล่าใดได้บรรพชาในพวกสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร
ใคร ๆ จะทำอะไรกุลบุตรเหล่านั้นมิได้
พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว  จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด'
คนทั้งหลายเมื่อทราบดังนี้
- เมื่อทำความผิด  ติดคุก  ก็แหกคุกหนีมาบวช
- ทำความผิด  ถูกออกหมายจับ  ก็หนีคดีมาบวช
- เป็นหนี้  ไม่มีเงินใช้คืน  ก็หนีเจ้าหนี้มาบวช
- เป็นทาส  ต้องการเป็นอิสระ  ก็หนีนายมาบวช
...  ฯลฯ  ...

มาในยุคปัจจุบันนี้  เหตุผลในการบวชก็เปลี่ยนแปลงไปอีกมากมาย
- บวชเพราะพ่อแม่อยากให้บวช
- บวชเพราะคิดว่าจะเป็นบุญกุศลอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้
- บวชเพราะไม่อยากไปเกณฑ์ทหาร
- บวชเพราะไม่อยากทำงาน
- บวชเพราะหางานทำไม่ได้
- บวชเพราะไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู
- บวชเพราะแก้บน
- บวชเพราะเพื่อนชวน
...  ฯลฯ  ...


(ขอบคุณภาพจาก facebook.com/prapatphoto)

ทั้งนี้  คงไม่มีประโยชน์ที่จะไปตัดสินว่าเหตุผลไหนถูก  เหตุผลไหนผิด
แต่เมื่อเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานี้แล้ว
พระธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้และทรงประกาศไว้ดีแล้ว  ที่ไม่ถูกบิดเบือน  ก็ยังมีอยู่
พระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ที่สามารถเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระศาสดาได้  ก็ยังมีอยู่
ฉะนั้น  เมื่อปัจจัยภายนอกยังมีอยู่พร้อม
ปัจจัยภายในคือผู้ที่เข้ามาบวช  จะสามารถทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นจากการบวชได้มากหรือน้อยเพียงไร

ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า
กุลบุตรที่ได้ฟังธรรมดีแล้ว  ออกบวชด้วยศรัทธา
เมื่อบวชแล้ว  เป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์
เพียบพร้อมด้วยมารยาทและโคจร (การเที่ยวไป)
เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท
ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันเป็นกุศล
มีอาชีวะบริสุทธิ์
สมบูรณ์ด้วยศีล
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ
เป็นผู้สันโดษ ..... ฯลฯ

นี่คือกิจของสงฆ์ที่ผู้เข้ามาบวชควรศึกษาและเจริญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป  เพื่อความก้าวหน้าในธรรมของตน

เรียกว่า  คว้าประโยชน์ที่เป็นแก่นสารในพระพุทธศาสนาให้ได้
ตั้งแต่ประโยชน์ในเบื้องต้น  ประโยชน์ในท่ามกลาง  จนถึงประโยชน์สูงสุด
ตามกำลังสติปัญญาและความสามารถ
ไม่ใช่แค่โกนหัว  ห่มผ้าเหลือง  มีผู้คนกราบไหว้  เช้าเอน  เพลนอน
ซึ่งเป็นการเสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย

ฉะนั้น  ไม่ว่าเราจะเข้ามาบวชด้วยเหตุผลใดในตอนแรก

ไม่ว่าจะตั้งใจบวชนานแค่ไหน
เมื่อเข้ามาบวชแล้ว  ก็ขอให้ศึกษาและปฏิบัติ  ตามพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพทธเจ้า
เพื่อให้ได้ประโยชน์ที่ควรจะได้ในพระพุทธศาสนานี้เทอญ


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น