ผิดที่เขาหลอกเราจริงหรือ


ในราวป่าแห่งหนึ่ง  มีลิงอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง
และมีหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งอยู่ใกล้ราวป่านั้น

วันหนึ่ง  มีชายคนหนึ่งเข้าไปหาคนในหมู่บ้านนั้น
เขาประกาศว่าต้องการหาซื้อลิงป่าหลายตัว
"ให้ราคาตัวละ ๑๐,๐๐๐ บาท"
ชาวบ้านหลายคนก็สงสัยว่าเขาจะซื้อลิงป่าไปทำไม

แต่ก็มีชาวบ้านบางคนอยากได้เงิน
จึงไปจับลิงป่ามาขายให้เขา
แล้วได้รับเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทจากชายคนนั้น

เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป
จึงมีชาวบ้านหลายคนพากันไปจับลิงมาขายให้เขาบ้าง

วันต่อมา  เขาประกาศว่าต้องการลิงมากกว่านี้
"ให้ราคาตัวละ ๒๐,๐๐๐ บาท"

ชาวบ้านที่ได้ข่าว  ก็พากันไปจับลิงป่ามาขายให้เขาอีกหลายสิบตัว
และได้รับเงินไปตามราคาที่เขาประกาศไว้

๒ - ๓ วันต่อมา  เขาประกาศเพิ่มราคาซื้ออีก
"ให้ราคาตัวละ ๕๐,๐๐๐ บาท"

ชาวบ้านต่างอดหลับอดนอน  เข้าไปจับลิงป่ากันทั้งหมู่บ้าน
คราวนี้จับลิงมาจนแทบจะหมดป่า
แล้วขายได้เงินไปเป็นจำนวนมาก

วันต่อมา  เขาประกาศว่ายังอยากได้ลิงเพิ่มมากกว่านี้อีก
แต่เขาจำเป็นต้องกลับไปทำธุระในเมือง ๑ สัปดาห์
เสร็จธุระแล้วจะกลับมาซื้อลิงป่าจากชาวบ้าน
"ให้ราคาตัวละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท"

ในระหว่างที่เขาไม่อยู่นี้
เขามอบหมายให้ลูกน้องที่ตามมาด้วยคอยดูแลลิงที่ซื้อไว้แล้ว

ชาวบ้านต่างดีใจที่ราคาลิงสูงถึงหลักแสน
แต่ทว่าลิงป่าถูกจับมาขายหมดแล้ว

ลูกน้องของชายคนนั้นจึงกระซิบบอกชาวบ้านคนหนึ่งว่า
เขาจะแอบขายลิงที่เจ้านายฝากไว้ให้ตัวละ ๗๐,๐๐๐ บาท
แต่ต้องเก็บเป็นความลับ  ห้ามบอกเจ้านายของเขา

ชาวบ้านเหล่านั้นจึงปรึกษากัน
คิดว่า  ถ้าซื้อจากลูกน้องตัวละ ๗๐,๐๐๐ บาท
แล้วขายต่อให้เจ้านาย  ได้ตัวละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท
ก็ยังมีกำไรตัวละ ๓๐,๐๐๐ บาท

วันรุ่งขึ้น  ชาวบ้านเหล่านั้นจึงพากันมาขอซื้อต่อจากลูกน้องของชายคนนั้น
คนที่พอมีเงิน  ก็ซื้อลิงไปหลายตัว
คนที่มีเงินไม่พอ  ก็ไปขอยืมเงินจากเพื่อนเพื่อมาซื้อลิงเช่นกัน
ในที่สุด  ลิงทุกตัวก็ถูกซื้อไปจนหมด

จากนั้น  ก็แค่รอเวลาให้ชายคนนั้นกลับมา

ผ่านไป ๑ สัปดาห์
ชายคนนั้นยังไม่กลับมา
ชาวบ้านเหล่านั้นเริ่มกังวลใจ  จึงไปหาลูกน้องของเขา

แต่ลูกน้องคนนั้นก็ไม่อยู่เสียแล้ว

เกิดอะไรขึ้นกับชาวบ้านเหล่านั้น

(ขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.rolfsuey.com/2017/12/bitcoin-monkey-business.html)
.....


