ผู้รักสุขเกลียดทุกข์ พึงตั้งมั่นในศีล


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า .....

"เราทุกคนล้วนอยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุข  เกลียดทุกข์

การที่ใครจะมาทำร้ายร่างกายหรือชีวิตเรา  เราย่อมไม่พอใจ
และแม้คนอื่นหรือสัตว์อื่น  เขาก็อยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุข  เกลียดทุกข์  เหมือนกัน
ฉะนั้น  การที่เราจะไปทำร้ายร่างกายหรือชีวิตใคร  เขาก็ย่อมไม่พอใจเช่นกัน"

สิ่งใดไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่พอใจของเรา  สิ่งนั้นก็ไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น
สิ่งใดไม่เป็นที่รัก  ไม่เป็นที่พอใจของเรา  เราจะเอาสิ่งนั้นไปกระทำต่อผู้อื่นได้อย่างไร


ถ้าเรานึกถึงความจริงข้อนี้อยู่เสมอ  เราก็จะเป็นผู้ที่รู้จักคิดก่อนทำ .....
สิ่งใดที่ทำแล้วเป็นการเบียดเบียนผู้อื่น  ทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์
แม้เราเอง  ถ้าถูกกระทำเช่นนั้น  เราก็เป็นทุกข์เช่นกัน
เมื่อคิดได้ดังนี้  เราก็จะหยุดการกระทำที่เบียดเบียนนั้น .....

ขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกมาประกอบ  ดังนี้

สัมพหุลกุมารวัตถุ  (เรื่องเด็กชายหลายคน)
สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่  ณ  พระเชตวัน  อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตกรุงสาวัตถี
ในเวลาเช้า  พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก  ถือบาตรและจีวร  เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี

ขณะนั้น  พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังเอาไม้ตีงูตัวหนึ่ง  จึงตรัสถามว่า  "แน่ะ  พวกเด็กทั้งหลาย  พวกเจ้าทำอะไรกัน"


เด็กเหล่านั้นกราบทูลว่า  "พวกข้าพระองค์เอาไม้ตีงู  พระพุทธเจ้าข้า"


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  "เพราะเหตุไรพวกเจ้าจึงกระทำอย่างนั้น"


เด็กเหล่านั้นกราบทูลว่า  "พวกข้าพระองค์กลัวมันกัด  พระพุทธเจ้าข้า"


พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

"พวกเจ้าตีงูนี้ด้วยคิดว่าจะทำความสุขสวัสดีให้แก่ตน
แต่เพราะการตีงูนั้นเป็นเหตุ  พวกเจ้าจะไม่เป็นผู้ได้รับความสุขในที่ที่ตนเกิดแล้ว
แท้จริง  บุคคลเมื่อปรารถนาสุขแก่ตน  แต่กลับทำร้ายสัตว์อื่น  ย่อมไม่ควร"

จากนั้น  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปอีกว่า

       "สัตว์ผู้เกิดแล้วทั้งหลาย  เป็นผู้ใคร่สุข
บุคคลใดแสวงหาสุขเพื่อตน  แต่เบียดเบียนสัตว์อื่น
บุคคลนั้นตายไปแล้ว  ย่อมไม่ได้สุข ...
       สัตว์ผู้เกิดแล้วทั้งหลาย  เป็นผู้ใคร่สุข
บุคคลใดแสวงหาสุขเพื่อตน  ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น
บุคคลนั้นตายไปแล้ว  ย่อมได้สุข ..."
ในเวลาจบพระธรรมเทศนานี้  พวกเด็กเหล่านั้นก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
สัมพหุลกุมารวัตถุ  จบ


ในเมื่อทุกชีวิตต่างก็อยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุข  เกลียดทุกข์
เราจึงควรตั้งเมตตาจิตในสัตว์อื่นชีวิตอื่นเสมอตน  ไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นการเบียดเบียนกันและกัน
เมื่อเป็นดังนี้  เราเองก็จะเป็นผู้ที่มีความสุข
และเพราะกรรมดีเป็นเหตุ  หลังจากตายแล้ว  ก็จะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ .....

ในทางกลับกัน

ถ้าเรากระทำการเบียดเบียนสัตว์อื่นชีวิตอื่น  โดยคิดว่าจะทำให้ตนเองมีความสุข
แต่แท้จริงแล้ว  เมื่อเราเบียดเบียนผู้อื่น  ผู้นั้นย่อมคิดที่จะเบียดเบียนเราตอบ
เมื่อเป็นดังนี้  เราเองก็จะประสบความทุกข์
และเพราะกรรมชั่วเป็นเหตุ  หลังจากตายแล้ว  เราก็จะไปเกิดในอบาย  ทุคติ  วินิบาต  นรก .....

ถ้าเราคิดด้วยสติปัญญาของเราเอง  เราอาจจะคิดว่าเราจำเป็นต้องเบียดเบียนผู้อื่น  จำเป็นต้องผิดศีลบ้าง
ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม  ที่คิดว่ามันคือความจำเป็น
แต่เรานึกไม่ถึงผลว่าผลที่ตามมาจากการเบียดเบียนผู้อื่นหรือการละเมิดศีลนั้น  จะนำทุกข์มาให้

ถ้าเราเชื่อมั่นในพระปัญญาตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เราก็จะไม่มีข้ออ้างว่ามันจำเป็น

เราจะพยายามหาวิธีอื่นที่จะจัดการกับปัญหานั้น ๆ โดยไม่เบียดเบียน  และไม่ละเมิดศีล
เพราะเรารักสุข  เกลียดทุกข์  เราจะกลัวทุกข์ที่จะตามมาให้ผลถ้าเราเบียดเบียนผู้อื่น
.....

ฉะนั้น  การระลึกอยู่เสมอว่า  "ทุกชีวิตต่างก็อยากเป็นอยู่  ไม่อยากตาย  รักสุข  เกลียดทุกข์"

เราจะไม่กระทำการเบียดเบียนใคร ๆ  จะไม่ละเมิดศีลเป็นอันขาด
เพราะผลของการเบียดเบียน  ผลของการละเมิดศีล  ย่อมนำความทุกข์มาให้
เราจะตั้งมั่นอยู่ในศีล
เพื่อประโยชน์และความสุขของตนเอง
เพื่อประโยชน์และความสุขของผู้อื่น
เพื่อประโยชน์และความสุขของทั้ง ๒ ฝ่าย

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. วิปัตติสัมปทาสูตร (ว่าด้วยวิบัติและสัมปทา)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น