กลยุทธพิชิตคนพาล


หลายคนอาจจะมีคติประจำใจว่า
"ใครดีมา  เราดีตอบ  ใครร้ายมา  เราร้ายตอบ"

เมื่อมีคติประจำใจเช่นนี้
เราก็จะทนไม่ได้ที่มีคนมาทำร้ายเรา

หรือแม้ได้ข่าวหนังสือพิมพ์ว่ามีฆาตกรที่ฆ่าคนอื่นด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยม
เราก็อาจจะเป็นเดือดเป็นแค้น  รุมประณาม  สาปแช่ง
และถ้าตำรวจจับตัวคนร้ายนั้นมาได้
เราก็อาจจะไปรอรุมประชาทัณฑ์คนร้ายนั้น

คำกล่าวอ้างว่า  "พิชิตคนพาล  อภิบาลคนดี"  ก็จะตามมา
วิธีการ  "ตาต่อตา  ฟันต่อฟัน"  ก็จะตามมา
เพราะคิดว่านี่คือ  "ความยุติธรรม"

เมื่อเขาทำร้ายเรา  เราทำร้ายเขาตอบ
เราคิดว่าเป็นเรื่องสมควรที่จะต้องเอาคืน

แต่เมื่อเขาถูกเราทำร้ายตอบ  เขาก็จะทำร้ายเราอีก
และเมื่อเราถูกทำร้ายอีก  เราก็ทำร้ายเขาตอบอีก
แล้วคุณคิดว่าการทำร้ายกันไป  ทำร้ายกันมา  มันจะสิ้นสุดไหม

ถ้าเราเชื่อในเรื่องกฎของกรรม  ทำดีย่อมได้ดี  ทำชั่วย่อมได้ชั่ว
ผู้ที่ทำร้ายเรา (หรือทำร้ายคนอื่นก็ตาม)
เราไม่จำเป็นต้องไปทำร้ายหรือสาปแช่งเขา
เขาก็ต้องได้รับผลของการกระทำกรรมที่ไม่ดีอยู่แล้ว  ด้วยกฎของกรรม

แต่การที่เราไปทำร้ายเขาตอบ
(หรือไปสาปแช่งฆาตกรที่เป็นข่าวก็ตาม)
นั่นคือเรากำลังสร้างกรรมที่ไม่ดีของเราเอง

แล้วเราควรทำอย่างไรล่ะ
.....


(ขอบคุณภาพจาก pexels.com)

ในสมัยพุทธกาล
นางสิริมาเอาน้ำมันที่กำลังเดือดมาราดใส่นางอุตตราด้วยความโกรธ
แต่นางอุตตราไม่โกรธนางสิริมาเลย
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสชมเชยนางอุตตราอุบาสิกาว่า
       "พึงชนะคนโกรธ  ด้วยความไม่โกรธ
พึงชนะคนไม่ดี  ด้วยความดี
พึงชนะคนตระหนี่  ด้วยการให้
พึงชนะคนพูดเหลวไหล  ด้วยคำจริง"
(คลิกอ่านเรื่องราวของนางอุตตราอุบาสิกา  ได้ที่นี่)

ตัวอย่างของ  ดร.สมบัติ  จิตต์หมวด
ลูกชายของเขาถูกฆาตกรฆ่าชิงทรัพย์
แต่เขาก็สามารถให้อภัยฆาตกรที่ฆ่าลูกชายของเขาได้
นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่สามารถเอาชนะคนไม่ดีได้ด้วยความดี
(คลิกอ่านในเรื่อง  ผู้ให้อภัยย่อมอยู่เป็นสุข)



เรายังรับรู้แยกแยะได้ว่าคนไหนดี  คนไหนพาล
แต่เมื่อรู้แล้ว  ไม่จำเป็นต้องพิชิตคนพาล  แบบตาต่อตา  ฟันต่อฟัน
ถ้าเขาทำผิดจริง  ผลของกรรมไม่ดีก็ต้องให้ผลกับเขาอยู่แล้ว  ไม่ช้าก็เร็ว
แล้วเราจะทำกรรมไม่ดีไปด้วยทำไม

แต่ถ้าอยากจะพิชิตคนพาล
เราควรใช้กลยุทธตามพระพุทธพจน์ของพุทธเจ้า  คือ
"พิชิตคนไม่ดี  ด้วยความดี"
จึงจะเป็นกลยุทธที่ได้ประโยชน์และได้ผลดีที่สุด
.....

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. อุตตราอุปาสิกาวัตถุ (เรื่องนางอุตตราอุบาสิกา)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น