ชายคนนั้นใช้อุบายหลอกล่อให้ชาวบ้านหลงเชื่อ
ทำให้ชาวบ้านคิดว่าจะสามารถหาเงินได้จากการซื้อขายลิง

ความผิดทั้งหมดเป็นของชายคนนั้น
ใช่หรือไม่ ?
.....


(ขอบคุณภาพโดย  bill wegener  จาก  Unsplash.com)


ครั้งหนึ่ง
มีพระราชาองค์หนึ่งทูลถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ในปุริสสูตรว่า
"อะไรหนอเมื่อเกิดขึ้นภายในใจแล้ว
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์  เพื่อความทุกข์  เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก"

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า
"โลภะ  โทสะ  โมหะ  (โลภ  โกรธ  หลง)
เมื่อเกิดขึ้นภายในใจแล้ว
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์  เพื่อความทุกข์  เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก"


นอกจากนี้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายอีก (ในโลภปริญญาสูตร) ว่า

"ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโลภะ  ยังกำหนดรู้โลภะไม่ได้  ยังไม่คลายความพอใจในโลภะนั้น
ยังละโลภะไม่ได้  ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้

ส่วนผู้รู้ซึ้งถึงโลภะ  กำหนดรู้โลภะได้  คลายความพอใจในโลภะนั้นได้
ละโลภะได้แล้ว  จึงสามารถสิ้นทุกข์ได้"
.....


พระพุทธเจ้าทรงเน้นให้เรากลัับมาสำรวจตัวเอง

แม้จะมีใครใช้อุบายหลอกล่อเรา
แต่ถ้าเราไม่มีความโลภ
อุบายของเขาก็จะไม่ได้ผล

เหมือนปลาที่กินเบ็ด
ไม่ใช่เพราะเขาเอาเหยื่อมาล่อ
แต่เพราะปลาเข้าไปตะครุบเหยื่อเอง

ความทุกข์บางอย่างที่เราต้องประสบอยู่
ไม่ใช่เพราะถูกผู้อื่นหลอกลวง
แต่เพราะความโลภที่มีอยู่ในใจ  เราจึงตะครุบเหยื่อเอง
.....

ความโลภเมื่อเกิดขึ้นแล้ว  ถ้าไม่สามารถยับยั้งได้
ก็อาจเป็นเหตุให้ก่ออกุศลกรรมต่าง ๆ ตามมาได้อีก
เช่น

บางคนวางแผนฆ่าภรรยาเพื่อเอาเงินประกันชีวิต
บางคนเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้เหยื่อโอนเงิน
บางคนวางแผนเอาเงินรางวัลลอตเตอรี่ของเพื่อน
ฯลฯ

หรือชาวบ้านเหล่านั้นที่จับลิงมาขาย  เป็นการค้าชีวิตสัตว์
ทำให้พรากลูกพรากแม่
ทำให้ขาดอิสรภาพ
ทำให้ลิงบาดเจ็บ  ได้รับทุกข์ทรมาน

และเมื่อก่อบาปอกุศลกรรมขึ้นแล้ว
เราก็ต้องเป็นผู้รับผลของบาปอกุศลนั้นเองอีกต่อไป
.....


ในที่นี้
ไม่ได้เข้าข้างชายคนนั้นที่หลอกลวงชาวบ้านเรื่องซื้อลิง
ไม่ได้หมายความว่าชายคนนั้นไม่ผิด

แต่สิ่งที่สำคัญที่ควรจัดการ  คือความโลภที่อยู่ในใจเรา
"ความโลภเมื่อเกิดขึ้นภายในใจแล้ว
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์  เพื่อความทุกข์  เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก"

ถ้าเราสามารถรู้ทัน  และละความโลภที่เกิดขึ้นได้
เราก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของความโลภ
และเราก็จะไม่ต้องก่อบาปอกุศลกรรมใด ๆ
ทุกข์ที่เกิดจากความโลภก็จะไม่มี
..........


คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. ปุริสสูตร (ว่าด้วยธรรมที่ไม่เกิดประโยชน์แก่บุรุษ)
๒. โลภปริญญาสูตร (ว่าด้วยการกำหนดรู้โลภะ)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น