อย่าใช้พระธรรมผิดทาง


ผู้ที่ศึกษาธรรมะหลายคน
คงจะเคยได้ยินพระพุทธดำรัสของพระพุทธเจ้า
ที่ตรัสไว้ (ในพิลังคิกสูตร) ว่า

"ผู้ใดประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย
ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์  ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้
ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลมแล้ว  ฉะนั้น"

พร้อมกับได้ฟังตัวอย่างของหลาย ๆ เหตุการณ์
ที่สนับสนุนพระพุทธดำรัสนี้  เช่น

ยักษ์ตนหนึ่งตีศีรษะของพระสารีบุตรอย่างแรง
ด้วยกำลังที่สามารถทำลายภูเขาทั้งลูกได้
พระสารีบุตรไม่ได้มีความโกรธหรือไม่พอใจแม้แต่น้อย
แต่ยักษ์ตนนั้นก็ถูกธรณีสูบไปเกิดในนรกเสียเอง
(อ่านเพิ่มเติมในเรื่องยักขปหารสูตร)

หมองูคนหนึ่งเห็นงูนอนโผล่หัวอยู่ที่โพรงไม้
จึงออกอุบายหลอกเด็กว่าเป็นนก  ให้เด็กจับขึ้นมา
เมื่อเด็กจับออกมาแล้ว  รู้ว่าเป็นงู  ก็สะบัดทิ้งไป
งูนั้นไปตกที่คอของหมองู
แล้วได้กัดหมองูนั้นเสียชีวิต
เข้าทำนองที่ว่า  "ให้ทุกข์แก่ท่าน  ทุกข์นั้นถึงตัว"
(อ่านเพิ่มเติมในเรื่องโกกสุนขลุททกวัตถุ)

เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสนั้น
พร้อมกับเรื่องราวที่สนับสนุนหลาย ๆ เหตุการณ์
ก็ยิ่งมั่นใจว่า
ผู้ใดประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายตอบ
ผู้นั้นย่อมได้รับผลของการกระทำนั้นกลับคืนอย่างแน่แท้
.....




ถ้าวันหนึ่ง
สูตรลับการทำขนมในร้านของเรา  ถูกขโมย
สินค้าลิขสิทธิ์ของเรา  ถูกลอกเลียนแบบ
ผลงานวิจัยของเรา  ถูกนำไปดัดแปลง
ที่จอดรถหน้าบ้าน  ถูกรถคันอื่นมาแย่งจอด
ข้อความที่โพสต์ในโซเชียล  ถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีอย่างหนัก
คนที่มีความเห็นไม่ตรงกับเรา  รวมกลุ่มต่อต้านขับไล่เรา
หรือเหตุการณ์อื่น ๆ อะไรก็ตาม
ฯลฯ

ถ้าเราเกิดความไม่พอใจ  อยากจะโต้ตอบ
แต่ไม่อยู่ในฐานะที่จะโต้ตอบได้
เราจะทำอย่างไร
.....

วิธีหนึ่งที่ทำให้เราสบายใจ  คือบอกตัวเองว่า
"ผู้ใดประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายตอบ
ผู้นั้นย่อมได้รับผลของการกระทำนั้นกลับคืนอย่างแน่แท้"
ประมาณว่า  เขาจะต้องได้รับกรรมของเขา

จากนั้น  ก็เปิดเฟสบุ๊ค  เปิดอินสตาแกรม  เปิดกูเกิลพลัส
เจอข้อความในหลาย ๆ โพสต์ที่ทำให้เราสบายใจขึ้นได้อีก
เช่นข้อความว่า

"ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นซึ่งไม่ทำร้ายตอบ
ย่อมได้รับผลกรรมในชาตินี้ ๑๐ อย่าง  อย่างใดอย่างหนึ่ง  ในไม่ช้า  คือ
ความทุกข์ใจ
ความเสื่อมทรัพย์
การบาดเจ็บล้มตาย
ความป่วยเป็นโรค
ความเป็นโรคจิตคิดฟุ้งซ่าน
ได้รับโทษทัณฑ์จากกฎหมาย
ถูกว่ากล่าวให้ร้าย
เสื่อมญาติ
เสียทรัพย์
ไฟไหม้บ้าน
และเมื่อตายแล้ว  ย่อมตกนรก"

จึงสรุปว่า  "ผู้ที่ทำร้ายผู้อื่นซึ่งไม่ทำร้ายตอบ
ผู้นั้นจะได้รับผลกรรมดังกล่าว
ฉะนั้น  เราไม่ต้องโต้ตอบอะไรกลับไปก็ได้
แล้วเดี๋ยวเขาก็จะต้องได้รับผลกรรมนั้นเอง"

คิดได้อย่างนี้แล้ว  จึงสบายใจ  ไม่คิดโต้ตอบอะไร
(เกิดความดีใจลึก ๆ ว่าเราไม่ต้องทำอะไร
เดี๋ยวมีผลกรรมไปจัดการเขาเอง  โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อย)
..........


สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้
ย่อมเป็นความจริงทุกประการ

"ผู้ใดประทุษร้ายต่อบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย
ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์  ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้
ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลมแล้ว  ฉะนั้น"

ผู้ใดทำกรรมที่ไม่ดี
แม้คู่กรณีจะไม่ประทุษร้ายตอบ
ผู้นั้นก็ยังต้องได้รับผลของกรรมที่ไม่ดี

ใช่

แต่การที่คู่กรณีไม่ประทุษร้ายตอบนั้น
เพราะเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรมเป็นอย่างดี

คือ  เข้าใจว่า  "การที่เราถูกประทุษร้าย
ย่อมมาจากกรรมไม่ดีที่เราเคยกระทำไว้
ถ้าไม่ถูกประทุษร้ายในครั้งนี้  โดยบุคคลนี้
ก็ต้องถูกประทุษร้ายในครั้งอื่น  โดยบุคคลอื่นอยู่ดี"

และย่อมเกิดความสงสารในผู้ที่ประทุษร้ายตน
เพราะรู้ว่าผู้นั้นจะต้องได้รับผลแห่งการประทุษร้ายในครั้งนี้

ผู้ที่เข้าใจในธรรมะ
นอกจากจะไม่คิดประทุษร้ายตอบแล้ว
ยังมีความเมตตาเกิดขึ้นในใจด้วย

แต่ผู้ที่เอาพระธรรมไปใช้ผิดทาง
แม้จะไม่ได้ประทุษร้ายตอบทางกาย
แต่ก็แอบประทุษร้ายตอบทางใจ
เกิดความสะใจว่าผู้นั้นจะต้องชดใช้กรรม

ที่ผ่านมา
เราใช้พระธรรมผิดทางบ้างหรือเปล่า
..........

คลิกอ่านเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เกี่ยวข้อง
๑. พิลังคิกสูตร (ว่าด้วยพิลังคิกพราหมณ์)
๒. ยักขปหารสูตร (ว่าด้วยยักษ์ตีศีรษะพระสารีบุตรเถระ)
๓. โกกสุนขลุททกวัตถุ (เรื่องนายพรานสุนัขชื่อโกกะ)


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น