ธรรมที่ให้ไม่ดี อาจเป็นโทษได้


ในสมัยพุทธกาล
พระภิกษุชื่ออริฏฐะ  เป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนมามาก  และเป็นผู้กล่าวสอนธรรม
ท่านได้กล่าวสอนคนทั้งหลายว่า
"พวกคฤหัสถ์ที่ยุ่งเกี่ยวอยู่กับกามคุณ  แต่บรรลุโสดาบัน  สกทาคามี  อนาคามี  ก็มีอยู่
แม้พวกภิกษุก็ยังรับรู้รูป  เสียง  กลิ่น  รส  และสัมผัสต่าง ๆ  ยังใช้สอยผ้าที่อ่อนนุ่มได้
แสดงว่ากามคุณเหล่านี้ไม่มีโทษ  สิ่งนี้ทั้งหมดถือว่าควร
แล้วทำไมรูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัสของสตรีจะไม่ควรเล่า
สิ่งเหล่านั้นต้องควรแน่นอน  ฉะนั้น  เมถุนธรรมไม่มีโทษ"

จากสิ่งที่ท่านคิด  ก็ดูเหมือนจะเป็นเหตุเป็นผลกัน
แต่สิ่งที่ท่านไม่ได้พิจารณา  คือ
ผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว  บริโภคกามคุณโดยไม่กำหนัดยินดี
กามคุณเหล่านั้นจึงไม่มีโทษ
แต่ปุถุชนบริโภคกามคุณโดยมีความกำหนัดยินดี
กามคุณเหล่านั้นจึงมีโทษ

เมื่อท่านไม่เข้าใจในสิ่งนี้  จึงประกาศคำสอนไปตามที่เข้าใจ

แต่ผู้ที่โชคร้ายกว่านั้น  คือผู้ฟังที่ไม่ฉลาด  ที่อาจจะหลงเชื่อ
เมื่อหลงเชื่อแล้ว  ไม่เห็นโทษของกามคุณ
ก็จะปฏิบัติผิดไปจากพระสัทธรรมที่แท้จริงได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี  เรื่องลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ  คือ
"ธรรมเหล่าใดที่
- เป็นไปเพื่อคลายความกำหนัด  มิใช่เพื่อความกำหนัด
- เป็นไปเพื่อคลายความผูกรัด  มิใช่เพื่อการประกอบไว้
- เป็นไปเพื่อการไม่สะสม  มิใช่เพื่อการสะสม
- เป็นไปเพื่อความมักน้อย  มิใช่เพื่อความมักมาก
- เป็นไปเพื่อความสันโดษ  มิใช่เพื่อความไม่สันโดษ
- เป็นไปเพื่อความสงัด  มิใช่เพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
- เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร  มิใช่เพื่อความเกียจคร้าน
- เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย  มิใช่เพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก
พึงรู้ว่านั่นเป็นธรรม  เป็นวินัย  เป็นคำสอนในของพระศาสดา"
(แต่ถ้ามีลักษณะตรงกันข้าม  ก็ไม่ใช่คำสอนของพระศาสดา)


(ขอบคุณภาพจาก pixabay.com) 

ในปัจจุบันนี้  ก็มีผู้ที่กล่าวสอนธรรมะมากมาย
ทั้งจากฆราวาสและพระภิกษุ
แต่คำสอนเหล่านั้นจะเป็นธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งหมดหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น  มีผู้กล่าวสอนว่า
"ถ้าคุณเกลียดใคร
คุณไม่ต้องสาปแช่งเขาหรอก
คนเลว ๆ มีมากพอแล้ว
เราอย่าเลวไปอีกคนหนึ่ง
เราควรใช้ชีวิตของเราให้ดี
การแช่งเขาเท่ากับเราเลวไปด้วย" .....

หรือกล่าวสอนว่า
"ใครไม่เข้าใจเรา  ก็ช่างเขา
แต่เราจะต้องเข้าใจตัวเอง
ใครคิดไม่ดีกับเรา  ปล่อยเขาไป
เขาจะแพ้ภัยตัวเอง" .....

