แสดงอาบัติบ่อย ดีหรือไม่


ในอุโบสถวัดแห่งหนึ่ง
พระรูปหนึ่งเป็นผู้ต้องอาบัติ (ละเมิดพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้)
กำลังเปิดเผยและแสดงอาบัติที่ตนได้ล่วงละเมิดนั้นแก่พระอีกรูปหนึ่ง

ผู้แสดงอาบัติ  "ท่านครับ  ผมต้องอาบัติข้อนี้  ขอแสดงคืนอาบัตินั้นครับ"

ผู้รับอาบัติ  "ท่านเห็นหรือ (ท่านทราบใช่ไหมว่าเป็นอาบัติ)"

ผู้แสดงอาบัติ  "ผมเห็นครับ (ผมทราบครับ)"

ผู้รับอาบัติ  "ท่านพึงสำรวมระวังต่อไป"

ผู้แสดงอาบัติ  "ครับ  ผมจะสำรวมให้ดี (จะไม่ละเมิดพระวินัยอีก)"


การแสดงอาบัติด้วยวิธีนี้
ใช้สำหรับอาบัติเบา (ไม่ใช่ปาราชิกและสังฆาทิเสส)
เป็นวิธีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้

เริ่มจากพระภิกษุได้ล่วงละเมิดพระวินัย  เป็นผู้ต้องอาบัติ  แล้วสำนึกได้
ต้องการให้ตนเองพ้นจากอาบัตินั้น  กลับมาเป็นผู้บริสุทธิ์อีกครั้ง
จึงได้เปิดเผยและแสดงอาบัตินั้นแก่พระอีกรูปหนึ่ง (หรือแสดงแก่คณะสงฆ์ก็ได้)

จุดที่สำคัญคือ  "การรู้ว่าตนเองทำผิด"
แล้วให้คำมั่นสัญญาว่า  "จะสำรวมระวังไม่ล่วงละเมิดพระวินัยอีกต่อไป"
เมื่อกระทำเช่นนี้แล้ว  ถือว่าอาบัตินั้นเป็นอันระงับไป

ตรงกับพระดำรัสที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า
"การที่ภิกษุเห็นโทษโดยความเป็นโทษ
แล้วทำคืนตามธรรม (สารภาพตามความเป็นจริง)
ถึงความสำรวมต่อไป
วิธีนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า"
(อ่านเพิ่มเติมได้ในเรื่อง  ผู้ควรแก่การอดโทษให้)

ขอย้ำอีกครั้งว่า
จุดที่สำคัญ  คือ  "การยอมรับว่าตัวเองทำผิดจริง"
และสิ่งที่แสดงออกว่ายอมรับผิด  คือ  "การสำรวมระวังไม่ให้ทำผิดอีก"
..........


(ขอบคุณภาพจาก  mthai.com)

แต่เป็นที่น่าเสียดาย
การแสดงอาบัติในปัจจุบันนี้  ถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้ทำผิดโดยไม่ต้องละอาย

ชายคนหนึ่งเจอพระรูปหนึ่งในระหว่างทาง
ได้กลิ่นเหล้าโชยมาอย่างแรงจากพระรูปนั้น
ซึ่งพระรูปนั้นยอมรับว่าได้กินเหล้าจริง
แต่บอกว่า  "กินเหล้าเป็นแค่อาบัติธรรมดา"

หมายความว่ายังไง  "อาบัติธรรมดา ?!"
หมายความว่า  ไม่ใช่อาบัติร้ายแรง  ไม่ถึงปาราชิก  ไม่ขาดจากความเป็นพระ
แค่แสดงอาบัติ  ก็พ้นจากอาบัติได้แล้ว
นี่คือสิ่งที่สะท้อนออกมาจากคำพูดของพระรูปนั้น

ผลจากความคิดเช่นนี้ก็คือ  เขาจะไม่หยุดทำผิดพระวินัย
ทำผิดแล้วก็มาแสดงอาบัติ  แค่นี้ก็พ้นผิดได้แล้ว
แต่ก็ยังทำผิดซ้ำอีกต่อไปเรื่อย ๆ
..........


องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ในอนาคต
หมู่ภิกษุจักไม่เจริญกาย  ไม่เจริญศีล  ไม่เจริญจิต  ไม่เจริญปัญญา

เมื่อไม่เจริญกาย  ไม่เจริญศีล  ไม่เจริญจิต  ไม่เจริญปัญญา
แสดงอภิธัมมกถา  เวทัลลกถา  ถลำลงสู่ธรรมดำ  ก็จักไม่รู้ตัว

โดยนัยนี้แล
เพราะธรรมเลอะเลือน  วินัยจึงเลอะเลือน
เพราะวินัยเลอะเลือน  ธรรมจึงเลอะเลือน

ภัยในอนาคตประการที่ ๓ นี้  ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้  แต่จักเกิดขึ้นในกาลต่อไป
ภัยนั้นเธอทั้งหลายพึงรับรู้ไว้  และพึงพยายามเพื่อละภัยนั้นเสีย"

(อ่านภัยในอนาคตประการอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ใน  ตติยอนาคตภยสูตร)
..........


บัดนี้  ภัยนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว

การแสดงอาบัติ  เพื่อประกาศว่าตนเองสำนึกผิดแล้ว
และให้สัญญาต่อหน้าพยานว่าจะปรับปรุงแก้ไขไม่ทำผิดอีก
บัดนี้  การแสดงอาบัตินั้น
กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทำผิดโดยไม่ต้องกลัวผิดไปเสียแล้ว

ยิ่งแสดงอาบัติบ่อยเท่าไร
นอกจากจะหมายความว่า  ทำผิดบ่อยมากเท่านั้นแล้ว
ยังหมายความว่า  ไม่ได้สำนึกผิดจริง  และไม่ได้พยายามเลิกทำผิดเลย

ไม่ใช่ว่าการแสดงอาบัติไม่ดี
แต่ผู้แสดงอาบัติต่างหากที่ไม่เข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริงของการแสดงอาบัติ
..........


นี่เป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงว่าธรรมและวินัยกำลังจะเลอะเลือน
เราคงไม่สามารถไปแก้ไขอะไรได้  เพราะเป็นไปตามพุทธพยากรณ์

สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสในตอนท้ายคือ
"ภัยนั้นเธอทั้งหลายพึงรับรู้ไว้  และพึงพยายามเพื่อละภัยนั้นเสีย"

ฉะนั้น  สิ่งที่เราทำได้  คือ  "พึงพยายามเพื่อละภัยนั้นเสีย"
หมายถึง  พยายามไม่ให้ภัยเช่นนี้เกิดขึ้นกับเรา

ใครจะทำผิดแล้วไม่สำนึก  ก็เป็นเรื่องของเขา
ความสำคัญอยู่ที่เรา  ไม่ว่าเราจะเป็นพระภิกษุหรือฆราวาสก็ตาม
เราทำผิดอะไรหรือไม่
เราสำนึกในสิ่งผิดที่เราทำหรือไม่
เราพยายามที่จะไม่ทำผิดอีกต่อไปหรือไม่

เมื่อเราตรวจสอบตนเองเช่นนี้บ่อย ๆ  ก็ชื่อว่าได้พยายามละภัยที่จะเกิดขึ้นนั้น
ได้ทำตามโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
เพื่อความดำรงอยู่แห่งพระสัทธรรมเท่าที่จะนานได้
.....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ตติยอนาคตภยสูตร (ว่าด้วยภัยในอนาคต  สูตรที่ ๓)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น