ดูเผิน ๆ ก็อาจจะเหมือนธรรมะ
แต่จะใช่ธรรมะในพระพุทธศาสนาหรือไม่
.
.
.
.
.
.
.
.


สำหรับคำสอนแรก
"ถ้าคุณเกลียดใคร
คุณไม่ต้องสาปแช่งเขาหรอก
คนเลว ๆ มีมากพอแล้ว
เราอย่าเลวไปอีกคนหนึ่ง
เราควรใช้ชีวิตของเราให้ดี
การแช่งเขาเท่ากับเราเลวไปด้วย" .....

การสาปแช่ง  เป็นอกุศลกรรมอย่างหนึ่ง  ซึ่งเราไม่ควรทำ
แต่การเตือนตัวเองด้วยวิธีดังกล่าว  ไม่ได้ทำให้เราหยุดความเกลียดได้

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีเหตุมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น
ต่อเมื่อเหตุปัจจัยนั้นดับ  สิ่งนั้นจึงจะดับ

ฉะนั้น  เราต้องรู้เหตุที่ทำให้เราเกลียด  และดับที่เหตุนั้น
และเมื่อเราไม่มีความเกลียด  การสาปแช่งก็จะไม่มีเอง

เหตุที่ทำให้เราเกลียด  ไม่ใช่เพราะเขาด่าเรา  ไม่ใช่เพราะเขาทำไม่ดี
แต่เกิดจากราคะ  โทสะ  โมหะ  ในใจเรานั่นแหละ
(หันกลับมาแก้ไขราคะ  โทสะ  โมหะ  ในใจของเรา)
.
.
.
.
.
.
.
.


สำหรับคำสอนที่ ๒
"ใครไม่เข้าใจเรา  ก็ช่างเขา
แต่เราจะต้องเข้าใจตัวเอง
ใครคิดไม่ดีกับเรา  ปล่อยเขาไป
เขาจะแพ้ภัยตัวเอง" .....

ถ้าเราทำตัวไม่ดี  แล้วมีผู้หวังดีมาตักเตือน
แต่เรากลับคิดว่าเขาอิจฉาเรา  เขาคิดร้ายกับเรา
ก็เลยภาวนาว่า  "เขาคิดไม่ดีกับเรา  ปล่อยเขาไป  เขาจะแพ้ภัยตัวเอง"

เราก็จะไม่ได้กลับมาพิจารณาถึงคำเตือนของผู้หวังดีนั้น
ผลร้ายก็จะเกิดขึ้นกับเราเอง
เรานั่นแหละจะแพ้ภัย (จากความถือดีอวดเก่ง) ของตัวเอง
(หันกลับมาแก้ไขความถือดีอวดเก่งในใจของเรา)
.
.
.
.


ช่วงนี้ก็ใกล้เทศกาลปีใหม่แล้ว
หลายคนอาจจะกำลังมองหาหนังสือธรรมะเป็นของขวัญปีใหม่
หรืออาจจะแชร์ข้อความธรรมะให้เพื่อน ๆ
แต่ข้อความบางอย่าง  หนังสือบางเล่ม  คล้ายพระธรรม  แต่ไม่ใช่

ฉะนั้น  ก่อนที่จะให้  เราควรมีโอกาสได้นั่งอ่าน  นั่งพิจารณาเนื้อหา
ในหนังสือหรือข้อความนั้น ๆ ว่าใช่ธรรมะในพระพุทธศาสนาจริงหรือไม่
ให้ชัวร์ก่อนที่จะแชร์หนังสือหรือโพสต์นั้นออกไป
เพื่อความไม่มีโทษ
และเกิดประโยชน์สุขแก่ผู้รับที่เรารักได้อย่างแท้จริง
.....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. สังขิตตสูตร (ว่าด้วยลักษณะธรรมวินัยโดยย่อ)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น